จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

กระบวนการค้นหาความรู้


ช่วงนี้มีประเด็นความรู้ที่น่าประทับใจเกิดกับผมเยอะครับ แต่บังเอิญสมองมันมุ่งไปเรื่องเดียว จนทำให้ไม่สามารถละทิ้งมาบันทึกความรู้ที่พบเจอได้ ในใจก็เสียดายครับหายจะปล่อยหายไป แต่ก็นั้นแหละครับ ทำไม่ได้จริงๆ ยกเว้นวันนี้ วันฝนตก อารมณ์อยากพักผ่อนด้วยการเขียนบล็อกมันเต็มเปี่ยมครับ จึงได้เปิดเว็บนั่งเขียนละเลงความคิด อือ มันหลายเรื่องจะเอาเรื่องไหนดีละ (เป็นปัญหาอีกแล้ว) อืออออ เอาเรื่องนี้แล้วกันครับ

หลายวันก่อนตระเวณเดินทางไปเก็บแบบสอบถามวิทยานิพนธ์ครับ ได้พบพูดคุยกับผู้รู้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ท่านหนึ่งทักผมว่า วันนี้อาจารย์มาเอาความรู้จากผม จากแต่เดิมอาจารย์เป็นคนสอนผม คนข้างๆ ท่านทำหน้าฉงนครับ ผมเลยเสริมต่อความเห็นดังกล่าวว่า ใช่แล้วครับ เพราะความจริงความรู้ไม่ได้มาจากนักวิชาการ ไม่ได้อยู่ที่ตัวอาจารย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่มันอยู่ที่คนที่ทำงานอยู่ คนที่อยู่กับเรื่องนั้นๆ ส่วนคนเป็นอาจารย์เพียงแค่มาเก็บความรู้ ความจริงแล้วเอาไปวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เกิดแนวทางใหม่ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาเท่านั้นเอง

สมาชิกในวงสนทนาก็แสดงความคิดเห็นว่า ความรู้ในหนังสือก็เยอะแยะแล้วนี่ครับ อาจารย์แค่อ่านๆ แล้วก็วิเคราะห์ก็ได้แล้ว ท่านผู้รู้ก็ตอบว่า ความรู้ในหนังสือก็ใช่ มันเป็นความรู้ที่เผยแพร่สังเคราะห์ออกมาแล้ว แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด มันต้องออกไปหาไปพิสูจน์จากความเป็นจริง แล้วความรู้จึงจะได้เพิ่มพูนขึ้น ผมเลยเสริมต่อว่า ความรู้ในหนังสือที่มีคนเขียนไว้ ก็หมายถึงมีคนไปพบไปเจอความรู้ สภาพการณ์ใด แล้วไปเรียบเรียงบันทึกไว้ เพียงแต่มันยังมีความจริงอีกเยอะแยะที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป ที่คนที่แสวงหาความรู้จะเป็นต้องออกไปคนหา แล้วนำมาบันทึกเพื่อการถ่ายทอดต่อไป มันทำให้ความรู้เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ

ท่านผู้รู้ชวนคุยต่อว่า ความจริงความรู้ที่ถูกบันทึกไว้ก็ใช่ว่าจะเป็นทั้งหมดของความรู้ที่ผู้เขียนมี แต่มันเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น คงยากที่จะนำเอาความรู้ทั้งหมดลงไปเขียนได้ ดังนั้นการมาถามผู้ที่่รู้จึงยังเป็นความสำคัญของการค้นคว้าแสวงหาความรู้ ท่านพูดไว้อย่างนี้ทำให้ผมนึกถึงอัลกุรอานในซูเราะห์อันนะห์ล์ วรรคที่ 43 ที่มีความหมายว่า

ดังนั้นพวกเจ้าจงถามผู้รู้ หากพวกเจ้าไม่รู้

นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้อธิบายคำว่าผู้รู้ในที่นี่ไว้ว่า หมายถึง ผู้รู้ในเรื่องคัมภีร์เตารอตและอิลญีล เพื่อยืนยันว่าคัมภีร์ทั้งสองระบุไว้ชัดเจนว่า ศาสนทูตไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นปุถุชนคนธรรมดาๆ ที่ได้รับมอบหมายมาเพื่อการเผยแพร่หลักคำสอนจากพระเจ้าเท่านั้น

สิ่งชวนให้คิดต่อก็คือกระบวนการเริ่มต้นของการเรียนรู้จะต้องเชื่อมโยงไปยังการอ่านด้วยครับ ดังที่อัลลอห์ได้ทรงประกาศไว้ในปฐมโองการของอัลกุรอานในซูเราะห์อัลอะลัก วรรคที่ 1 ที่มีความหมายว่า

จงอ่านด้วยพระนามของพระเจ้าผู้ทรงบังเกิด, ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด,  จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้าทรงใจบุญยิ่ง, ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา, ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้

 

ผมประมวลจากที่ได้พูดคุยเชื่อมโยงมายังโองการอัลกุรอานที่หยิบยกมาข้างต้น ผมยิ่งมั่นใจว่ากระบวนการสำคัญของการเป็นนักวิชาการคือการแสวงหาความรู้ที่ต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการหลักๆ 2 อย่างคือ การอ่าน ซึ่งนักอรรถาธิบายอัลกุรอานระบุว่าไม่ใช่เฉพาะการอ่านสิ่งที่เป็นตัวอักษรเท่านั้น แต่อ่านในทุกๆ อย่าง ทุกๆ สัญลักษณ์ที่ปรากฏ และกระบวนการที่สองคือ การถาม ถามในสิ่งที่ไม่รู้ที่สงสัย และนำผลที่ได้ทั้งหมดมาสู่การเขียน การบันทึกและการถ่ายทอดต่อไป

วัลลอฮูอะลัม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 480817เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2012 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอายะฮฺที่อาจารย์อ้างคือ "ดังนั้นพวกเจ้าจงถามผู้รู้ หากพวกเจ้าไม่รู้" ศัพท์ในภาษาอาหรับคือ "อะหลุลซิกรฺ" เป็นความรู้ที่ใช้ศัพท์สมัยใหม่อธิบายได้ว่า เป็นความรู้ของผู้รู้ที่ Connect หรือ "เชื่อมต่อ" กับอัลลอฮฺ ผู้ทรงเป็นแหล่งกำเนิดและคลังแห่งสรรพความรู้ อยู่ตลอดเวลา 

การรำลึกถึงอัลลอฮฺ หรือ ซิกรฺ หรือ  Connect อยู่กับ อัลลอฮฺ ตลอดเวลา เป็น "กระบวนการเรียนรู้" ที่ถูกมองข้ามจาก นักการศึกษา ทั่วไป วัลลอฮฺฮูอะอฺลัม

 

ขอยกตัวอย่างให้เข้ากับสถานการณ์การสอบ ณ ขณะนี้ นักศึกษาที่ไม่ได้เชื่อมต่ออยู่กับความรู้ที่เข้าเรียนมาตลอดเวลา คือเชื่อมต่อเป็นบางครั้ง หรือเชื่อมต่อถี่ขึ้นเฉพาะช่วงใกล้สอบ จะค่อนข้างมีปัญหาในการทำข้อสอบ นี่เป็นการเชื่อมต่อกับ "เนื้อหาความรู้" ซึ่งไม่ว่าจะหัวดีแค่ใหนก็จะได้ความรู้ที่ "จำกัด" อยู่ดี ดังที่ท่านนบี ศ็อลฯเปรียบความรู้ที่ได้เหมือนน้ำที่เปียกนิ้วที่เราจุ่มลงในมหาสมุทร  แต่การเชื่อมต่อกับ "แหล่งกำเนิดหรือคลังแห่งสรรพความรู้" ที่เปรียบเสมือนน้ำปริมาณมหาศาลในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ การรำลึกถึงอัลลอฮฺมีความรู้อยู่ในนั้น  การฏออัตต่ออัลลอฮฺ มีความรู้อยู่ในนั้น วัลลอฮฺฮูอะอฺลัม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท