การเรียนรู้จริยธรรม


 

          ผมได้รับอีเมล์ จาก อ. พญ. นงลักษณ์ คณิตทรัพย์ แห่งคณะแพทยศาสตร์  มธ. ดังนี้

 

เรียน ท่านอาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

 

หนูเป็นอาจารย์แพทย์ที่คณะแพทย์ ม.ธรรมศาสตร์นะคะอยู่สาขาโลหิตวิทยา อายุรศาสตร์ จบแพทย์ปี 2537 ค่ะ

ขออนุญาตรบกวนอาจารย์ค่ะเนื่องจากหนูได้เข้าถูกมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลการสอนวิชา ethic ของนศพ.ปี4-5 ที่คณะรวมทั้งมีอาจารย์ในคณะและศูนย์แพทย์ให้ความเห็นว่าอยากให้มีการอบรมเพื่อให้อาจารย์ทราบกระบวนการหรือแนวทางการสอนจริยธรรมให้แก่นศพ.รวมทั้งกระตุ้นให้อาจารย์พยายามสอดแทรกการสอนจริยธรรมเข้าไปให้นักศึกษาเสมอๆ

หนูลองค้นหาทาง internet พบบทความอาจารย์จึงสนใจอย่างยิ่งค่ะ

อยากรบกวนเรียนเชิญอาจารย์เพื่อเผยแพร่ความรู้ และสร้างแนวคิดให้อาจารย์ในสถาบันแต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าลักษณะใดดี ต้องใช้เวลาเท่าใด อาจารย์จะสะดวกหรือไม่หรือในช่วงเวลาใดค่ะ

จึงต้องขออภัย รบกวนสอบถามอาจารย์ด้วยนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ

 

 

          ผมได้ตอบ อีเมล์ ดังนี้


เรียน อ. หมอนงลักษณ์ ที่นับถือ


ลองอ่าน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/448964

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/381871

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/190558

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/186373

แล้วอาจารย์ลองออกแบบการเรียนรู้ของ นศพ. ให้ได้ทักษะด้านคุณธรรมจริยธรรม    ขอย้ำว่าต้องเน้นที่การเรียนรู้ของ นศ. ไม่ใช่ที่การสอน ของอาจารย์   และอาจารย์ต้องไม่เน้นสอน แต่เน้น facilitate การเรียนรู้ของ นศ.   

 

          น่าจะเริ่มโดย เปิดวง email loop ในกลุ่ม อจ. ที่สนใจ   (คนไม่สนใจไม่น่าไปกวนเขา)   โดยผู้มอบหมายหน้าที่ให้อาจารย์ต้องเข้ามาเป็นหัวขบวนเริ่มที่การช่วยกันระดมความคิด ใน e-mail ว่า นศพ. ควรได้เรียนรู้จริยธรรมด้านใดบ้าง    จริยธรรมเหล่านั้นพอมีกรณีตัวอย่าง/กรณีศึกษาบ้างไหม    รวบรวมเอาไว้

 

          แล้วจึงประชุมหารือกันว่า จะจัดการเรียนรู้แบบ case-based learning อย่างไร   เพื่อให้ นศ. ได้ซึมซับเรียนรู้เองโดยไม่ต้องสอน   และ อจ. จะฝึกทักษะการ facilitate โดยเน้นที่การทำ reflection หลังการเรียนรู้จาก case เพื่อให้ นศ. ได้เรียนรู้เชิงลึก และเชิงทฤษฎีด้วย

 

          คนที่น่าจะช่วยเป็นวิทยากรฝึกอาจารย์เก่งที่สุดคือ นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ครับ   ควรจัดเป็น workshop นอกสถานที่ อย่างน้อย ๒ วัน ๑ คืน

 

วิจารณ์

 

 

          การติดต่อทาง อีเมล์ นี้ ดำเนินการต่อมาหลายครั้ง จนทาง มธ. กำหนดวันสัมมนานอกสถานที่ ในวันที่ ๘ - ๙ ส.ค. ๕๕ โดยมี นพ. โกมาตร เป็นวิทยากรหลัก    ซึ่งผมไปร่วมไม่ได้   จึงมีการตกลงกันว่าในวันที่ ๑ ส.ค. บ่าย ผมจะไปจัดกระบวนการให้อาจารย์ได้ทำความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้จริยธรรมทางการแพทย์  

 

          แล้วก็มามีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น โดยผมเกิดเป็นโรคเลือดออกในวุ้นตาขึ้นมากระทันหัน   ต้องพักยาว  จึงต้องของดกิจกรรมในวันที่ ๑ ส.ค.  

 

          แต่ผมก็ยังสะกิดใจจากหนังสือเชิญ “เป็นวิทยากรบรรยาย”   ที่แนบ “แผนยุทธศาสตร์ : การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรมเพื่อสังคม,   กลยุทธ์ : พัฒนาอาจารย์,   ชื่อโครงการ : โครงการฝึกอบรมเรื่อง แนวทางการสอนเวชจริยศาสตร์”    ที่ระบุวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ ดังนี้

 

๑. เพื่อให้อาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีของการสอนจริยธรรม

๒. เพื่อให้อาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในแนวทาง/ขั้นตอนทางจริยเวชศาสตร์ที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์

 

          ผมจึงคิดทำประโยชน์ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มธ.   โดยการเขียนบันทึกนี้ส่งไปให้พิจารณา    และขออนุญาตเอาลง บล็อก Gotoknow เพื่อ ลปรร. ในวงกว้างด้วย    เพราะผมได้สังเกตว่า มุมมองในเรื่องการเรียนการสอนจริยธรรมของผมไม่สอดคล้องกับที่ยึดถือกันโดยทั่วไป   จึงอยากนำมาสะกิดให้คิด และทดลองปฏิบัติกันต่อไป   โดยความเชื่อที่แตกต่างของผมพอจะนำมาเสนอเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้

 

    • ต้องเน้นที่การเรียนรู้ของ นศ. ไม่ใช่ที่การสอน ของอาจารย์   และอาจารย์ต้องไม่เน้นสอน แต่เน้น facilitate การเรียนรู้ของ นศ.

    • เป้าหมายของการเรียนรู้ ควรให้น้ำหนัก 80:20 หรือ 70:30  ระหว่างเรียนทักษะในการเรียนรู้(learning skills) ด้านจริยธรรม   กับการเรียนสาระหรือข้อถูกผิดทางจริยธรรม    ย้ำว่าสิ่งที่สำคัญกว่า หรือควรให้น้ำหนักมากกว่า คือทักษะในการเรียนรู้   ไม่ใช่ตัวสาระหรือเนื้อหา    หรือกล่าวให้ไม่สุดโต่งก็คือ ต้องเรียนทั้งสองอย่าง   โดยให้น้ำหนักต่อทักษะการเรียนรู้มากกว่า

    • สิ่งที่อาจารย์แพทย์ควรได้เรียนรู้คือ   เรียนรู้ทักษะในการเรียนรู้ประเด็นเชิงจริยธรรม   ซึ่งต้องเน้นเรียนรู้โดยการฝึกทักษะ   ไม่ใช่โดยการฟังการบรรยาย   ดังอธิบายได้ด้วย ปิระมิดแห่งการเรียนรู้ ใน บันทึกนี้

    • เมื่ออาจารย์ได้ฝึกทักษะในการเรียนรู้ประเด็นเชิงจริยธรรมด้วยตนเอง    และนำไปปฏิบัติในเวชปฏิบัติของตนเอง    แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนอาจารย์ หรือเพื่อนแพทย์/คนในวิชาชีพเดียวกัน และต่างวิชาชีพ แล้ว    ก็จะพัฒนาวิธีการพัฒนาทักษะในการเรียนรู้เชิงจริยธรรมให้แก่ นศพ. ได้เอง    และพัฒนาปรับเปลี่ยนต่อไปได้อีกไม่สิ้นสุด เมื่อค่านิยม และสังคมวัฒนธรรมของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป

    • การเรียนจริยเวชศาสตร์แบบเรียนเฉพาะสาระ เนื้อหา เน้นสิ่งที่ควรปฏิบัติ สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ   สิ่งที่ต้องปฏิบัติ สิ่งที่ห้ามปฏิบัติ    จะสร้างกระบวนทัศน์ยึดมั่นถือมั่นตายตัว   ขาดทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ที่จะช่วยให้ปรับเปลี่ยนกติกาเชิงจริยธรรมได้ เมื่อปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  

    • การเรียนรู้สมัยใหม่ ที่เรียกว่า 21st Century Learning เน้นการเรียนที่เลย (beyond) สาระหรือเนื้อหาความรู้   ไปสู่ทักษะในการใช้ความรู้นั้นในชีวิตประจำวัน หรือในการประกอบกิจการงานของตน  การเรียนรู้สมัยใหม่จึงต้องเน้นเรียนโดยการปฏิบัติ (learning by doing) ซึ่งก็ตรงกับหลักการตาม learning pyramid  

    • การเรียนรู้เวชจริยศาสตร์จึงควรเรียนแบบ Case-Based Learning   จากเรื่องจริง   โดยกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning หรือ Problem-Based Learning)   เรียนเป็นกลุ่ม  มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นในกลุ่ม   โดยการประชุมกลุ่มที่ทรงพลังต่อการเรียนรู้จริยธรรม  คือการประชุมแบบหมวกหกใบ

    • การเรียนเวชจริยศาสตร์ จะเป็นการเรียนรู้ฝึกฝน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ(critical thinking) ควบคู่กันไปพร้อมกัน

    • ย้ำว่า บทบาทที่สำคัญที่สุดของอาจารย์ ต่อการเรียนรู้เวชจริยศาสตร์ของศิษย์ ก็คืออาจารย์ต้องทำตัวเป็น “นักเรียน” เรียนรู้ทักษะในการเรียนรู้เรื่องเวชจริยศาสตร์   โดยเน้นเรียนจากชีวิตการทำเวชปฏิบัติของตนเอง    แล้วนำทักษะนั้นมาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์

 

          ผมไม่กล้ายืนยันว่าวิธีคิดของผมจะถูกต้อง    แต่ก็อยากเสนอไว้ เป็นข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 498577เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท