ชีวิตที่เมืองลาว : 8 กุมภาพันธ์ 2554 "รวดเร็ว ว่องไว..."


ก่อนที่จะเดินทางมาทำงานที่นี่ ข้าพเจ้าค่อนข้างหวั่นใจกับเรื่องของการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เพราะได้ข่าวว่าสินค้าที่นี่ราคาค่อนข้างแพง และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ “หาซื้อได้ยาก”

แต่ทว่า ในช่วงเย็นวันนี้ประมาณบ่ายสี่โมง
ระหว่างที่ข้าพเจ้าเดินมาดู “ช่างแพง” ซึ่งกำลังจะก่ออิฐแผงด้านหลัง ข้าพเจ้าก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า ถ้าก่อทึบหมดจะเป็นการ “ปิดทางลม” เพราะเมรุฯ หลังนี้ดีไซน์ให้ใช้ “โบล์เวอร์” อัดลมเข้าเตาแทนการ “เปิดใต้ถุน” แล้วใช้ลมดันจากด้านล่าง

เมื่อข้าพเจ้าเดินดูระยะห่างจากที่ตั้งโบล์เวอร์กับกำแพงแล้วอยู่ค่อนข้างใกล้กันมาก
ข้าพเจ้าจึงคิดต่อไปว่า ถ้าหากติดโบล์เวอร์แล้วจะเอาลมมาจากที่ไหน ถ้าหากก่อกำแพง “ทึบ” หมด
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงปรึกษากับทีมงานอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี “อาจารย์ร่อน” ร่วมรับฟังอยู่ด้วย

ข้าพเจ้าใช้คำพูดในทำนองปรึกษา โดยเล่าสถานการณ์เบื้องต้นว่าจะต้องใช้ลมจากโบล์เวอร์แทนการเปิดใต้ถุน ดังนั้น “เราจะทำอย่างไรกันดี...?”
ทีมงานท่านหนึ่งก็เสนอแนะให้ใช้อิฐที่เป็น “ช่องลม”
ซึ่งก็ตรงกับที่ข้าพเจ้าตั้ง “ธง” ไว้ตอนแรก
แต่เปลี่ยนจากการสั่งให้คนไปซื้อ “ช่องลม” มาเลย เปลี่ยนเป็นการตั้งคำถามให้ทีมงานคนอื่นคิดมาได้แทน

คำถามต่อไปของข้าพเจ้าก็คือ จะซื้อได้จากที่ไหน...?
อาจารย์ร่อนจึงได้บอกว่าแถวนี้มีขาย...

นอกจากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังได้ปรึกษาเพิ่มเติมอีกว่า
แปลนเดิม จะมีหน้าต่างข้างหลังนี้สองบาน แต่ถ้าหากใช้หน้าต่างสองบานก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกสามถึงสี่พันบาท ถ้าหากให้ดีน่าจะใช้อิฐที่เป็นแก้วแทน ซึ่งข้าพเจ้าก็เรียกไม่ถูกว่าไอ้ที่เป็นแก้ว ๆ สี่เหลี่ยม ๆ นั้นเขาเรียกว่าอะไร

แต่ทีมงานที่อยู่ใกล้ ๆ ก็รู้จักว่าเจ้าสิ่งที่ข้าพเจ้าหมายถึงนั้นคืออะไร โดยเฉพาะอาจารย์ร่อนก็รู้อีกว่าจะไปหาซื้อได้จากที่ไหน...
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมอบหมายให้อาจารย์ออกไปสืบราคา พร้อมทั้งนับจำนวนอิฐช่องลมไปด้วยว่าใช้จำนวน 22 ก้อน

เวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที อาจารย์ร่อนขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาพร้อมกับรถหกล้ออีก 1 คัน

รวดเร็วทันใจมาก... (ข้าพเจ้าคิดในใจ)
เพราะอาจารย์ร่อนไปซื้อบล็อคแก้ว มาพร้อมกับช่องลมอีกจำนวน 22 ก้อน
โดยอิฐสี่เหลี่ยมซื้อร้านหนึ่ง เจ้าของร้านใจดีมาก ซื้อแค่ 24 ก้อน ก็ให้เอารถหกล้อมาส่ง
แต่ทว่า อิฐช่องลมร้านเขาไม่มี เขาก็ใจดีอีก เพราะว่าอนุญาตให้รถร้านเขาไปใส่เอาที่ร้านอื่น โดยเฉพาะอิฐช่องลมนี้ อาจารย์ร่อนของสตางค์ก่อนให้ด้วย...

Large_0802201101

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางไปทำงานที่ใดก็ตาม ถ้าหากเราสามารถทำให้ทีมงานหรือคนรอบข้างได้ร่วมคิด ซึ่งการร่วมคิดนี้เองจะสร้างความรู้สึก “เป็นเจ้าของงาน” ที่กำลังกระทำอยู่ จะทำให้การทำงานราบรื่นกว่าการสั่งงานแบบ “เผด็จการ” ซึ่งจะทำให้เราทำงานแบบ “หัวเดียวกระเทียมลีบ...”

จากการที่เคยวิตกกังวลเรื่องซื้อวัสดุอุปกรณ์ เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าสบายใจในเรื่องนี้มาก เพราะทีมงานทุกคนมีความ “กระตือรือร้น” ในการทำงาน...

ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบกับเมืองไทยที่ข้าพเจ้าเคยคิดว่าการสั่งของนั้น “สบาย” แล้วก็พบว่า เมื่อครั้งก่อนตอนที่อยู่ปทุมธานี เร็วที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยได้รับบริการก็ต้องรออย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ไม่มีคนข้างในวิ่งออกไปซื้อของได้รวดเร็วอย่างอาจารย์ร่อน

สถานที่ใกล้ไกล ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ถ้าหากเราสามารถทำให้ทีมงานมี “ใจ” ที่ “ใกล้ชิด” อยู่กับงาน
คนที่มีใจใกล้ชิดอยู่กับงานเราสามารถบริหารจัดการได้ด้วย “การมีส่วนร่วม”
ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ร่วมคิด เป็นเหตุที่ทำให้ทีมงานมีใจที่ “ใกล้ชิด” กับการทำงาน...

หมายเลขบันทึก: 424962เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท