พี่ทอง: น้องต้องฟังพี่บ้าง


บันทึกนี้เป็นเรื่องของพี่ๆน้องๆร่วมวิชาชีพพยาบาล แต่หมออย่างผมก็ได้เรียนรู้ไปด้วย

พี่ทอง เป็นพยาบาลโรงพยาบาลประจำจังหวัด ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้างมาหลายปี ตลอดเวลาที่ไม่สบาย ก็ยังทำงานปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ และยังอุทิศเวลาส่วนหนึ่ง เป็นวิทยากรและอาสาสมัครเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของตนเองและมอบกำลังใจแก่คนไข้มะเร็งในโรงพยาบาลอีกด้วย

ครั้งนี้พี่ทองต้องมาห้องฉุกเฉินเพราะมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ผมไปเยี่ยมพี่เขาหลังถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาลแล้ว

พี่ทองต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลา แต่ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และพยายามทำอะไรด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง โดยมีบุคคลใกล้ชิด คือ สามีและบุตรชายเฝ้าอยู่ใกล้ๆ

พี่ทองเล่าเรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ธรรมดาที่บุคลากรสุขภาพอย่างพยาบาลหรือหมอต้องพบเจอเป็นประจำ ให้ผมและแพทย์ใช้ทุนฟัง

"พี่ไข้ขึ้น..."  พี่ทองเริ่ม หลังเกริ่นให้เรารู้ว่ามัน..มีเรื่อง เกิดขึ้น

พี่ทองรู้สึกครั่นเนื้อครั้นตัวเหมือนมีไข้ จึงขอปรอทมาวัดไข้ได้ ๓๗.๗ องศา ก็เลยขอยาลดไข้พาราเซตามอลจากน้องพยาบาลที่มาดูแล แต่น้องพยาบาลเห็นว่าอาการไข้ยังไม่สูงนัก จึงยังไม่ได้นำยามาให้

สักพักอาการไข้ของพี่ทองก็สูงขึ้น จนเหนื่อยหอบเหมือนทุกครั้งเวลามีไข้ ซึ่งพี่ทองบอกว่า "พี่อยู่กับมันมาหลายปี พี่รู้ดีว่าอาการมันจะเป็นอย่างไรต่อไป พี่อยากได้ยามากันเอาไว้ก่อน"

เมื่อนำปรอทมาวัดไข้อีกครั้ง คราวนี้ก็เกิน ๓๘ องศาแล้ว พี่ทองจึงเพิ่งได้ยาพาราเซตามอลตามต้องการ แต่ก็ต้องทนเหนื่อยหอบไปก่อนแล้ว

"น้องต้องฟังพี่บ้าง" คือบทสรุประหว่างพี่ๆน้องๆร่วมวิชาชีพ


หมอกับพยาบาลเราเจอเรื่องครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนเป็นไข้ของคนไข้ จนชิน และความเคยชิน ก็ทำให้เราอาจคิดว่า..ไม่สำคัญ 

แต่คนไข้ที่อยู่กับโรคมาหลายปี เฝ้าสังเกตความเป็นไปในร่างกายตนเองอยู่เป็นประจำ แม้ไม่ต้องมีความรู้ทางการแพทย์อย่างพี่ทอง ก็พอจะบอกได้ว่า อาการแบบนี้..ผิดปกติ แล้วนะ

แนวทางการดูแลคนไข้แบบบรรเทาอาการ หรือ palliative care ที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ การสั่งการรักษาไว้ก่อนล่วงหน้า หรือ anticipatory prescription ซึ่งหมายถึง แพทย์ควรจะประเมินหรือพยากรณ์อาการของคนไข้ไว้ก่อนล่วงหน้าว่า คนไข้แค่ละรายที่เป็นโรคหรือภาวะแบบนี้ จะมีโอกาสเกิดอาการอะไรได้บ่อยๆในอนาคต และมีการสั่งจ่ายยาเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อให้คนไข้สามารถได้ยามาบรรเทาอาการนั้นได้ทันเวลา ไม่ต้องรอให้ต้อง..ทรมานสักแป็บก่อน..เหมือนพี่ทอง

พยาบาลก็คอยสอบถามอาการต่างๆว่ามีหรือไม่ ในเชิงรุกมากกว่ารอตั้งรับ ให้คนไข้เป็นมากก่อน ถึงจะมาบอก

ลองวาดภาพนะครับว่า ถ้าคนไข้ปวด กว่าจะรอให้ปวดมากจนทนไม่ไหว กว่าจะกัดฟันกล้าบอกหมอหรือพยาบาลว่าฉันปวด กว่าพยาบาลที่งานยุ่งทั้งเวรเดินมารับฟัง กว่าพยาบาลจะประเมินความปวดตามมาตรฐานวิชาชีพ กว่าพยาบาลจะตามหมอเจอเพื่อแจ้งว่าคนไข้ปวด กว่าหมอจะเดินทางมาถึง เพื่อประเมินความปวดตามมาตรฐาน กว่าหมอจะสั่งยา และ..กว่ายาจะออกฤทธิ์  คนไข้ต้องทนปวดไปก่อน..นานเท่าไร


พี่ทองก็ยังสอนผมและน้องแพทย์ใช้ทุนด้วยความเมตตาและเข้าใจพวกเรา

แว็บนึงผมคิด เอ.. ถ้าถึงวันของเรา เราจะต้องพูดประโยคนี้ มั้ยน้า

หมายเลขบันทึก: 478206เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ดีใจที่ได้อ่านบันทึกนี้ค่ะ..เจ็บป่วยมักช่วยตัวเองด้วยประสบการณ์มากกว่าพึ่งหมอ..บัตรสุขภาพเก่าเก็บ เพราะไม่ใคร่ได้ใช้เลย..

อ่านแล้วรู้สึกดีๆ จากการฟังกันและกัน สร้างสรรค์ด้วยความรัก ขอบคุณค่ะอาจารย์หมอเต็ม

Ico48

  • การพึ่งพาตนเองทางสุขภาพและการป้องกัน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ พี่ใหญ่
  • แต่ปัจจุบัน กลับเป็นตรงกันข้าม ทุกอย่างพึ่งหมอกันหมด

Ico48

  • การฟังมันมีลำดับชั้นเหมือนกันนะครับ
  • ยิ่งสูง ยิ่งพูดมาก ยิ่งฟังน้อยลง

กำลังออกจากระบบต้องกลับเข้ามาใหม่เพราะได้อ่านเรื่องของพี่ทอง

หนูเลยนึกถึงผู้ป่วยคนนึงแกเป็นคนที่ไม่เคยเจ็บป่วยอายุ 70 ปี

พอเริ่มป่วยครั้งแรกก็พบว่ามันคือมะเร็งดับและเป็นระยะสุดท้าย...

ไม่ต้องพูดถึงแนวทางรักษาหมอบอกว่าPallitive care อย่างเดียว

และก็คงไม่เกิน 3 เดือน ตอนนี้แกเหนื่อยและถ่ายเป็นเลือดเลยต้องมานอนรพ.

ลูกเคยมาเล่าให้ฟังว่าแกพูดว่าอยากลาแล้วนะ แต่ภรรยาแกร้องไห้บอกว่าไม่ให้ไปๆ

หนูกำลังคิดว่าจะช่วยยังไงดี อจ.มีข้อแนะนำอะไรให้หนูหน่อยค่ะ

  • คนไข้ "อยากลาแล้ว" มีความหมายจริงว่าอย่างไร บางทีไม่ได้หมายความตามตัวอักษร
  • ภรรยา "ไม่ให้ไป" เพราะอะไร จะได้รู้ว่าจะเตรียมตัวภรรยาอย่างไร
  • ลูก คิดอะไรอยู่

ตอนแรกลูก+ภรรยาไม่อยากให้แกรู้แต่หมอบอกคิดดีๆนะแกน่าจะได้รู้ว่าแกมีเวลาเหลือน้อย

ก็จริงอย่างนั้น...พอรู้แกบอกว่าแกยังไม่ได้ทำอีกหลายอย่าง..แกมีเพื่อนมีลูกศิษย์ที่รักอีกมากมายที่แกอยากเจอ

เคยเจอกันทุกปี( ตอนเลี้ยงรุ่น)ตอนนี้พอรู้ก็ทยอยกันมาเยี่ยมแกดูเข้มแข็งถ้ามีคนอยู่ด้วยถ้าอยู่ลำพังจะดูกระวนกระวาย

นี่ก็ผ่านมาเกือบ2เดือนแล้วค่ะ

ส่วนการบ้านที่อจ.ถามจะพยายามหาคำตอบที่แน่ชัดอีกทีค่ะ

สวัสดีวันครูค่ะอาจารย์หมอเต็ม

วันแห่งความรัก ได้ดูเรื่องนี้ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/469376 พระเอกคนไข้หัวใจระยะสุดท้าย

ระลึกถึงอาจารย์หมอเลยค่ะ สุขสันต์วัน เดือนแห่งความรักนะคะ

 

 

 

สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของคนเรา เป็นครูเป็นครูอน่างแท้จริงเลยนะครับ

ฝากความปรารถนาดีถึงพี่ทองของคุณหมอด้วยนะครับ....ขอให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิต...สู้ สู้ ครับ

มาเยี่ยมด้วยความระลึกถึงครับ

พี่ทองเสียชีวิตแล้ว วันที่ 8 มีนาคม 2555

ร่วมไว้อาลัยแด่พี่ทองของ อ.หมอเต็ม ค่ะ

ขอแบ่งปันประสบการณ์ของอาจารย์มาสู่ทีม Palliative care น่าน ที่ https://www.facebook.com/groups/cop.puapalliativecarenetwork/  ด้วยนะคะ  ขอบคุณค่ะ

ขอโทษค่ะ อาจารย์ ลิงค์ไว้ที่ CoP_น่านค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท