ชีวิตที่เมืองลาว : จิตสำนึกสาธารณะ...



เมื่อวานนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2554) งานผูกเหล็ก ตั้งแบบพื้นและคานรับปล่องควันเสร็จก่อนเวลาเลิกงานปกติ คืองานลุล่วงประมาณเวลา 16.00 น.

Large_0602201104

เมื่อเห็นช่างเนานั่งว่า งๆ อยู่จึงบอกให้ช่างเนา “ทำความดีก่อนกลับบ้าน...”

 

 

ห้องน้ำที่ข้าพเจ้าไปใช้อยู่เป็นประจำนั้น ท่อน้ำทิ้งระบายไม่ค่อยดี โดยเฉพาะช่วงหลัง ท่อน้ำทิ้งอุดตัน มีน้ำขังจึงทำความสะอาดยาก
เมื่อวานนี้งานเสร็จเร็ว จึงให้ช่างเนาไปซ่อมแซมให้สักหน่อย...

ครั้นข้าพเจ้าบอกให้ช่างเนาปุ๊บ ช่างเนาก็ไปปั๊บ...
เมื่อช่างเนาเดินไป ข้าพเจ้าก็มองตามไปเพื่อดูว่าเขาไปทำอะไรบ้าง
ข้าพเจ้าเห็นช่างเนาเดินเข้าเดินห้องน้ำ แล้วก็หาอะไรมาแหย่ ๆ
แหย่ไปแหย่มา ก็เห็นเดินกลับมาเปิด “ถุงปูน” พร้อมกับหาเกรียงและกระป๋อง


เมื่อข้าพเจ้าเห็นช่างเนาทำท่าจะผสมปูนไปที่ห้องน้ำก็เลยถามช่างเนาว่า จะเอาปูนไปทำอะไร...? (เพราะท่อตัน ไม่น่าจะต้องใช้ปูน)

“โอ่งรั่ว...” (ช่างเนาตอบ)
“โอ่งอะไรว่า...” (ข้าพเจ้าถาม)
“โอ่งเก็บน้ำตรงนั้น...” (ช่างเนาตอบ)
“ข้าพเจ้างง แต่เพื่อให้หายข้องใจก็เลยเดินตามไปดู...”

ข้าพเจ้าเดินไปกับอาจารย์ร่อน ซึ่งช่างเนาได้เรียกช่างแพง และช่างสุภาเดินนำหน้าไปก่อนแล้ว
เมื่อเดินไปถึงก็เห็นช่างเนา ปีนเข้าไปใช้ตะปูคอนกรีตขนาด 3 นิ้ว ที่ตอกติดกับสายยางสั้น ๆ กำลังสะกัดปูนที่มีรอยแตกร้าวเป็นทางยาวของถังเก็บน้ำที่ก่อไว้ด้านข้างห้องน้ำนั้น

Large_0602201102

 

ที่นี่ไม่มีประปา...
การใช้น้ำของที่นี่ อาทิห้องน้ำห้องนี้ ก็จะมีการสูบน้ำขึ้นมาใส่โอ่งเก็บไว้ เมื่อจะใช้ก็นำถังพลาสติกมาตักเติมเข้าไปในห้องน้ำ

น้ำแห้งมาหลายวัน...
ช่วงก่อนข้าพเจ้ามาเข้าห้องน้ำห้องนี้บ่อย แต่ช่วงหลังน้ำมีบ้างไม่มีบ้าง บางครั้งก็แห้งขอด
วันก่อนข้าพเจ้าเห็นมีเจ้าหน้าที่เอาปั๊มน้ำซึ่งต่อกับสายยางมาเติมไว้ แต่ก็ไม่รู้ว่า “โอ่งรั่ว...”

สิ่งที่ข้าพเจ้าเกิดคำถามขึ้นในใจเมื่อเห็นช่างเนาเดินกลับไปหาอุปกรณ์มาซ่อมโอ่งก็คือ
1. ทำไมจิตใจของเขาถึง “ดี” ขนาดนี้...?
2. ที่สำคัญก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขามี “จิตใจดี...”

คนที่มีจิตใจดีสำหรับข้าพเจ้านั้นไม่ต้องดูอะไรกันมาก อย่างเช่นตัวอย่างที่เล่าข้างต้น ข้าพเจ้าสั่งงานช่างเนาให้มาซ่อม “ท่อตัน”
แต่เมื่อทำตามคำสั่งเสร็จแล้ว แทนที่จะกลับบ้านนอน แต่เมื่อเห็นว่า “โอ่งรั่ว” ก็ “เสียสละ” ทำงานเพื่อส่วนรวมโดยทันที

ข้าพเจ้าคิดว่า (ซึ่งอาจจะผิด) ในปัจจุบันหาคนที่จะทำอะไรเพื่อส่วนรวมแบบนี้ได้น้อยแล้ว
คนที่จะทำอะไรนอกเหนือจากหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
คนที่จะทำอะไรเพื่อส่วนรวม เสียสละแรงใจ แรงกาย เสียสละเวลาพักผ่อนมาซ่อม “โอ่งน้ำ” เพื่อให้คนอื่นได้ใช้

ช่างเนา หรือ “ช่างเมา” ที่คนอื่นชอบเรียกกัน แท้ที่จริงเขาเป็นคนที่มีจิตใจดีงามมาก
ซึ่งจิตใจแบบนี้ เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องฝึกฝนและจะต้องดำรงสภาพจิตที่ “เสียสละ” เพื่อส่วนรวมให้ได้ตลอด

การที่เรามองเห็นอะไรเสียหายแล้ว “ไม่ทอดธุระ” มีจิตใจที่จะกระทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้น ข้าพเจ้ามองว่าเป็น “จิตสำนึกสาธารณะ...”

จิตสำนึกสาธารณะนี้เอง เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากเมืองไทยหรือไม่ แล้วทำอย่างไรคนไทย เมืองไทยถึงจะมีจิตสำนึกสาธารณะอย่างเช่น “ช่างเนา...”

Large_0602201101

หมายเลขบันทึก: 424789เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท