จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

คุณภาพการที่ปรึกษากระบวนการเพื่อป้องกันการคัดลอกงานวิจัย วิทยานิพนธ์


เห็นข่าวทางทวีตเตอร์คุยเรื่องการป้องกันการคัดลอกวิทยานิพนธ์ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ต้องเรียนว่าจากประสบการณ์ของผมเอง งานหนึ่งชิ้นของผม (เป็นบทที่สองที่ผมรวบรวมไว้) ผมเก็บไว้ใน researchers.in.th ตั้งแต่ปี 2550 (ตอนนี้เว็บปิดไปแล้ว และต้นฉบับไฟล์นั้นก็หายไปแล้วด้วย) มีนักศึกษา ป.โทถึง 3 คนคัดลอกเอาไปแบบเต็มๆ ฉบับ ถามว่าผมรู้ได้อย่างไร คำตอบคือ เขาให้ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเครื่องมือวิจัย ซึ่งผมมักจะขอดูกรอบวิจัยด้วย ซึ่งก็เจอแบบเต็มๆ ครับ และขอร้องเขาไปว่าถ้าจะคัดลอกนั้นได้ แต่ต้องอ้างอิงให้ถูกต้อง แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมลองค้นจาก google ด้วยคำๆ หนึ่งที่เป็นคำหลักในงานชิ้นนั้นของผม ปรากฏว่า ระดับ รศ.ดร.ท่านหนึ่ง ก็เอางานผมไปเขียนไว้ในบทความของท่านซะเกือบทั้งบทความผมเลย โดยไม่มีชื่อผมปรากฏในเนื้อหาเลย อย่างหลังนี้ช่างมันเถอะ ถือว่าอาจารย์เขาขาดจรรยาบรรณในความเป็นนักวิชาการก็แล้วกัน ผมแค่เป็นห่วงอนาคตของชาติ คนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นนักวิชาการรุ่นต่อๆ ไปมากกว่า ถ้าเขาใช้วิธีการนี้ อนาคตการศึกษาชาติจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าโปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกเป็นวิธีการหนึ่ง แต่เราไม่น่าจะมอบความรับผิดชอบทั้งหมดไปที่นั่นครับ เพราะความจริงแล้ว กระบวนการกว่าจะมาเป็นวิทยานิพนธ์นั้นแหละที่สำคัญกว่า และผมคิดว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยก็ไม่มีกลไกการควบคุม มีเพียงว่านักศึกษาเข้าสอบได้กี่คน ดังนั้นมุมมองผม ผมว่าเราป้องกันการคัดลอกวิทยานิพนธ์ได้ด้วยการควบคุมกระบวนการ ดังนี้ครับ

1) วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาต้องตรงกับสาขาที่อาจารย์ทำวิจัย มีความเชี่ยวชาญ เพราะอาจารย์จะต้องติดตามข้อมูลงานวิจัยอื่นๆ อยู่แล้วเพื่อการวิจัยของอาจารย์ นักศึกษาก็มีที่พึ่งทางวิชาการที่พึ่งได้จริงๆ ปัจจุบันเอาว่า แค่อาจารย์จบมาด้านนี้ก็หายาก หรืออาจารย์ทำวิจัยแบบไม่ต่อเนื่อง พูดง่ายๆ ว่าแค่เคยทำด้านนี้ (แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นแล้ว หรือไม่ก็....)

2) ที่ปรึกษาต้องอ่านและให้ข้อเสนอแนะงานของนักศึกษาอย่างใกล้ชิด แค่อาจารย์ตั้งคำถาม ปรับแก้ไขงานให้ โอกาสในการคัดลอกก็จะลดน้อยลงไปโดยอัตโนมัติ อาจารย์ไม่อ่านงานของนักศึกษาอันนี้แหละตัวการหนึ่งที่นักศึกษาชะล้าใจลอกกันอย่างสนุกสนาน หรืออาจารย์แค่ตรวจคำผิดในการพิมพ์ มันก็ไม่ได้อะไรครับ ถ้าอาจารย์มีข้อเสนอให้ปรับแก้ไขบ้าง เพิ่มเติมการศึกษาบ้าง มันก็จะทำให้ความเหมือนกับงานชิ้นอื่นๆ ก็น้อยลง แค่อาจารย์ช่วยกรองว่าเอกสารอ้างอิงอะไรควรตัดออกไปบ้าง (มันหลายปีแล้ว) ก็ยังพอดูดีขึ้นได้บ้างครับ

3) กรรมการสอบก็ต้องมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าวจริงๆ (อันนี้กรองขั้นสุดท้าย) คือบางทีเหมือนเป็นการสมยอมครับ ที่ปรึกษาก็ไม่มั่นใจในงานของนักศึกษา เลยเลือกกรรมการสอบแบบเบาๆ หน่อย (จริงๆ ผมก็อยู่ในประเภทนี้แหละครับ ฮิฮิ แต่ผมให้โอกาสในการปรับแก้ไขเสมอ) นักศึกษาคนหนึ่งเลยมาให้ผมเซ็นต์ แต่ผมยังให้เขาแก้อีก เขาพูดกับผมว่า อาจารย์ครับทั้งประธาน ทั้งที่ปรึกษาเซ็นหมดแล้วครับ ผมเลยตอบว่า ก็แล้วแต่เขาสิ ผมยังไม่โอเคเลย จะให้ทำไงละ เมื่อผมก็ต้องมีความรับผิดชอบในส่วนของผมด้วย

หลายเงื่อนไขที่นำมาใช้ในการประกันคุณภาพหลักสูตร พยายามมองไปจุดนี้แล้วครับ แต่พอการศึกษาถูกมองในเชิงธุรกิจมากจนเกินไป มันเหมือนคุณค่าวิชาการล้มหายตายจากไปเยอะทีเดียว (ตอนนี้ทั้งรัฐทั้งเอกชน ผมว่าไม่ต่างกันเท่าไรแล้วครับ)

หมายเลขบันทึก: 592736เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2015 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2015 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบใจครับ

อย่าให้มีการช่วยกันมาก

มีนิสิตเอางานมาให้ตรวจแล้วไม่อ้าง

อ้าวงานเรานี่หว่า 555

เลยบอกนิสิตไปครับ

ผมบอกไปสามคนครับ ก็อบมาชิ้นเดียวกันเลย จนจำขึ้นใจว่างานนี้งานผม คือจริงๆ ผมก็ลืมไปแล้วว่าผมเขียน แต่ยิ่งอ่านยิ่งคุ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท