Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ลุงเป็งมีสถานะเป็น "ประชาคมอาเซียน" หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?


กรณีศึกษานายเป็ง : สิทธิในความเป็นประชาชนอาเซียน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ภาคที่ ๑,

เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151953324678834

----------------

ข้อเท็จจริง

----------------

นายเป็ง ให้ปากคำว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ เขาเกิด ณ หมู่บ้านหนองแต้ใหญ่ แขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในขณะที่เขาเกิด ไม่มีการแจ้งการเกิดของเขาในทะเบียนราษฎรของประเทศลาว ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า ในยุคนั้น ก็ยังไม่มีทะเบียนราษฎรลาว และต่อมา ก็มีปัญหาความไม่สงบในประเทศลาว จึงไม่มีใครในหมู่บ้านที่เขาเกิด ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนลาว

ต่อมา ในราว พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลาวในท้องที่ที่นายเป็งอาศัยอยู่มากขึ้น เขาและครอบครัวจึงอพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยทางด่านช่องเตาอู ใกล้บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่าพรานกระต่าย และมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพแก่งยางในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ในราว พ.ศ.๒๕๑๘

เขาไม่เคยได้รับการสำรวจจากเจ้าหน้าที่กรมการปกครองไทยเลย นับแต่เขามาอาศัยในประเทศไทย เขาจึงไม่มีชื่อปรากฏในแบบพิมพ์ประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทยที่มีชื่อว่า ลาวอพยพ ดังเช่นที่เพื่อนบ้านมี

ใน พ.ศ.๒๕๔๗ มีการประกาศให้คนสัญชาติลาวที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ไปแสดงตัวเพื่อขึ้นทะเบียนบุคคลในสถานะของ แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน นายเป็งและครอบครัวจึงไปแสดงตนที่อำเภอและขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว โดยผลของการนี้ นายเป็งถูกระบุในแบบรับรองทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) ที่ออกโดยอำเภอบุณฑริกว่า มีสัญชาติลาว เอกสารดังกล่าวระบุว่า เขาอาศัยอยู่ ณ บ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งครอบครัวนับถือศาสนาพุทธ

นายเป็งมีความรู้ทางภาษาไทยในระดับฟังและพูดได้เท่านั้น ไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้เลย

อนึ่ง โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ รัฐบาลไทยกำหนดเกณฑ์ที่จะให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่คนต่างด้าวจากประเทศลาว พม่า และกัมพูชา หากบุคคลดังกล่าวไปแสดงตนขึ้นทะเบียนกับเขตหรือเทศบาลหรืออำเภอหรือกิ่งอำเภอ แล้วไปรับใบอนุญาตทำงานตามมาตรา ๑๒ (๒) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ และไปตรวจสุขภาพตามที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

จะเห็นว่า นายเป็งได้ไปขึ้นทะเบียนบุคคลกับอำเภอบุณฑริกเท่านั้น แต่มิได้ไปรับใบอนุญาตทำงานและไปตรวจสุขภาพ

นายเป็งได้อยู่กินกันฉันท์สามีภริยากับนางเผิง ซึ่งอพยพมาด้วยกันจากแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว และมีบุตรด้วยกัน ๗ คน คนแรก ก็คือ  นางภูวรซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ ณ บ้านแก่งยาง (ศูนย์อพยพแก่งยาง)  จังหวัดอุบลราชธานี  เนื่องจากเป็นทำคลอดกันเองในป่า จึงไม่มีเอกสารรับรองการเกิดที่ออกโดยผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาล

นางภูวรได้แต่งงานตามประเพณีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับ นายประสิทธิ์ และ มีบุตร ๒ คน คือ ด.ญ.นิดา  อายุ ๔ ปี และ ด.ช.อำคา  แก้วมั่น อายุ ๒ ปี

นายเป็งและครอบครัวประกอบอาชีพด้วยการทำงานหัตถกรรม เช่น กระติบข้าวเหนียว  ฮวดนึ่งข้าว  หาของป่า เพื่อนำไปแลกข้าวสาร


--------

คำถาม

-------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นายเป็ง หรือ “ลุงเป็ง” จะมีสถานะเป็น “ประชาชนอาเซียน” ซึ่งเป็น “ผู้ทรงสิทธิหรือบุคคล” ตามกฎบัตรอาเซียนหรือไม่ เพราะเหตุใด [1]

------------

แนวคำตอบ

------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  บุคคลตามกฎหมายเอกชนมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามหลักกฎหมายนี้อยู่แล้ว แม้ว่า ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง บุคคลตามกฎหมายเอกชนจะมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามหลักกฎหมายนี้ ก็ต่อเมื่อมีการยินยอมของรัฐอธิปไตยซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลหลัก ทั้งนี้ เพราะเป็นที่ยอมรับของนานารัฐสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลเป็นหลักกฎหมายที่ใช้กำหนดนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ จึงไม่มีข้อสงสัยว่า บุคคลตามกฎหมายเอกชนมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลหรือไม่  แต่ในประเด็นที่ว่า เอกชนนี้จะมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองหรือไม่ จึงต้องไปพิจารณาว่า มีความยินยอมของรัฐสมาชิกอาเซียนในเรื่องนี้เป็นอย่างใด

ประเด็นต่อไปที่ต้องพิจารณา ก็คือ มนุษย์/บุคคลธรรมดา/บุคคลธรรมชาติ/natural person มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือไม่ ?

คำตอบก็คือ เป็นที่ยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยว่า มนุษย์มีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชนประเภทหนึ่ง ซึ่งอีกประเภทหนึ่ง ก็คือ นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน หรือเป็นนวตกรรมทางกฎหมายที่มนุษย์ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นเจตนาของมนุษย์ที่ก่อตั้งขึ้น อาจจะประสงค์กำไรหรือไม่ ก็ได้ มนุษย์ย่อมมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีสัญชาติหรือไม่ จะมีสัญชาติอะไร หรือจะเป็นคนเข้าเมืองหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนเข้าเมืองถูกหรือผิด ไม่ว่าจะมีสิทธิอาศัยหรือไม่ ไม่ว่าจะมีสิทธิอาศัยชั่วคราวหรือถาวร ในทุกสถานการณ์ตั้งแต่เกิดจนตายของมนุษย์ พวกเขาย่อมมีสถานะผู้ทรงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน ไม่มีอาจนำพวกเขาไปเป็นทรัพย์สิน ไม่อาจนำพวกเขาไปเป็นวัตถุแห่งการซื้อขาย เช่า หรืออื่นในในสถานะทรัพย์สินได้เลย

เมื่อสรุปข้อกฎหมายมาถึงขั้นตอนนี้ ลุงเป็งจึงมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามกฎหมายเอกชนในสายตาของรัฐทุกรัฐบนโลกนี้

แต่มีปัญหาต่อไปว่า ความเป็นบุคคลตามกฎหมายเอกชนจะนำไปสู่ความเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายมหาชนหรือไม่ ?

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ของบุคคลตามกฎหมายเอกชนย่อมเป็นไปตามกฎหมายของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นที่สุดกับนิติสัมพันธ์ ซึ่งจุดเกาะเกี่ยวนี้ผันแปรกับธรรมชาติของนิติสัมพันธ์ ซึ่งความผันแปรที่ว่านี้มีอยู่ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก ก็คือ หากเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน จุดเกาะเกี่ยวที่เข้มข้นที่สุดย่อมปรากฏที่รัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ ดังนั้น นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ลักษณะที่สอง ก็คือ หากเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน จุดเกาะเกี่ยวที่เข้มข้นที่สุดย่อมผันแปรตามธรรมชาติของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน อันได้แก่ (๑) สัญชาติของเอกชน (๒) ภูมิลำเนาของเอกชน (๓) ถิ่นที่เอกชนทำนิติสัมพันธ์ (๔) ถิ่นที่นิติสัมพันธ์ของเอกชนมีผล และ (๕) ถิ่นที่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติสัมพันธ์ตั้งอยู่ เราคงตระหนักว่า จุดเกาะเกี่ยวที่เข้มข้นที่สุดที่นำไปสู่การกำหนดกฎหมายที่มีผลต่อนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายในแต่ละธรรมชาติ กล่าวคือ (๑) บุคคล (๒) หนี้ (๓) ทรัพย์สิน (๔) ครอบครัว และ (๕) มรดก จึงไม่ปรากฏที่รัฐเลย ทั้งนี้ เพราะนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชน รัฐย่อมไม่มีบทบาทในสถานะคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ ดังที่ยอมรับกันว่า นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกกฎหมาย ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ดังนั้น เมื่อประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมของรัฐอธิปไตย ๑๐ รัฐ ประชาคมนี้ย่อมต้องถูกผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลโดยทั่วไป หากไม่มีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

คำถามในขั้นตอนความคิดนี้ ก็คือ มีการกำหนดเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ในกฎหมายที่ใช้อยู่บนดินแดนของรัฐสมาชิกอาเซียน ? ถ้ามีการกำหนดเป็นอย่างอื่น  การกำหนดนี้เป็นอย่างไร ?

เราพบว่า กฎบัตรอาเซียน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ เรียกมนุษย์บนแผ่นดินอาเซียนว่า “ประชาชนอาเซียน” กฎบัตรนี้มิได้จำกัดความมีผลเพียงคนสัญชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน ดังนั้น คนทุกคนที่มีลมหายจากบนแผ่นดินอาเซียนจึงมีสถานะเป็น “ประชาชนอาเซียน” อันหมายความว่า เป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามกฎหมายที่มีผลบังคับในประชาคมอาเซียน

ความชัดเจนที่กฎบัตรอาเซียนยอมรับมนุษย์ทุกคนในสถานะผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามกฎหมายอาเซียน ยังปรากฏในกฎบัตรอาเซียนเองที่ประกาศยอมรับกฎบัตรสหประชาชาติ ค.ศ.๑๙๔๕/พ.ศ.๒๔๘๘ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งเอกสารสำคัญทั้งสองนี้ผูกพันรัฐจำนวนข้างมากที่สุดในประชาคมโลกให้ยอมรับความเป็น “ผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์” โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ สิทธิอันก่อตั้งขึ้นตามธรรมชาติและเป็นของมนุษย์ เพราะความเป็นมนุษย์ รัฐใดๆ ก็ไม่อาจแทรกแซงหรือจำกัดสิทธิของมนุษย์นั้นได้

นอกจากนั้น ความละเอียดละออของเนื้อหาแห่งสิทธิของมนุษย์ซึ่งเป็นประชาชนอาเซียนน่าจะมีมากขึ้น โดยผลของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๒๐๑๒/พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งยกร่างขึ้นโดยคนในประชาคมอาเซียนเอง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ลุงเป็งเป็นมนุษย์ที่เกิดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว แต่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ โดยที่ไม่มีการรับรองสถานะคนสัญชาติให้ทั้งโดยรัฐลาวและรัฐไทย และแม้รัฐไทยจะยอมรับบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย กล่าวคือ ใน ท.ร.๓๘/๑ การบันทึกครั้งนี้ก็ยังไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่า ลุงเป็งมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็นอย่างใด แต่กลับยังตอกย้ำว่า ลุงเป็งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยในลักษณะที่ผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่อย่างไรก็ตาม เอกสารนี้ก็ทำหน้าที่เป็นพยานหลักฐานว่า รัฐไทยรับรองความเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗

ข้อเท็จจริงของลุงเป็งจึงชี้ว่า ลุงเป็นมนุษย์ที่เกิดในรัฐสมาชิกหนึ่งของประชาคมอาเซียน และอพยพเข้ามาอาศัยในอีกรัฐสมาชิกหนึ่งของประชาคมอาเซียน ลุงจึงมีสถานะเป็น “ประชาชนอาเซียน” ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิหรือบุคคล” ตามกฎหมายที่ใช้ในประชาคมอาเซียน ลุงย่อมได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายระหว่างประเทศลายลักษณ์อักษรที่สำคัญ ๔ ฉบับ กล่าวคือ (๑) กฎบัตรอาเซียน (๒) กฎบัตรสหประชาชาติ (๓) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และ (๔) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อันมีความหมายว่า ลุงมิได้เป็น “ผู้ทรงสิทธิหรือบุคคล” ตาม “หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล” เท่านั้น แต่ยังเป็น“ผู้ทรงสิทธิหรือบุคคล” ตาม “หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง”อีกด้วย อันหมายความในที่สุดว่า ลุงเป็งเป็น “ผู้ทรงสิทธิหรือบุคคล” ตาม “หลักกฎหมายระหว่างประเทศ” อย่างไม่ต้องสงสัย ประชาคมอาเซียนมองมนุษย์เป็นประชาชนอาเซียน โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ ข้อเท็จจริงที่สำคัญ ก็คือ ความเป็นมนุษย์ที่อาศัยบนแผ่นดินอาเซียนเท่านั้นเอง ที่ทำให้รัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเข้าทำหน้าที่ รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของลุงเป็ง มิใช่แต่เพียงรัฐที่เป็นเจ้าของดินแดนที่ลุงเป็งเกิด และรัฐเจ้าของถิ่นที่เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนของลุงเป็ง ดังนั้น โดยผลของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๒๐๑๒/พ.ศ.๒๕๕๕ เราหวังว่า คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรอาเซียน หรือที่เราพยายามจะเรียกกันว่า “กรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน” จะผลักดันให้รัฐสมาชิกอาเซียนทั้ง ๘ ประเทศกดดันให้รัฐไทยและรัฐลาวลงมาโอบกอดรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่สมบูรณ์ให้แก่ลุงเป็งและครอบครัว

หากสนใจอ่านเรื่องของลุงเป็งและอาเซียน โปรดอ่าน

กรณีศึกษาลุงเป็งและครอบครัวทองสมุทร แห่งบ้านดอนโจด จังหวัดอุบลราชธานี : ตัวอย่างของมนุษย์ไร้สัญชาติใน พลวัตรลุ่มน้ำโขงภายใต้กระแสธารอาเซียน, บทความเพื่อวารสารลุ่มน้ำโขงศึกษา ฉบับที่ ๒ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖, ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://docs.google.com/file/d/0B7ummaGfFLZSbnFuY2tUUklQNHM/edit?usp=sharing

http://www.gotoknow.org/posts/546453

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151853842443834

 



[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ภาคที่ ๑ โดย อ.ศรีสดา ไพศาลสกุลชัย

หมายเลขบันทึก: 550530เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2013 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2013 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท