หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน


ประวัติหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน (วัดวังเตาหม้อ)

หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ (สีนาค) ปางมารวิชัย สร้างขึ้นสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒ นิ้วฟุตครึ่ง สูง ๔๑ นึ้วฟุต อายุประมาณ ๙๐๐ปีเศษ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน (วัดวังเตาหม้อ) ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

 

ประวัติความเป็นมา (ปฐมเหตุแห่งที่มา)

 

ปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ปีมะเส็ง เบญจศก ร.ศ.๑๑๒ (จากหนังสือประวัติหลวงพ่อเพชร โดยนายวิบูลย์ บูรณารมย์และคณะ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งชื่อ หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ อำเภอบางโพ เมืองอุตรดิตถ์ ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีผู้รู้จักและเคารพนับถือ มีลูกศิษย์ลูกหามากขณะนั้นท่านเป็นอุปัชฌาย์ในพิธีการอุปสมบทตามวัดวาอารามต่างๆวันหนึ่งได้รับนิมนต์ให้ไปนั่งเป็นอุปัชฌาย์ ทำการอุปสมบท ณ.พัทธสีมาวัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อมล้อม อ.ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ครั้นเมื่อประกอบพิธีอุปสมบทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเดินทางกลับพร้อมพระภิกษุลูกวัด ๑ รูป การเดินทางในสมัยก่อนต้องเดินด้วยเท้า ระหว่างเดินทาง ได้ผ่านวัดร้างวัดหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดโบราณเก่าแก่มาก ไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุ่ม ไม่มีผู้คนเข้าไป นอกจากเป็นที่เลี้ยงวัว ควาย ของชาวบ้าน เมื่อหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วงและพระลูกวัดเดินมาถึง ได้พากันเข้าไปสำรวจทั่วบริเวณได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่ และได้พิจรณาดูพบว่าไม่มีต้นหญ้าขึ้นปกคลุ่มเหมือนจอมปลวก ด้วยเหตุผิดสังเกต หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง จึงเพ่งความสนใจเป็นพิเศษ หรือด้วยชะรอยจะเป็นกุศลกรรมบุเพสันนิวาสชักนำแห่งบุญบารมีของหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วงกับพระพุทธรูปองค์นั้น จึงมีเหตุที่จะต้องดลจิตใจให้มาพบกัน และเมื่อเพ่งพินิจพิจารณาดินปลวกกองนั้นอย่างใกล้ชิดและละเอียดถี่ถ้วน ท่านจึงได้เห็นเกตุของพระพุทธรูปที่เนินจอมปลวก ท่านจึงได้บอกให้พระภิกษุที่ติดตามไปด้วยกลับเข้าไปในหมู่บ้าน อีกครั้ง เพื่อขอยืมเครื่องมือขุดดินจากชาวบ้าน มาช่วยกันขุนดิน และได้เห็นพระพุทธรูป มีหน้าตักกว้างประมาณศอกเศษ มีดินและสนิมจับเกรอะกรังทั้งองค์ ท่านจึงคิดที่จะนำพระพุทธรูปมาไว้ที่วัดหมอนไม้ แต่เนื่องจากเป็นเวลาบ่ายมากแล้ว จึงได้ปล่อยให้พระพุทธรูปนั้นประทับอยู่ที่เดิม ครั้งรุ่นเช้าจึงได้นำพระภิกษุในวัดหมอนไม้และชาวบ้าน เดินทางไปด้วยกันเตรียมเชือก และไม้คานหามไปที่วัดร้างที่พบพระพุทธรูปนั้น นำพระพุทธรูปกลับมาวัดและมาข้ามแม่น้ำน่านตรงวัดกลางผ่านศาลเจ้า (ปัจจุบันพังหายลงไปกับแม่น้ำหมดแล้ว)

 

                  ปรากฏพุทธลักษณะ เมื่อได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วัดหมอนไม้ แล้ว หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง ได้ให้พระภิกษุ สามเณรในวัดช่วยกันทำความสะอาดขัดถูองค์พระพุทธรูปจนสะอาดสวยงามซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ประทับนั่งขัดสมาธิเพ็ชรส่งรัศมี สีทอง สุกวาว ทั้งองค์ สวยงามมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่วมีผู้คนมากราบไหว้ไม่ขาดสาย ทั้งใกล้และไกลทุกวัน

 

                  พระพุทธรูปย้ายวัด  วันหนึ่งหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง ได้เรียกนายกล่อม ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งเป็นมรรคนายกวัด มาพบและได้ปรึกษานายกล่อมว่า เรามีพระพุทธรูปงามๆอย่างนี้ ประจำอยู่ที่วัดเราก็ดีเหมือนกัน แต่วัดเราไม่มีโบสถ์ที่จะนำพระพุทธรูปประดิษฐานให้สมเกียรติของท่าน ครั้นเราจะนำมาวางไว้เฉยๆอย่างนี้ ไปถวายให้ไว้กับหลวงพ่อเพชรที่วัดวังเตาหม้อ(วัดท่าถนนในปัจจุบัน) เพราะที่วัดท่านมีโบสถ์สวยงามมั่นคงถาวรประกอบกับ หลวงพ่อเพชร เจ้าอาวาสวัดเตาหม้อ ก็นับถือฉันเหมือนศิษย์กับอาจารย์  นายกล่อมผู้ใหญ่วัดไม่ขัดข้อง เห็นด้วย ...วันต่อมาหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง จึงขอแรงชาวบ้านมาช่วยกันนำพระพุทธรูปบรรทุกเรือมาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดวังเตาหม้อ และนำมอบถวายให้ไว้กับ หลวงพ่อเพชร เจ้าอาวาสวัดวังเตาหม้อแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

               ถูกนำไปกรุงเทพฯ ปีพุทธศักราช๒๔๔๓  ร.ศ.๑๑๙ แผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ได้โปรดสร้างวัดเบญจบพิตร เสร็จเรียบร้อย ต้องการจะหาพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัด จึงให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เดินทางขึ้นมาทางภาคเหนือ เพื่อหาพระพุทธรูปดังกล่าว มาถึงเมืองอุตรดิตถ์เลือกได้ ๒องค์ คือจากวัดสว่างอารมณ์ ๑องค์ และวัดวังเตาหม้อ หลวงพ่อเพชร ๑องค์ หลวงพ่อเพชร เจ้าอาวาสไม่ตกลงยินยอมและไม่เต็มใจ ที่จะให้นำไป ต่อเมื่อได้รับฟังคำชี้แจงจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และอ้างว่าเป็นพระบรมราชโองการของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจึงให้ไป และได้ปฏิญาณต่อหน้าหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปว่า"พระพุทธรูปองค์นี้ถูกนำไปจากวัดเมื่อใด ท่านจะไม่อยู่วัดนี้ต่อไป" และเมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้นำพระพุทธรูปไปแล้ว หลวงพ่อเพชรเจ้าอาวาสวัดวังเตาหม้อ ได้ออกจากวัดไปด้วยเหมือนกัน โดยเดินทางขึ้นเหนือ ท่านได้ไปปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่ตามป่าช้า ตามวัดร้าง บนยอดเขา จนวาระสุดท้ายท่านได้มรณะภาพอยู่บนยอดเขานาตารอด ซึ่งอยู่บริเวณทางเหนือบ้านด่านน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน และมีผู้ไปพบศพของท่านและได้รีบมาบอกกับ นายตี๋ ตันติพลาผล ผู้มีความเลื่อมใสใกล้ชิดกับหลวงพ่อ และได้นำศพมาที่วัดวังเตาหม้อ ได้ร่วมกันจัดบำเพ็ญกุศล ฌาปนกิจศพ ตามประเพณี

 

              เหตุต้องอัญเชิญกลับจากกรุงเทพฯ ปีพุทธศักราช๒๔๕๓ ร.ศ.๑๒๙ หลวงนฤนาถเสนี (หลวงนฤนาถขณะนั้นได้รับราชการดำรงตำแหน่งนายอำเภอบางโพ เป็นผู้อัญเชิญนำเอา พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร จากกรุงเทพฯกลับมาไว้ที่วัดวังเตาหม้อ หลวงพ่อเพชร เมื่อมรณะภาพแล้ว วิญญาณอันห่วงใยรักใคร่พระพุทธรูปนั้นจึงได้ล่องลอยไปสู่ยังวัดเบญจมบพิตร อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น เพื่อเป็นการเยี่ยมเยียนสักการะ เคารพและด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธรูปนั้น จึงได้แสดงอภินิหาร ด้วยการเข้าฝันสมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวง บันดาลให้พระองค์ทรงนิมิตฝันไปว่า"หลวงพ่อเพชรพระพุทธรูปองค์ที่ได้นำเอามาจากวัดวังเตาหม้อได้มาเข้าฝันขอร้องให้ นำพระองค์ท่าน ส่งกลับคืนไปไว้ ยังวัดวังเตาหม้อ เมืองอุตรดิตถ์ เสียตามเดิมเถิด ท่านจะอยู่ที่กรุงเทพฯนี้ต่อไปอีกไม่ได้ เพราะเป็นห่วงลูกศิษย์ของท่านและห่วงใยประชาชนชาวเมืองอุตรดิตถ์ผู้มีใจเคารพนับถือท่าน" ส่วนอีกกระแสร์หนึ่งกล่าวว่า... เมื่อหลวงพ่อเพชรมรณะภาพ บรรดาลูกศิษย์ และประชาชนผู้เคารพเลื่อมใส ศรัทธา หลวงพ่อเพชร ได้นัดหมายรวมพวกพากันเรียกร้องต่อนายอำเภอ นำคำร้องขอให้ทางราชการส่งมอบคืนพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร กลับคืนมา หลวงนฤนาถเสนี จึงต้องเดินทางลงไปกรุงเทพฯ และกราบถวายบังคมทูลแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า มีพระบรมราชโองการ พระราชทานคืนพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร และมอบให้ หลวงนฤนาถเสนี เป็นผู้นำกลับมามอบให้ประชาชนชาวเมืองอุตรดิตถ์และนำมาไว้วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนนปัจจุบันตามเดิม)

 

             ความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหาร เมื่อหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปได้ถูกอัญเชิญ กลับมาไว้ที่วัดท่าถนนแล้ว ครั้งแรกประทับประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ตามเดิม ได้มีประชาชนพากันมาสักการะ กราบไหว้บูชา เป็นจำนวนมาก บางท่านมาขอน้ำพุทธมนต์ไปใช้ป้องกันโรคระบาด ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ พระครูธรรมกิจจาภิบาล (ทองสุก) หรือพระสุธรรมเมธี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สร้างวิหารหลวงพ่อเพชร หลังปัจจุบัน เพราะประดิษฐานในโบสถ์เมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนาไม่สะดวกต่อการสักการะบูชากราบไหว้ เมื่อสร้างเสร็จก็ได้อัญเชิญ หลวงพ่อเพชร มาประดิษฐานจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ วันที่๑๐ เมษายน เวลา๑๗.๐๐ น.ได้เกิดไฟไหม้ตลาดบางโพ ขณะที่ไฟไหม้เกิดลมพัดอย่างรุนแรงและไฟได้ลุกไหม้ถึงหลังคาโบสถ์หลังเก่าซึ่งอยู่ใกล้วิหารหลวงพ่อเพชร ได้มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อหลวงตาเฮง กับสามเณรน้อย ได้หลบเข้าไปอยู่ในวิหารหลวงพ่อ และภาวนาให้หลวงพ่อช่วยไม่ให้เกิดอันตราย ความร้อนของไฟทำให้น้ำมนต์ในโอ่งเดือดและแห้งไปเวลาผ่านไปไฟมอดซาลง หลวงตาเฮง และเณรน้อยก็เดินออกมาจากวิหารโดยไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด เป็นที่น่าอัศจรรย์ ต่อผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

 จากคุณ jacka  http://www.uamulet.com/articleAmuletBoardDetail.asp?qid=575


หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน    Luang Phor Phet       

          หลวงพ่อเพ็ชร  ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าถนน (วัดวังเตาหม้อ) ตรงข้ามสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ หลวงพ่อเพ็ชรเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชรศิลปะเชียงแสน หน้าตักกว้าง 32 นิ้ว ในปี พ.ศ. 2436 หลวงพ่อด้วง  เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ ขณะเดินทางกลับจากรับนิมนต์ไปทำบรรพชาที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแลได้ผ่านวัดสะแกซึ่งเป็นวัดร้าง พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่ มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดที่มีพุทธลักษณะงดงาม จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าถนน มีผู้คนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมากประกอบกับเป็นพระพุทธรูปที่ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร จึงเรียกกันว่า หลวงพ่อเพชร  

         This is a brass-tin alloy Mara Vichai Buddha in a diamond lotus position with a 32 inch base. It is Chiangsaen craftsman ship. In 1893 Luang Phor Dung, the abbot of Mon Mai Temple attended an ordination at Sawang Arom Temple, Tambon Phailom, Lablae District. On his way back he passed a deserted temple named Sagae. He noticed a termite mound with a Buddha’s top sticking out. He had the place excavated and found a beautiful brass-tin alloy Buddha effigy. He then had this Buddha enshrined at Tha Thanon Temple (Wang Tao Moh Temple). Now this temple is opposite to Uttaradit Railway Station. Many worshippers named this effigy Luang Phor Phet which means the Buddha in Diamond Lotus Position.

 

http://www.uttaradit.go.th/tour/web/mueang.html

หมายเลขบันทึก: 43004เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ถ้ามีโอกาสได้ไปก็อยากไปกราบไว้ เพราะปกติก็ชอบเข้าวัดอยู่แล้ว รู้สึกสงบดีค่ะ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับคุณวณีพร

ถ้าอย่างอุตรดิตรถ์อย่าลืมมาวัดท่าถนนนะครับ

สิ่งสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์หลัก ๆ ถ้าใครมาถึงต้องกราบไว้และสักการะบูชามีอยู่ 3 สิ่งครับ

1. หลวงพ่อเพชรวัดท่าถนน

2. พระยาพิชัยดาบหัก

3. วัดพระแท่นศิลาอาสน์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท