ชีวิตที่เมืองลาว : การ "สับฝาก" ใช้รองพื้นสำหรับการเทปูน...


หลังจากที่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนทั้ง “แผ่นพื้นสำเร็จ” และ “ไม้ไผ่” ที่จะมาใช้ปูเพื่อที่จะรองรับการเทพื้นชั้นบนของเมรุฯ จึงทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นวิธีการทำงานแบบ “ดั้งเดิม” ที่ประหยัดกว่า และ “ดีกว่า...”

 

 

สืบเนื่องจากบันทึก   ที่ข้าพเจ้า “คิดมาก” ว่าช่างทั้งหลายคงจะลำบากหากต้อง “สับฝาก” เพื่อใช้รองพื้น แต่กลับพบว่าการสับฝากเป็นเรื่อง “ปกติ” สำหรับช่างที่นี่...

 

ในบ้านเราอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเยอะ...
สำหรับเมืองไทย การทำงานก่อสร้างในที่ต่าง ๆ นั้นไม่ค่อยเห็นใคร “สับฝาก” เพื่อรองพื้นกันแล้ว อาจจะเนื่องด้วยเหตุผลเพราะท้องพื้นด้านล่างและไม่สวย หรือจะเป็นเหตุผลหลักที่ช่างบ้านเราต้องการความสะดวกและรวดเร็ว...

 

Large_3101201101

การถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีทำให้ศักยภาพของมนุษย์ผุดออกมา...
ตั้งแต่ข้าพเจ้ามาทำงานที่นี่ ข้าพเจ้าได้เห็น “ศักยภาพ” ของพี่น้องชาวลาวอย่างมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง “ศักยภาพทางร่างกาย”

 

 

คนที่นี่ “ขยันมาก...”
จากการที่ไม่มีเครื่องทุ่นแรง ทำให้คนที่นี่เขาต้องใช้ “แรง” เพื่อทำงาน
การใช้แรงทำงานนั้น นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังจะทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะฯ เพื่อธาตุแท้ของคนเรานั้นจะเห็นได้ครั้นที่ต้องประสบ “ความลำบาก”

ถ้ามีไม้อัด ก็ไม่ได้เห็นการ “สับฝาก”
จากการที่ไม่สามารถสั่ง “ไม้อัด” มาได้ในเวลาที่ต้องการ ข้าพเจ้าจึงได้เห็นฝีมือการสับฝากของ “นายช่าง” ที่บ้านนี้ เมืองนี้

Large_3101201102

 

การสับฝากเริ่มต้นจากการวัดความยาวของหน้างาน แล้วจึงมาตัดไม้ไผ่ให้ได้มีขนาดตามหน้างานนั้น...

“เลือกที่อ่อน ๆ...”
เป็น Tacit knowledge ที่ข้าพเจ้าได้ยินจากช่างในการเลือกไม้ไผ่ที่จะนำมา “สับฝาก”
เพราะนอกจากจะสับง่ายแล้ว เวลาคลี่หรือแบบไม้ไผ่ออกมาก็จะทำให้ “เรียบ” เสมอกันดีกว่าการใช้ไม้ไผ่ “ต้นแข็ง ๆ”

จากนั้นข้าพเจ้าเห็นช่างสุภาเริ่มสับที่ปลายไม้ไผ่ก่อน จากนั้นจึงมาไล่สับที่ข้อปล้องที่ละข้อจนครบทั้งลำ
เมื่อสับครบทุกข้อแล้ว ใช้มีดตัดไม้ไผ่ออกตามความยาว
จากนั้นก็ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบแล้วดัดเพื่อให้ไม้ไผ่ที่จากเดิมงอและม้วนเป็นวงกลม คลี่ออกเป็นแผ่น “แบน ๆ”

เมื่อได้แผ่นไม้ไผ่ที่สามารถคลี่ออกเป็นแผ่นแบน ๆ ได้แล้ว จึงนำมาวางที่ “หน้างาน”
จากนั้นใช้ตะปู 1 นิ้ว ตอกยึดไม้ไผ่ที่สับฝากแล้วไว้กับ “ไม้ตุ๊กตา”

 

ปูให้เต็ม...
ความกว้างของไม้ไผ่เมื่อคลี่ออกมาแล้วจะจะมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 15-25 เซนติเมตร แล้วแต่ขนาดของลำต้นหรือเส้นรอบวงของไม้ไผ่ลำนั้น

การปูไม้ไผ่เพื่อรองพื้นสำหรับการเทปูน ก็เหมือนกับการปูไม้ไผ่เพื่อรองพื้นที่พัก คือ ต้องปูให้เต็ม
จากนั้นจึงนำผ้ายางบางมารองเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำปูนหรือเศษปูนหล่นร่วงไปตามช่องไม้ไผ่ที่มีความห่างกันพอสมควร

Large_3101201105

 

“ไม้ไผ่แน่นหนากว่าไม้อัด...”
หลังจากที่ปูไม้ไผ่เสร็จแล้ว ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินไปเดินมาบนไม้ไผ่ที่ปูแล้วนั้น แต่ทว่าเมื่อก้าวเท้าออกจากไม้ไผ่ไปเหยียบตรงไม้อัด “พลั๊ว!!!” หักคาเท้า...
ปรากฏว่า ไม้อัดที่ปูไว้ก่อน “แตก” ทำให้ข้าพเจ้าเกือบหล่นไปอยู่ข้างล่าง

 

“ประหยัดกว่าเกือบสิบเท่าตัว...”
หลังจากที่ข้าพเจ้าลองคำนวณคร่าว ๆ ถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ไม้อัดสำหรับการปูพื้นงานเทพื้นชั้น 2 ที่มีพื้นที่ประมาณ 31 ตารางเมตร แล้วพบว่า ถ้าหากใช้ไม้อัดปูพื้น จะต้องใช้ไม้อัดขนาด 2.45x1.25 เมตร (หักเศษที่ต้องตัดให้พอดีช่องออกแล้ว) จำนวน 12 แผ่น ราคาแผ่นละประมาณ 400 บาท คิดเป็นมูลค่า 4,800 บาท
แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นใช้ไม้ไผ่แทนแล้ว ค่าไม้ไผ่บวกกับค่าแรงในการสับฝากจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท เท่านั้น แถมมีความแข็งแรงแน่นหนากว่า เหยียบแล้วไม่แตกเหมือนไม้ไผ่อีกด้วย...
และถ้าเปรียบเทียบกับราคาแผ่นพื้นสำเร็จ ซึ่งราคาที่อำเภอเชียงคานอยู่ที่ประมาณตารางเมตรละประมาณ 330 บาท (ขนาด 1x0.35 เมตร ราคาเมตรละ 110 บาท) 31 ตารางเมตรจะตกอยู่ที่ 9,900 บาท รวมกับค่าขนส่งอีกอย่างน้อย 1,000 บาทแล้ว ก็แตกต่างกันอยู่ “โข” ทีเดียว...

“5 นาที ต่อเมตร...”
หลังจากที่ข้าพเจ้าสังเกตุดูวิธีการทำและลองจับเวลาของช่างที่ใช้ในการสับฝากแล้วพบว่า ช่างที่นี่ใช้เวลาในการ “คิดเฉลี่ย” ได้ประมาณเมตรละ 5 นาที ซึ่งเกิดจากความชำนิชำนาญและประสบการณ์ฝังลึกที่มีอยู่ในตัวคน...

Large_3101201106

หมายเลขบันทึก: 423607เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 06:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไม่เคยเห็นครับ แต่ที่เคยใช้กับเด็กๆ คือใช้ไม้ไผ่แทนเส้นเหล็ก ทำเป็นตารางๆ แล้วเทปูน

การที่ไม่สามารถหา "แผ่นพื้นสำเร็จ" มาใช้งานได้ จึงทำให้ได้เห็นการใช้ "ไม้อัด"

การที่ไม่สามารถหา "ไม้อัด" มาใช้งานได้ จึงทำให้ได้เห็นการใช้ "ไม้ไผ่"

ทุกอย่างเป็นเหตุ เป็นปัจจัยซึ่งการและกัน

การทำอะไรสบาย ๆ อะไร ๆ ก็ได้มา "ง่าย ๆ" ทำให้เราพลาดของ "ดี" บางอย่างในชีวิต

ชีวิตที่สมบูรณ์เกินไปเป็นเช่นนั้น

ถ้าหากไม่ทุกข์ เราก็ไม่รู้ว่าสุขเป็นอย่างไร

ถ้าหากไม่เกิดทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรคก็ไม่มี

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเหตุที่ทำให้เกิด "ปัญญา"

สติมาปัญญาเกิด สติเตลิด ปัญญาหนี

ดังนั้นถ้าหากปัญหาเกิดขึ้นครั้งใด หากเรามีสติสมบูรณ์แล้วย่อมจะนำมาซึ่ง "ปัญญา"

ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการมี "ศีล" ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งกาย วาจา และใจ

ศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธินั้นแลเป็นเหตุให้เกิด "ปัญญา"

ปัญหาทุกอย่างมีทางออก

ทางออกจะดีหรือไม่ "ศีล" นั้นแลเป็น "เหตุ..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท