ชีวิตที่เมืองลาว : 2 กุมภาพันธ์ 2554 "รับผิดชอบดีแท้..."


ช่วงเย็นเวลาประมาณห้าโมงกว่า ๆ หลังจากที่กลุ่มช่างทั้ง 4 คนกำลังทยอยกลับบ้าน ข้าพเจ้าเห็น “ช่างเนา” เดินย้อนกลับมา เหมือนว่าจะ “ลืม” อะไรซักอย่าง...

ลืมอะไรช่างเนา...? (ข้าพเจ้าถาม)
ลืมเสียบปลั๊ก... (ช่างเนาชี้ไปที่ปลั๊กไฟแล้ว ยิ้ม...)

Large_2101201111

 

การมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ที่พักของข้าพเจ้าไม่มี “ไฟฟ้า”
แต่ช่างเนาก็ต่อสายไฟเส้นหนึ่งมาให้ข้าพเจ้าใช้สำหรับชาร์จแบตและเสียบคอมพิวเตอร์แค่นั้น ซึ่งถ้าหากต้องการแสงสว่างต้องใช้ “เทียน”

ครั้งแรกในชีวิตที่ใช้เทียนเป็นจริงเป็นจัง...
ตั้งแต่เกิดมา ก็มีครั้งนี้แหละที่ใช้เทียนหมดกล่อง เมื่อก่อนเคยแค่จุดเล่น ๆ เดินจงกรมบ้าง จุดเท่ห์ ๆ บ้าง ตอนนี้ต้องจุดจริง ๆ ใช้จริง ๆ ให้แสงสว่างจริง ๆ

ช่างเนาเสียบปลั๊กให้ทุกเย็น...
สายไฟที่ข้าพเจ้าใช้ไม่ใช่สายไฟที่ใช้ส่วนตัว เพราะสายไฟเส้นนี้ตอนกลางวันช่างเนาต้องใช้ต่อ “ปั๊มน้ำ” จากสระข้าง ๆ ที่พักข้าพเจ้าไปใช้ “โม่ปูน” บ้าง รดน้ำหน้างานบ้าง ครั้นเมื่อเลิกงาน ช่างเนาจะรู้หน้าที่ว่า เขาจะต้องถอดสายปั๊มน้ำ แล้วลากสายไฟมาให้ข้าพเจ้า พร้อมกับต่อไฟให้เรียบร้อย

วงจรไฟฟ้าเป็นอย่างนี้ทุกวัน...
ตอนเช้า ถ้าจะปั๊มน้ำ ช่างเนาก็จะเดินมาถอดปลั๊ก แล้วไปเสียบปั๊มน้ำ ตกเย็นก่อนกลับบ้าน ถอดปลั๊กปั๊มน้ำมาต่อสายให้ข้าพเจ้า

วันนี้ลืม เดินออกไปแล้วก็ยังวกกลับมาเสียบปลั๊กให้อีก...
ช่างเนาจากที่ข้าพเจ้าสังเกตเป็นคนที่รับผิดชอบดีมาก
ขนาดงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเสียบปลั๊กไฟให้ข้าพเจ้าเขาก็ทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งยังไม่นับรวมถึงการเดินไปรับอาหารด้วยกันในตอนเช้า

“เจ็ดโมงเช้าก็เจอช่างเนา”
ตรงหัวมุมตลาด กองไฟเล็ก ๆ จะมีชายหนุ่มหลายคนยืนอยู่ หนึ่งในนั้นคือ “ช่างเนา”
ช่างเนาจะมารอข้าพเจ้าทุกเช้าในช่วงเวลาประมาณ 7 โมงเช้า เพื่อไปช่วยหิ้วอาหาร เมื่อก่อนนี้จะมากับ “มืด” (ลูกชาย) แต่ตอนนี้มืดไปโรงเรียน สอบถามช่างเนาแล้วทราบว่า มืดเรียนอยู่ชั้น ป.5

ตอนนี้มีเพื่อนใหม่...
“ช่างแพง” เป็นช่างที่มาใหม่แต่ทำงานดีมาก
ช่างแพงเหมือนกับเพื่อนกับช่างเนามานาน ซึ่งครั้งแรกที่เจอ เขามาหาช่างเนาเพื่อ “ของานทำ”

ถ้าไม่มีช่างแพงคงแย่...
หลังจากที่ช่างแพงมาทำงานวันแรก ข้าพเจ้าก็เริ่มเห็นแววคนทำงานเป็น
นับตั้งแต่มาทำงานตั้งแต่ก่อนแปดโมงเช้า ครั้งแรกที่เห็นฝีมือการทำงานก็เรื่องของการ “ถอดแบบ”
วันนั้นข้าพเจ้าฟังเสียงช่างแพงตอกตะปูแล้วก็รู้ได้ว่า “คนนี้ทำงานเป็น”

ถ้ายืนคุมงานอยู่หน้างานนาน ๆ แค่ฟังเสียงคนตอกตะปูก็รู้แล้วว่าใครทำงานเป็นไม่เป็น...
นอกจากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังเห็นช่างแพงแกะแบบ โดยไม้แบบทุกชิ้นที่มีปลายตะปูโผล่ ช่างแพงจะตีเก็บอย่างเรียบร้อย ไม่เหมือนคนงานคนอื่นที่แกะปุ๊บก็ทิ้งปั๊บ ใครจะเหยียบก็ “ช่างหัวมัน”

 Large_3101201108

 

วันก่อนตอนเทพื้น ช่างแพงก็แสดงฝีมือการ “ปาดปูน” ปาดอยู่คนเดียว เพราะช่างเนารับหน้าที่ “มือโม่” ช่างสุภา “เช็คระดับ” รวมถึงการวาง “ร่องไม้” ที่จะรองรับ “รางรถเข็น” ในอนาคต

สองคู่หู คือ ช่างเนาและช่างแพง เป็นคนที่รับผิดชอบงานดีมาก ถึงกลางคืนจะเมาอย่างไรแต่กลางวันก็รับผิดชอบงานดีแท้...

หมายเลขบันทึก: 423762เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท