เรียนรู้แผลยุงกัด ι ยุงกัดไร้รอยแผล แค่ไม่เกา


แผลที่ยุงกัด ถ้าเกา จะคันและคันอยู่นานมาก ๆ ค่ะ ยังไม่ได้หาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยันค่ะ เพียงสังเกตจากตนเอง แต่ถ้าเราอดทน ไม่เกา แค่ดู ไปเรื่อย ๆ จากแผลที่ปูด ๆ จะแดงขึ้นมาเล็กน้อย ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็จะหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

                ว่าด้วยเรื่องยุง ใครไม่เคยโดนยุงกัดยกมือขึ้นค่ะ เชื่อว่าหลายคนคงเคยโดนโจมตีด้วยสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆนี้ จะว่าไป หนูโดนเขากัดมาตั้งแต่เล็กจวบจนโตมาจะครึ่งกัป (เอะยังอีกหลายปีเหมือนกัน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะถึงหรือไม่อาจจะตายลงตอนนี้ก็ได้  คิดได้เขียนก่อนเดี๋ยวหมดโอกาส)

                ตั้งแต่วันหยุดช่วงวันแม่มาแล้ว เหมือนได้สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้

“เรื่องกาย และยุง มาอย่างชุกชุม”

เกิดความรู้สึกกับตนเองว่า

“ร่างกายนี้เป็นเหมือนรถยนต์ ที่ขับอยู่ ตอนใช้แก๊สก็วิ่งอืดหน่อย เรียนรู้ได้ช้า

บางคราก็วิ่งได้นิ่ม ๆ เร่งได้แรงคล้ายเครื่องยนต์ใช้น้ำมัน

บางคราก็เป็นค้าง ๆ เฉย ๆ เหมือนรถจอด

บางคราก็ถอยเหมือนรถวิ่งขึ้นเขาแล้ว เครื่องดับ แล้วแตะเบรก หรือ ดึงเบรกมือไม่ทัน

(ถึงตรงนี้ก็น่าคิด ถ้าแตะเบรกกระทันหัน จะตกเขาไหม หรือ ถ้าไม่เบรกเลย อาจจะตกเขาตาย)

แต่แปลกคนเราปรนเปรอร่างกายนี้ อย่างไม่ค่อยบันยะ บันยัง

เช่น การกิน เหมือนการเติมน้ำมันแบบล้นถัง เติมน้ำมัน ไม่เหมาะกับเครื่องยนต์ เติมแก็สไม่ถูกชนิด เติมแก็สเกินแรงดัน รถมันก็พังหน่ะซิ แล้ว ร่างกายนี้จะไม่พังได้ยังไง มันก็ฟ้องด้วยการเจ็บป่วยต่าง ๆนั่นแหละ

 

การแต่งตัวก็เหมือนแต่งรถ

ทั้ง ๆที่รถมีหน้าที่วิ่ง แต่ก็ไปแต่งเอาสวย แต่งเอาเท่ห์

จนบางทีแทบจะเกินจำเป็น จ่ายแพงเกินหน้าที่

ก็เหมือนคนที่เสียเวลา สิ้นเปลืองกับการแต่งตัว

หนัก ๆ เข้า อาจจะถึงขั้นพึ่งมีดหมอทำศัลยกรรม

.............เพราะความไม่พอ

 

 (ความคิดปรากฏ ณ วันที่อดข้าวเพื่อเรียนรู้กับตนเอง จากที่กินมาแบบไม่ยับยั้งช่างใจ)

 

                เหมือนเป็นการยอมรับกับตนเองมากขึ้นว่า

"ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา เพียงได้รับโอกาสในการอาศัย ก็เหมือนรถที่เราขับ แค่เพียงใช้รถ แต่เราไม่ได้เป็นรถ เมื่อถึงเวลาใช้งานก็ ขึ้นขับ ก็เท่านั้น ถึงเวลาต้องดูแล ก็เติมน้ำมัน เปลี่ยนถ่ายอะไหล่ หรือไม่ก็ล้างทำความสะอาด เท่าที่จำเป็น"

 

เหมือนกับร่างกายนี้เป๊ะ ที่ต้องพามันไปกินข้าว กินน้ำ

พามันไปอาบน้ำ

เพราะถ้าไม่กินเลย ก็ไม่มีแรง

ถ้าไม่อาบน้ำก็เน่าเหม็น

 (ซึ่งหนูเป็นประเภทขี้เกียจอาบน้ำ ยิ่งได้เรียนรู้เรื่อง ตัวเหม็นได้ชัดแจ่ม)

 

พอรู้สึกว่า ร่างกายไม่ใช่เรา ก็เจอโจทย์ต่อปั๊บเลยค่ะ

ตกดึกขึ้นไปภาวนารวมที่ศาลา

 

“ยุงเยอะมาก ๆ”

             

จากเดิมที่หนูจะทาโลชั่น ใส่เสื้อแขนยาว ห่มผ้า ใส่ถุงเท้า

วันนั้น อากาศชื้น ฝนตกประปราย แหนะหน่ะ ร้อนแบบเหนียว ๆ

วันนั้นไม่ได้ทา เพราะหาไม่ได้

 

นั่งภาวนาใจไม่สงบ จากที่คุ้นเคยกับการเดิน ต้องนั่งเพราะรู้สึกว่า

“บริเวณไม่เหมาะที่จะเดิน”

 

การเปลี่ยนอิริยาบทจึงทำได้เพียง เดินภาวนาไปห้องน้ำ แล้วกลับมานั่ง

 

พอกลับเข้ามานั่ง

                มีเสียงดังจากข้างในว่า

 

“เมื่อรู้สึกว่า ร่างกายไม่ใช่เรา ก็ลองปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ดูซิจะเป็นอย่างไร เมื่อได้ยินเสียงความคิด ก็เกิดการทดลองกับตนเอง ถุงเท้าโดนถอดออก ผ้าห่มถูกวาง วันนั้นไม่ได้ใส่เสื้อแขนยาว มีเพียงเสื้อขาวกับผ้าถุง”

 

                โอ้โห มันสุดยอดมาก ๆ เลยค่ะ

                เหมือนโดนโจมตีด้วยยุงเป็นกองทับ แก้ม หน้าผาก แขนซ้าย ขวาตลอดแนว ข้อเท้าซ้ายขวา โทสะวิ่งขึ้น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ทำได้เพียงสูดลมหายใจ แล้วก็ดู ความรู้สึกที่ร่างกายโดนยุงกัด ได้แป๊บเดียว ใจไม่นิ่ง อยากจะเอามือปัด จนสุดท้ายขยับร่างกาย แล้วก็มีเสียงดังขึ้นว่า

 

                “ไหนบอกว่า ร่างกายไม่ใช่เรา”

มีเสียงดังเยาะเย้ยจากข้างใน

(สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการไปภาวนาช่วงวันแม่ ๑๒-๑๔ สิงหาคม แต่ขาดช่วงการทิ้งร่องรอย)

 

แต่หลังจากวันนั้น หนูเผลอปุ๊บ เกาปั๊บ  เกาข้อเท้าซ้าย เกาแขนซ้าย เกา อย่างเมามัน ยิ่งเกายิ่งมัน

จากที่ก่อนหน้านี้ เพียงนั่งดู ยุงกัดร่างกาย รอจนเขาอิ่มแล้วเขาก็ไป รอยแผลที่ไม่โดนเกา ไม่นานก็จะจางไปเอง

 

แต่ครานี้ เกา และเกาถี่มาก ๆค่ะ เกิดเป็นแผล เลือดออก ที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง และแขนซ้าย สามวันผ่านไป ก็ยังรู้สึกคัน

เกือบ ๆ อาทิตย์ เข้ามาประชุมที่ สำนักงาน กพ. ประชุมไปเรื่อย ๆ คิด งานไป เผลอไปเกาที่ต้นแขนข้างซ้ายจนเลือดออก เพราะความคัน แล้วไม่อดทน

                เลือดไหลเยอะ หนูจึงกระซิบขอกระดาษชำระจากพี่ข้าง ๆ จึงเอามาแปะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผ่านไปสักพัก มีพลาสเตอร์ลอยมา เพื่อนบอกต่อ ๆ กันว่า “พี่โตฝากมา”

โอ้ รู้สึกขอบพระคุณท่านที่เอาใจใส่ พอติดแผลไว้ก็นั่งประชุมต่อไป

 

                จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เหมือนใจหนู วนเวียนเรียนรู้ เรื่องยุงและร่างกาย เพราะที่บ้านก็ยุงเยอะ มุ้งลวดไม่ค่อยถูกปิด อยู่ดี ๆ ก็ รู้สึกเข้าใจขึ้นมาว่า

แผลที่ยุงกัด

ถ้าเกา จะคันและคันอยู่นานมาก ๆ ค่ะ

ยังไม่ได้หาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยันค่ะ

เพียงสังเกตจากตนเอง

ถ้าเราอดทน ไม่เกา

 แค่ดู ไปเรื่อย ๆ จากแผลที่ปูด ๆ จะแดงขึ้นมาเล็กน้อย ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็จะหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่ถ้าเกาจะเกิดการถลอกหรือ รอยแผลหรือไม่ก็ที่ความรุนเเรง บางคนอาจจะเล็บยาว ยิ่งจะเป็นแผลลึก

ยิ่งเกาความรู้สึกคัน จะแผ่กระจายเป็นวงกว้าง

เชื่อในตนเองว่า

การเกาทำให้พิษ หรือสารบางอย่างที่ยุงปล่อยออกมา

กระจาย ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ยาก

แต่ถ้าไม่มีการเกา สารเคมีจากยุงที่ถูกปล่อยสู่ร่างกาย

จะกระจุกอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นการง่ายกว่าที่ร่างกายจะเยียวยารักษาตนเอง

 

นี่เป็นเพียงข้อสังเกตที่หนูได้เรียนรู้กับตนเอง และตอบตนเอง ไม่มีเอกสารใด ๆ ยืนยัน  ทำให้พอเข้าใจความสุดยอดของร่างกายมนุษย์กับความสามารถในการเยียวยาตนเอง

 

ขอบพระคุณ ยุงทุก ๆ ตัวที่เข้ามีเกี่ยวเนื่องในการเรียนรู้นี้ ขอบพระคุณทุกสรรพสิ่งที่รวมกันลงมาให้ลงใจถึงประสิทธิภาพแห่งร่างกาย คุณความดีหากพอมีขอถวายแด่ครูค่ะ

หมายเลขบันทึก: 389300เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แม้กายไม่ใช่เรา แต่ก็ต้องป้องกันไม่ให้กายถูกทำร้าย การปล่อยให้ยุงกัดคือปล่อยให้กายถูกทำร้าย ไม่ใช่แนวทางทำสมาธิที่ถูกที่ควร ส่วนการถูกกัดแล้วไม่เกาเพื่อไม่ให้มีแผล ก็น่าสนใจ

กราบขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำค่ะท่าน นาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย)

แฮะ ๆ ช่วงนั้นเป็นช่วงทดลอง เรียนรู้ค่ะ เฮอะ ๆ

จึงลองทดสอบกับตนเอง ดูค่ะ (^_^)

ตอนที่ความไม่รู้มาลงรวมกัน มันก็เลยเกิดกระบวนการโยนตำราที่เรียนมาทิ้ง

แล้วลองทดสอบกับตนเอง

เมื่อก่อนหนูคิดหาแต่ยาทา คิดสูตรยาให้ไม่คัน

แต่พอมาลองสังเกตก่อน

แล้วค่อยหายามาช่วยเสริมอย่างเหมาะสม รู้สึกว่าน่าจะดีกว่าค่ะ

 

ทำให้เกิดการทบทวนในตนเองว่า

เมื่อก่อนถูกสอนให้เพียง หายา คิดค้นยามารักษา

จนหนูเองลืม หาสาเหตุของอาการก่อน

เพราะบางทีพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆที่คาดไม่ถึง

อาจส่งผลให้ความผิดปกติเพิ่มมากขึ้น

ทำให้เยียวยาได้ยา

แต่พอวางตำรา ค้นหา สังเกต พิสูจน์ ก็เกิดความเข้าใจ

 

เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า.....ไม่ใช่ยาไม่สำคัญ

แต่พฤติกรรมของผู้ป่วย และอาหารนั้นก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

มิน่าหลัก ในโบราณ พ่อหมอ แม่หมอ ถึงเอาคนไข้มานอนที่บ้าน

เพราะจะได้ควบคุมอะไรได้ง่าย ๆ

เรื่องอาหาร ก็ใช้การ คลำ (อ่านว่า คะลำ เขียนถูกไหมนะ ถ้าเขียนผิดก็ขออภัยค่ะ)

คือให้หลีกเลี่ยงไม่ให้กิน เพราะถ้ากินแล้วจะผิด

 

โอ้ คนโบราณล้ำลึกจริง ๆค่ะ (^_^)

กราบขอบพระคุณที่มาช่วยต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ค่ะ

  เรียนท่านใบไม้ร้องเพลงที่นับถือ

  •  ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่นำมาแบ่งปันนะคะ 
  •  ถึงร่างกายจะไม่ใช่ของเราก็ไม่ควรให้ใครมาทำร้าย เพราะเราเจ็บ เจ็บแล้วทุกข์ ไม่คุ้มค่ะ อีกอย่างยุงกัดมากเป็นไข้เลือดออก เสียเวลาทำงานนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท