CSR วิถีไทย ยกระดับสู่ CSV


ไม่ใช่เป็นเพียงแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยให้องค์กรเติบโตขึ้นและดำเนินธุรกิจร่วมกับชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน

หลังจากที่ได้เข้าร่วมสัมนา ในหัวข้อ “CSR วิถีไทย ยกระดับสู่ CSV” ที่จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันอังคารที่ 25 มี.ค. 57 ทำให้ผมเข้าใจความหมายของ CSR ที่ลึกซึ้งขึ้น ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยให้องค์กรเติบโตขึ้นและดำเนินธุรกิจร่วมกับชุมชนอย่างเกื้อกูลกันได้อย่างยั่งยืน จึงได้นำบรรยากาศการสัมนามาแบ่งปันกันครับ

ช่วงแรกของการสัมนา เป็นการนำเสนอของคุณอนุวัต ศิลาเหลืองอำไพ ผู้อำนวยการโครงการวัดสร้างสุข ได้เล่าให้พวกเราฟังในเรื่องของการ “ถอดโมเดลวัดสร้างสุขส่งต่อจิตสำนึก 5 ส สู่องค์กรและสังคม” โดยท่านได้ทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของระบบคุณภาพต่างๆ ของการพัฒนาองค์กรเปรียบเทียบเหมือนกับการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ความสมดุลความสุขแก่ชีวิตนั่นคือเรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง โดยเปรียบเทียบการทำ 5 ส ที่เป็นพื้นฐานของการทำงานกับความมีศีล หรือความเป็นปรกตินั่นเอง จากนั้นจึงพัฒนาต่อเป็นระดับสมาธิที่มีความนิ่งอยู่กับงาน เปรียบเทียบไปยังเรื่องของ QCC (Quality Control Cycle) ทำให้งานมีคุณภาพอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อมีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับขึ้นไปอีกก็จะทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมเป็นระดับปัญญา ที่พัฒนาต่อไปอย่างไปรู้จบ โดยเปรียบเทียบได้กับระบบ KAIZEN หรือ CI (Continous Improvement) นอกจากนี้วิทยากรยังได้พูดเชื่อมโยงการทำงานไปยังเรื่องของปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงไว้ด้วย ซึ่งผมได้เคยเขียนบันทึกไว้ใน Link นี้แล้ว http://www.gotoknow.org/posts/560542

ช่วงที่สองของการสัมนาเป็นการนำเสนอของ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ในหัวข้อ “CSR Beyond to CSV” การนำเสนอของวิทยากรทำให้ได้เปิดโลกความเข้าใจในงาน CSR ได้อย่างลึกซึ้งกว้างไกล และนำไปใช้ได้ค่อนข้างเป็นรูปธรรม เพราะ CSR (Corporate SocialResponsibility) เป็นเพียงแค่การดูแล Steak Holder (สิ่งแวดล้อม ชุมชุม สังคม ฯลฯ)ให้รอบด้านเท่านั้น แต่ CSV (Creating Share Value) ได้ดูแลไปลึกกว่านั้นโดยก้าวเข้าไปถึงเรื่องของการแบ่งปันคุณค่าระหว่างธุรกิจและสังคม โดยเริ่มจากตัวพนักงานก่อน ที่เมื่อพนักงานมีความสุขแล้ว พนักงานก็จะรู้สึกอยากแบ่งความสุขไปยังคนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ

วิทยากรได้เล่าให้ฟังถึงระดับขั้นตอนการทำ CSR ที่มีประสิทธิภาพตามความเหมาะสมไว้ 5 ระดับดังนี้ ระดับแรกเป็นระดับ Compliance ที่เป็นระดับพื้นฐานของการปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างความเป็นธรรมมให้กับสังคม/ชุมชน เช่น การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยของเสียหรือใช้ทรัพยากรมากเกินไปจนเกินค่ามาตรฐาน การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม/ดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม ฯลฯ ระดับต่อมาเป็นระดับที่ถึงแม้จะทำตามกฎหมายแล้วแต่ยังมีผลกระทบต่อชุมชน ก็ต้องทำให้ชุมชนยอมรับ เมื่อชุมชนยอมรับแล้วก็พัฒนาต่อไปในระดับที่สามคือการยอมรับของชุมชนอย่างยั่งยืน คือให้ชุมชมมีส่วนร่วมในธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain การจ้างงาน การให้งาน ให้โอกาส เช่น การใช้บริการ และผลิตภัณฑ์จากชุมชนรอบข้าง เมื่อคนในชุมชนมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain เขาก็จะเห็นคุณค่าในตัวเองเกิดเป็นความประทับใจ ซึ่งก็จะพัฒนาไปยังระดับที่สี่ต่อไป โดยเปิดเวที Dialogue คุยกันในมากขึ้น ซึ่งระดับนี้องค์กรอาจจะได้นวัตกรรมอะไรดีๆ จากชุมชนมาอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสทางธุกิจใหม่ๆ ได้ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างธุรกิจ,สังคม,ชุมชนไปในแนว Win-Win เป็นการแบ่งปันคุณค่าซึ่งกันและกัน (Share Value) การดำเนินการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณลงไปมากมาย เพียงแค่อาศัยใจต่อใจเท่านั้น การให้ต้องเป็นการให้แบบยั่งยืนเปรียบเหมือนการสอนตามแนวทางที่ในหลวงได้ตรัสไว้คือ “เราต้องสอนให้เขาหาปลาเอง มากกว่าที่จะนำปลาไปให้ตลอดเวลา” เมื่อทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว องค์กรก็จะมีความ่ยังยืน สมดุล มั่นคง และมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่า CSR ก็จะเป็นเพียงเหตุปัจจัยหนึ่งเท่านั้น องค์กรยังต้องใช้ Tool/Culture อื่นๆ มาบูรณาการเพื่อพัฒนาองค์ต่อไป เช่น ระบบคุณภาพต่างๆ , LOKM,Happy Workpalce ฯลฯ

ช่วงที่สองของการสัมนาเป็นการแสดงธรรมถึงบรรยายของพระมหาเฉลิม ปิยทสฺสี จากวัดปัญญานันทาราม ในเรื่อง “ธรรมะ กับ 5ส สู่ชีวิตที่สมดุล” บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีการยกตัวอย่างนิทานเรื่องเล่าประกอบทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ก่อนหน้านี้ผมเคยใช้ Concept ความสมดุลของเรื่อง งาน/ครอบครัว/สังคม มาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต แต่พอได้พบกับ แนวทางการดำเนินชีวิตที่สมดุลอย่างรอบด้านไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ของกายกับใจ งานกับชีวิต ส่วนตัวกับส่วนรวมและ เรื่องโลกกับเรื่องธรรม ทำให้ได้แนวทางการดำเนินชีวิตที่ลุ่มลึกกว้างไกลมากยิ่งขึ้น ในเรื่องความสมดุลของกายและใจท่านได้แสดงให้พวกเราเห็นว่าคนเราส่วนใหญ่สนใจแต่เรื่องของกาย แต่เรื่องของใจนั้นกลับละเลย ดังนั้นต้องบำรุงทั้งสองส่วนในสมดุลกัน โดยกายก็ต้องมีการเคลื่อนไหวออกกำลังกายเสาะแสวงหาของดีปัจจัย4 ให้สะดวกสบายอย่างพอดี ส่วนใจนั้นต้องรักษาให้นิ่ง อย่าหวั่นไหวด้วยความดีความสุข วิธีการง่ายๆ คือแค่ใช้เวลาวันละไม่เกิน 5 นาที สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ แผ่เมตตา เป็นประจำ แค่นี้ก็พอ เพียงแล้ว ในเรื่องงานกับชีวิต ท่านบอกว่าให้ทำงานด้วยแรงบันดาลใจอย่างมีความสุข ให้กลมกลืนอยู่กับชีวิต โดยฝากคำกลอนไว้ดังนี้ “ทำงานเพื่อทนมีผลเป็นทุกข์ ทำงานเพื่อทำชอกช้ำทรงทรุด ทำงานเพื่อธรรม เจริญส่งทวีสุข” ในเรื่องความสมดุลของส่วนตัวกับส่วนรวม ท่านได้ให้แนวคิดไว้ 4 ข้อหลักดังนี้คือ Head/Heart/Rigid/Relax โดยแปลความหมายได้ดังนี้คือใช้สมองคิดไตร่ตรองและการมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดเพื่อดูแลตัวเอง ใช้ความจริงใจความอ่อนโยนดูแลความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น (หัวคิด/เคร่งครัด ครองตน ใจครองคนผ่อนปรนผู้อื่น) สุดท้ายเป็นของความสมดุลของโลกและธรรม ท่านได้ให้แนวคิดไว้ว่า ในทางโลกจะเต็มไปด้วยการแข่งขัน เราก็ต้องก้าวตามให้ทันโลก แต่ไม่ไปแข่งขันจนเอาเป็นเอาตาย ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ส่วนในทางธรรม ก็ต้องรู้จักแบ่งปันทั้งในเรื่องทรัพยากรและความรู้ความรัก ความเข้าใจ

กิจกรรมสุดท้ายของการสัมนาก็จะเป็นการเสวนาสรุปข้อเสนอแนะความคิดเห็นของวิทยากรทั้งสาม ซึ่งสุดท้ายแล้วจะพบว่า CSR เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรมากโดยที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความสุขทั้งกายและใจ ผลสุดท้ายก็จะเกิดการพัฒนาสังคมและองค์กร ทำให้สังคมมีความเป็นอยู่รวมกันอย่างมีความสุข

หมายเลขบันทึก: 564709เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2014 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2014 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วได้ควมรู้ดีมาก

อยากให้มาเขียนบ่อยๆ

และมีคนอ่านมากๆ

มาเขียนอีกนะครับ

เอา CSR ที่เขียนไว้มาฝากด้วยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท