แนวทางสร้างตัวเป็นนักวิชาการชั้นยอด


          วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมไปร่วมการประชุม ริมเจ้าพระยา ฟอรั่ม โดยมี ศ. นพ. ดร. นรัตถพล เจริญพันธุ์ เป็นผู้มาเล่าเรื่องวิธีคิด และวิธีปฏิบัติในการทำงานวิชาการจนประสบผลสำเร็จ ได้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ ๓๕ ปีนับเป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย เท่าที่เคยมี

          ศ. นรัตถพล เรียนหลักสูตร PhD MD ที่ศิริราช จบรุ่นที่ ๑๑๐เป็นอาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยาคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

ผมสรุปกับตัวเองว่า ศ. นรัตถพล ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิตวิชาการ เพราะท่านจับหลักการ เชิงมโนทัศน์ (concept) ที่สำคัญๆ ได้หลักการเหล่านี้ได้แก่

  • หลักการใช้พลังเสริมระหว่างหน้าที่ที่คนทั่วไปคิดว่าขัดกันแต่ ศ. นรัตถพลเชื่อว่ามัน เสริมกันที่สำคัญที่สุดคือ ระหว่างหน้าที่สอน กับหน้าที่วิจัยท่านเสนอว่าผู้บริหารต้องอย่า มีนโยบายส่งเสริมให้อาจารย์ใหม่ที่รักงานวิจัยขอลดงานสอน ต้องแนะ/ฝึกให้อาจารย์ใหม่ รู้จักวิธีทำให้เกิดการสนธิพลังกันระหว่างหน้าที่ทั้งสอง

          อีกคู่หนึ่งที่นักวิชาการทั่วไปบ่นมากคือ งานวิชาการ - งานธุรการ เช่นเสียเวลาเขียน มคอ. ของ TQFงานเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ฯลฯศ. นรัตถพล กลับเสนอว่า นักวิชาการ ต้องเข้าใจระเบียบพัสดุ และอื่นๆสำหรับนำมาใช้ในการทำงานให้ราบรื่นและมีระบบที่ ทรงประสิทธิภาพแล้ว “ก้าวข้าม” ภารกิจเหล่านั้นคือฝึกคนขึ้นมาทำงานในลักษณะงานประจำเหล่านั้นลดภาระของตนลงไป

  • หลักการ “ความรู้เป็นมายา ท่านชี้ให้เห็นว่า ความรู้ และวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่เลื่อนไหล (dynamic) ไม่ใช่สิ่งที่ “นิ่งสถิตย์” (static) ข้อความ หรือความรู้ในตำรา เป็นเพียงโครงสร้าง ความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ “ความจริง” (fact)นานไปอาจพบว่าผิดก็ได้และความรู้ใน วารสาร ไม่ใช่การ “พิสูจน์” สิ่งใดเป็นเพียงการยืนยัน หรือแย้ง “ข้อสังเกต” (observation)

          ความเห็นของ ศ. นรัตถพลนี้ ตรงกับสาระในบทที่ ๑ ของหนังสือ Teaching at Its Best

  • ให้ความสำคัญต่อการ “สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้โดยบอกว่า posdoc fellow เป็นผู้ช่วยสร้างบรรยากาศ ที่อาจารย์สร้างไม่ได้ผมตีความว่า หมายถึงบรรยากาศ “ส้นเท้า” (S.O.L.E. – Self-Organized Learning Environment) หรือบรรยากาศอิสระ
  • ปรับสมดุล ระหว่างการสอน Knowledge กับ Process อยู่ตลอดเวลาในประเด็นนี้ ผมขอนำภาพ ppt ที่ ศ. นรัตถพล ใช้นำเสนอ และผมถ่ายภาพไว้เอามาให้ดู รวม ๓ ภาพ
  • Active – Reflective / Problem-Based Learningเป็นการเรียนรู้ที่ตรงตามหลักการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ ๒๑และผมตีความว่า ทำให้ นศ. ในความดูแลของ ศ. นรัตถพล กลายเป็น ผู้ร่วมสร้างสรรค์วิชาการแทนที่จะเป็นภาระในการสอนของอาจารย์ อย่างที่อาจารย์ โดยทั่วไปเผชิญผมจึงเอาภาพ ppt ที่ ศ. นรัตถพล ใช้อธิบายตอนนี้มาให้ดูด้วย

          ผมสรุปกับตนเองว่า ศ. นรัตถพล เป็นนักวิชาการที่ก้าวสู่สภาพ “รู้จริง” (Mastery) ตั้งแต่อายุน้อยมากและเข้าใจว่า ท่านได้จากการสังเกตเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเองอาจจะผสมกับมี mentor ที่ดีคอยช่วยชี้ทางและผมคิดว่า ใครก็ตามที่สามารถเข้าสู่มโนทัศน์แบบนี้ได้การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการก็ไม่เป็นเรื่องยากและน่าจะเป็นเรื่องสนุกบันเทิงใจดังที่แสดงออกมาในหน้าตาท่าทางของ ศ. นรัตถพล ตอนบ่ายวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ที่อาคาร SiPH ชั้น ๘มองออกไปภายนอกเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาอันสวยงาม

          เป็นหน้าตาท่าทางของคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่งในชีวิตวิชาการ จากการคิดแหวกแนว จากมโนทัศน์เดิมๆแต่ไม่เปล่งประกาย อหังการ์ใดๆ เลย

          ในตอนท้าย ศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดล ถามผมว่า ผมจะแนะนำให้ ศ. นรัตถพล ทำอะไรในชีวิตที่เหลืออีก ๒๕ ปี จึงจะถึงอายุ ๖๐เพราะแค่อายุ ๓๕ ก็บรรลุ ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตนักวิชาการเสียแล้ว

          ผมตอบว่า การเป็นศาสตราจารย์ไม่ใช่เป้าหมายหรือไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิตคนแต่เป็นเครื่องมือ หรือเป็นเส้นทาง สู่การทำคุณประโยชน์ มีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ ให้แก่สังคมซึ่งในที่นี้ ผมตีความว่า เป็นการ “สร้างคน” ที่เป็นนักวิชาการแท้นักวิชาการที่มีคุณภาพสูงให้แก่สังคมไทย

          ศ. นรัตถพล มีเวลาทำงานสร้างสรรค์วิชาการอีก ๔๕ ปี ไม่ใช่ ๒๕ ปีเพราะนักวิชาการนั้นไม่ควรหยุด ทำงานวิชาการเมื่ออายุ ๖๐เพราะสมัยนี้คนอายุ ๖๐ ที่สุขภาพดีถือว่ายังหนุ่มนักวิชาการอาวุโสควรรับใช้ บ้านเมืองโดยการสร้างนักวิชาการชั้นยอดให้แก่ประเทศศ. นรัตถพล สามารถทำหน้าที่สร้างนักวิจัย/นักวิชาการ ชั้นยอด จนได้ชื่อว่าเป็น professor of the professors

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มี.ค. ๕๗

                   ศ. นพ. ดร. นรัตถพล เจริญพันธุ์ ขณะเล่าความคิดจากการปฏิบัติ

                                           แนวทางจัดการเรียนรู้ ๑

                                     แนวทางจัดการเรียนรู้ ๒

                                    แนวทางจัดการเรียนรู้ ๓

                                 Active - Reflective Learning

หมายเลขบันทึก: 566655เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2014 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2014 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท