หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

สิ่งก่อสร้างที่เป็นจุดเสี่ยงก่อภัยเมื่อมีแรงสะเทือน


ความคล่องตัวของการอพยพ จุดเหมาะสมของศูนย์อพยพ และศูนย์อพยพที่เหมาะสม ปลอดภัย การบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวบนบกที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงเตรียมความพร้อมกันไว้ก่อนล่วงหน้า ขณะที่มีแผ่นดินไหวขนาดจิ๋ว ที่มีคนบอกว่าเกิดอยู่ทุกวัน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คนในครอบครัวใช้โอกาสที่วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด เดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่ภูเก็ต ก็ไปได้ความรู้เพิ่มจากคนที่อาศัยอยู่ในที่สูงกลางเมืองภูเก็ตว่าเจออะไรในวันแผ่นดินไหว

แรงสั่นที่เกิดขึ้นในวันที่คนภูเก็ตแตกตื่นนั้น อยู่ในระดับทำให้ของในบ้านคนที่อยู่แถวเชิงเขารังสั่น ไม่ถึงกับมีของตกแตกเสียหาย แค่ทำให้ตกใจด้วยไม่เคยเจอ

บางคนเล่าว่า อยากเห็นน้ำทะเลแห้ง เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็ขี่จักรยานยนต์ไปที่อ่าวมะขามเพื่อดูน้ำกันก็มี  ตอนที่อยากไปดูนั้น ไม่ได้นึกว่าจะมีอันตรายอะไรกับตัว รู้แต่ว่าตัวเองทำสิ่งตรงข้ามกับคนอื่นเท่านั้นเอง ไปแล้วก็ไม่เห็น เห็นแต่มีน้ำเต็มอยู่แล้ว

นักวิชาการบอกเล่าไว้ว่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้นมาจากทั้งการเคลื่อนตัวของแผ่นดินเปลือกโลก การระเบิดของภูเขาไฟ การพังทลาย และการกระทำของมนุษย์ อะไรก็ได้  ส่วนใหญ่แล้วแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เคยเกิดจะอยู่ในบริเวณเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก

80 % ของพลังงานที่ปล่อยออกมาส่งมาจากบริเวณเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกนี่แหละ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเกิดสึนามิเสมอไป

จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเลื่อนไถลของรอยเลื่อนที่อยู่ใต้หรือใกล้กับ มหาสมุทร จนทำให้พื้นดินใต้มหาสมุทรยกตัวสูงขึ้นในแนวดิ่ง (อาจยกตัวสูงขึ้นหลายเมตร) ครอบคลุมพื้นที่จำนวนมาก (อาจถึง 100 ,000 ตารางกิโลเมตร)

เป็นแผ่นดินไหวตามธรรมชาติบนพื้นท้องทะเลที่มีจุดโฟกัสลึกไม่เกิน 70 กิโลเมตรจึงจะเกิด  จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก และเขตที่มีภูเขาไฟเท่านั้น  ขนาดความรุนแรงมากกว่า 7 ริกเตอร์และมีกลไกของมุมการเคลื่อนตัวใกล้แนวดิ่งหรือใกล้เคียง 90 องศา จึงจะเกิดขึ้นได้

ถ้าใช้ความรู้เรื่องน้ำพุร้อนและหินที่พูดๆกันอยู่  ก็ถึงบางอ้อว่า  ที่แท้ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ระนอง นั้นอยู่ในเขตแนวภูเขาไฟ  (หินแกรนิต เป็นหินอัคนีชนิดหนึ่ง) มาตลอด  มิน่าเล่า  อย่างนี้ก็ไม่พ้นมีเอี่ยวกับสึนามิตลอดไป

นักสมุทรศาสตร์พบว่าแผ่นดินไหวใต้ทะเล มักเกิดบริเวณเหวทะเล ( Trench) ซึ่งเป็นบริเวณที่แผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นมาปะทะกัน โดยแผ่นหนึ่งมุดงัดลงไปใต้อีกแผ่นหนึ่ง  เหวทะเลเหล่านี้ส่วนใหญ่วางตัวอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่ง หมู่เกาะ หรือเกาะ เช่น เกาะสุมาตรา หมู่เกาะญี่ปุ่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ และใกล้ชายฝั่ง ทวีปอเมริกาตั้งแต่เหนือจรดใต้ เป็นต้น  บริเวณเหล่านี้จึงเป็นเขตที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง

แรงสั่นไหวที่ภูเก็ตนั้นอยู่ระหว่าง 2-4.3 ลึกไม่มากนัก แต่มีบ้านร้าว กำแพงร้าว เมื่อใช้ภาพการปล่อยพลังงานแผ่นดินไหวและการเกิดสึนามิตามธรรมชาติข้างบน เรียนรู้ประกอบกับเรื่องราวที่คนภูเก็ตเล่าให้ฟัง พอจะเห็นภาพเหตุการณ์ความรุนแรงของแผ่นดินไหวบนบก หากจะเกิดขึ้นได้จริงออกมากขึ้น

การติดตามเหตุการณ์ของแผ่นดินไหวแล้วเตือนภัย ให้ประโยชน์กับการป้องกันคลื่นยักษ์คร่าชีวิตผู้คน มีคนทำให้แล้ว ประสบการณ์ที่เคยพบพานทำให้รับรู้และเตรียมการได้ทัน  ยังขาดก็แต่ความคล่องตัวของการอพยพ จุดเหมาะสมของศูนย์อพยพ และศูนย์อพยพที่เหมาะสม ปลอดภัย

ส่วนการบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวบนบกที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง มากกว่าเหตุจากธรรมชาติ  จะเตือนภัยล่วงหน้ากันยังไง ก็ไปได้ความรู้มาจากเรื่องนี้ และเรื่องนี้ พอให้นำมาใช้ได้ว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อแรงสั่นสะเทือนขนาดแรง  จึงสรุปมาไว้

1. อาคารที่มีพื้นล่างเปิดโล่ง (จะเป็นลานจอดรถหรือลานกิจกรรมก็แล้วแต่)

2. อาคารที่มีตอม่อสั้น

3. อาคารที่ไม่มีคาน

4. อาคารที่มีรูปร่างแปลกกว่าปกติ

5. อาคารสูงที่สร้างบนพื้นที่ดินเลน

6. อาคารที่มีเสาเล็ก

7. อาคารที่มีพื้นเปิดด้านหน้า ด้านข้าง ปิดด้านหลัง

8. อาคารต่อเติม

9. ทางเดินที่มีการเชื่อมต่อกัน

10. บ้านหรืออาคารที่สร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป

11. โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมี

12. บ้านที่ก่อด้วยอิฐไม่เสริมเหล็ก

13. บ้านที่ไม่มีเสาเข็มเป็นฐานรากหรือใช้เสาเข็มผิดประเภท ผิดขนาด

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 487891เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท