หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ


ไม่ได้แบ่งเวลาไว้เขียนบันทึกนานพอดูแล้ว วันนี้เอาซะหน่อย แต่ก่อนแต่ไรมีโอกาสเข้าไปเป็นผู้ลงมือเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพร.พ.อยู่หลายเตื้อ  จนพบเห็นว่า หากไม่ปล่อยโอกาสให้ผู้เยาว์กว่าได้ฝึกฝีมือบ้าง สิ่งดีๆที่เคยก่อเกิดจะหดหาย  คิดอย่างนี้ จึงค่อยๆรามือลงเรื่อยๆ  ผันตัวเองไปอยู่บนหิ้ง มองลงมาแทนทำเอง

ยุคแรกของการทำงานคุณภาพ คนทำงานจะชอบมากกกก ด้วยว่าหลังได้คุยกัน อะไรหลายอย่างที่เคยคับข้องใจหดหายไป มีมิตรภาพ มีสัมพันธ์เติบโตขึ้น  เพลานี้งานพัฒนาคุณภาพดำเนินมากว่า 10 ปี  อืม คนก็ยังคุยกัน เป็นการคุยกันจัง(จัง) บ้างคุยจบ บ้างคุยไม่จบ บ้างก็คุยไม่จบซ๊ากกที 

อยู่บนหิ้งจึงมองเห็นง่าย ผ่านไปร่วม 10 ปี ผลการคุยที่เป็นการสานสัมพันธ์  สานมิตรภาพ เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นการ(สั่งสอน)บอก  อืม  เกิดอะไรขึ้นกันนะ

คิดๆๆ ครุ่นคิดตลอดมา อะไรเป็นต้นเหตุกัน(หว่า) แล้วก็มาถึงบางอ้อ (อยู่บนหิ้งดีตรงนี้เอง)  ไอ้เวทีที่คุยกันนั้นมันกลายพันธุ์เป็นเวทีต่อรอง เวทีวิจารณ์ เวทีสั่งการ เวทีสร้างความงุงงกับภาษาที่เข้าใจยากของ HA ไปฉิบ  มิน่า...จะเปลี่ยนยังไงดีหว่า  

เคยไปวัดเวลามีงานบุญบวช เห็นวิธีโปรยกัลปพฤกษ์ (เหรียญโปรยทาน) ของนาค  เหรียญที่ตกลงดินแล้วเก็บง่ายจะมีคนรุมเข้าไปเก็บ เหรียญหล่นตกตรงหน้า ไม่ต้องแย่งใคร คนที่อยู่ตรงเหรียญก็จะเก็บ ทั้งๆที่ไม่ได้อยากได้ อืม เอามาใช้มั่งดีกว่า

วันนี้จึงได้แตะปัญญา  หยิบยกคำที่รู้ๆอยู่ว่า มีมุมมองหลากหลายมาคลี่คลายแลกเปลี่ยนกับบรรดาน้องหนูที่นัดมาพบกันเดือนละครั้ง    หยิบมาแล้วก็โปรยไปแบบนาคโปรยเหรียญกัลปพฤกษ์  หล่นตรงหน้าใครก็ชวนให้เล่าเรื่อง มีอะไรบอกเล่าได้บ้างที่จุดบริการของตัว 

คำแรกที่นำมาใช้ คือ คำว่า "โภชนบำบัด" ผลปรากฏว่าเงียบ ไม่มีใครขยับ อ้อ นี่ไง ภาวะสมองแกล้งตาย ที่อาจารย์ดร.ภิญโญ เล่าไว้  งั้นเปลี่ยนคำใหม่ลองดู  "ชั่งน้ำหนัก" คือคำที่ยกมาโปรยใหม่ 

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ได้ผลแฮะ มีคนเริ่มพูด แล้วเรื่องราวที่ไม่เคยรู้ก็ไหลหลั่งออกมา เห็นจุดคลิก  อืม มีอะไรทำได้อีกให้คนที่มาใช้บริการ  เอาละ เอาเรื่องง่ายๆนี้แหละเติมลงไป "ชั่งน้ำหนัก" ชวนคนเก็บเหรียญนี้น่าจะดี ง่ายดี 

โยนเหรียญแล้วก็ได้เรื่องราวเหล่านี้มา ขอยกมาเล่าโดยสังเขป : 

ปุจฉา : "จะชั่งน้ำหนักคนนอนกับที่ได้ยังไง"    วิสัชนา : "จะไปตามหาว่าใครที่รู้เรื่องนี้ดี แล้วชวนมาบอกกัน"

ปุจฉา : "ตกลงจะเพิ่มการชั่งน้ำหนักคนมารับบริการกันมั๊ย"  วิสัชนา : "จะชั่งเท่าที่ทำได้ ที่ทำไม่ได้ขอทำให้เป็นก่อน"

ปุจฉา : "ทำแบบฟอร์มเบิกอาหารผู้ป่วยที่ระบุน้ำหนัก ส่วนสูงผู้ป่วยใช้ได้ั๊มั๊ย"   วิสัชนา : "ได้เลย เดี๋ยวมีคนทำให้"

ปุจฉา : "จะให้ชั่งใครบ้าง"    วิสัชนา " ชั่งใครก็ได้ที่ชั่งได้ ชั่งทัน ชั่งง่าย กลับออกจากห้องแล้วลงมือได้เลย"

ปุจฉา : "จะรู้ได้ยังไงว่าชั่งกันมากขึ้น"   วิสัชนา : "...อยากรู้ก็สุ่มถามคนไข้...ยาย วันนี้ชั่งน้ำหนักหรือยัง"    

อืม ขึ้นไปอยู่บนหิ้งก็ได้เห็นเพิ่ม ว่าถ้านำ "Overview"  มาผสมผสานกับ "Panorama"  ก็มีประเด็นจุดประกายให้ปิ๊งๆ 

เห็นแล้วลองทำใหม่ อะไรเคยเกิดยาก เกิดง่ายดี  อย่างนี้นี่เอง ความหมายของคำว่า "คุณภาพในงานประจำ"  

อย่างนี้เอง ของการใช้ Theory U  มาทำให้เกิดการวางแผนสร้างสรรค์ร่วมกัน 

ใจเย็นๆเข้าไว้ ค่อยๆทำ ค่อยๆก้าวเดิน เมื่อขาตัวยู ขาขึ้นเต็มขาเมื่อไร อานุภาพมันขยับภูเขาให้เขยื้อนได้เลย

วันนี้เริ่มมองเห็นว่าจะทำหน้าที่ "นำ" ให้เกิด "ระบบบริการโภชนบำบัดที่มีคุณภาพ" ได้ยังไง

ขอบคุณบันทึกอาจารย์ภิญโญ ที่สะกิดให้อยากลองถอดความรู้ที่ได้เรียนในวันนี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

หมายเหตุ


วันนี้ชวนคนให้ก้าวเดินในเส้นทางการพัฒนาคุณภาพได้เกือบถึงบันไดขั้นบนสุด...ดีจัง



หมายเลขบันทึก: 536924เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

สำหรับน้อง น่าจะอีก 2 ขั้น จะถึง... เราทำได้ค่ะ   :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท