คำถาม: การแชร์ความรู้ หากฝ่ายผู้รับไม่ต้องการจะรับความรู้นั้น ควรทำอย่างไร ?


คนในหน่วยงานไม่ต้องการจะรู้ กลัวว่ารู้แล้วต้องกลับไปทำ มีทัศนคติในทำนองที่ว่าไม่รู้ดีกว่าจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ

            ในการสัมมนา KM ที่ระยองเมื่อวานนี้ ตอนที่ผมชวนคุยเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  (ลปรร.) ในหน่วยงาน มีท่านหนึ่งเปิดประเด็นขึ้นมาว่า . . . “ถ้าเราพร้อมที่จะให้ คือเรามีใจพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้เรื่องการทำงานให้กับคนในหน่วยงาน แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจจะมารับการถ่ายทอด พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ต้องการจะรู้ กลัวว่ารู้แล้วต้องกลับไปทำ มีทัศนคติที่ว่าไม่รู้ดีกว่าจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ ในกรณีเช่นนี้ควรทำอย่างไรดี?”

 

            นี่เป็นคำถามที่หากจะตอบแบบรวบรัดที่สุดก็ตอบได้ทันทีว่า การแชร์ครั้งนี้ไม่มีผลอะไร เหมือนกับให้อะไรกับคนที่เขาไม่อยากได้ไม่อยากรับ ให้ไปแล้วเขาก็วางกองอยู่ตรงนั้น ก็เท่ากับว่าการจัดวง ลปรร. ครั้งนี้เสียเวลาฟรี ทำไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าจะมองให้รอบด้านอีกสักนิดจะพบว่าปัญหานี้มองได้หลายมุมมาก เท่าที่ผมเห็นถ้าเป็นประเด็นเชิงระบบก็อาจจะมาจากเรื่องบทบาทความรับผิดชอบ  (ในงาน) ที่ไม่ชัดเจน หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการประเมินผลงานที่ไม่เป็นธรรม เพราะฟังดูแล้วรู้สึกเหมือนว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ คงไม่มีผลต่อเงินเดือนอะไรทำนองนั้น

 

            แต่ถ้าหันกลับมามองอีกด้านหนึ่ง หันมาสนใจที่ตัวคน ก็จะพบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องความใฝ่รู้ใฝ่พัฒนาในตัวผู้รับ หรือหากจะมองในมุมกลับ หันมามองทางฝั่งผู้ให้บ้างก็จะพบว่า “ท่าที บุคคลิก หรือความน่าเชื่อถือ” ของผู้ให้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน หากผู้รับรู้อยู่แก่ใจว่าผู้ให้ทำไปเพื่อเอาหน้า หรือว่าผู้ให้วางตัวสูงส่งเกินไป หรือเป็นคนที่พูดกับทำ (พฤติกรรม) ไม่ตรงกัน เป็นผู้ที่ผู้รับไม่ไว้วางใจ ถ้าเช่นนั้นจะไปโทษฝ่ายรับอย่างเดียวก็ไม่ได้ สรุปว่าคำถามที่ฟังดูง่ายๆ เช่นนี้แท้จริงแล้วมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่สามารถจะให้ “คำตอบที่ตายตัว” ได้เป็น “คำตอบสุดท้าย” หรอกครับ

หมายเลขบันทึก: 494688เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2012 08:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผู้รับสื่อ ผู้สื่อมีความสำคัญเท่ากันนะคะ ดังนั้น ต้องเตรียมความพร้อมทั้ง 2 ฝ่ายนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์

พบกันอีกครั้งหลังจากที่หายไปหลายปีครับ (ไปรักษาใจตัวเองครับ ตอนนี้พาใจกลับบ้านได้แล้ว) กลับมาคราวนี้มาแจ้งเกิดใหม่ครับ ชื่ออาจจะไม่คุ้นนะครับอาจารย์ แต่หน้าตายังใกล้เคียง หวังว่าคงจะพอนึกออกนะครับ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผมมีความเห็นว่าเรื่อง ลปรร. ที่ดูเหมือน "ย่ำอยู่กับที่" น่าจะมาจากการก้าวไปไม่พึง "พัฒนา วัฒนา ภาวนา" ครับ ทำอย่างไรเราจะ ลปรร. ด้วยความว่าง...ว่างจาก "อัตตา" ครับอาจารย์

เมื่อสมัยที่ผมไปรักษาใจตัวเอง ผมถูก "กระเทาะเปลือกอัตตา" อย่างหนักหน่วงครับ ตอนนี้ "ตัวตน" ผมเบาไปมากเลยครับ ผลก็คือ "ตัวตน" เบา กายก็เบา ใจก็เบาครับอาจารย์ ฟังผู้อื่นเป็นมากขึ้นครับ (ฟังเฉย ๆ โดยไม่ตัดสิน) ยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็น ทุกวันนี้เลยสบายมากขึ้นครับ สอนนักเรียนก็ไม่ทุกข์ ไม่ว่าเขาจะไม่สนใจ เขาจะสนใจเรียน ในใจเรามันก็ยังบอกว่า "เรารักเขาได้ในแบบที่เขาเป็น" ครับ

กราบสวัสดีไปถึงเพื่อน g2k ทั้งใหม่และเก่าทุกคนนะครับ (หากยังนึกไม่ออก ผมก็คือ sophist ปากจัดคนนั้นแหละครับ) แล้วค่อยพบกันครับ

ตัวอย่าง I :
คนข้างบ้านทำอาหารช่วง 6 โมงเย็น เขาเดือดร้อน ขอน้ำปลาเพื่อใส่อาหาร เพราะน้ำปลาที่บ้านหมด เราก็ยินดีให้น้ำปลาเขาด้วยความยินดี

ในเวลาต่อมา.. เราเดินไปหาเพื่อนบ้านและเคาะประตูบ้าน พร้อมซื้อน้ำปลามาให้ (ตอนนั้น 4 ทุ่มแล้ว) เพื่อนบ้านไม่สนใจน้ำปลาที่อุตส่าห์ซื้อไปให้ แถมตำหนิด้วยว่า ไม่รู้เวล่ำเวลา .. ท่านทั้งหลายเหตุการณ์นี้คงตอบท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย ... ความรู้ที่ท่านให้ มันต้องถูกกาล ถูกเวลา ถูกสถานที่



ตัวอย่าง II : 
พระเยซูเจ้า : ไม่ได้หามเรื่อง ของเมา 
พระพุทธเจ้า : ห้าม ไม่ให้ดื่มของเมา

ท่านจะเชื่อใคร ? ทำไม ? แล้วทำหรือไม่ ? เพื่ออะไร ? มันเป็นเรื่องของสติปัญญาของแต่ละคนครับ เมื่อถึงวันหนึ่ง เขาก็ย่อมรู้ได้เอง(หากมีสติ+ปัญญา)

ปล. การลดอัตตาในตัวตน วางใจให้สบาย  ลดความทะเยอทะยาน วางใจให้สบาย.. เป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจหมั่นพิจารณาแต่ละวันแต่ละคืนให้มากกว่าสิ่งใดใช่มั้ยครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท