จิตอาสากับความกล้าแสดงออกของลูก


เรียนอะไรเรียนให้รู้ไปครูเขา

       เมื่อตอนเด็กๆ พ่อแม่อยากให้เรียนอะไร เราก็เรียนไป ทั้งที่เราเองก็ไม่ชอบ เรียนไปก็ไม่มีความสุข กว่าจะเปลี่ยนทางเดิน ก็เกือบจะสายไป บทเรียนอันยิ่งใหญ่นำมาแก้ไขในรุ่นลูก พอถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ลูกชาย ๒ คน จะต้องเลือกเรียนต่อ บอกลูกคำเดียวว่า อยากเรียนอะไร ชอบอะไร ลูกตัดสินใจเรียนได้เลย พ่อสนับสนุนเต็มที่

       ลูกชายคนโต เลือกเรียนดนตรีไทย (ปี่) ลูกคนเล็ก เลือกเรียนโขน (วิชารอง คือกระบี่กระบอง) ที่นาฎศิลป์สุพรรณบุรี  ทั้งสองคนตั้งใจเรียน โดยเฉพาะวิชาเอกที่เขาชอบ คนโต เคยสอบได้ทุนนริศรานุวัติวงศ์ และเข้าร่วมกิจกรรมค่าย ณ วังบ้านปลายเนิน และเล่นดนตรีหน้าพระที่นั่ง เคยได้ถ้วยรางวัลชนะเลิศ เป้าปี่ใน งานวันสุนทรภู่ที่จังหวัดระยอง ล่าสุดเล่นดนตรีงานไหว้ครูที่โรงเรียนจิตรลดา ส่วนคนเล็ก ตีลังกาในฐานะโขนลิง ออกงานโรงละครแห่งชาติอยู่เนืองๆ

      สังเกตและเฝ้าติดตามผลงานของลูกอยู่เสมอ พบว่า แท้จริงแล้ว การเรียนของเขาอยู่ในฐานะปานกลางเท่านั้น  แต่เขาเรียนอย่างมีความสุข และไขว่คว้าที่จะหาความรู้เพิ่มอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนรู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร มีเป้าหมายการศึกษาที่ชัดเจน เห็นลูกชายตั้งใจเรียน เราก็ชื่นใจ ไม่ต้องไปกดดันอะไรเขา เพียงให้ข้อคิดว่า การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของชาติ ลูกต้องรู้จริง ต้องมีทักษะความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน "เรียนอะไรเรียนให้รู้ที่พร้อมจะเป็นครูเขา" ต้องแม่นยำในวิชานั้นๆ และควรเรียนรู้ให้หลากหลาย ไม่ใช่ได้แต่วิชาเอกเท่านั้น

       ปิดเทอม ลูกคนเล็กมากระซิบบอกแม่ว่า พี่หนึ่งเล่นกีต้าร์ไฟฟ้าได้ด้วยล่ะ บ้านเราน่าจะซื้อกีต้าร์ให้พี่หนึ่ง ซื้อกลองให้ผม แม่เคาะจังหวะ พ่อร้องเพลง พวกเราช่วยกัน เป็นครอบครัวดนตรีเลยนะแม่ นับเป็นแนวคิดที่ดี เป็นประสบการณ์สักครั้งหนึ่งที่เห็นลูกเล่นดนตรีสากลบ้าง บอกลูกไปว่า พ่อลงทุนให้ลูก แต่ลูกต้องทำประโยชน์ให้สังคมชุมชนนะ แบบไม่มีค่าตัวน่ะ ลูกทำได้ไหม

       อธิบายให้ลูกฟังเพิ่มเติมว่า ชุมชนต้นแบบด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเขาจะมีงานเปิดศูนย์การเรียนรู้ และมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ เขาเชิญโรงเรียนไปร่วม เพราะเราเป็นเครือข่ายกัน เขาเคยเป็นวิทยากรให้เราหลายครั้ง วันนี้เราต้องตอบแทนบุญคุณเขาบ้าง พ่อจึงให้ลูกไปเล่นดนตรีในงานเป็นฐานบันเทิงเล็กๆ เพื่อสร้างบรรยากาศในงาน ในช่วงทำบุญเลี้ยงพระ เราก็ใช้ดนตรีไทย(ขลุ่ย)ประกอบเข้าไป

       ลูกชาย ๒ คน รับปากอาสา ซ้อมอย่างแข็งขัน วันงานเปิดศูนย์ฯ ลูกชายแสดงความกล้าแสดออกอย่างสร้างสรรค์ เป็นครั้งแรกที่พ่อกับแม่ เห็นความสามารถพิเศษของลูก  สามชั่วโมงกับครอบครัวดนตรี มีคนมาร่วมสนุกกับเรามากมาย ลูกชายไม่ได้สตางค์ตอบแทน แต่สีหน้าท่าทางสดชื่นแจ่มใส แถมบอกว่า ปีหน้าเรามากันอีกนะครับ

      

หมายเลขบันทึก: 439301เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2011 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • อยากใช้คำนี้ค่ะ "ครอบครัวต้นแบบ" นอกเหนือจากคำว่าครอบครัวสุขสันติ์
  • เพราะเป็นแบบอย่างของการมองเห็น และรู้ในศักยภาพของลูก
  • และเติมเต็ม ต่อยอดศักยภาพให้ลูก...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท