จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

การสอนอิสลามศึกษาสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21


ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดขึ้นในทุกวินาทีและเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหยุดความเปลี่ยนแปลงและคงสภาพอย่างที่เราอยากให้เป็นเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป แต่ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นแบบค่อยๆ เปลี่ยนทีละนิดหรือบางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วนและเป็นความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ผลส่งแบบต่อเนื่องไปยังส่วนอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย

การรอคอยตั้งรับความเปลี่ยนแปลงหรือรอให้เปลี่ยนก่อนแล้วค่อยทางวิธีการในการแก้ไขเป็นความคิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าการออกแบบกระบวนการเพื่อสร้างความพร้อมก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะอย่างหลังนอกจากจะเป็นการป้องการความเสียหายจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังอาจจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่ส่งผลให้เป็นการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเช่นกัน หมายถึง เราอยากให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไร ก็อยู่ที่เราเรียนรู้สภาพปัจจุบันอย่างไร ออกแบบการดำเนินการอย่างไร และดำเนินการเพื่ออนาคตอย่างไร

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวกับกับการจัดการศึกษาอิสลามสำหรับเยาวชนในการสร้างความพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาอิสลาม เนื่องจากการจัดการศึกษาอิสลามมีความสำคัญต่อความยั่งยืนของสังคมมุสลิมในอนาคต การยึดติดกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบเดิมๆ อาจส่งผลต่อการสร้างความพร้อมในการพัฒนาเยาวชนมุสลิมในอนาคตได้ โดยบทความนี้ได้นำเสนอแนวทางเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้แล้วเพื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นสำหรับการจัดการศึกษาในอนาคตต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งการกลับไปสู่ห้องนอน ตัวอย่างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงเช่น

- เป็นยุคที่คนใช้คอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ตัวว่าใช้คอมพิวเตอร์ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่เล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและแปลงรูปทรงเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น นาฬีกา แว่นตา ตู้เย็น โทรทัศน์ โทรศัพท์ ทั้งหมดสามารถประมวลผลนำเสนอเสนอได้ไม่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ยิ่งไปกว่านั้นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันอย่างสะดวกและรวดเร็ว ผู้คนสามารถเชื่อมต่อและถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากมายได้อย่างสะดวกและเป็นอิสระ และสามารถใช้อุปกรณ์ที่หลากหลายในการเข้าถึงข้อมูลได้

- การดำเนินงานในรูปแบบดิจิตอล อันเนื่องจากการเชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศ ทำให้ระบบดิจิตอลมีบทบาทในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การสื่อสาร หรือการปฏิบัติงาน ผู้คนสามารถปฏิบัติงานหรือทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใดเพียงแค่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตได้เท่านั้นเอง ขณะเดียวกันการใช้อินเตอร์เน็ตก็ให้ความสำคัญต่อการระบุตัวตนของผู้ใช้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เองด้วย

- ความสัมพันธ์ในระหว่างบุคคลอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์เสมือนมากยิ่งขึ้น เป็นอีกสภาพการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นสำหรับศตวรรษที่ 21 ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถขวางการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ เพราะเป็นการสื่อสารทำให้เกิดความสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่ทั้งนี้ผู้คนในยุคนี้จำเป็นต้องมีทักษะทางภาษาที่มากกว่าคนในยุคที่ผ่านๆ มา

- การเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการเรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขตข้อจำกัด ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย ในขณะเดียวกับแหล่งข่าวก็สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แต่เมื่อการเข้าถึงข้อมูลไม่ใช่เรื่องยาก ความยากกลับเป็นเรื่องของการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร ผู้คนจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจถึงความถูกต้องในข้อมูลที่ได้รับ

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมทางการศึกษาด้วยเช่นกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีการพูดคุยเรื่องนี้และมีการพัฒนาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" โดยความร่วมมือของภาคส่วนวงการนอกการศึกษาที่ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21

ทั้งนี้เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้คนในยุคศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่เพิ่มเติมจากคนในศตวรรษที่ 20 และ 19 โดยเครือข่าย P21 เห็นว่า เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องมีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ซึ่งมีองค์ประกอบคือ 3R4C คือ 3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ 4C ได้แก่ Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์) , Communication (การสื่อสาร), Collaboration (การร่วมมือ) และ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่

ทักษะสำคัญสำหรับคนยุคศตวรรษที่ 21 ดังกล่าวจะเป็นต้องอาศัยการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพราะการจัดการศึกษาในรูปแบบเดิมไม่สามารถใช้การสอนแบบเดิมๆ ที่เน้นการถ่ายทอดจากครูผู้สอนได้อีกต่อไป ดังนั้นจึงการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทแล้ว จำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากผลการสำรวจของ IMD world Competitiveness 2012 พบว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยภาพรวมอยู่อันดับที่ 30 ด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 52 และผลการจัดอับดับจาก WEF (The World Economic Forum) ไทยอยู่อันดับที่ 77 ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงความจำเป็นสำหรับการจัดการศึกษาไทยอย่างชัดเจน

แนวคิดสำคัญเพื่อการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาในศตวรรษที่ 21

การปฏิรูปการจัดการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพให้เยาวชนมีความพร้อมในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 และอิสลามศึกษาก็เป็นหนึ่งในหลากหลายแขนงวิชาที่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ แต่เนื่องจากอิสลามศึกษาเป็นสาขาวิชาที่ทำหน้าที่หลายสถานะในสังคม ทั้งในแง่ของเครื่องมือในการพัฒนาคนเพื่อการเข้าเป็นสมาชิกของสังคมแล้ว ยังเป็นกลไกหลักของสถาบันศาสนาซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของสถาบันทางสังคมอีกด้วย

ดังนั้นในปัจจุบัน รูปแบบของการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา จึงไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบหนึ่งทีเกิดจากการขัดเกลาสมาชิกในสังคม แต่รูปแบบการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปยังความเชื่อความศรัทธาต่อศาสนาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องอาศัยหลักคิดสำคัญเพื่อเป็นแก่นขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษา ดังนี้

1. การจัดการศึกษาอิสลามศึกษาจะต้องเป็นการจัดการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิตที่สมดุลและสมบูรณ์ การจัดการศึกษาศึกษาไม่ใช่เพียงเพื่อความรู้หรือเพื่อสร้างศรัทธาในตัวคนเท่านั้น แต่การจัดการศึกษาอิสลามมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์ สร้างความเป็นบ่าวที่สมบูรณ์สามารถจัดสรรการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรต่างๆ ในโลกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้จัดการศึกษาจะมีมุมมองที่กว้างขึ้นเมื่อเปลี่ยนนิยามอิสลามศึกษาจากการศึกษาหลักคำสอนของศาสนาที่เกี่ยวกับมิติของศาสนกิจ ความเชื่อและหลักคุณธรรม เป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนที่ครอบคลุมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของคนๆ หนึ่งในฐานะของมุมิน ศาสนกิจไม่ใช่เพียงแต่อยู่ในมัสยิด แต่การประกอบอาชีพ การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างล้วนแล้วแต่เป็นศาสนกิจ นอกจากนี้เนื้อหาการสอนต้องไม่ใช่เพียงการนำเสนอหลักการ แต่จะต้องเป็นการเชื่อมโยงหลักการสู่สภาพการณ์จริงที่ปรากฏในสังคมและสร้างความพร้อมของผู้เรียนเพื่อการปฏิบัติตนตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป

2. การจัดการศึกษาอิสลามศึกษาจะต้องสร้างศรัทธา พัฒนาคุณธรรมควบคู่กับการสร้างวิจารณญาณ การจัดการศึกษาที่มุ่งปลูกฝั่งหรือการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจหรือความศรัทธาเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถสร้างศรัทธาที่มั่นคงให้กับคนในยุคศตวรรษที่ 21 เนื่องจากคนในยุคนี้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศทีกว้างขวางและง่ายได้ การบริโภคข้อมูลข่าวสารสามารถเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความเชื่อของคนได้ การจัดการเรียนการสอนที่ให้ข้อมูลเพียงมิติเดียว การไม่นำเสนอข้อมูลที่หลากหลายและสร้างผู้เรียนมีวิจารณญาณในการตรวจสอบข้อมูลที่ได้จะเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ล้มเหลวสำหรับคนในศตวรรษที่ 21

3. การจัดการศึกษาอิสลามศึกษาจะต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารในความเป็นพหุวัฒนธรรม ในศตวรรษที่ 21 คนเป็นได้ทั้งผู้รับและผู้ให้ข้อมูลแก่สาธารณะ ซึ่งต่างจากในยุคก่อนที่เป็นเพียงผู้รับ เยาวชนจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารในความแตกต่างทางวัฒนธรรม เยาวชนต้องได้รับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและทักษะการเป็นผู้เผยแพร่ศาสนา (ดาอีย์) ที่มุ่งสร้างความเข้าใจและการเชิญชวนสู่สัจธรรม หลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งเกลียดชังกับผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง

4. การจัดการศึกษาอิสลามศึกษาที่ต้องบูรณาการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกลายเป็นทักษะจำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิต ซึ่งการจัดการเรียนการสอนจะต้องบูรณาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนพร้อมๆ ไปกับการถ่ายทอดเนื้อหาการศึกษา การสร้างมุมมองภาพลบต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาจะส่งผลลบต่อทัศนคติของเยาวชนต่ออิสลามศึกษาเอง

กระบวนการดำเนินงานเพื่อการปฏิรูปการจัดการศึกษาอิสลามศึกษา

1. การปรับปรุงระบบการจัดการศึกษาอิสลามที่เอื้อต่อเป้าหมายการจัดการศึกษาอิสลาม ปัจจุบันระบบการจัดการศึกษาอิสลามเป็นระบบที่แยกส่วนจากการจัดการศึกษาหลัก ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการเชื่อมต่อการจัดการศึกษาในแต่ละระดับและรูปแบบ สภาพดังกล่าวนี้ส่งผลให้การจัดการศึกษาเกิดความซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองทรัพยากร และส่งผลต่อทัศนคติทางลบต่อการศึกษาอิสลามศึกษาของสังคม การปฏิรูประบบจัดการจัดการศึกษาอิสลามจึงเป็นสิ่งที่สมาชิกในชุมชนต้องหันหน้ามาแสวงหาแนวทางการจัดการที่มีประสิทธิภาพและสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกในชุมชน ประเด็นการปฏิรูปการจัดการศึกษา ได้แก่

1.1) การกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมความรู้ที่จำเป็นสำหรับเยาวชน

1.2) การออกแบบหลักสูตรจัดการศึกษาที่ครอบคลุมการพัฒนาผู้เรียนทั้งทางด้านความรู้ความเข้าใจ ทักษะการปฏิบัติ เจตคติและศรัทธา

1.3) การวางระบบการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงการศึกษาแต่ละระดับ

1.4) การออกแบบระบบการศึกษาที่คำนึงถึงเปิดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา

2. การเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน พฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนไปแล้ว การยึดติดกับรูปแบบการสอนเดิมๆ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนจำเป็นต้องแสวงหารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมเต็มไปด้วยวิทยปัญญาในการจัดการเรียนการสอน การจัดการเรียนรู้ต้องมุ่งส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะและคุณลักษณะของผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน เพื่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม การมุ่งพัฒนาครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยกระบวนการพัฒนาครูไม่ใช่มุ่งเพียงกระบวนการพัฒนาทางด้านความรู้หรือทักษะเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งสร้างทัศนคติและแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้วย เนื่องจากทัศนคติและแรงจูงใจเป็นพลังสำคัญในการสร้างความสำเร็จในการปรับเปลี่ยน นอกจากนี้การสร้างชุมชนครูเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกลไกหนึ่งเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง การดำเนินงานปรับเปลี่ยนรายบุคคลไม่ก่อให้ความยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลงและประการสำคัญคือชุมชนครูเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะเป็นแหล่งความรู้สำหรับสมาชิกได้เป็นอย่างดี

3. การพัฒนาและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้อิสลามศึกษา แหล่งเรียนรู้จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษา เนื่องจากแหล่งเรียนรู้จะเป็นเครื่องมือสำหรับการศึกษาค้นคว้าของผู้เรียน กระตุ้นให้ความสำเร็จของการเรียนรู้อยู่กับผู้เรียนและลดบทบาทของครูผู้สอนสู่การเป็นผู้ให้คำแนะนำและร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน แหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้จากเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ตลอดจนมีความพร้อมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองและระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนด้วย

4. การสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอิสลามศึกษาจากทุกภาคส่วน ความร่วมมือของการจัดการเรียนศึกษาจากทุกภาคส่วนในสังคมเป็นส่วนสำคัญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีการกำหนดบทบาทความร่วมมือที่ชัดเจนในการดำเนินการ สภาพการศึกษาปัจจุบันพบว่าในการจัดการศึกษาอิสลามศึกษาโดยเฉพาะในส่วนของการศึกษานอกระบบ ผู้ปกครองให้ความสำคัญน้อยลงและมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้การดำเนินการประสบความสำเร็จได้ยากลำบากขึ้น

5. การสร้างกลไกการตรวจสอบและประเมินการจัดการศึกษาอิสลามศึกษา สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งเพื่อการดำเนินการปฏิรูปการจัดการศึกษาอิสลาม คือการสร้างกลไกการตรวจสอบและการประเมินการจัดการศึกษาอิสลามศึกษา เนื่องจากกลไกนี้จะทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนภาพความสำเร็จในการจัดการศึกษา ตลอดจนนำเสนอประเด็นเพื่อการพัฒนาต่อไป แต่ทั้งนี้ในการตรวจสอบและประเมิน กลไกจะต้องเกิดขึ้นจากฐานของความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม สร้างความโปร่งใสในการกระบวนการดำเนินการ และสร้างความตระหนักต่อผลการประเมินเพื่อกระตุ้นการพัฒนาการจัดการศึกษาอิสลามศึกษาต่อไป

-------------------------

ผศ.ดร.จารุวัจน์ สองเมือง. (2558). การสอนอิสลามศึกษาสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21. เอกสารประกอบการสัมมนา การสัมมนาครูอิสลามศึกษาพันธุ์ใหม่สู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาในศตวรรษที่ 21" โดยสาขาวิชาการสอนอิสลามศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี วันเสาร์ ที่ 14 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาฟาฏอนี

หมายเลขบันทึก: 587520เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2015 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สลามมาลัยกุมครับอาจารย์

เขียนได้ชัดเจนมาก

อาจารย์หายไปนานเลยครับ

การศึกษาของอิสลามน่าสนใจนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท