อาจารย์ที่น่าไว้วางใจ...


มหาวิทยาลัยจะดีต้องมีอาจารย์ที่น่าไว้วางใจ...

ในความหมายของคำว่า “อาจารย์” ควรจะนิยามออกมาว่า “อาจารย์คือผู้ที่มีหน้าที่วิจัย ค้นคว้า และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้มาจากการค้นคว้าและวิจัยนั้นมาสอนให้กับนักศึกษา...”

แต่ในปัจจุบันเราให้คำนิยามทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติว่าอาจารย์คือ “บุคคลถูกจ้างมาเพื่อมีหน้าที่สอนหรือให้ความรู้แก่นักศึกษา”ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครอาจารย์สักคนหนึ่ง ทั้งมหาวิทยาลัยและคนที่จะเข้ามาสมัครเป็นอาจารย์ก็จะเข้าใจว่าหน้าที่หลักของเขาก็คือ “การสอน”


เพราะหลาย ๆ มหาวิทยาลัยรับสมัครอาจารย์มาเพื่อสอนนักศึกษาในกรณีที่ชั่วโมงเรียนหรือนักศึกษามีมากกว่าเวลาหรือภาระงานเดิมของอาจารย์ที่มีอยู่ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเปิดรับอาจารย์เพิ่มมาเพื่อทดแทนหรือเติมช่องว่างให้กับคาบสอนที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนอยู่แล้วนั้น

ดังนั้นอาจารย์จึงมีหน้าที่ตะบี้ตะบันสอนเป็นลำดับหนึ่ง และมหาวิทยาลัยเองก็มีหน้าที่ตะบี้ตะบันจัดการเรียนการสอนเป็นลำดับหนึ่งเช่นเดียวกัน


ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยอะไร ๆ ก็จะตั้งเป้าที่การเปิดรับนักศึกษา เพิ่มสาขาวิชาทั้งตรี โท เอก เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งรายได้ที่จะมาจุนเจือและเลี้ยงมหาวิทยาลัย


แต่ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยในต่างประเทศส่วนใหญ่เขามีรายได้หลักมาจากการได้รับงบประมาณการวิจัยจากบริษัทเอกชน ซึ่งอาจารย์ของเขาได้รับมาและมีข้อตกลงกันว่าส่วนหนึ่งของงบประมาณซึ่งอาจจะ 20-30% นั้นจะต้องผันเข้าเป็นค่าบริหารของมหาวิทยาลัย


ดังนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจึงให้ความสนใจกับการที่จะหาทุนวิจัยเป็นหลัก 
เมื่ออาจารย์ได้ทำวิจัยมาก อาจารย์ก็จะมีองค์ความรู้มาก นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นนอกจากจะได้รับการบรรยายจากอาจารย์ที่มีองค์ความรู้จริง ๆ จากการปฏิบัติแล้วยังมีโอกาสที่จะเข้าไปส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่ได้สัมผัสงานจริงจนทำให้นักศึกษาได้มีความรู้จริงอันเป็นความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge)

ดังนั้นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจึงไม่มีปัญหาด้านคุณภาพของนักศึกษาเมืองไทย เพราะด้วยสาเหตุหลักสองประการคือ 1. อาจารย์นำความรู้จากการวิจัยมาสอน และ 2. นักศึกษามีโอกาสได้ร่วมสัมผัสงานวิจัยจริง ๆ จากอาจารย์ผู้สอนนั้น

แต่เมืองไทยนั้นอาจารย์มีหน้าที่สอนเป็นหลัก อ่านหนังสือมาสอนบ้าง ไปฟังบรรยาย ไปอบรม ไปสัมมนา ไปเลคเชอร์มาแล้วนำกลับมาสอนบ้าง ว่าง ๆ จึงจะลงไปทำวิจัย ปีละครั้ง สองปีครั้ง สามปีครั้ง ตามระเบียบ ตามกฎเกณฑ์ที่มีบังคับไว้ บังคับก็ทำ ไม่บังคับก็ปล่อยเลยตามเลย

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอุดมศึกษาไทยถึงไม่มีคุณภาพ 


พอสอนนักศึกษาแล้ว นักศึกษาไม่รู้เรื่อง หรือไม่มีคุณภาพ จบออกไปไม่มีงานทำแล้ว สังคมทั้งในระดับชุมชนของตัวนักศึกษาเอง หรือสังคมภาพใหญ่ของประเทศก็จะบอกต่อ ๆ กันว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่ดี ไม่ได้เรื่อง อย่าไปเรียน


ผู้บริหารจึงต้องดิ้นรน ขวนขวาย เปิดหลักสูตรเพิ่มบ้าง เปิดสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดบ้าง เด็กกำลังเห่ออะไรก็เปิดสาขาตามอกตามใจเด็กนั้น หรือว่าตนเองมีโปรแกรมนี้อยู่ ต้องจ้างอาจารย์อยู่แล้ว ก็ต้องดิ้นรนทำโปรโมชั่น จัดรายการส่งเสริมการขาย จัดอาจารย์ จัดวิทยากรที่มีชื่อเสียง แล้วโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้มีเด็กมาเรียน เพื่อนำค่าเล่าเรียนเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยงสถาบัน


เดี๋ยวนี้อาจารย์เมืองไทยนอกจากมีหน้าที่สอนแล้ว ยังต้องทำหน้าที่นักการตลาดด้วย คือ ทำหน้าที่ชักชวนด้วยเทคนิคทางการตลาดต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสนใจเข้ามาเรียน หรือบางมหาวิทยาลัยก็ใช้เด็กเป็นนกต่อ หรือทำการตลาดแบบ MLM (Multi level Marketing) คือ ให้ชวนเพื่อนมาเรียน ถ้าชวนเพื่อมาเรียนได้ 4 คน เขาจะได้เรียนฟรี แล้วคราวนี้ก็จะกลายเป็นชวนกันไปเรื่อย ชวนกันเป็นชั้น เป็นชั้น ซึ่งในที่นี้คงไม่ต้องพูดถึงคุณภาพทางการศึกษา

คราวนี้เมื่อมหาวิทยาลัยไม่มีคุณภาพ ทางกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ก็ต้องเข้ามาใช้ “อำนาจ” ออกรูปแบบการประกันคุณภาพการศึกษาบ้าง หรือในปัจจุบันก็เป็น กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF : Thai qualification Framework for higher education) ออกมาควบคุมมหาวิทยาลัยที่ใช้การสอนเพื่อหารายได้เหล่านั้น

พอออกมาควบคุมทั้งอาจารย์และมหาวิทยาลัยก็โวยวาย อาจารย์ก็มีภาระงานเพิ่ม มหาวิทยาลัยก็ต้องมีต้นทุนเพิ่ม ต่างคน ต่างฝ่ายก็ต่างมีเหตุผลไปคนละด้าน คนละอย่าง 
หน่วยงานฝ่ายบริหารก็มีเหตุผลที่ต้องควบคุมการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพ 
มหาวิทยาลัยเองก็มีเหตุผลทางด้านภาระงานและภาระเงิน

ทางออกของฝ่ายบริหารอีกอย่างหนึ่งก็พยายามแยกมหาวิทยาลัยออกเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” คือเน้นการวิจัยเป็นหลัก กับมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนเป็นหลัก (ขออนุญาตแบ่งแบบคร่าว ๆ) โดยหวังว่า มหาวิทยาลัยวิจัยจะมีอาจารย์ที่ทุ่มเทให้กับงานวิจัยเป็นหลัก เพื่อที่จะนำองค์ความรู้จากการวิจัยนั้นมาสอนให้กับนักศึกษาซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาโลกแตกของวงการการศึกษาได้ในระยะยาว

แต่ถ้าเราเปลี่ยนชื่อแล้ว แยกประเภทของมหาวิทยาลัยแล้ว ผลิตอาจารย์วิจัยสายพันธุ์ใหม่แล้ว แต่ยังคงให้อาจารย์มีงานสอนเป็นภาระงานหลักก็เท่ากับว่าหนีปัญหาไม่พ้น ปัญหาก็จะต้องย้อนกลับมาในรูปแบบเดิม วิจัยครั้งใหม่ ๆ ครั้งเดียวแล้วเลิก จากนั้นอ่านหนังสือมาสอน สอนแล้วเด็กก็ไม่รู้เรื่อง เด็กจบออกไปก็ไม่มีคุณภาพ เด็กไม่มีคุณภาพก็ไม่มีใครมาเรียน พอไม่มีใครมาเรียนก็จัดโปรโมชั่นแข่งกันเพื่อดึงเด็ก แข่งกันมากคุณภาพไม่มี กกอ. ก็ต้องออกกฎ ออกระเบียบ ออกอะไรต่ออะไรมาควบคุมมาตรฐาน พอบังคับใช้ก็ออกมาโวยวาย ลำบากทั้งคนทำ ทั้งคนอ่าน คนทำก็ลำบาก เอกสารเยอะ คนอ่านก็อ่านไม่ไหว มหาวิทยาลัยหนึ่ง ๆ ก็หลายแสนหน้า...

ถ้าจัดระบบใหม่ให้อาจารย์ทำงานวิจัยเป็นหลัก อาจารย์ก็มีองค์ความรู้แบบแน่น ๆ ไปบรรยาย เด็กมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมใน project ได้ความรู้จริง ได้ปฏิบัติจริง จบไปได้คุณภาพ บัณฑิตมีคุณภาพจะประสบสำเร็จในหน้าที่การงาน ระบบศิษย์เก่าจะเข้มแข็ง รักพี่ รักน้อง รักสถาบัน มหาวิทยาลัยระบบนี้ก็อยู่ได้ด้วยสองปัจจัยหลัก คือ รายได้จากงานวิจัย และระบบศิษย์เก่าที่ค้ำจุนสถาบัน

ถ้าจัดระบบแบบเดิมให้อาจารย์สอนเป็นหลัก อ่านหนังสือมาสอน อาจารย์ก็บรรยายแบบเกาเหลา น้ำท่วมทุ่ง เด็กก็ฟังแบบเอ๋อ ๆ ได้ explicit knowledge จากอาจารย์ จบไปได้บัณฑิตด้อยคุณภาพ ต้องไปตกงานบ้าง ได้งานต๊อกต๋อยบ้าง ตัวเองก็แทบเอาตัวไม่รอด จะเข้าชมรมศิษย์เก่าก็ลำบาก ยังไม่ต้องพูดถึงเงินบริจาคเพราะตัวเองก็จะไม่มีกิน เมื่อลำบากก็โทษสถาบัน ต่อว่ามหาวิทยาลัย บอกลูก บอกหลานไม่ให้มาเรียน มหาวิทยาลัยระบบนี้จะอยู่ได้ด้วยสองปัจจัยหลักเช่นกัน คือ หนึ่งเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ป.โท ป.เอก ภาคพิเศษ ค่าเรียนแพง ๆ สอง เปิดหลักสูตรปริญญาตรีที่เอาใจตลาดโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเด็กจบออกไปจะมีงานทำหรือไม่ ขอเพียงแค่มหาวิทยาลัยอยู่ได้ ผู้บริหารมั่นคง มีรายได้ อนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างไรก็ช่างมัน

นิยามของคำว่าอาจารย์ที่เคยเป็นว่า "อาจารย์คือผู้ที่ถูกจ้างให้ปฏิบัติงานสอน โดยมีภาระงานเสริมคืองานวิจัย" ควรจะเปลี่ยนเป็น "อาจารย์คือผู้ที่ถูกจ้างให้ปฏิบัติงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์นำความรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้มานั้นไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา"

ถ้ามหาวิทยาลัยเน้นให้อาจารย์บรรยาย เด็กที่นั่งฟังก็ไม่มีคุณภาพ กกอ. ก็ต้องคิดกรอบมาวางมาตรฐาน เมื่อมีกรอบ แทนที่อาจารย์จะมีเวลาไปอ่านหนังสือเพื่อมาสอนนักศึกษาบ้าง กลับต้องเสียเวลาไปทำงานเอกสารตาม KPI ต่าง ๆ อีก คุณภาพของเด็กก็ด้อย คุณภาพของอาจารย์ก็แย่ ประเทศชาติก็สิ้นเปลืองงบประมาณ

ถ้ามหาวิทยาลัยเน้นให้อาจารย์ทำวิจัย เด็กก็จะไปร่วมทำงานวิจัย ได้องค์ความรู้อะไรก็มาแชร์กัน กกอ. ก็ไม่ต้องสร้างกรอบมาตรฐาน TQF การประเมินคุณภาพอะไรต่ออะไรก็ไม่ต้องมี อาจารย์ก็มีเวลาทำวิจัย มหาวิทยาลัยมีความรู้ นักศึกษามีคุณภาพ ประเทศชาติก็เจริญ...

ถ้าเน้นสอนกันอยู่ก็ต้องมี TQF มาควบคุม เพราะการเรียนการสอนนั้นไม่มีคุณภาพ ถ้าเปลี่ยนเป็นเน้นการวิจัย TQF ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี เพราะคุณภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นมาจากอาจารย์ที่รักและสอนนักศึกษาให้รักการวิจัย...

ลูกจะดีได้ต้องเริ่มที่พ่อก่อที่แม่

ลูกศิษย์จะดีได้ต้องแก้ไขที่คุณครู

มหาวิทยาลัยจะดีต้องได้อาจารย์ที่ความรู้ (ฝังลึก : Tacit Knowledge)

การศึกษาไทยจะเฟื่องฟูทุกคนต้องมีความรู้คู่ "คุณธรรม..."

หมายเลขบันทึก: 521839เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2013 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณคะ เป็นบทความที่อ่านแล้วสะกิดใจให้เปลี่ยนแปลงตนเอง

โดยเฉพาะการอ่านหนังสือมาสอนในห้อง ควรเปลี่ยนเป็นการเรียนร่วมกันแบบ 'Hand on'

กระนั้น ก็ยังมีเสียงจากนักศึกษาบางส่วน ที่ไม่เคยชินกับความรู้ไม่สำเร็จรูปลักษณะนี้

เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว เห็นผลกระทบ ให้เดินหน้าปฎิรูปตนเองต่อไปคะ

ผู้สอนที่คิดให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนับว่าเป็นผู้มีพระคุณล้ำ

ถ้าจะให้พูดตามตรงแล้ว การวิจัยก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด...!

ทำไมถึงพูดอย่างนั้น...?

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น การวิจัยของอาจารย์ก็เปรียบเสมือนนักศึกษาแพทย์เรียนกับ "อาจารย์ใหญ่"

อารมณ์ที่ของนักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่ก็เหมือนกับอารมณ์ของอาจารย์ที่ทำวิจัย 

เหมือนกันอย่างไร...? ที่เหมือนกันก็คือ "มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้"

เรียนกับอาจารย์ใหญ่ผิดพลาดได้ ทำไมถึงว่าอย่างนั้น ก็เพราะอาจารย์ใหญ่ท่านไม่มีลมหายใจ ซึ่งแตกต่างกับคนไข้จริงซึ่งมี "ลมหายใจ"

ลมหายใจหมายถึงชีวิต ทำผิดพลาดกับอาจารย์ใหญ่นั้นยังไม่ถึง "ชีวิต" อาจจะเพียงแค่หมายถึงคะแนนหรือเพียงแค่สอบได้หรือสอบตก

ฉันใดก็ฉันนั้น การทำวิจัย ทำผิด ทำพลาด ทำถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง ก็ไม่ถึงกับชีวิต ไม่ถึงกับสิ้น "ลมหายใจ"

อารมณ์ของอาจารย์ที่ทำวิจัย ตามหลักจิตวิทยาแล้วมันยังมี "ช่องว่าง" สำหรับความผิดพลาดอยู่ เมื่อมีช่องว่างคนเรามักจะ "ประมาท" เมื่อประมาทก็จะทำอะไรไม่เต็มที่ "ไม่เป็นไร  ๆ เอาใหม่ ๆ" ซึ่งแตกต่างกับคุณหมอที่รักษาคนไข้จริง ๆ ท่านไม่มีช่องว่างสำหรับความผิดพลาด เพราะความประมาทเพียงเล็กน้อยนั้นหมายถึง "ชีวิต" 

จริงไหมคุณหมอ...?  (เพิ่มเติม ต่อยอดได้นะ...)

ลองคิดดูนะ ยิ่งถ้าอาจารย์ไปศึกษาดูงานตามหน่วยงานห้างร้าน ก็เหมือนกับคุณหมอยืนเกาะอยู่ขอบเตียงคนไข้แล้ววินิจฉัยพร้อมกับรักษาโรค อาจารย์ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อไปดูงานมา ไปสอบถามตามหน่วยงานห้างร้านแล้วก็กลับมา "วินิจฉัยปัญญา" ให้กับนักศึกษา แล้วลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาจะหายจากโรค "เบาปัญญา" ได้ไหม

ระบบงานของคุณหมอยังดีกว่าอาจารย์นะ เพราะคุณหมอมีคนไข้ให้รักษาจริง ๆ หมายถึงคนไข้ที่มีลมหายใจจริง ๆ แต่อาจารย์ยากนะที่จะได้ไปเจอกับอะไรจริง ๆ อย่างนั้น

หรือจะยกตัวอย่างให้ชี้ชัดลงไปอย่างเช่นอาจารย์สายบริหารธุรกิจ จะมีสักกี่คนที่เคยทำธุรกิจ (จริง ๆ) เพราะในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็มีแต่ "ธุรกิจจำลอง"

อะไรที่มันจำลอง ๆ ก็หมายถึง "เจ๊ง" ได้ เมื่อมีอารมณ์คำว่า "เจ๊ง" ก็หมายความว่ายัง "ประมาท" ได้ ไม่ต้องอะไรจริงจังมากก็ได้เพราะมันไม่ใช่ "เงิน" ของเรา ไม่ใช่ "ชีวิต" ของเรา

ในระบบสายงานทางการแพทย์ อาจารย์หมอจึงเป็นคนที่เก่งจริงเพราะได้ทำงาน "จริง" ทุกวัน

แต่ระบบสายงานของอาจารย์ทั่วแค่จะไปทำงานวิจัยก็จะหาอาจารย์ที่จะทุ่มเทให้งานวิจัยก็สุดแสนที่จะยาก นี่ยังไม่ต้องพูดถึงอาจารย์ที่จะออกไปเผชิญชีวิตตามธุรกิจหรือสายงานของตนเองจริง ๆ นะ คนที่กล้าเสี่ยงหาความรู้ที่ต้องแลกด้วย "ชีวิต" หรือแม้จะต้อง "สิ้นชีวิต"

การทำงานวิจัยบนพื้นฐานแล้วนั้นมันตั้งอยู่ในชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้อื่น จะผิดหรือถูกก็คือ "ทฤษฎี" หรือเป็นเพียง "Case study" คุณหมอคงจะไม่มองคนไข้เป็น "Case study" เน๊อะ

เหมือนอย่างเช่นที่คุณหมอไตที่กำลังษาคุณหมอของข้าพเจ้าอยู่ ท่านมาเล่าให้ฟังเป็น Case study ว่า ตอนนี้จิตตก เพราะฉีดยาเข้าทางไหปลาร้าแล้วพลาดไปโดนเส้นเลือดใหญ่ซึ่งทำให้คนไข้ "ตายคาเข็ม" ส่วนอีกเคสหนึ่งโชคยังดี โดนเส้นเลือดใหญ่เหมือนกัน เลืดออกในช่องอก แต่ "โชคดี" ที่ส่งตัวไปผ่าตัดทัน...?

ข้าพเจ้าก็คิดว่า แล้วถ้ามาฉีดให้คุณพ่อของข้าพเจ้านี่จะโชคดีหรือโชคร้าย ข้าพเจ้าก็ไม่อยากให้เป็นอีกหนึ่ง Case study ของคุณหมอที่จะไปเล่าต่อ ๆ กันไปเน๊อะ เพราะคงไม่สนุกเท่าไหร่ถ้าเป็นชีวิต "พ่อ" ของตัวเอง

ที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เพื่อให้เห็นโอกาสในช่องว่างสำหรับความผิดพลาดระหว่าง "อาจารย์" กับ "คุณหมอ" 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าความผิดพลาดของคุณอาจารย์จะไม่สำคัญนะ อย่าว่านักศึกษาไม่ถึงกับตายหรือสิ้นชีวิต แต่ถ้าคุณอาจารย์ทำผิดพลาดนั้นหมายถึงนักศึกษา "สิ้นชื่อ" หรือ "หมดอนาคต"

ปัจจัยหรือตัวแปรแห่งความสำเร็จของนักศึกษานั้นอาจจะมีมากกว่าคุณหมอ เพราะคุณหมอปัจจัยแห่งความสำเร็จหลัก ๆ นั้นก็มีอยู่ว่า "หาย" หรือ "ตาย" "สบายตัว" หรือ "ทุกข์ทรมาน"

แต่ปัจจัยของคุณอาจารย์มีเยอะ สอบตก สอบผ่าน ตกงาน ได้งาน เกียรตินิยม หรือจบแบบคาบเส้น 

หรือจะพูดให้ชัดเจนอีกอาจารย์ก็เหมือนนัก "ปรัชญา" เมื่ออะไร ๆ ที่มันเป็นปรัชญามันก็เป็นหลักการหรือแนวคิด

หรือว่าอาจารย์ในปัจจุบันเป็นแค่ผู้ให้ "ปรัชญาหรือแนวความคิด"

ก็ต้องย้อนกลับมาว่าแนวความคิดของอาจารย์ที่ให้นั้น ถูกต้อง ถูกตรง เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ ให้ปรัชญาในทางดีหรือทางที่ชั่ว สอนให้ลูกศิษย์ทำนาบนหลังคน หรือให้หาความสุขบนความทุกข์ยากลำบากของ "คน"

การวิจัยมันไม่ได้เหรอ...? 

การวิจัยก็ดีนะ ดีกว่าไปศึกษาดูงาน หรือว่าไปนั่งอ่านหนังสือแล้วนำมาบรรยาย เหมือนกับเราได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ก็ย่อมดีกว่าเราไปเรียนกับตุ๊กตาหรือว่า "หุ่นจำลอง" ซึ่งเป็นยางหรือพลาสติก

อาจารย์ที่น่าไว้วางใจต้องก้าวผ่านการเรียนรู้จากกระดาษหรือว่าหน้าจอ 

เริ่มมาเรียนรู้จากจิตใจของเรานี้ ว่าเราขาดตรงไหน มีจุดบกพร่องตรงไหน มีความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ ไปสอนหนังสือยังพกอัตตาตัวตนเข้าไปแล้ววางมาดวางกล้ามว่าฉันนี้เป็นอาจารย์เธอเป็นลูกศิษย์ ฉันถูก เธอผิด เรายังเป็นอาจารย์อย่างนี้อยู่หรือเปล่า 

อาจารย์ที่ดีต้องเป็นผู้ที่มีเมตตามาก ๆ ๆ ๆ ๆ เริ่มจากเมตตาต่อตนเองด้วยการพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ไม่ให้เสียชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเขาสมมุติให้เป็น "อาจารย์" 

อาจารย์ที่ดีต้องเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ เป็นที่พึ่งพาทาง "ปัญญา" ให้แก่ศิษย์ 

คนที่จะสอนคนอื่นได้ดี ต้องเริ่มต้นจากการสอนตนเอง โดยให้สอนตนเองว่า "เราต้องเป็นคนขยัน ไม่เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ทำความดี เสียสละมาก ๆ" 

อาจารย์คือผู้ให้นะ ให้ความรัก ให้ความเมตตากับลูกศิษย์ทุก ๆ คน

สอนทั้งคนดี สอนทั้งคนไม่ดี ถ้าเราจะเลือกเอาแต่ศิษย์ที่ดี ศิษย์เก่ง แล้วเราจะเอาศิษย์ที่ไม่ดีไม่เก่งไปทิ้งไว้ที่ไหน 

ให้รักลูกศิษย์ทุกคนเหมือนกับลูกของเราแท้ ๆ นี่แหละ ทำจิตใจให้เหมือนกับที่แม่รักลูก

อาชีพครู อาชีพอาจารย์ถือว่าเป็นอาชีพที่ได้บุญได้กุศลมากนะ ถ้าพัฒนาตนเองให้เป็นตัวอย่างที่่ดีเพื่อที่จะเป็น "ปูชนียบุคคล"

ขอให้กำลังใจอาจารย์รวมถึงคุณครูทุก ๆ คนที่ท่านเป็นปูชนียบุคคลทางการศึกษาที่ "น่าไว้วางใจ...



ครูทุกคนคิดว่าคงสอนได้ทั้งลูกศิษย์ที่ดีและลูกศิษย์ที่ไม่ตั้งใจใฝ่เรียน แต่ก็มีอยู่ที่เป็นบัวเหล่าสุดท้ายไม่สามารถสอนหรือแนะนำได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท