เก็บตกวิทยากร (32) : เรียนรู้จากกรณีศึกษา (พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี)


ผมยืนยันว่าการสะท้อนครั้งนี้ ไม่มีการชี้นำ หรือกะเกณฑ์ว่าโครการที่จะจัดขึ้นต้องอยู่ในรูปของกิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมนิสิต) กิจกรรมในวิชาชีพ รวมถึงกิจกรรมอันเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัย เพราะทุกกิจกรรม เราย้ำหนักแน่นว่า "คนที่จะทำ" ล้วนมีสิทธิ์ในการ "เลือกที่จะทำ" เพียงแต่ต้องเรียนรู้ข้อมูลว่าเป็นมาอย่างไร ยึดโยง หรือสัมผัสกับสิ่งใดบ้าง




ย้อนกลับไปยังบันทึกที่แล้ว คือ เก็บตกวิทยากร (31) : ความเข้าใจเบื้องต้นการดำเนินงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯจะพบว่าแท้ที่จริงก็คือเวทีการทบทวนชุดความรู้ของโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันดีๆ นั่นเอง




การทบทวนที่ว่านั้นจะเรียกว่า AAR ร่วมกันอีกรอบก็ไม่ผิด เป็นการสะท้อนข้อมูลอันเป็นความสำเร็จและความล้มเหลวของกิจกรรมก็ว่าได้ โดยเน้นการสื่อสารในแบบที่เสริมพลังต่อกันและกัน เพื่อให้มีข้อมูล (ชุดความรู้) ในการต่อยอด หรือกระทั่งการรื้อถอนปัญหาและอุปสรรคที่ขวางกั้นให้สิ้นซาก หรือไม่ก็ทุเลาเบาบางลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำได้

กรณีดังกล่าวนี้เราได้เชิญแกนนำนิสิตที่เคยขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยโฟกัสไปยังกลุ่มที่ดำเนินการในปีการศึกษา 2558 ที่เพิ่งรูดม่านปิดฉากลงสดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่กี่เดือน นั่นก็คือแกนนำนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ และแกนนำนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์






สถาปัตยกรรมฯ : ซ้ำงานเดิม เติมงานใหม่

จากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ทำให้มองเห็นกระบวนทัศน์และกระบวนการทำงานของโครงการ Street ARCH ของสโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ หลากหลายประเด็น ทั้งที่เป็นความสำเร็จและความล้มเหลว ยกตัวอย่างเช่น

  • เป็นงานที่ “ต่อยอด” จากงานเดิมที่เคยทำมาแล้วอย่างต่อเนื่องในรอบ 3-4 ปี โดยก่อนเริ่มงานมีการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสโมสรนิสิตฯ ร่วมกับรุ่นพี่ รุ่นน้อง และอาจารย์ในคณะ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้รู้ว่าโครงการดังกล่าว ถูกยกระดับมาสู่แผนงานประจำ หรือเชิงวัฒนธรรมขององค์กรไปแล้วนั่นเอง
  • เป็นงานเก่าที่ “ต่อยอด” ขึ้นมาโดยเริ่มจากการสำรวจสภาวการณ์จริงของงานเดิมที่ประกอบด้วยโซนนิ่งการจราจรหน้าตึกคณะ เช่น ป้ายและเครื่องหมายจราจร รวมถึงพฤติกรรมอันเป็นวินัยของผู้คน จากนั้นก็ลงงานโดยการซ่อมแซมเติมเต็มงานเก่า พร้อมๆ กับการขยายพื้นที่ใหม่จากหน้าตึกไปยังด้านข้างและด้านหลังของตึกเรียน เชื่อมโยงไปยังตึกเรียนคณะอื่นๆ ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ตึกราชนครินทร์ และตึกคณะมนุษยศาสตร์ฯ
  • เป็นงานที่ “บูรณาการทีม” เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารสโมสร ประธานชั้นปี น้องใหม่และนิสิตในแต่ละชั้นปี









  • เป็นงานที่ “ตอบสนองความต้องการของคนในคณะ” เพราะโดยปกติแล้วนิสิตในคณะก็มักเป็นแกนหลักในเรื่องของการรณรงค์การใช้จักรยานและพื้นที่สีเขียว อันเกี่ยวโยงกับวินัยจราจรเป็นทุนอยู่แล้ว จึงต่อยอดจากจักรยาน มาสู่จักรยานยนต์ สู่รถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสาร
  • เป็นงานที่ใช้ “วิชาชีพ” มาขับเคลื่อน เพราะการจัดโซนนิ่งด้านการจราจรก็สัมพันธ์กับการออกแบบพื้นที่ หรือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของตัวอาคาร รวมถึงการออกแบบเครื่องหมายจราจร และการลงสีเพื่อบ่งบอกกฎกติกาทางการจราจรก็ล้วนเกี่ยวโยงกับวิชาชีพของชาวสถาปัตย์ฯ ทั้งสิ้น
  • เป็นงานที่ต้อง “ทำไปแก้ปัญหาไป” เพราะเป็นรอยต่อระหว่างการปิดเรียนและเทศกาลปีเก่า-ปีใหม่ รวมถึงตัวแปรภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ฟ้าฝนที่ตกต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งก็สื่อให้เห็นถึงการวางแผนที่ยังไม่สมบูรณ์นัก ซึ่งอาจหมายถึงการทำงานเร่งด่วน หลังจากทิ้งช่วงไว้อย่างยาวนาน
  • เป็นงานที่ “รอการลงรากลึก”อันหมายถึงมีการวางหมุดหมายใหม่ โดยเมื่อสิ้นสุดการจัดการด้านกายภาพแล้ว จะขยับเข้าสู่การรณรงค์ปลูกสร้างจิตสำนึกต่อผู้คนคู่ไปกับการใช้มาตรการ เพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องวินัยจราจรและการกลายเป็นเสมือนวิถีชีวิตประจำวัน
  • ฯลฯ





วิศวกรรมศาสตร์ฯ : ไม่ซ้ำงานเดิม ริเริ่มใหม่ทุกปี

โครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ของสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ประจำปีการศึกษา 2558 ใช้ชื่อโครงการว่า “แบ่งปันโอกาสทางสังคมช่วยเหลือผู้ป่วย HIV” ในเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และสระบุรี ซึ่งมองเผินๆ ก็ไม่ต่างจากการะดมสิ่งของและเงินทองไปมอบให้กับกลุ่มเป้าหมาย แต่ในทางกระบวนการทำงานก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีประเด็นที่ชวนขอบคิดและเรียนรู้อยู่บ้างเหมือนกัน เป็นต้นว่า

  • เป็นงานที่ “ไม่ซ้ำเดิมและริเริ่มใหม่ทุกปี” กล่าวคือไม่ใช่การต่อยอดจากกิจกรรมเก่าๆ ของแต่ละปีการศึกษา แต่จะให้สิทธิ์คณะกรรมการทำงานแต่ละปีได้ตัดสินใจกันเองว่าจะจัดกิจกรรมอะไร ดังจะเห็นได้จากเคยริเริ่มมาจากกิจกรรมด้านสุขภาพ (กายบริหาร) มาสู่การจัดการความสะอาดโต๊ะเรียน (โต๊ะหนูดูสวยดูดี) ไปสู่การบริการสังคมผ่านลาน BBL กระทั่งมาสู่ประเด็นการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV
  • เป็นงานที่ต้องการ “ปลุกพลังระดมพลังมวลชนจิตอาสาและชาว กยศ.” ให้เข้ามาสัมผัสกิจกรรมให้มากที่สุด กล่าวคือ มุ่งเปิดพื้นที่ให้นิสิตเข้ามาร่วมกิจกรรมจำนวนมากๆ โดยคาดหวังว่าเมื่อเข้าร่วมแล้วจะเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่อสังคม ดังนั้นจึงระดมคนผ่านกลุ่มจิตอาสาทั่วๆ ไป และโฟกัสกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มกู้ยืม กยศ. ที่ต้องเก็บชั่วโมงการเรียนรู้ไปประกอบเป็นเอกสารยื่นกู้ยืมเงินกองทุนฯ ซึ่งแกนนำนิสิตมองว่ากิจกรรมที่กำลังขับเคลื่อนนี้มีประโยชน์กว่าการต้องไปเดินเก็บขยะในมหาวิทยาลัยแล้วเอามานับเป็นชั่วโมง เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการกู้ยืมเงินในวงรอบใหม่



  • เป็นงานที่ “คนล้นงาน-งานล้นพื้นที่” ด้วยความที่นิสิตทะลักเข้าร่วมจำนวนมาก หลายต่อหลายครั้งลงพื้นที่ทับซ้อนกัน จึงต้องทบทวนกระบวนการกันใหม่ จัดผังเวลาและสถานที่กันใหม่ บางกลุ่มถึงขั้นกลับไปสร้างกระบวนการบริจาคสิ่งของในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง ช่วยให้เกิดเครือข่ายการ “ทำความดี” เพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะนิสิตหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย
  • เป็นงานที่ไม่ใช่ “งานตูมเดียว” หมายถึงมีกระบวนการระดมทุนและตระเตรียมงานนานร่วมเดือนเศษ จนได้ข้าวสารมากกว่าสามสิบกระสอบ ได้เงินมากกว่าเจ็ดหมื่นบาท รวมถึงเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนมาก เกิดการจัดการที่เป็นระบบ มีการคัดแยกอย่างเหมาะสมเพื่อส่งมอบไปยังผู้เกี่ยวข้อง และด้วยความที่ไม่ใช่งานในแบบ “ตูมเดียว” จึงก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีของคนทำงานในทีมและได้แนวร่วมการจัดกิจกรรมหลากหลายและทะลุหมุดหมายที่วาดหวังไว้



  • เป็นงานที่พาไป “สัมผัสจริง” เพื่อตอกย้ำคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เหมือนๆ กัน ต่างกันตรงแค่เรื่องชะตากรรม หรือโอกาส ซึ่งทำให้นิสิตที่เดินทางไปจัดกิจกรรมได้เข้าใจปรากฏการณ์ชีวิต เห็นสัจธรรมชีวิต ตระหนักเรื่องจิตอาสา รวมถึงการเข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีชนชั้นวรรณะ
  • เป็นงาน “ตูมเดียว แต่ยกระดับงานขึ้นสู่ภารกิจมหาวิทยาลัย” โดยนำข้อมูลความขาดแคลนเรื่องถังเก็บน้ำในวัดอันเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมในจังหวัดร้อยเอ็ดมานำเสนอต่อผู้บริหารคณะ จนเกิดเป็นโครงการเชิงรุกในภารกิจหลักของการบริการสังคม หรือกลายเป็นค่ายใหญ่ลงสร้างถังกักเก็บน้ำ ซึ่งก็เป็นงานค่ายที่ทำให้นิสิตได้ใช้วิชาชีพไปสู่การบริการสังคมอย่างเข้มข้น ตอกย้ำว่า "งานจบ แต่ไม่จบ"
  • ฯลฯ




นี่คือบางส่วนที่ผมได้รับฟังในเวทีดังกล่าว ทั้งในฐานะผู้ร่วมแลกเปลี่ยน และในฐานะกึ่งวิทยากรกระบวนการที่คอยเชื่อมการเรียนรู้ ทั้งตั้งร่วมตั้งคำถาม ถอดรหัส -ขยายความเป็นระยะๆ

ข้อมูลทั้งปวงนั้น แม้จะเล็กๆ ง่ายๆ แต่ก็พูด หรือสะท้อนจากใจของคนทำงานในแบบนักปฏิบัติ (ปัญญาปฏิบัติ) ที่ไม่ซับซ้อน หรือฟังดูเป็นวิชาการชวนให้ครุ่นคิดจนอาจรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ เพราะเป็น "ปากคำ" ในครรลอง "พูดในสิ่งที่ทำ-ย้ำในสิ่งที่มี" เพื่อส่งต่อมายังคนทำงานชุดใหม่ โดยหมายใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนครั้งใหม่ที่หลายต่อหลายคนกำลังตัดสินใจว่าจะทำอะไรดี ! -

และที่สำคัญ ผมยืนยันว่าการสะท้อนครั้งนี้ ไม่มีการชี้นำ หรือกะเกณฑ์ว่าโครการที่จะจัดขึ้นต้องอยู่ในรูปของกิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมนิสิต) กิจกรรมในวิชาชีพ รวมถึงกิจกรรมอันเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัย เพราะทุกกิจกรรม เราย้ำหนักแน่นว่า "คนที่จะทำ" ล้วนมีสิทธิ์ในการ "เลือกที่จะทำ" เพียงแต่ต้องเรียนรู้ข้อมูลว่าเป็นมาอย่างไร ยึดโยง หรือสัมผัสกับสิ่งใดบ้าง




ท้ายที่สุดนี้ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่อยากจะย้อนย้ำอีกหนว่า เวทีดังกล่าวนี้ มีสถานะเป็นเสมือนการทบทวนความรู้อัเป็นความสเร็จและความล้มเหลวของกิจกรรมดังกล่าวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และการหยิบยกกรณีศึกษามาให้เรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านปากคำของ "คนหน้างาน" มิใช่ฟังจากนักทฤษฎีที่ไม่เคยลงมือท หรือนักทฤษฎีที่ไม่เข้าใจบริบทของคนที่กำลังจะลงมือทำ !


นี่คือวิถีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมของนิสิต อันหมายถึงกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยนิสิตเพื่อนิสิต ทว่ามรรคผลที่เกิดขึ้นกลับมิใช่แค่นิสิตเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ เพราะชุมชน -สังคมก็ได้รับผลพวงเชิงสร้างสรรค์นี้ด้วย รวมถึงการบ่งชี้ว่านี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่เพียรพยายามเพาะบ่มให้นิสิตมีจิตอาสา มีทักษะในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และมีความพร้อมที่จะออกไปสู่สังคมอย่างคุณค่า หาใช่จบออกไปเป็นภาระของสังคม ราวกับคนสิ้นไร้ไม้ตอก


ครับ -ทุกอย่างจะชัดเจนมากขึ้นในไม่ช้า เพราะยังจะมีเวทีพัฒนาโจทย์อย่างจริงจังและเข้มข้นอีกครั้งในกลางเดือนมกราคม 2560

ดังนั้นเวทีครั้งนี้จึงแค่ทบทวนอดีต ทบทวน "ราก" (ความคิด) แบบย่อมๆ ผ่านกรณีศึกษา ผ่านปากคำของคนทำงานจริงเฉยๆ .....




เขียน : วันที่ 21 ธันวาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 620513เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2016 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2016 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นักศึกษา ...ตั้งใจร่วมกันวิเคราะห์ดีมากๆ นะคะ

มีหลายคณะมาก

ได้เรียนรู้ไปด้วยเลย

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ

นานๆจะได้มีโอกาสแวะมาเยี่ยมเยียนท่าน

สบายดีนะครับ


ยอมรับว่าไม่ได้ติดตามอ่านตอนเก่าๆ

จึงไม่รู้ที่ไปที่มานะครับ

มีเวลาอ่านได้เอนทรี่เดียวก็ต้องออกไปทำภาระกิจแล้วครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท