​ถอดบทเรียนการอบรมป้องกันภัยทางเพศ : เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นสู้กับภัยทางเพศ (ตอนที่ 2)


ถ้ารู้จักใช้อาวุธที่มีอยู่ในตัวเองร่วมกับการใช้แรงปะทะที่มาจากอีกฝ่ายปรับเปลี่ยนมาเป็นพลังตอบโต้กลับไป ผู้หญิงตัวเล็กๆก็คว่ำผู้ชายตัวใหญ่ๆได้ไม่ยาก

ตอนแรก เราว่าด้วยที่มาที่ไปและการเตรียมการก่อนจะมาเป็นเวิร์คช็อปวันครึ่ง สำหรับการเทรนนิ่งผู้หญิงให้มีเทคนิคเบื้องต้นในการเอาตัวรอดยามคับขัน โดยใช้ศิลปะป้องกันตัวไอคิโดมาประยุกต์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมรับมาจัดให้กับกลุ่มเยาวชน และสตรี (มีบุรุษบ้าง) กับกรีนไลฟ์ฟิตเนสซึ่งเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่รู้จักกันผ่านเน็ต หลังจากพูดคุยถึงคอนเส็ปต์ ดูสถานที่ฝึกอบรมจริง แล้วจึงค่อยออกแบบงาน อ้อ เกือบลืม ระหว่างนี้ก็ได้แจ้ง ดร.สมบัติ ตาปัญญา ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาไอคิโดให้ผมด้วยว่าเราจะเอาแนวทางไอคิโดมาปรับใช้กับงานนี้ครับ เผื่อว่ามีใครในวงการซักถามจะได้รู้ว่า เราไม่ได้ผลีผลามคิดเอาแต่ได้ ท่านก็เห็นด้วยและให้กำลังใจมา


ธรรมเนียมไทย รวมถึงหลายชาติทางเอเซียตะวันออกเราถือกันครับว่าจะคิดจะทำอะไร ให้นึกถึงครู บูชาครู อย่างก่อนจะใช้วิชาโบราณก็จะมีการไหว้ครู อันนี้เป็นสิ่งดี เป็นเบสิคสำคัญที่การเรียนรู้ในปัจจุบันมักมองข้าม ปีหนึ่งๆเลยมีไหว้ครูครั้งเดียว และกลายเป็นพิธีกรรมที่มีความรุงรังมากมาย แทนที่จะไหว้แบบเรียบง่าย ไหว้ได้ทุกวัน


การไหว้ครู การนึกถึงคุณของครูไม่ว่าจะเป็นครู เป็นกุศโลบายสำคัญที่ปลุกปลอบใจให้สุภาพอ่อนน้อมรับการเรียนรู้ใหม่ๆและฝึกฝนใจให้มีความกล้าเผชิญปัญญา รวมทั้งใช้วิชาอ่างมีจริยธรรม ไม่ใช้ในทางที่ผิดต่อครู ผิดต่อสังคม ผิดต่อตนเอง อันนี้สำคัญ


เอ้า กลับเข้าเรื่องกันต่อ ผมวางตารางการฝึกไว้ดังนี้ครับ

•25 ตุลาคม 57

13.00 - 16.00

หลักการพื้นฐานการป้องกันตัว : วิเคราะห์ ตนเอง บุคคล สภาพแวดล้อม

เรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน (ไอดิโดแนวประยุกต์)

การยืน (จัดท่าทาง)

การบริหาร ข้อต่อส่วนต่างๆ

การล้มอย่างปลอดภัย

ข้อปฏิบัติและพึงระวังขณะฝึก

ฝึกการแก้-ปลดล็อค

-แก้การถูกจับมือเดียว

-แก้การถูกจับสองมือ

-แก้การถูกจับสองมือจากด้านหลัง

-แก้การถูกจับล็อคคอจากด้านหลัง

-แก้การถูกบีบคอ

•26 ตุลาคม 57

ภาคเช้า 09.00 - 12.00

ฝึกการแก้-ปลดล็อค (ต่อ)

-แก้การถูกโอบไหล่จากด้านข้าง

-แก้การถูกโอบรัดเอวจากด้านหลัง

-แก้การถูกจิกผม

ฝึกการจัดการเมื่อคนร้ายใช้มีดจี้บังคับในท่าต่างๆ

ภาคบ่าย 13.00 - 16.00

ฝึกการจัดการเมื่อคนร้ายใช้มีดจี้บังคับในท่าต่างๆ(ต่อ)

ทบทวนเทคนิคทั้งหมด แล้วทดสอบ

สรุปการฝึก

ภาพรวมๆคือ วันแรก เปิดฉาก ก็ต้องสร้างความเข้าใจกันก่อน ว่าเราจะฝึกอะไร ทำอะไร มีกฏกติกามารยาทการฝึกอย่างบ้าง ที่สำคัญอีกอย่าง คือการสร้างบรรยากาศการฝึก และความคุ้นเคยระหว่างกัน เป็นเพื่อนร่วมฝึกกัน อันนี้ผมโชคดีอยู่อย่างที่ส่วนใหญ่สมาชิกรู้จักกันเป็นพื้นฐานแล้ว การให้แต่ละคนแนะนำตัวสักเล็กน้อย และบอกเล่าแรงบันดาลใจที่มาเข้าคอร์ส ช่วยให้แต่ละคนเรียนรู้และสนใจซึ่งกันและกัน ดึงเอาปัญหาและแรงบันดาลใจของแต่ละคนออกมาผูกโยง หลอมรวมเป็นพลังร่วม แล้วกระจายกลับไปยังผู้ฝึกแต่ละคน ตรงนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ผู้หญิงหลายคนมาเพราะตัวเองต้องทำงานกลับบ้านค่ำ รู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่คนสติไม่ดีเดินผ่านแล้วเข้ามาทำร้ายร่างกาย บางคนโชคร้ายโดนกระชากสร้อยแล้วตัวเองล้มลงไปนอน บางคนถูกรื้อค้นกระเป๋าต่อหน้าต่อตา

หลังจากการอุ่นเครื่อง จูนแนวคิดและพลังของแต่ละคนมาหลอมให้เกิดพลังร่วมและคืนกลับไปยังผู้เข้าอบรม ในฐานะที่ทุกคนคือคนสำคัญ และชีวิตที่ดีต้องมีภูมิคุ้มกันกับปัญหาความรุนแรงอย่างนี้ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาแล้ว พอใจพร้อม กายก็ต้องพร้อม นั่นคือ เริ่มจากอบอุ่นร่างกาย วอร์มอัพพอประมาณ จากนั้นให้ฝึกเรื่องการจัดท่าทางที่เหมาะสมกับการจัดการปัญหาฉุกเฉิน ;

ศีรษะ= วางศีรษะตั้งตรง องอาจ

ตา= มองผู้จู่โจมทั้งตัว อย่ามองแค่จุดใดจุดหนึ่ง

ไม่จ้องหน้า (สื่อว่าหาเรื่อง) หรือ หลบสายตาต่ำ (สื่อว่าหวาดกลัว)

จมูก= สูดลมหายใจเต็มปอด หายใจสอดประสานกับจังหวะเคลื่อนไหว

มือ= เมื่อถูกจับแขน / ข้อมือ ให้กางมือออก

แขน= แขนงอเล็กน้อย ข้อศอกไม่ตึง

เท้า= ขยายฐานขาทั้งสองข้าง ให้กว้างและมั่นคง

ลำตัว = ทรงตัวให้ดีเสมอ เวลาเคลื่อนที่ให้เคลื่อนไปทั้งตัว

นี่เป็นหลักสำคัญ จากนั้นก็ให้ฝึกการล้ม โดยเฉพาะการล้มไปข้างหลัง เพราะการบาดเจ็บจำนวนมาก เกิดจากการล้มไม่ถูกวิธี แล้วศีรษะฟาดพื้น หรือเอามือยันไปข้างหลังทำให้แขนหัก

การล้มไปข้างหลังอย่างปลอดภัย ต้องพับขาหลังข้างใดข้างหนึ่งเข้ามา แล้วค่อยๆหย่อนก้นลงที่ส้นเท้า ก่อนจะล้มตัวลงตาม พร้อมกับเก็บคางและศีรษะงอเข้ามายังลำตัว มือยื่นไปข้างหน้า หรือกางแขนออกไปข้างๆแบมือตบพื้น อย่าเอามือไปยันพื้นข้างหลัง เพราะแขนอาจหักได้

การล้มไปข้างหลังอีกแบบคือ หากไม่ทันพับขาไปข้างหลัง ก็ให้ย่อตัวลงนั่งยองๆ แล้วค่อยๆหย่อนก้นลงที่ส้นเท้า ก่อนจะล้มตัวลงตาม พร้อมกับเก็บคางและศีรษะงอเข้ามายังลำตัว มือยื่นไปข้างหน้า หรือกางออกไปข้างๆแบมือตบพื้น เช่นกัน

จากการอุ่นเครื่องแนวคิด อุ่นเครื่องร่างกาย ฝึกการล้ม แล้วจึงมารู้จักจุดอ่อนของร่างกาย เพื่อใช้ในการจัดการคู่ต่อสู้ จุดอ่อนของร่างกายมีหลายจุด ซึ่งเมื่อได้รับบาดเจ็บอาจจะทำให้ถึงชีวิต เราสามารถศึกษาใช้จุดเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญในการป้องกันตัวเราเวลาคับขัน เช่น ตา จมูก คอหอย อวัยวะเพศ ลิ้นปี่

นอกจากนี้ ยังให้แต่ละคนรู้จักอาวุธธรรมชาติ ที่มีอยู่ในร่างกายตัวเอง (Personal – weapons ) เช่น มือ เท้า เข่า ศอก ฟันและบางตำแหน่งของศรีษะ

ถ้ารู้จักใช้อาวุธที่มีอยู่ในตัวเองร่วมกับการใช้แรงปะทะที่มาจากอีกฝ่ายปรับเปลี่ยนมาเป็นพลังตอบโต้กลับไป ผู้หญิงตัวเล็กๆก็คว่ำผู้ชายตัวใหญ่ๆได้ไม่ยาก




จากนั้นจึงเริ่มฝึกเทคนิคต่างๆ ตามที่วางกำหนดการไว้ โดยให้สลับคู่ฝึกกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฝึกกับผู้ชาย ฝึกกับเด็กวัยรุ่น ฝึกกับคนหลากหลายลักษณะ เพราะเราไม่รู้ว่าคนร้ายจะมีรูปลักษณ์อย่างไร การฝึกกับคนที่หลากหลาย จะทำให้เรามีทักษะมากขึ้น

ผมพยายามผูกคำที่เป็นหลักในการฝึก เพื่อให้ผู้อบรมจำง่ายๆ อย่างหลักการสำคัญ ในการจัดการผู้จู่โจม คือ "ทรงตัวให้ดี หนีแนวปะทะ จังหวะหมุนกลับ รับแรงส่งคืน" และ"เขาดึงเราดัน เขาดันเราหมุนตัว"


"จำประโยคเหล่านี้ให้ขึ้นใจนะครับ เวลาเจอเหตุฉุกเฉินจะช่วยเราได้มาก" อันนี้ ผมย้ำบ่อยๆ

ส่วนบรรยากาศการฝึก ก็เป็นไปด้วยดีครับ ในแต่ละท่า ผมกับผู้ช่วยสาธิตให้ดู อธิบายให้ฟัง ทุกคนล้อมเป็นวงกลม จากนั้นก็จะแยกกันไปฝึกเป็นคู่ ผมกับผู้ช่วยก็จะตามไปดูแลให้คำแนะนำ และเป็นคู่ซ้อมให้ กระจายๆกันไป ใครไม่เข้าใจก็ยกมือถาม ส่วนที่เป็นผู้สูงวัย เราก็จะไปดูแลเป็นพิเศษหน่อย ทุกคนมุ่งมั่น น่าประทับใจ

ต้องขอบคุณ น้องเอก กับน้องปอนด์ และน้องจัมพ์ ไอคิโดสายดำ (Shodan)จากศูนย์เยาวชน ไทย- ญี่ปุ่น ดินแดง ที่มาช่วยงานนี้เป็นอย่างดี ซึ่งจะว่าไปผู้ช่วยทั้งสามคนนี่ลำดับขั้นฝีมือสูงกว่าผมซะอีก แต่ก็ลดดีกรีลงมาเป็นผู้ช่วยผม อันนี้ถ้าไม่มีสปิริตเพื่อสังคม พวกเขาก็คงไม่มา

ตอนหน้าจะว่าด้วยบทสรุปจากการฝึกอบรม การประเมินผลผู้เข้าอบรม รวมถึงการสะท้อนกลับบทบาทตัวผมเองในฐานะครูและนักเคลื่อนไหวทางสังคม

ผู้ที่สนใจอย่าพลาดนะครับ

หมายเลขบันทึก: 579880เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ทรงตัวให้ดี หนีแนวปะทะ จังหวะหมุนกลับ รับแรงส่งคืน" และ"เขาดึงเราดัน เขาดันเราหมุนตัว"

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท