จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

งานวิจัยอิสลามศึกษา


เกือบๆ เดือนแล้วครับที่ อ.เจ๊ะเหล๊าะ แขกพงศ์ ผอ.สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา ม.นราธิวาสราชนครินทร์ นัดผมไว้ให้มาช่วยชวนคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (km) เกี่ยวกับการทำวิจัยกับอาจารย์ในสถาบัน ตอบรับคำไปเรียบร้อยครับ สุดท้ายวันที่จัดจริงก็ผ่านไปเรียบร้อยคือเมื่อวานครับ และผมก็ได้ไปตามนัดหมายเรียบร้อย เป็นการแลกเปลี่ยนที่มีสาระมากๆ ครับ กลับมาเช้านี้นั่งสรุปบทเรียนตนเองแล้ว อดไม่ได้ที่จะต้องจัดเวลามานั่งเขียนบันทึกนี้

 

*ทำวิจัยแล้ว เราได้ประโยชน์อะไร?*

ข้อแลกเปลี่ยนแรก คำว่าประโยชน์ที่ได้จากการวิจัยทำให้หลายคนหมดกำลังใจไปครับ กรณีนี้ในสถาบันผมเองยังเป็นประเด็นอยู่หลายปี “เมื่อคนทำวิจัยถูกกล่าวหาว่าทำวิจัยเพื่อหาเงิน” ผมอยากตอบแต่คงตอบได้ไม่ลึกเท่ากับที่ผมตอบให้กับเพื่อนอาจารย์ในสถาบันเดียวกับผมครับ อันนี้เราใช้วัฒนธรรมองค์กรตอบได้ แต่คำถามซึ้งๆ มาจากท่าน ผอ.ตอบเองคือ เมื่อเราทำ เราสามารถนำเสนอองค์ความรู้ที่มีคุณค่าให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับอิสลามต่อการแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบัน ท่านเองเคยมีงานชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ไปแล้ว ผลคือผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่มุสลิมได้อ่านแล้วถึงกับบอกว่านี้ไงความรู้ที่ยิ่งใหญ่มากที่จะมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมไทยได้ คำถามคือถ้านักวิชาการกลัวว่าจะถูกกล่าวว่าทำงานวิจัยเพื่อเงินแล้วใครจะทำความจริง ความรู้มาสู่สังคม สำหรับผมคำพูดว่าร้ายดังกล่าวเป็นเพียงการให้เหตุผลกับตัวเองของคนที่ไม่ทำวิจัยว่า ฉันไม่ทำนะถูกแล้ว คนทำวิจัยนะผิด ทั้งๆ ที่การวิจัย ค้นหาความรู้เป็นหน้าที่ความเป็นอาจารย์” นักวิจัยไม่ควรเอามาเป็นสาระให้รกสมอง

ข้อแลกเปลี่ยนที่สอง งานวิจัยทำเสร็จแล้วก็ขึ้นหิ้ง ไม่ถูกนำไปใช้ อย่างมากสุดก็คือเอาไปใช้ในการขอตำแหน่งวิชาการได้เท่านั้นเอง อันนี้สอดคล้องกับงานสำรวจชิ้นหนึ่งที่ผมเคยเจอครับว่า งานวิจัยไทยไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายได้จริงไม่รู้จะถึง 20% หรือเปล่า ซึ่งก็หมายความว่างานส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ ซึ่งอันนั้นสะท้อนกลับว่า อาจารย์ นักวิจัยไทยยังสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพได้น้อยมาก

จะโทษใครดี? อย่างแรกก็ต้องโทษนักวิจัยเองที่ทำอะไรดีๆ ออกมาไม่ได้ ฮิฮิ (ใจร้าย) ผมเลยลองให้อาจารย์ใหม่ๆ ของสถาบันบอกหัวข้อวิจัยที่อาจารย์จะทำออกมาครับ ซึ่งผมก็สรุปให้วงสนทนาคุยว่า หัวข้อทั้งหมดเป็นเรื่องของการสำรวจ ศึกษาสภาพ เป็นแนวเดียวกับงานวิจัยชิ้นแรกที่ผมทำ เหตุผลคือ ครั้งแรกที่เราเริ่มทำวิจัยเราอาจจะยังหาประเด็นลึกๆ เหมาะๆ มาทำไม่ได้ มันจึงเริ่มต้นด้วยการวิจัยแบบพายเรือในมหาสมุทรก่อน แต่จากนั้นมันจะลงลึกในบางประเด็นไปเอง แต่ความจริงปัญหาคือ นักวิจัยบางส่วนทำวิจัยเสร็จ งานชิ้นต่อมากลับไปหาเรื่องอื่นทำแทนที่จะเจาะลึกไปในเรื่องที่เริ่มต้น

อันต่อมาคือ ถ้าจะย้อนกลับมาในมุมผู้ใช้บ้างทำอย่างไรให้เขามั่นใจว่างานวิจัยที่เราทำเสนอนั้นถูกต้องใช้ได้ผลจริง ก็ลองคิดดูว่า นักวิจัยทำการศึกษาปีเดียว บางงานไม่เคยได้ลองเอาแนวคิดไปใช้จริงเลย จู๋ๆ จะให้เอาไปทำนโยบายเลยมันเป็นเรื่องลำบากใจครับ มันจึงต้องเป็นเรื่องของนักวิจัยที่จะต้องทำให้เกิดความมั่นใจในผลของการวิจัย เช่นการวิจัยขยายผล การกระจายผลการวิจัยเพื่อสร้างเครือข่ายการทดลองใช้ผลการวิจัย เป็นต้น ซึ่งหากนักวิจัยทำแล้วทิ้ง ทำแล้วก็เปลี่ยนเรื่อง ตัวนักวิจัยเองก็จะขาดความเชื่อถือไปได้เช่นเดียวกัน

ข้อแลกเปลี่ยนสาม เป็นผลของผมเองครับคือ การวิจัยทำให้ผมได้ศึกษา ได้อ่านงานวิชาการที่ใหม่ๆ เพิ่มตลอด แค่การเขียนโครงการวิจัยเพื่อเสนอขอทุน ผมก็ต้องไปอ่านงานวิจัยของคนอื่น อ่านหนังสือ อ่านบทความสารพัดเพื่อเอามาเขียนในความเป็นมาของปัญหาและการศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวกว่าโครงการจะเสร็จ ผมต้องอ่านประมาณ 20 ชิ้นงานและเอาไปใช้ได้จริงในการเขียนอ้างอิงในโครงการประมาณ 10-15 ชิ้น เช่นเดียวกันเมื่อเริ่มเขียนผลการวิจัย ผมก็ต้องไปอ่านเพิ่มอีก 20 ชิ้นงาน นั้นก็หมายถึงการทำงานวิจัยหนึ่งปีหนึ่งชิ้น ผมต้องอ่านไปทั้งสิ้น 40 ชิ้น ซึ่งผมไม่เคยรู้สึกว่าสูญเปล่าเลยหากโครงการผมไม่ได้รับทุน เพราะนั้นหมายถึงยังไงๆ ผมก็ได้พัฒนาตนเองแล้ว

*พัฒนานักวิจัยมือใหม่อย่างไรดี*

เมื่อสถาบันยังใหม่อยู่ อาจารย์ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มงานวิจัย บางคนยังคงมีข้อจำกัดในการพัฒนางานวิจัยในหลายๆ ด้าน เราจะขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างไร รอบนี้เลยต้องหยิบเอาสิ่งที่อาจารย์แต่ละท่านนำเสนอมาลองประมวลดู ผมเห็นได้อย่างหนึ่งครับคือ อาจารย์เริ่มการวิจัยกันแล้วผ่านการวิจัยชั้นเรียน ซึ่งผมเลยชวนคุยต่อว่า ลองตีโจทย์จากการวิจัยชั้นเรียนไปสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนดูได้ไหมครับ หมายถึงการเลือกเอาบางประเด็นบางเรื่องที่สอนอยู่ในชั้นเรียนมาสู่การวิจัยนอกห้องเรียน พร้อมๆ กับดึงนักศึกษาร่วมในการวิจัย ฝึกนักศึกษาไปพร้อมๆ กับการฝึกตัวอาจารย์เอง

ประเด็นแรก นำเอาแบบอย่างที่ดีสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในสถาบัน เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดี ปรับทัศนคติต่อการวิจัยของคนภายในสถาบันได้เป็นอย่างดี

ประเด็นสอง ต้องทำวิจัยแบบทีม โดยในทีมต้องมีอาจารย์ที่มีทักษะการวิจัยแล้วร่วมอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าครับ แค่ร่วมเป็นทีมแล้วช่วยแนะนำระหว่างการทำงานได้ก็เป็นกลวิธีพัฒนาทักษะการวิจัยของอาจารย์ใหม่ได้เป็นอย่างดี ผมเคยเห็นบางที่ให้อาจารย์ใหม่ทำวิจัยโดยมีอาจารย์ที่มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาครับ แต่ส่วนตัวชอบแบบการให้ร่วมทีมไปเลย เพราะควรลองใช้วิธีการนี้ได้ผลมาแล้วครับ

ประเด็นสาม ทำให้เห็นความสำเร็จเป็นระยะๆ ครับ เช่น เมื่อเสนอโครงการไปแล้ว ก็เรียบเรียงงานดังกล่าวเป็นบทความวิชาการก่อน และระหว่างวิจัยก็นำข้อค้นพบมานำเสนอในรูปแบบบทความวิจัยเป็นระยะ จะช่วยให้เห็นว่าระยะทางของการวิจัยแต่ละเรื่องไม่ยาวนานจนเกินไป

ประเด็นสี่ เริ่มการทำวิจัยจากงานชิ้นเล็กๆ ครับ ไม่ควรเริ่มกับงานใหญ่ทีเดียว เพราะบางทีการมองประเด็นอย่างไม่รอบด้านและขาดประสบการณ์จะทำให้งานเสียและกู้กลับไม่ได้ด้วย คำว่าชิ้นเล็กๆ บางทีคิดคำนวนยากครับ ดังนั้นกลไกของการแลกเปลี่ยนภายในจะช่วยให้นักวิจัยชัดเจนขึ้น เอาหัวข้อหรือประเด็นที่จะทำมานั่งคุยในกลุ่มก่อน เพราะบางทีหัวข้อที่เลือกอาจจะซ้ำๆ อยู่จุดเดิมกับที่มีการทำไปแล้ว การแลกเปลี่ยนจะช่วยให้หัวข้อมีความลึกและชัดขึ้นได้

*ทำให้งานวิจัยเอกสารมีมิติขึ้นได้อย่างไร*

คำถามนี้ผมถูกถามมานับครั้งไม่ถ้วนครับ โดยเฉพาะจากอาจารย์ที่จบจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แต่ที่สังเกตเห็นชัดๆ ว่าปัญหานี้หาไปจากโต๊ะสนทนานักวิจัยแล้วก็น่าจะเป็นที่คณะอิสลามศึกษา ม.อิสลามยะลาครับ เหตุเพราะงานวิจัยส่วนใหญ่ทางด้านอิสลามศึกษาลงสู่พื้นที่อย่างน่าสนใจแล้ว ในโจทย์นี้มีหลายความคิดเห็นที่ร่วมแลกเปลี่ยนครับ

ประเด็นหนึ่ง ด้วยธรรมชาติของการวิจัยทางอิสลามศึกษา เราควรเรียกร้องให้มีการจัดกลุ่มเป็นกลุ่มเฉพาะจะดีหรือเปล่า ความเห็นนี้น่าสนใจครับในแง่ของการสร้างนักวิจัยเฉพาะด้าน เพียงแต่ถ้ามองเป้าหมายและลักษณะการใช้ผลงานวิจัยด้านอิสลามศึกษา ผมคิดว่าเป็นมีความชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มมนุษย์ สังคมศาสตร์ได้อยู่แล้ว ที่สำคัญเรามุ่งที่จะทำวิจัยเพื่อนำเอาหลักคำสอนของศาสนาไปบูรณาการในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมดังนั้นหากแยกกลุ่มออกไปบางทีจะเกิดกำแพงการใช้งานเสียมากกว่า

ประเด็นสอง การทำวิจัยด้านอิสลามศึกษาเน้นวิเคราะห์เอกสารและให้คำตอบจะทำให้เหมือนงานวิจัยอื่นได้ยาก อันนี้เป็นเรื่องของการออกแบบงานวิจัยครับ ส่วนตัวมองว่าการศึกษาและวิเคราะห์เอกสารอย่างเดียวก็เป็นการวิจัยได้ เพียงแต่ความจริงงานวิจัยเหล่านี้สามารถออกแบบให้มีความน่าสนใจและสร้างผลกระทบได้มากกว่านี้ ผมจึงตั้งคำถามในวงสนทนาต่อว่า การที่เราวิเคราะห์เอกสารออกมาเป็นคำตอบให้กับปัญหา เมื่อเราบอกออกไป มีใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และหากเขาไม่เห็นด้วยแล้วบอกว่าผลการวิเคราะห์ของเราไม่ถูกต้อง เราจะทำอย่างไร นั้นหมายถึงงานวิจัยของเราถูกปฏิเสธใช่หรือเปล่า

มีข้อแลกเปลี่ยนกลับมาว่า ใช่แล้ว ดังนั้นคำตอบของงานวิจัยจะสร้างความเชื่อถือได้ สร้างการยอมรับได้ก็ต้องด้วยวิธีการที่ชัดเจนที่ทำให้ได้คำตอบในงานวิจัย ผมจึงตั้งคำถามแล้วทำไมในการวิจัยของเรา เมื่อเราศึกษาวิเคราะห์เอกสารเสร็จ ได้ผลมาระดับหนึ่งแล้ว ก็เอาผลการวิเคราะห์ดังกล่าวไปตั้งกลุ่มรับฟังความคิดเห็นจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ถามว่าเขาเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือไม่ก็เอาผลไปจัดสัมมนา ทำเวทีรับฟัง ออกแบบให้เป็นแบบสอถามเพื่อถามว่าชัดๆ ว่าใช่หรือเปล่า เห็นด้วยหรือเปล่า ซึ่งเราก็เอาผลเหล่านี้มาสรุปเป็นรายงาน ซึ่งเพียงแค่เราเพิ่มกระบวนการเหล่านี้ให้เป็นหนึ่งในกระบวนการวิจัย เราก็พาการวิจัยเอกสารมาสู่การวิจัยแบบที่สมบูรณ์กว่า น่าเชื่อถือกว่าได้แล้วครับ

หมายเลขบันทึก: 485115เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2012 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
กัษมารา (จัสมิน) ศรสวรรค์

อัสลามมุอาลัยกุ้มค่ะ อาจารย์ จารุวัจน์ ชื่อ จัสมิน นะค่ะ เป็นนักศึกษาปริญญาโท ที่มหาลัย อูลูดาร์ ประเทศตุรกีค่ะ พอดีได้อ่านงานเขียนของท่านในหลายๆชื้นแล้ว น่าสนใจมากๆค่ะ พอดีตอนนี้ก็กำลังจะเริ่มทำงานวิจัย เกี่ยวกับการศึกษาอิสลามในประเทศไทย พอดีค่ะ แต่จะทำเป็นภาษาตุรกี ซึ่งตอนนี้ตัวจัสมินเอง ยังไม่สามารถกำหนดหัวข้อที่แน่ชัดได้ แต่ในใจคิดไว้บ้างแล้ว แต่จัมมินไม่เคยเขียนงานวิจัยค่ะ จึงอยากขอคำปรึกษาทั้งในเรื่องการทำวิจัย และการศึกษาของอิสลามในไทยด้วยค่ะ อาจารย์พอจะแนะนำได้ไหมค่ะ....ชุกรอนสำหรับบทความดีๆค่ะ

อัสลามมุอาลัยกุ้มค่ะ อาจารย์ จารุวัจน์ ชื่อ จัสมิน นะค่ะ เป็นนักศึกษาปริญญาโท ที่มหาลัย อูลูดาร์ ประเทศตุรกีค่ะ พอดีได้อ่านงานเขียนของท่านในหลายๆชื้นแล้ว น่าสนใจมากๆค่ะ พอดีตอนนี้ก็กำลังจะเริ่มทำงานวิจัย เกี่ยวกับการศึกษาอิสลามในประเทศไทย พอดีค่ะ แต่จะทำเป็นภาษาตุรกี ซึ่งตอนนี้ตัวจัสมินเอง ยังไม่สามารถกำหนดหัวข้อที่แน่ชัดได้ แต่ในใจคิดไว้บ้างแล้ว แต่จัมมินไม่เคยเขียนงานวิจัยค่ะ จึงอยากขอคำปรึกษาทั้งในเรื่องการทำวิจัย และการศึกษาของอิสลามในไทยด้วยค่ะ อาจารย์พอจะแนะนำได้ไหมค่ะ....ชุกรอนสำหรับบทความดีๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท