อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายภาพด้วยแฟลชร่วมกับแสงธรรมชาติ ตอนที่ 1


              ผมมองหน้านิสิตที่เข้ามาร่วมกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ การถ่ายภาพด้วยแฟลชร่วมกับแสงธรรมชาติ แล้วรู้สึกว่าทำไมเหมือนเค้าไม่พร้อมที่จะเรียนเลย เรานัดกันเวลาบ่ายโมง ผมเองต้องวิ่งกระหืดกระหอบจากห้องสอบสัมภาษณ์นิสิตปริญญาเอก มายังห้องอบรม โดยพกความหิวจากการที่ไม่ได้ทานข้าวมาด้วย วิทยากรและทีมงานจากแคนนอน คอนเซ็ปสโตร์ ยกทีมจัดเต็มทั้งทีมวิทยากรที่มากันสองคนพร้อมผู้ช่วยอีกสอง และอุปกรณ์ทั้งกล้องทั้งเลนส์ แฟลชชนิดต่างๆ อีก สี่ ห้าตัว แบบจัดเต็มรอพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิต แต่นิสิตเอง ณ ตอนนี้ บ่ายโมงครึ่งแล้วยังทยอยกันมา ไม่ครบ หรือว่านิสิตเค้าเรียนกันมาเหนื่อย งานเยอะ และนี่เป็นช่วงท้ายเทอมแล้ว ผมคิดหาเหตุผลไปต่างๆ นาๆ

 

             “หยกอยู่ไหน ?” ผมถามหานิสิตที่ทำหน้าที่พิธีกร เพราะได้มอบหมายหน้าที่ให้หยกทำหน้าที่ แนะนำวิทยากร ซึ่งผมได้แจ้งชื่อไว้ในเฟสบุ๊คแล้วสองคน คือคุณกวี นาคปน และคุณกิตติศักดิ์ เห็นถูก แต่มีทีมวิทยากรมาเพิ่ม ผมแนะนำนิสิตว่า “ควรแนะนำชื่อวิทยากรให้ครบนะครับ” ผมบอกกับนิสิต

            “หยกกำลังแต่งตัวครับอาจารย์” นิสิตชายคนหนึ่งซึ่งกำลังโทรไปตามหยกตอบผม

 

 

         ผมนึกในใจว่า แหม!!! สาวๆ รู้ตัวว่าต้องทำหน้าที่เป็นพิธีกร ต้องเสริมสวยก่อนเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ควรให้อภัยไหมเนี่ย ? ระหว่างความสวยเพื่อสร้างความมั่นใจ กับการมาทำหน้าที่สาย

 

         สักพักเจ้าหยกวิ่งหน้าตื่นเข้ามา สอบถามชื่อจากทีมวิทยากรทั้ง 4 และทำหน้าที่ได้อย่างราบรื่น ซึ่งผมชื่นชมว่าเค้าทำหน้าที่ได้ดี ในการแนะนำวิทยากรนั้นความจริงผมก็คุ้นเคยกับบางคนอยู่แล้วในการเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปกับแคนน่อน แต่ต้องการฝึกให้นิสิตได้ทำหน้าที่ เป็นพิธีกร เตรียมอุปกรณ์ฝึก กล่าวขอบคุณ รับรองวิทยากร ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าว ผมได้ร่วมวางแผนกับคุณกวีไว้แล้วว่าเราจะมีกิจกรรมการฝึกปฏิบัติแบ่งเป็น 5 ฐาน คือ

    1. การถ่ายภาพบุคคลร่วมกับแสงธรรมชาติ
    2. การถ่ายภาพมาโคร
    3. การถ่ายภาพ Stop motion
    4. การถ่ายภาพแฟลชผสมแสงธรรมชาติ
    5. การถ่าย Multi flash Strobe 

 

                  ในการฝึกครั้งนี้ผมได้ประสานกับเจ้านินหัวหน้าห้องไว้แล้วว่าการเวิร์คชอบจะแบ่งเป็น 5 เรื่อง สิ่งที่นิสิตต้องเตรียมคือ 1) การถ่ายภาพบุคคลร่วมกับแสงธรรมชาติแบบย้อนแสง ต้องจัดนายแบบและนางแบบไว้ ซึ่งจะเป็นการฝึกใช้แฟลชลบเงา โดยนิสิตจะต้องฝึกปรับแฟลชทั้งโหมดออโต้ และโหมดปรับเอง 2) การถ่ายภาพมาโคร นิสิตจะต้องเตรียมแจกันดอกไม้เป็นแบบในการฝึกใช้แฟลชฉายแสงให้กับดอกไม้แบบพอดี ในขณะที่เราจะทำให้ฉากหลังที่สว่างเปลี่ยนเป็นฉากหลังสีดำ โดยการถ่ายให้อันเดอร์มากๆ และควบคุมการฉายแสงแฟลชแบบแมนน่วลให้แสงแบบพอดีกับดอกไม้ในแบบที่นิยมเรียกวิธีนี้กันในหมู่นักถ่ายภาพว่า “มาโครหลังดำ” 3) การถ่ายภาพ หยุดการเคลื่อนไหว (Stop motion)  เราจะฝึกถ่ายด้วยแฟลชโดยใช้ความเร็วของแฟลชไฮสปีดซิงค์หยุดการเคลื่อนไหวของพริกหยวกหลากสีที่โยนใส่น้ำในตู้ปลา จับจังหวะลีลาช่วงที่พริกตกน้ำความสัมพันธ์ในการกดชัตเตอร์ต้องพอเหมาะพอดีในการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนที่โยนพริกลงน้ำ “เอ้า หนึ่ง สอง สาม แชะ” แต่กว่าจะได้ภาพพริกที่ตกลงในน้ำในจังหวะที่เหมาะสม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ส่วนในแบบฝึกหัดที่ 4) การถ่ายภาพแฟลชผสมแสงธรรมชาติ ใช้เวลาช่วงเย็นแสงทไวไลท์ที่ส่วนใหญ่เราจะเห็นจากการถ่ายพรีเว็นดิ้ง นิสิตจะต้อง ถ่ายนางแบบ 2-3 คน วัดแสงธรรมชาติ และเปิดแสงแฟลชแบบปรับตั้งเองเพื่อให้แสงกับตัวแบบที่พอดี ซึ่งในช่วงนี้ รู้กันว่ายุงในบริเวณสนามหน้า แถววิทยาลัยพลังงานทดแทนนั้นชุมมาก เราต้องเตรียม ซอฟเทลไว้ให้นางแบบและทีมวิทยากร ไม่อย่างนั้นยุงรุมกันไม่เป็นอันเรียนกันแน่นอน และสุดท้ายเวิร์คช็อที่ 5) การถ่าย Multi flash Strobe จะต้องถ่ายในช่วงเวลาที่มืดสนิท พอดีผมได้สั่งงานให้นิสิตทำรายงานเรื่องแฟลชอยู่แล้วจึงขอให้กลุ่มนี้ หานายแบบ ชาย หรือหญิง ใส่ชุดกีฬา รองเท้ากีฬา เตรียมอุปกรณ์ เช่น ไม้เทนนิส หรือไม้แบด มาแสดงท่าทางกีฬา กิจกรรมนี้ต้องกระโดด หรือทำท่าทางเพื่อจะถ่ายโดยยิงแฟลชซ้ำๆ เปิดชัตเตอร์ค้างไว้ สัมพันธ์กับเวลาที่เราหาจากสูตร จำนวนครั้งของการฉายแสงแฟลชหารด้วยจะนวนความถี่ของสัญญาณแฟลช ซึ่งมีหน่วยเป็น Hz เช่น ยิงแฟลช 10 ครั้ง ด้วยความถี่ 5 Hz ระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการเปิดชัตเตอร์ค้างไว้รับแสงก็คือ 2 วินาทีนั่นเอง  สรุปในการฝึกอุปกรณ์ที่นิสิตต้องเตรียมมา แฟลช ยี่ห้ออะไรก็ได้ กล้อง ขาตั้งกล้อง สายลั่นกล้อง(ถ้ามี) แจกันดอกไม้ ตู้ปลา น้ำ พริกหยวก นางแบบ นายแบบชุดกีฬา

                

ผู้เขียนติดต่อประสานงานกับนิสิตผ่านกลุ่มใน Facebook

                การอบรมเราเริ่มกันในภาคทฤษฎี ตั้งแต่ 13.30 น. จนถึง 15.30 น. ปูพื้นฐานตั้งแต่เรื่องแฟลช ชนิดต่างๆ ไกด์นัมเบอร์ การตั้งโหมดแฟลช การควบคุมแสงแฟลชให้นุ่มให้แข็ง การกระจายแสงแฟลช ทิศทางของแสงแฟลช การใช้แฟลชไวเลส การควบคุมไอเอสโอ การควบคุมรูรับแสง และสปีดชัตเตอร์ ซึ่งจากความรู้ในวันนั้นพบว่า สปีดชัตเตอร์ไม่มีผลต่อความสว่างของแสงแฟลช แต่จะมีผลต่อแสงธรรมชาติ แสงต่อเนื่อง (Ambient lighting ) กล่าวคือถ้าถ่ายภาพที่ต้องการให้เห็นแสงจากท้องฟ้าช่วงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแต่ได้ตัวแบบที่แสงพอดี สปีดชัตเตอร์จะมีผล

 

          หลังจากวิทยากรบรรยายภาคทฤษฎี จบ เราก็เริ่มเวิร์ชอปจากการถ่ายภาพหยุดการเคลื่อนไหว โดยนำน้ำมาเติมในตู้ปลา นำพริกหยวก สีเขียว เหลือง แดง มาโยนใส่น้ำในตู้ปลา นำแฟลชมาฉายแสงโดยตั้งแฟลชแบบไฮสปีดซิงค์ ซึ่งปกติกล้องทั่วๆไปจะสัมพันธ์กับแฟลชที่ความเร็วประมาณ 1/180 – 1/250  เป็นส่วนใหญ่ การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าความเร็วสัมพันธ์กับแฟลชไม่มีปัญหา แต่ถ้าตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า จะทำให้ม่านชัตเตอร์ปิดเร็วกว่าแสงแฟลชทำให้ได้ภาพดำครึ่งหนึ่ง แต่การฝึกครั้งนี้เราใช้สปีดชัตเตอร์ที่ 1/1000 ดังนั้แฟลชที่ใช้ต้องเป็นแบบ High Speed Sync จึงจะทำให้ภาพไม่มีปัญหา ซึ่งในวันนั้นเรามีเวลากันน้อยมาก เพราะเราต้องย้ายสถานที่ฝึกถ่ายภาพจากภายในห้องเรียนไปที่ วิทยาลัยพลังงานทดแทน ให้ทันก่อนแสงหมด ไม่เช่นนั้น จะไมมีแสงให้เราฝึกถ่ายภาพ เราจึงได้ฝึกถ่ายกันคนละไม่เกินสามภาพ แต่นิสิตก็ได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่า และสนุกสนานกับแบบฝึกแรก จากนั้นเราย้ายกองไปที่สนามหญ้าวิทยาลัยพลังงานทดแทน

 

          ออกจากห้องอบรม ผมขับรถตรงไปที่ร้านสะดวกซื้อเพราะรู้ว่า การไปฝึกถ่ายภาพในกลางแจ้งในสภาพอากาศเดือนมีนาคม ของจังหวัดพิษณุโลก ถึงแม้ว่าจะสี่โมงครึ่งแล้ว อากาศก็ร้อนได้สะใจ (36 องศา) ดังนั้ผมจึงไม่ลืมที่จะหาซื้อ น้ำเย็น ผ้าเย็น และขนมขบเคี้ยวรองท้องให้กับทีมวิทยากร เพราะบรรยายกันมาตั้งแต่บ่ายฝึกปฏิบัติถ่ายทอดความรู้ชนิดไม่มีหมกเม็ด มีเท่าไรให้กับน้องๆ เต็มที่  เมื่อไปถึง เราล้อมวงฟังแนวทางการฝึกปฏิบัติการถ่ายภาพด้วยแฟลชกัน ระหว่างรอนายแบบนางแบบแต่งตัวแต่งหน้า พอนายแบบนางแบบมา แบบฝึกหัดชุดแรก การถ่ายภาพโดยใช้แฟลชลบเงาให้ตัวแบบยืนย้อนแสง ทำให้เห็นแฮร์ไลน์ เป็นประกายสีทองที่เส้นผม นิสิตฝึกควบคุมการใช้แฟลชเพื่อจัดแสงให้กับตัวแบบ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ แฟลชมีอยู่แค่ 6 ตัวเราต้องเวียนกันฝึกถ่าย หรือใช้แฟลชหัวกล้องไปก่อน

 

              จบแบบฝึกหัดที่สอง เราต้องแข่งกับเวลา ให้นายแบบนางแบบพัก ส่วนทีมวิทยากรให้นิสิตไปฝึกถ่ายภาพมาโครหลังดำกับดอกไม้บริเวณนั้น แต่ดอกไม้ส่วนใหญ่ที่ต้นสูง เราจึงต้องเปลี่ยนเป็นการไปฝึกถ่ายกับดอกหญ้าแทน ผมสังเกตุเห็นความมุ่งมั่น ของทีมวิทยากร และความต้องการเรียนรู้ของนิสิตแล้วรู้สึกชื่นใจกับกิจกรรมในวันนี้ ก่อนที่จะยื่นผ้าเย็น น้ำเย็นให้กับทีมวิทยากร

 

                แสงแดดเริ่มโรยรา พระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า โบกมือบ๊ายบาย เวลากลางวัน ผมถามทีมวิทยากรว่าเราจะเริ่มแบบฝึกต่อไป การถ่ายภาพ โดยใช้แฟลชร่วมกับแสงทไวไลท์ยามอาทิตย์ลับขอบฟ้า ได้หรือยัง ด้วยประสบการณ์ของวิทยากร ที่บอกว่า ถึงดวงอาทิตย์จะมองไม่เห็นแต่แสงทองที่จับขอบฟ้า จะยังไม่สวย ใจเย็นๆ รออีกสักครู่ แต่ผมก็รู้สึกว่าแสงรอบๆ ตัวเริ่มหายไป ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิท ทีมวิทยากร ถามหาขาตั้งกล้อง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเอามาสักคนทิ้งไว้ที่ห้องอบรมหมด ดังนั้น เราต้องนำขาตั้งวิดีโอมาใช้แทน วิทยากรเปิดจอหลังกล้องให้นิสิตเห็นว่า ถึงแม้ว่าแสงจะมองด้วยตามนุษย์ไม่เห็น แต่กล้องจะสามารถรับแสงช่วงทไวไลน์ได้ ภาพที่เห็นนั้เป็นทองฟ้าสีเหลืองอมส้ม ไลโทนไปหาสีฟ้าเข้มที่สวยงาม แต่นายแบบนางแบบที่ยืนตบยุงอยู่นั้น มองแทบไม่เห็น แต่พอเราถ่ายด้วยแสงแฟลช ภาพที่ปรากฏขึ้นหลังกล้องก็เป็นภาพที่สวยงาม โดยทีมวิทยากรบอกว่า ตอนนี้ ผมตั้ง ISO 100 รูรับแสง f 8 สปีดชัตเตอร์ 1/8 พอเราตั้งแฟลชแบบตั้งเองที่ 1/8 ส่วนของค่ากำลังแฟลช จะทำให้ตัวแบบที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 เมตร ได้รับแสงพอดี นิสิตเห็นภาพสวยงาม อยากถ่ายบ้าง แต่ถ่ายออกมาอย่างไร ภาพก็ไหวหมด เพราะไม่มีขาตั้งกล้อง นี่คงเป็นบทเรียนสำคัญว่าถ้าจะถ่ายภาพแบบนี้ ขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้

 

                  และแบบฝึกหัดสุดท้ายของการอบรมครั้งนี้คือการ ถ่ายภาพภาพเดียวแต่เหมือนถ่ายภาพซ้ำๆกันหลายๆ คนอยู่ในภาพเดียว โดยใช้แฟลชยิงซ้ำๆ ด้วยความถี่สูง ซึ่งแฟลชที่ทำได้แบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแฟลชรุ่นใหญ่ๆ ที่มีฟังชั่นมัลติแฟลช โดยสถานที่ที่ถ่ายภาพนั้นควรจะมืดสนิท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ประมาณ 19.30 น. เป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปนานแล้ว พื้นที่ที่เราฝึกปฏิบัตินั้น ก็มืดพอสมควร วิทยากรตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง ให้นายแบบที่เราเตรียมไว้ ทำมือยกขึ้นลง โดยวิทยากรตั้งให้แฟลชฉายแสงเป็นจำนวน 10 ครั้ง ตั้งระยะห่างของจังหวะการยิงแฟลชให้ห่างกันเป็นความถี่ 5 Hz ตรงนี้จะมีผลกับกำลังไฟของแฟลชด้วยถ้าเป็นแฟลชรุ่นเล็กๆ ก็จะยิงแฟลชไม่ทัน เพราะชาร์จประจุไฟ ไม่ทัน จากการคำนวณตามสูตร จำนวนครั้งหารด้วยความถี่ เราตั้งระยะเวลาในการถ่ายไว้ที่ 2 วินาที ดังนั้น ตัวแบบจะต้องทำท่าทางที่เปลี่ยนไปให้อยู่ในระยะเวลา 2 วินาที แฟลชก็จะยิงภาพจับภาพที่ปรากฏเห็นเป็นคนกำลังเคลื่อนที่ 10 ภาพ

 

หมายเลขบันทึก: 564343เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2014 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2014 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกิจกรรมที่น่าสนุกมากครับ อาจารย์ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท