8 ปี ไอคิโดพเนจร แม่ฮ่องสอน


ชีวิตที่นี่ก็นับว่าช่วยให้ค้นพบหลายสิ่งหลายอย่าง ค้นพบตัวเองในหลายมุม และค้นพบเรื่องราวการฝึกศิลปะป้องกันตัวที่เรียกว่า ไอคิโด แบบลูกทุ่งที่นี่
  • ริเริ่มจากเจตนารมย์

นับตั้งแต่ปี 2547 ที่ผมมาทำงานศึกษาวิจัยอยู่ที่แม่ฮ่องสอน จนถึงปัจจุบันที่รับจ๊อบโครงการหน่วยงานต่างๆ รับมาทำเองบ้าง รับเป็นที่ปรึกษาบ้าง เป็นวิทยากรบ้าง ไปเรียนรู้ลองผิดลองถูกกับเขาก็เยอะ ชีวิตก็พอเพียงผ่านพ้นมาหลายฝนหลายหนาว ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โต ไม่ได้มีเงินดงเงินเดือนอะไรเมื่อเทียบกับเพื่อนพ้องหรือผู้คนส่วนใหญ่ที่จบจากสถาบันอุดมศึกษาเดียวกัน ก็ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าตัวเองจะอยู่ที่นี่มานานได้ถึงขนาดนี้  แต่ชีวิตที่นี่ก็นับว่าช่วยให้ค้นพบหลายสิ่งหลายอย่าง ค้นพบตัวเองในหลายมุม และค้นพบเรื่องราวการฝึกศิลปะป้องกันตัวที่เรียกว่า ไอคิโด แบบลูกทุ่งที่นี่

 

 

                  ภาพการฝึกไอคิโดในสถานฝึกเอกชน ALL GYM เชียงใหม่

ปกติไอคิโด (Aikido) จะมีฝึกกันในสถาบันอุดมศึกษาไม่กี่แห่งในประเทศไทย และมีศูนย์ฝึกของเอกชนอยู่บ้างแต่ก็มีการเก็บค่าธรรมเนียมซึ่งถึงไม่แพงสำหรับพ่อแม่ชนชั้นกลาง หรือคนวัยทำงาน แต่ก็ยากที่เด็กยากจนในจังหวัดชายแดนอย่างแม่ฮ่องสอนจะมีโอกาส  

 

หากเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ มีโอกาสได้ฝึกศิลปะแขนงนี้บ้างคงจะดีไม่น้อย ถือเป็นการเผยแพร่สิ่งดีๆ ให้ความรู้เป็นวิทยาทานด้วย ผมคิดอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2547 คิดแล้วก็มีคนสนใจมาร่วมขบวน เข้าๆออกๆ กันเรื่อยมาจนนี่เข้าปีที่ 8 ที่ยังคงมีการฝึกสอนอยู่ที่นี่ บางครั้งก็ไปสอนที่โรงเรียน บางครั้งก็สอนที่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสรเด็ก เยาวชน บางครั้งไปประชุมก็ไปสอนด้วย  ไม่มีการแข่งขัน ประกวดประชัน  ก็ดั้นด้นฝึกกันเรื่อยมา ถ้าจะนับคนที่เคยมาร่วมฝึกกันก็น่าจะหลายร้อยคน แต่ที่อยู่ทนถึงวันนี้ก็มีไม่ถึงสิบคน แต่ละคนก็มีหน้าที่การงานของตน มาฝึกกันในเวลาว่าง ในขณะเดียวกันก็มีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาฝึกเรื่อยๆ ผมเองก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าคนต้องเพิ่มเท่าไร จะต้องสร้างโน่นสร้างนี่อะไร เราคิดว่าค่อยๆโตแบบค่อยเป็นค่อยไป มีพื้นฐานที่มั่นคงน่าจะดีกว่า

 

ส่วนหนึ่งที่คิดเช่นนี้ เพราะเรื่องไอคิโดนี่เป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติอย่างมาก อธิบายให้เข้าใจก็ยาก เขียนเป็นเรื่องราวก็ลำบาก ไอ้เราก็ใช้ชีวิตกับการเขียนโครงการมาพอควร แต่พอมาเขียนเป็นโครงการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เขียนมาสองครั้งก็ยังไม่ผ่าน  ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้ยากที่จะขอการสนับสนุนจากหน่วยงานใหญ่ๆ เราทำเล็กๆของเราไปตามอัตภาพ ค่อยๆสะสมบทเรียนไปทีละนิดๆดีกว่า คนที่ค้นหา แสวงหาเรื่องเหล่านี้ก็คงมาเจอเราเอง จึงเปลี่ยนใจไม่คาดหวังอะไรมาก ไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องมีคนมาฝึกเท่าไร หรือลูกศิษย์จะไปได้ไกลแค่ไหน ก็ฝึกไปเรื่อยๆ และก็ให้ข้อมูล ให้แรงบันดาลใจเพื่อให้พวกเขาเลือกใช้ไอคิโดในเส้นทางของพวกเขาเอง

 

  • พัฒนาการของสถานที่ฝึก

จากปี 2548 ที่เริ่มมีการฝึกให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า กับโรงเรียนบ้านห้วยแห้ง ซึ่งต้องหาเวลาว่างขี่มอเตอร์ไซต์ไปสอน เด็กๆได้นำไอคิโดไปแสดงก๊องๆแก๊งๆในงานฤดูหนาวของอำเภอในปี 2548 พอมาถึงปี 2549 ผมาได้ก่อตั้งสโมสรผู้นำเยาวชนฯ (สยชช.) ขึ้นมาเป็นองค์กรให้เด็กๆทำงานร่วมกัน โดยใช้ห้องประชุมศูนย์ประสานงานข้อมูลความรู้เพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมของเอ็นจีโอที่ปางมะผ้าเป็นที่ฝึกซ้อมไปพลางๆ ต่อมาก็ย้ายมาที่รงเรียนอนุบาลปางมะผ้า กับโรงเรียนศูนย์ปางมะผ้าในโครงการตามพระราชดำริ  ซึ่งก็เป็นปัญหาอีกว่าโรงเรียนไม่ได้รักษาเบาะให้เราเลย เบาะฉีกขาดขึ้นราไปหมด พอปี 2551 ผมก็ย้ายการฝึกมาที่ศาลารวมใจ สยชช. ซึ่งเป็นศาลาเล็กๆ พื้นปูน หลังคามุงสังกะสี  ในที่สุด เราก็มีที่ฝึกและที่เก็บเบาะที่ถาวรขึ้น ไม่ต้องง้อใคร ใครอยากเรียนก็มา ไม่เก็บค่าเรียน ขอแค่แต่ต้องเป็นคนดี ทำประโยชน์แก่ส่วนรวม และเคารพกฏกติกามารยาทในการฝึก

                    การฝึกที่ ศาลารวมใจ สยชช. ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

 

แต่ปัญหาไม่จบแค่นั้น หลังจากที่เราใช้ศาลารวมใจ สยชช. ฝึกอคิโดจากปี 51 เรื่อยมาจนถึงปี 54 ในต้นปี 54 นี่เอง ที่มีคนเฒ่าอารมณ์ร้ายย้ายมาอยู่ข้างศาลาฝึกของเรา เวลาซ้อมแล้วล้มตบเบาะกันดังๆ แกก็จะมายืนมองทำตาเขียวจ้องจะกินเลือดกินเนื้อ หาว่าเราทำแกตกใจตื่น แกเป็นคนประหลาด พอสักหกโมงเย็นก็จะเข้านอน แต่พวกเราซ้อมตอนห้าโมงครึ่งตอนเย็นเลิกประมาณทุ่มครึ่ง บ่อยครั้งเข้า แกก็พาลหนักข้อขึ้น มีมาด่าว่าโวยวาย ว่าเราไปรบกวนความสงบ เด็กที่มาซ้อมกับผมก็ด่าสวนตอบ กลายเป็นวิวาทะกับเพื่อนบ้าน สุดท้ายก็ยังต้องใช้ที่นี่ซ้อมกันไป แต่ก็พยายามลดเสียงลง  และซ้อมแต่หัววันขึ้น ไม่มีเรื่องเป็นดีที่สุด เพราะอีกไม่นานแกก็จะย้ายออกไปแล้ว ลูกชายแกมาบอกอย่างนั้น เราก็อดทน

กลางปี 2554 ผมกับครอบครัวตัดสินใจย้ายบ้านไปอยู่ในเขตอำเภอเมืองเพื่อนำลูกเข้าโรงเรียนและขยายงานเชื่อมกับหน่วยงานในจังหวัด ก็เลยต้องหอบหิ้วเบาะและอุปกรณ์การฝึกขึ้นตามไปด้วย แรกทีเดียวเราก็เช่าบ้านอยู่ พอมีพื้นที่โรงรถก็ใช้เป็นที่ปูเบาะฝึกกันไป จากนั้นก็ไปขอใช้สนามหญ้าข้างห้องสมุดประชาชน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนพักหนึ่ง กะว่าเวลาซ้อมมีคนผ่านไปผ่านมาเห็นจะได้ชวนกันมาฝึก แต่ซ้อมให้คนดูสามเดือน มีคนสนใจก็พอควร แต่มาฝึกต่อเนื่องแค่คนเดียว เราก็คิดว่าซ้อมอยู่บ้านดีกว่า ใครสนใจก็มาเองละกัน

                       การฝึกที่บ้านเช่า ในอำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน

 

พอปลายปี 2554 ครอบครัวเราก็ซื้อบ้านพร้อมที่ดินแปลงเล็กๆแปลงหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้เป็นที่ฝึกมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้กะให้เป็นโดโจมาตรฐานอะไร เพราะเราฝึกเพื่อสุขภาพและพัฒนาจิตใจ เป็นวิทยาทาน ถือเป็นการทำดีบูชาครู ไม่เน้นการสมัครสมาชิกหรือมีค่าธรรมเนียมอะไร

 

            บรรยากาศการฝึกไอคิโดที่บ้านปัจจุบัน อ.เมือง แม่ฮ่องสอน

 

  • บทเรียนสำคัญ

มีอยู่ 2 เรื่อง

1) เรื่องของความคาดหวังในตัวผู้เรียน  เด็กที่นี่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ไม่มาก พูดง่ายๆคือไม่ค่อยทะเยอทะยาน ออกจะเฉื่อยๆ ครอบครัวก็ไม่ได้สนใจการศึกษาของลูกเท่าที่ควร ไอ้เรื่องจะพาลูกมาสมัครเรียนนั่นเรียนนี่ น้อยมาก ไอคิโดเป็นวิขาที่พ่อแม่เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ บา งคนเห็นลูกมาเล่นแล้วก็ห้าม ทำนองว่าเป็นผู้หญิงจะมาเรียนวิชาหมัดมวยทำไม โรงเรียนเองก็ไม่ได้เห็นความสำคัญกับการฝึก ยิ่งไอคิโดเป็นวิชาที่ต้องอาศัยความอดทนและสม่ำเสมอในการฝึก แถมไม่มีการแข่งเอาหน้าเอาตาด้วยแล้ว ก็เป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่ บริบททั้งจากตัวเด็ก ครอบครัว โรงเรียนและจากลักษณะพื้นฐานวิชาอย่างนี้ ก็เลยทำให้เราได้บทเรียนว่าหวังอะไรมากไม่ได้ แม้ว่าจะมีการประชาสัมพันธ์ ซึ่งการประชาสัมพันธ์เรื่องไอคิโด เรามีกิจกรรมสาธิตในที่สาธารณะแทบทุกปี ตามงานต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีการสาธิตในโรงเรียน 2 ครั้ง งานฤดูหนาว 2 ครั้ง งานวันเด็ก 2 ครั้ง แต่ละครั้งคนดูก็ฮือฮา  โอ้โฮ้ ทึ่ง เสียงปรบมือกึกก้อง แต่พอเอาเข้าจริงไม่มีคนตามมาฝึก นี่ธรรมดา แต่เราก็ต้องฝึกก็ต่อไป เท่าที่มีกำลัง มีเวลา เพราะคนที่ฝึกคือคนที่ได้ประโยชน์โดยตรง

                  การสาธิตไอคิโดนอกสถานที่ในงานวันเด็กแห่งชาติ ม.ค.55

                                  ณ ห้องสมุดประชาชน แม่ฮ่องสอน

 

2) เรื่องการฝึกฝนตนเอง  อยู่ไกลอาจารย์ ต้องเอาคำสอนมาทบทวน โชคดีที่สมัยนี้มีตำรับตำราให้ซื้อหา มีแหล่งความรู้ในอินเตอร์เน็ตให้โหลดมาศึกษามากมาย ซึ่งเราต้องขวนขวายนำมาใช้ในการฝึก ต้องพัฒนาตัวเองให้มาก เพราะไม่มีครูมาคอยกำกับ แต่ก็ดีใจมากที่บางครั้งก็มีอาจารย์ ศิษย์พี่ ศิษย์น้องมาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจ ทำให้มีแรงฮึดก้าวต่อไป

ที่แม่ฮ่องสอน เราคงยังมีการฝึกต่อเนื่อง ตามความสมัครใจ ไม่มีค่าธรรมเนียมแต่อาศัยการนัดหมายมาฝึกซ้อมเท่าที่เวลาและโอกาสอำนวย เฉลี่ยเดือนละ 8 – 12 ครั้ง โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการฝึกจากที่ผมเรียนจากการฝึกในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพียงแต่ที่นี่ไม่เน้นการฝึกเพื่อไปสอบ จึงไม่เน้นท่ามาตรฐาน แต่เน้นท่าที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้จริงมากกว่า และแม้ไม่เน้นพิธีรีตองมากมาย แต่ก็มีการคารวะปรมาจารย์ คารวะผู้สอน  ตลอดจนการรักษากฏกติกามารยาทในการฝึกไม่ต่างกัน  และที่แน่นอนคือ แม้จะเป็นเทคนิคเชิงประยุกต์ค่อนข้างมาก แต่ก็ยังยึดหลักการไม่ใช้ความรุนแรงครับ

หมายเลขบันทึก: 481174เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2012 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ตามมาให้กำลังใจครับ สู้ๆๆครับ

สวัสดีครับ อนุญาตเรียกว่าอาจารย์นะครับ

ผมเพิ่งได้มีโอกาสเจอ Blog ของ CMU Aikido เมื่อวานซืนนี้เองครับ

ได้ติดตามอ่านมา เจอบทความ จากปางมะผ้า ของอาจารย์

และก็มาที่นี่

มีข้อสงสัยขอเรียนถามครับว่า

ตอนที่อาจารย์เริ่มสอน Aikido ให้เด็ก ๆ ครั้งแรกนั้น

อาจารย์สร้างความมั่นใจให้ตัวเองอย่างไรบ้างครับ ในการที่จะเป็นผู้สอน

ไม่ทราบว่าตอนนั้น อาจารย์ได้ฝึก Aikido มานานหรือยังครับ

หรือว่าเป็นสายดำแล้วครับ

ผมเองเคยเรียน Aikido เบื้องต้นนิดนึงที่กรุงเทพฯ ประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว

แล้วไปอยู่ต่างจังหวัดทางใต้ ก็ไม่ได้ฝึกอีกเลย

ในใจคิดถึงตลอด และบางครั้งเคยคิดจะชวนใครมาฝึกด้วยกัน

(ผมอายุมากแล้วครับ ตอนนี้ประมาณ 50 ปี)

ผมมีความรู้สึกว่า สมัยที่เรียนนั้น คนที่เป็นรุ่นพี่บนเบาะ สามารถให้คำแนะนำหรือสอนผมได้

ช่วยฝึกการล้ม แนะนำเวลาทำเทคนิคต่าง ๆ

แต่การที่ไปสอนคนอื่น อย่างที่อาจารย์ทำนั้น หรือชักชวนใคร ๆ มาฝึกด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เพราะความรู้ เทคนิคต่าง ๆ เราให้กำลังใจตัวเองอย่างไร ว่าสามารถแนะนำคนอื่น ๆ ได้

อะไรที่เป็นเกี่ยวกับศิลปะแบบนี้ ผมมักรู้สึกว่า อาจารย์เป็นองค์ประกอบสำคัญมาก ๆ

ประมาณว่าต้องมีอาจารย์ที่มีประสบการณ์จริง ๆ นั่นเอง

จากที่ได้อ่านบทความของอาจารย์มานิดหน่อย ผมค่อนข้างรู้สึกเชื่อในจิตใจของอาจารย์ที่จะเป็นคุณครูได้แน่นอน

แต่ยังอยากถามเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก เมื่อตัดสินใจจะสอนนะครับ

ขอบพระคุณมากครับ

ตอบคุณ A

นานๆจะมีคนถามอย่างนี้ทีนึง ก่อนอื่นคงต้องบอกก่อนว่าผมมองไอคิโดอย่างไร เพราะมุมมองกำหนดวิธีฝึก วิธีสอน

ผมมองไอคิโดเป็นสมบัติของธรรมชาติ คือใครๆก็เข้ามาเรียนรู้ได้ ไม่ควรมีใครผูกมัด เหมือนเราพบเห็นน้ำตกสวยๆกลางป่า เราก็อยากชวนคนอื่นๆมาเที่ยวชม แต่ต้องมาเที่ยวเชิงอนุรักษ์นะ ไม่ใช่มาฉกฉวยผลประโยชน์ ผมคิดถึงวิชาไอคิโดแบบนั้น ด้วยวิธีคิดอย่างนี้ จึงแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กับคนอื่นๆโดยง่าย ไม่ต้องไปยึดขั้นตอน ติดกรอบรูปแบบ แต่ดูเจตนาเป็นหลัก

ในการฝึกไอคิโด เราก็รู้อยู่ว่าสายสีไหนต่างก็เป็นครูซึ่งกันและกัน คือต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การมีสายสูงแล้วติดยึดว่าตัวเองเป็นผู้รู้แล้วต่างหากที่เป็นอุปสรรคในการฝึก ตอนมาอยู่ที่แม่ฮ่องสอนใหม่ๆ เมื่อปี 2547 ผมเพิ่งฝึกไอคิโดมาได้สองปี ได้สายส้มปลายฟ้า (ปัจจุบันผมก็ยังไม่ถึงสายดำนะครับ) แต่ก็ไม่คิดว่าสายสูงต่ำจะเป็นปัญหาอะไร เราก็สอนเท่าที่เรารู้ และเราก็เรียนรู้จากผู้ที่เราสอน สิ่งดีๆก็ถ่ายทอดให้กันตามอัตภาพ ถ้าไม่คิดอะไรใหญ่เกินตัว มันก็ไปได้นะครับ หลายปีเข้าเรื่องราวการฝึกที่ปางมะผ้าก็ค่อยๆไปถึงเชียงใหม่ กรุงเทพ นัยว่าให้อาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านรับรู้ อย่างน้อยก็วางใจว่าเราไม่ได้ลบหลู่วิชา หรือเอาวิชามาใช้ในทางที่ผิด แต่ทำเพื่อสังคมจริงๆ

อีกข้อหนึ่งลึกๆเราต้องการสอนเป็นวิทยาทานเพื่อบูชาครู แม้ท่านจะรู้หรือไม่ก็ตาม สอนทีไร เราก็สบายใจ เพราะเราได้เป็นผู้ให้ และได้บูชาครู มิพักถึงผลต่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกัน ทำให้จิตใจผ่อนคลาย ส่วนวิธีการสร้างความมั่นใจในตัวเองของผม ก็คือ พุ่งเป้าไปที่ตัวเอง เริ่มจากตัวเองก่อนครับ เช่นเราอยากฝึกก็ต้องลงทุน ซื้อเบาะ หาที่ฝึก ไม่ที่ฝึกก็ต้องสร้างขึ้นมา โหลดคลิปมาดู ซื้อหนังสือมาอ่าน กลับไปฝึกซ้อมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทบทวนกับอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ หมั่นฝึกซ้อมครับ เช่น ถ้าไม่มีคู่ซ้อมก็ฝึกคนเดียว เช่น ฟันดาบ ฝึกพลอง วันไหนไม่ได้ซ้อมก็อ่านหนังสือหรือดูวิดีโอเอา ส่วนกำลังใจมันก็ขึ้นๆลงๆครับ เพราะจะหาคนทำอย่างเรายาก คนเราไม่เหมือนกัน เกิดมาก็ต่างกัน มีวิธีคิด วิธีเรียนรู้ต่างกัน มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน เวลาตายก็ยังต่างกันเลย คาดหวังมาก ก็ผิดหวังได้มาก หากจะคาดหวังก็คงหวังที่ตัวเรานี่แหละ ใครไม่ทำเราก็ทำ เพราะผลดีตกอยู่เรา

คุณอาอายุ 50 ปี ไม่แก่เกินไปที่จะฝึกนะครับ ถ้ายังเดินเหินได้สบาย ก็เริ่มฝึกได้ ด้วยตัวเอง ในแบบที่เราทำได้ถนัดนี่แหละครับ และมันจะค่อยๆแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปเอง

ทำไอคิโดให้เป็นเรื่องง่ายๆสบายๆดีกว่า เพราะไอคิโดสร้างมาเพื่อประโยชน์สุขของมวลชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ขอบคุณที่ให้เกียรติเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะครับ

สำหรับท่านที่สนใจสามารถดูคลิปวิดีโอการฝึกไอคิโดที่แม่ฮ่องสอนได้ โดยเข้าไปค้นใน www.google.co.th แล้วพิมพ์คำว่า Aikido Maehongson Youtube จะเห็นภาพการฝึกชัดเจนขึ้นครับ

ขอบคุณมากครับ อาจารย์

ได้รับข้อคิดที่ดีเลยครับ

ตรงจุดที่ว่าสายสีไหนต่างก็เป็นครูซึ่งกันและกัน ประโยคนี้ชอบมากเลยครับ

ผมเองยังพอออกกำลังกายไหวอยู่บ้าง จะพยายามใช้โอกาสดีที่ได้เข้ามาเจอ ได้มาอ่านบทความของอาจารย์

บทความใน Blog ของ CMUAikido เป็นกำลังใจสร้างโอกาสให้ตัวเองบ้างนะครับ

จริง ๆ แล้ว ตอนนี้ออกกำลังกายด้วยการเดิน การวิ่ง ก็พอเหมาะกับร่างกาย

แต่กับไอคิโดนี่ชอบมากจริง ๆ ครับ (พูดถึงตรงนี้ ว่าไปแล้วถ้าชอบมาก ที่ผ่านมาผมก็น่าจะพยายามหาโอกาสมากกว่านี้นะครับ)

ทุกวันนี้เมื่อไหร่ที่คิดถึงไอคิโด จะคิดถึงความกลมกลืน

ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วในเวลาฝึก บางครั้งผมทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ตัวแข็ง เกร็งบ้าง

แต่เืมื่อไหร่ที่นึกถึง จะคิดถึงความรู้สึกที่เหมือนเราได้ประสานเข้ากับคู่ฝึกของเรา มันเป็นอะไรที่จิตใจสงบดีนะครับ

ผมจะติดตามอ่านไปเรื่อย ๆ ครับ หากมีข้อสงสัยอะไร จะขอรบกวนเรียนถามอาจารย์อีก

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์มีความสุขกับงานที่ทำนะครับ ขอให้สุขภาพแข็งแรง

....................................

ปล. เมื่อกี้ได้ตามไปดู Youtube ของ Aikido Mae Hong Son before 2 kyu exam แล้ว

อาจารย์เข้า Koshi nage ได้หลายจังหวะมากเลยนะครับ

บังเอิญดีที่ได้ดูท่านี้

เพราะ Koshi nage เป็นท่านึง ที่ผมไม่เคยทำได้เลยครับ ตอนที่เรียน

ตอนนี้ดูอาจารย์ทำสองสามรอบ ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนเดิมครับ ว่าจะเข้ายังไง ใครหันหน้าไปทางไหน

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งนะครับ สวัสดีครับ

คลิปที่คุณดูเป็นคลิปก่อนสอบนะครับ ทำไว้เมื่อหกเดือนก่อน มีข้อบกพร่องหลายจุด

ผมชอบฝึกแล้วถ่ายทำคลิปส่งไปให้อาจารย์และรุ่นพี่ๆดูก่อนผมสอบเพื่อให้คนช่วยติ เราสามารถใช้การถ่ายวิดีโอเพื่อตรวจสอบการฝึกของตัวเองได้เป็นอย่างดี ตอนนี้สอบผ่านแล้วครับ แต่ถ้าดูคลิปอันใหม่จะเนียนกว่านะครับ เป็นการสาธิตไอคิโดในงานวันเด็ก และงานมหกรรม ICT จังหวัด เข้ากูเกิ้ล แล้ว search คำว่า Aikido Children day 2012 youtube และอีกคลิปเป็นการประยุกต์โทรศัพท์มือถือกับไอคิโด พิมพ์คำว่า Aikido mobile phone youtube ก็จะเจอคลิปทั้งสอง

ขอบคุณมากที่แวะมาให้กำลังใจ ผมยังมีกลุ่มเครือข่าย Social network ที่เชื่อมต่อกันอีกหลายกลุ่ม สามารถตามไปแชร์กันเพิ่มเติมในอีกช่องทางคือ Facebook ผมใช้ชื่อว่า wisut leksombun หรือจะพิมพ์ www.facebook.com/wisutl ก็ได้ครับ

ไอคิโดเป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ ควรฝึกหลายๆแบบไม่ว่าจะเป็นฝึกเป็นคู่ ฝึกเป็นกลุ่ม หรือฝึกคนเดียว ยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเติบโต ผมต้องขอบคุณเช่นกัน สักวันผมจะไปค้นคว้าเรื่องการฝึกไอคิโดสำหรับผู้ที่มีอายุมากๆ หรือผู้สูงวัยมาฝาก ไม่รู้จะมีหรือเปล่าแต่จะลองดูครับ 

สุดยอดคับ....กำลังจะไปฝึกหัดเรียนที่ มช.คับ


ดีเลยครับ ถ้ามาวันจันทร์ที่ ๒๒ เม.ย. นี้ได้จะเหมาะมาก เพราะเสร็จจากการฝึกจะมีการรดน้ำดำหัวอาจารย์ผู้ใหญ่ ผมก็เข้าร่วมฝึกวันนั้นด้วย เผื่อได้เจอกันครับ ถ้ายังไม่มีชุดก็ใส่ชุดวอร์มธรรมดามาแจ้งอาจารย์ขออนุญาตเข้าฝึกได้เลยครับ เริ่มฝึกหกโมงเย็น มาก่อนเวลาจะได้ช่วยกันปูเบาะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท