​เรื่องเล่าจากการดำเนินกิจกรรม PLC กลุ่มรักบ้านเกิด


ลูกนิมิตทำไมอยู่ใต้ใบเสมา


เช้าวันนี้ผมได้มีโอกาสไปสังเกตการสอนและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคุณครูกลุ่มสังคม ระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนวัดจุฬามณี พวกเรานัดกัน 9 โมงที่โรงเรียน ผมมาถึงมอนอตอน 8 โมงเช้า เข้ามาเช็คเมลว่าอาจารย์ผู้สอนส่งแผนการสอนเข้ามาหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีเมลเข้ามา เพราะอาจารย์ผู้สอนวันเสาร์อาทิตย์อบรมภาษาอังกฤษอยู่ที่เขตพื้นที่ ไม่เป็นไรไปลุยเอาข้างหน้า (ผมนึกในใจ) ผมเตรียมกล้องกับขาตั้งติดไปเผื่อไปใช้ถ่ายวิดีโอการสอน ไปถึงวัดจุฬามณีผมมองหาโรงเรียนไม่เจอ พอมองไป อ้าวโรงเรียนอยู่ตรงข้ามกับวัด ผ่านเกือบทุกวัน แต่ไม่เคยเข้ามาเลย โรงเรียนวัดจุฬามณีเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดสำคัญในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมหาราชทรงเคยผนวชอยู่ที่วัดนี้ ผมขับรถไปยูเทิร์นที่สามแยกวัดใจ จอดหน้าร้านกล้วยทอดเจ้าอร่อย กะว่าจะซื้อกล้วยทอด กล้วยปิ้งเข้าไปที่โรงเรียน แต่นึกในใจ ของดีอยู่หน้าโรงเรียนวัดจุฬามณีอย่างนี้ ซื้อเข้าไปซ้ำกันแน่นอน จึงเปลี่ยนใจเข้าไปเลยดีกว่าเมื่อไปถึงโรงเรียน ทีมงาน ประกอบไปด้วยผู้อำนวยการ และคุณครูธนภร รอให้การต้อนรับอยู่แล้ว ขนมนมเนยเพียบ แต่ไม่มีกล้วยทอด มีแต่ขนมตาลกับขนมแตง มาจากบ้านวัดโบสถ์บ้านผมเอง เพราะมีคุณครูท่านหนึ่งมาจากวัดโบสถ์เหมือนกัน เอ๊ะ จะเล่าเรื่อง การเรียนการสอนทำไมมีแต่เรื่องกินๆ เข้าเรื่องดีกว่า

ผู้อำนวยการ,ครูผู้สอน,และผู้ร่วมเรียนรู้

เมื่อคุณครู และศึกษานิเทศก์มาครบ เราก็คุยวางแผนกันก่อน ทางคุณครูธนภรก็นำแผนการสอนมาแจกในห้อง เราได้ดูแผนการสอนกันสดๆ เช้านั้น ซึ่งในแผน คุณครูธนภร ได้นำกระบวนการ QSCCS * มาใช้เป็นนวัตกรรมในการสอน เรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งนักเรียนที่เรียนเป็นนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 จากการสังเกตแผนการสอนคร่าวๆ พบว่าครูจะชวนนักเรียนคุยเรื่องวัดจุฬามณีและใช้คำถามให้นักเรียนสนใจเรื่องวัดจุฬามณี ซึ่งก่อนสอนผมในฐานะผู้สังเกตคิดในใจว่าน่าจะเป็นคำถามที่เกิดจากผู้เรียนมีความสงสัย ใคร่รู้มากกว่าการที่คุณครูเป็นผู้สอน ซึ่งเราคุยกันว่าการสังเกตการสอนจะไม่มีการแบ่งประเด็นกันสังเกต แต่จะเป็นการสังเกตแบบรวมๆ แต่เพื่อเป็นแนวทาง ผมให้ลอง สังเกตว่าคุณครูมีวิธีการใช้คำถามอย่างไร มีวิธีจัดกลุ่มผู้เรียนอย่างอย่างไร บรรยากาศในห้องเรียนเป็นอย่างไร นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างกระฉับกระเฉงหรือไม่ นักเรียนมีบทบาทเป็นผู้ลงมือปฏิบัติหรือไม่ หลังจากนั้นเราก็เข้าไปสังเกตการสอนในห้องเรียนกัน

คุณครูพานักเรียนไปเจอของจริง ต้นไม้ลายไทย

เมื่อเข้าไปในห้องเรียน พบว่าคุณครูธนภรมีความเข้าใจในกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ QSCCS อย่างมากเพราะเคยผ่านกระบวนการเล่านี้มาแล้วในช่วงที่มีการทำ Coaching and mentoring โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังนั้นเมื่อเร้าความสนใจโดยการชวนนักเรียนพูดคุยเรื่องวัดจุฬามณีแล้ว คุณครูธนภร ชวนนักเรียนร่วมตั้งคำถามที่นักเรียนสนใจเกี่ยวกับวัดจุฬามณี โดยคุณครูวางประเด็นเกี่ยวกับวัดจุฬามณี เป็น

ประเด็น คำถามที่นักเรียนตั้ง
วัดจุฬามณี

- วัดจุฬา มีความเป็นมาอย่างไร

- ทำไมจึงเป็นวัดร้าง

ปรางค์


- ใช้อิฐอะไรสร้าง ?
วิหาร - วิหารสร้าง พ.ศ.อะไร ?

รอยพระพุทธบาท

- รอยพระพุทธบาท กว้าง ยาว เท่าไร

ศิลาจารึก

- ศิลาจารึกมีอายุเท่าไร?

- สร้างมาประมาณกี่ปี ?

โบสถ์หลังใหม่


- โบสถ์หลังใหม่สร้างเมื่อไร

- ใครเป็นคนสร้างโบสถ์หลังใหม่

ลายไทยที่ต้นไม้

- ลายไทยที่ต้นไม้ทำไว้ทำไม

กำแพงแก้ว

- สร้างเมื่อใด

ใบเสมา

- ใบเสมามีกี่ใบ

- ทำไมลูกนิมิตอยู่ใต้ใบเสมา

คุณครูชวนนักเรียนตั้งคำถามที่อยากรู้ ข้ามถนนไปแหล่งเรียนรู้

คุณครูเขียนประเด็นเกี่ยวกับวัดจุฬามณีไว้ด้านซ้าย และให้นักเรียนร่วมกันตั้งคำถามอย่างน่าสนใจ เช่น วัดจุฬา มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงเป็นวัดร้าง ใช้อิฐอะไรสร้าง ? วิหารสร้าง พ.ศ.อะไร ? รอยพระพุทธบาท กว้าง ยาว เท่าไร ศิลาจารึกมีอายุเท่าไร? สร้างมาประมาณกี่ปี ? โบสถ์หลังใหม่สร้างเมื่อไร? ใครเป็นคนสร้างโบสถ์หลังใหม่? ลายไทยที่ต้นไม้ทำไว้ทำไม? สร้างเมื่อใด ? ใบเสมามีกี่ใบ ? มีนักเรียนคนหนึ่งถามคุณครูว่า คุณครูครับทำไมลูกนิมิตอยู่ใต้ใบเสมา ? ผมนึกในใจ คำถามนี้น่าสนใจ ผมเองอายุปูนนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าลูกนิมิตเค้ามีไว้ทำไม แล้วลูกนิมิตกับใบเสมาเกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วทำไมจึงต้องนำไปฝังไว้ใต้ดิน ผมดูว่าคุณครูจะมีวิธีรับมืออย่างไรกับคำถามที่ไม่สามารถควบคุมได้แบบนี้ได้อย่างไร และก็พบว่าคุณครูไม่ทำให้ผิดหวังเลย คุณครูไม่ละเลยคำถามแปลกๆ แต่ถามนักเรียนว่าเธอรู้ได้อย่างไรว่าลูกนิมิตอยู่ใต้ใบเสมา “หลวงพี่บอกครับ” นักเรียนตอบ แสดงว่านักเรียนมีอิสระในการตั้งคำถามที่ตนเองอยากรู้อย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตพบคือ บุคลิก และวิธีพูดของคุณครู การใช้คำแทนตัวนักเรียนว่าลูก การรับฟังคำถามของนักเรียนอย่างตั้งใจ ช่วยกร่อนทำลายความกลัวในใจของนักเรียน ไม่กลัวผิด ไม่กลัวโดนดุ ทำให้บรรยากาศในการชวนนักเรียนตั้งคำถามของคุณครูดูแล้วนักเรียนที่นี่กล้า แสดงออก กล้าคิด กล้าตั้งคำถาม หลังจากได้ประเด็นคำถามตามความสนใจแล้วคุณครูถามนักเรียนว่าใครสนใจที่จะหาคำตอบเรื่องไหน นักเรียนแต่ละคนจะยกมือ คุณครูก็จะจัดกลุ่มตามความสนใจ ซึ่งทำให้ได้กลุ่มตามความสนใจ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คุณครูให้นักเรียนเลือก ประธานกลุ่ม เรื่องเลขากลุ่ม และแบ่งหน้าที่ของสมาชิกภายในกลุ่ม เตรียมอุปกรณ์ เครื่องเขียน สมุดจดเพื่อไปหาความรู้ หาคำตอบจากแหล่งเรียนรู้วัดจุฬามณีซึ่งต้องข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม ดูนักเรียนกระตือรือล้นอย่างมากที่จะได้ออกจากห้องเรียนไปที่วัดจุฬามณี พวกเราผู้สังเกตการขยับติดตามนักเรียนไปยังแหล่งเรียนรู้ ผมเองขับรถผ่านวัดจุฬามณีเกือบทุกวันแต่ก็ไม่เคยแวะเข้ามา วันนี้จึงพลอยตื่นตาตื่นใจ และได้ร่วมเรียนรู้ไปกับนักเรียนด้วย นักเรียนแต่ละกลุ่มแยกกันไปหาข้อมูล ยังสถานที่ต่างๆ บางกลุ่มไปโบสถ์ บางกลุ่มไปวิหาร บางกลุ่มไปรอยพระพุทธบาท กลุ่มที่หาคำตอบว่ารอยพระพุทธบาทกว้างยาวเท่าไร ไม่ได้เตรียมตลับเมตรมา คุณครูถามว่าแล้วเธอจะวัดอย่างไร นักเรียนตอบว่าใช้ศอกวัดครับ แล้วนำไปเทียบกับมาตราวัดของไทย ผมนึกในใจ การเรียนการสอนของครูมีการสอดแทรกเรื่องต่าง หลังจากได้คำตอบ นักเรียนกลับไปยังห้องเรียน คุณครูแจกกระดาษปรู๊บ สี และให้นักเรียนนำคอมพิวเตอร์ กลุ่มละ 2 เครื่อง เพื่อมาสืบค้นคำตอบเพิ่มเติม และให้นักเรียนร่วมกันสรุปความรู้โดยใช้ mind map นักเรียนสามารถใช้ไวไฟในโรงเรียนซึ่งอาจจะไม่เร็วเท่าไร แต่ก็เพียงพอที่จะสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้

นักเรียนศึกษารอยพระพุทธบาท นักเรียนศึกษาศิลาจารึก

ระหว่างรอนักเรียนสรุปความรู้ และทำงาน คุณครูผู้ร่วมเรียนรู้ ก็หันเก้าอี้เข้าหากันเป็นวงกลม ศึกษานิเทศก์ ก็ให้คุณครูแต่ละคนสะท้อนคิดว่าได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมในวันนี้ และจะนำไปปรับใช้อย่างไรกับการสอนของตนเอง หลังจากนั้นพวกเราก็รับฟังนักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอ ซึ่งพบว่านักเรียนนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ มีการแบ่งหน้าที่กันในกลุ่ม การนำเสนอนักเรียนทุกคนจะได้พูด อภิปราย ทำให้คุณครูที่สังเกตการสอนมีคำถามในใจมากมาย ว่าคุณครูผู้สอนทำอย่างไร วางกติกาหรือข้อตกลงกับนักเรียนอย่างไร จึงทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนการสอนเป็นไปอย่างที่พวกเราเรียกว่านี่แหละการสอนที่พัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง

ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างรอนักเรียนทำงาน น้องใหม่ได้เรียนรู้และสะท้อนคิด

หลังจากสังเกตการสอนเสร็จแล้ว คุณครูที่ไปร่วมสังเกตการสอน อาจารย์มหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการโรงเรียน ก็ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนคิดในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมในวันนี้ เช่น การเร้าความสนใจของครู การกระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามตามความสนใจ เทคนิคการแบ่งกลุ่มของนักเรียน การกำหนดภาระหน้าที่ของสมาชิกภายในกลุ่ม การใช้ mind map เป็นเครื่องมือนำเสนอ การสรุปความรู้ การปฎิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และครู โดยวันนั้น เนื่องจากประธานกลุ่มทำหน้าที่เป็นผู้สอน เราจึงให้อาจารย์อีกท่านหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการพูดคุย

นักเรียนร่วมกันนำเสนอผลงาน แหล่งเรียนรู้วัดจุฬามณี
ร่วมเรียนรู้กับนักเรียน ขั้นสร้างความรู้
ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนคิดหลังสอน

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการมาร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ก็คือ

- เทคนิคการกระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามโดยคุณครูวางกรอบการคิดไม่ให้หลุดประเด็น โดยวางกรอบประเด็นก่อน

- การพานักเรียนไปปะทะกับของจริง เจอของจริง กระตุ้นความอยากรู้และการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม ดังนั้นถ้าคุณครูออกแบบการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ประสบการณ์ตรงจะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

- วัดจุฬามณีมีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจหลากหลาย

สิ่งที่ประทับใจ

- นักเรียนโรงเรียนนี้กล้าถามกล้าแสดงออก

- ขนมอร่อยมาก

สิ่งที่ยังคาใจ

- ลูกนิมิตทำไมจึงอยู่ใต้ใบเสมา

- ลูกนิมิตทำไมต้องทำทรงกลม

- อดกินกล้วยทอดเจ้าอร่อย (อ้าววกเข้าเรื่องของกินอีกจนได้)

เล่าเรื่องโดย รุจโรจน์ แก้วอุไร

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

* QSCCS คือบันไดการเรียนรู้ 5 ขั้น

เอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บันได้การเรียนรู้ 5 ขั้น

  1. สไลด์บันไดการเรียนรู้ 5 ขั้น คลิกเพื่อดาวโหลด
  2. ตัวอย่างแผนการเรียนรู้ คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติม
  3. 4 จุดเน้น : กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน (5 STEPs) รับชมวิดีทัศน์
หมายเลขบันทึก: 609608เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2016 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2016 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านสนุกได้ความรู้ และรู้สึกชื่นใจที่เด็กๆรร.นี้ได้มีโอกาสใช้ธรรมชาติของเด็กในการเรียนรู้นะคะ

อาจารย์ครับ

เป็น PLC ที่น่าสนใจมาก

กิจกรรมลงถึงนักเรียน

เอา PLC กองทุนการศึกษาในหลวงมาฝากครับ

https://www.gotoknow.org/posts/600427

https://www.gotoknow.org/posts/598923

อาจารย์มาเขียนบ่อยๆนะครับ

ชอบอ่านมากๆ

คิดถึงๆๆๆๆๆครับ

https://www.gotoknow.org/posts/tags/%E0%B8%9B%E0%B...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท