ชีวิตที่เมืองลาว : 28 มกราคม 2554 "การศึกษาบ้านเรา บ้านเขา"


เมื่อเช้าเห็น "เด็กชายมืด" ลูกชายช่างเนา กับเพื่อน ๆ และน้อง ๆ อีกสองคนปีนขึ้นไปบนคานพื้นเพื่อช่วยกันแกะแบบ แล้วก็ทำให้รู้สึกถึง "ระบบการศึกษาไทย" ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้...

Large_2801201102

 

1.  เห็น "มืด" ใช้ฆ้อนตอกไม้โป๊ก ๆ ก็นึกถึงคนที่ไปเล่นเวทเทรนนิ่งที่โรงยิมว่า มีการออกกำลังท่าโน้นท่านี่เพื่อสร้างกล้ามเนื้อมัดนัดมัดนี่ แต่เด็กอย่างเช่นมืดที่มาเอาฆ้อนตีไม้ "โป๊ก" เขาออกกำลังกล้ามเนื้อเฉพาะมัดที่เขาใช้ ใช้มัดไหนก็ออกกำลังมัดนั้น ตอนนี้ยังเด็ก ก็สร้างกล้ามเนื้อเฉพาะที่ ตรงที่     ไม่เหมือนนักเล่นเวท ต้องไปศึกษามาก่อนว่าจะใช้กล้ามเนื้อมัดไหน แล้วจึงไปเล่นเวทท่านั้น การศึกษาไทยก็เหมือนกัน ต้องไปศึกษาก่อนว่าจะใช้อะไร จึงไปศึกษาตรงนั้น บางครั้งไอ้ที่ไม่ใช้ก็ต้องเรียน เรียนไปเรื่อย เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ แตกต่างกับเด็กที่มาช่วยพ่อทำงานอย่างมืด ถ้าอนาคตเขาจะเจริญรอยตามพ่อในการเป็น "ช่างก่อสร้าง" เขาก็ได้สร้างกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ไว้พร้อมแล้ว "ไม่ขาด ไม่เกิน..."

Large_2801201101

2. เห็น "มืด" และเพื่อน แกะแบบไม้ไม่ออก "ช่างแพง" ซึ่งเป็นเพื่อนพ่อ (ช่างเนา) ก็ถามขึ้นว่า "หัวมีไว้ทำอะไร ใช้ไว้ตั้งบนคออย่างเดียวบ่..." เป็นคำพูดที่ฟังเหมือนด่า แต่ข้าพเจ้าว่าช่างแพงสอนให้มืด "รู้จักคิด..." จากนั้นช่างแพงก็เดินมาชี้ให้ดูว่า เอ้า ตรงนี้มันค้ำกันอยู่ ถอดตรงนี้ก่อน แผ่นใหญ่ถึงจะออกได้...

3. เห็น "ช่างแพง" ถอดไม้แบบ แล้วตีตะปูที่โผล่แหลม ๆ กลับลงไปให้มิด แล้วก็เปรียบเทียบกับ "มืด" ที่ถอดไม้แบบเสร็จแล้วก็โยน ตะปูแหลม ๆ ก็หงายขึ้นมา ใครไปเหยียบเข้า ได้เรื่องแน่    เรื่องนี้ทำให้คิดถึงว่า ช่างแพงคงจะเคยเหยียบตะปูมาก่อน "เจ็บแล้วจำ" เด็กพวกนี้ไม่เคยเหยียบตะปูก็เลยยังไม่มีเรื่อง "จำ" แต่สิ่งที่น่ากลัวสุดก็คือ "พวกเจ็บแล้วไม่จำ"

Large_2801201105

4. วันนี้มีคนมาทำงาน 3 Generation คือ หนึ่ง ช่างเนา ช่างแพง ช่างสุภา เป็นช่างเก่า ช่างแก่ มีอายุตั้งแต่สี่สิบปีขึ้นไป สุขุม รอบคอบ สอง ช่างตุ้ยกับเพื่อน อายุน่าจะอยู่ประมาณ 20 พวกนี้ทำงานเร็ว แต่ไม่รอบคอบ ตีตะปูคดไป งอมา ทำอะไรก็ผิดพลาดอยู่เรื่อย ตัดไม้ก็ไม่ตรง แต่ว่าคนนี้กำลังเรียนรู้และก้าวไปสู่ Generation ที่ 1   และ สาม เด็กชายมืดและเพื่อน อายุต่ำกว่า 15 ปี เด็กเหล่านี้เห็นฆ้อนก็อยากตี เห็นเลื่อนก็อยากเลื่อย เป็นวัยกำลัง "อยากรู้ อยากเห็น..."

 

Large_2801201103

5. เห็น "เด็กน้อย" คนนึง อายุไม่น่าเกิน 10 ขวบ ปีนขึ้นไปนั่งดูเขาแกะไว้บนคาน (ความสูงประมาณ 1.50 เมตร) ถามลูกชายเพื่อนว่า ใครพาขึ้นมา เขาตอบว่า "ขึ้นมาเอง" เราก็งง ๆ ปีนขึ้นมาได้ไง ซักพัก เห็นเด็กน้อยกำลังปีนลง คิดในใจ อยากช่วย กลัวเด็กตก แต่ว่า ลองดูท่าก่อน ว่าพอลงได้ไหม ซักพัก ปีนลงไปชั้นหนึ่งได้ อีกชั้นขาไม่ถึง จากท่าเดิมที่ถอยหลังลง เปลี่ยนเป็นกระโดดลง อื่ม เด็กมันก็รู้จักที่จะ "เรียนรู้..."     ถ้าเป็นเมื่อก่อนอยู่เมืองไทย เราเคยสังเกตุพ่อแม่ช่างถ้าเห็นลูกชายปีนโน่นปีนนี่ ก็บอกว่า "อย่าปีน" ลงมาเดี๋ยวนี้ ระวังตก "เด็กมันก็ตกจริง ๆ" แต่เด็กน้อยคนนี้ อายุน่าจะใกล้เคียงกัน ปีนขึ้นปีนลง ไม่เห็นจะมีใครห่วง "เด็กมันก็ไม่ตกจริง ๆ..." ประเด็นนี้ทำให้คิดถึงเด็กไทย ว่าคนไทยเรา "โอ๋" เด็กกันมากไปหรือเปล่า เด็กบ้านเราก็เลย "กระดูกไม่แข็ง..."

 

Large_1701201105

6. วันก่อน เห็นคนแก่ คนหนุ่ม คนสาว นั่งว่าง ๆ ก็คว้าท่อนอ้อยมากัดเล่นกัน เราจึงคิดว่า "การบริหารเหงือกและฟันตั้งแต่เด็ก ๆ ของคนที่นี่ น่าจะส่งผลถึงสุขภาพเหงือกและฟันมากกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ดี ๆ ที่คนบ้านเราใช้กันอยู่..." เพราะเหงือกและฟันที่แข็งแรง น่าจะเกิดมาจากการออกกำลังเหงือกและฟันอย่างสม่ำเสมอ การประคบประหงม ไม่ยอมใช้งานอะไรจนกลายเป็น "คนอนามัย" น่าจะส่งผลให้เหงือกและฟันอ่อนแอและ "บอบบาง..."

สุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดคำถามขึ้นในใจว่า การศึกษาในห้องเรียนสี่เหลี่ยม กับการศึกษาในโลกกว้างนั้น สิ่งไหนได้ "ความรู้ที่จำเป็น" มากกว่ากัน การศึกษาในห้องเรียนได้ปริญญา แล้วการศึกษาในโลกกว้างได้อะไร...?

 Large_1701201107

 

หมายเลขบันทึก: 423040เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2011 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาอ่านข้อเขียนท่านแล้วเลยเกิดความคิดคล้ายท่าน ครับ

http://gotoknow.org/blog/phapun6313/423001

แหล่งการเรียนรู้ครูชั้นดีที่ผู้เรียนประทับใจ ครูสอนเด็กบางทีอาจจะไม่ใช่ครูคนอีกต่อไป

การศึกษานอกห้องเรียนของเด็กน้อย เด็กเล่นนั่นคือเด็กเรียน ค่ะ

"เด็กเล่น คือเด็กเรียน" เป็นประโยคที่สื่อความหมายได้ชัดเจนอย่างดียิ่ง...

การเล่น หมายถึง การทำอะไรอย่าง "มีความสุข"
ใคร ๆ ก็ชอบเล่น เพราะเล่นแล้ว "มีความสุข"
ถ้าหากเด็กเล่น คือเด็กเรียน ก็คือ การเรียนรู้อย่าง "มีความสุข"

การเรียนในห้องเรียนมีความสุขไหม
หรือการศึกษานอกห้องเรียนมีความสุขกว่า

ถ้าหากความสุขเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขหรือไม่...?
การเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้นควรอยู่ในห้องหรือนอกห้อง

การอ่านหนังสือมีความสุขไหม...?
การอ่านหนังสือกับการเล่นนั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร...?

แล้วเราจะให้เด็กนักเรียน นักศึกษามีความสุขในการเรียนรู้ได้อย่างไร...?
จริงหรือไม่ที่ใคร ๆ ก็อยากเรียนรู้อย่าง "มีความสุข..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท