จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

โลกการเรียนรู้ของเด็กกับการบูรณาการ


เปิดโลกการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยการบูรณาการ
ผศ.ดร.จารุวัจน์ สองเมือง
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
 หัวหน้าทีม Q Coaching team

ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงพร้อมๆ กับการปฏิรูปการศึกษาของไทยตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยในยุคต้นๆ ของการปฏิรูปส่วนใหญ่จะตั้งคำถามว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร ต่อมาก็ตามมาด้วยคำถามว่าแนวคิดนี้จะดีกว่าการสอนแบบเดิมได้อย่างไร จนกระทั่งปัจจุบันเป็นคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีประสิทธิภาพ เหตุผลหลักๆ ของคำถามเหล่านี้มาจากการไม่เห็นถึงเป้าหมายที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตลอดไปจนถึงการไม่รู้จักกับเครื่องมือที่กำลังจะนำมาใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เราจึงได้ยินข้อเรียกร้องให้ทำการปฏิรูปการศึกษากันใหม่อีกครั้ง ในขณะที่บางคนมองว่าการที่จะพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้กับบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับการสร้างทักษะในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดดังกล่าวนี้เป็นเรื่องยากลำบากและกว่าที่เราจะทำสำเร็จ ประเทศอื่นๆ เขาคงสร้างสรรค์เรื่องอื่นกันไปหมดแล้ว มีแนวทางเดียวที่จะให้การศึกษาของไทยไล่ทันประเทศอื่นๆ คือการคิดข้ามไปยังนวัตกรรมและความเป็นอนาคตกันเสียเลยจะดีกว่า ความจริงแล้วแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยนั้นไม่ได้จำกัดอยู่บนเส้นทางเดียวสู่ชัยชนะเท่านั้น เพราะมีแนวทางอีกมากมายที่จะสามารถขับเคลื่อนการจัดการศึกษาไปสู่คุณภาพได้ เพียงแต่ทุกฝ่ายจะต้องมองเห็นเป้าหมายร่วมกันเสียก่อน เมื่อมีเป้าหมายแล้วหลากหลายกลยุทธ์ก็จะเกื้อหนุนสู่ชัยชนะได้

บทความนี้ตั้งชื่อไว้ว่า “เปิดโลกการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยการบูรณาการ” ซึ่งสองประเด็นจากชื่อเรื่องคือ โลกการเรียนรู้ขอนักเรียนกับเรื่องการบูรณาการไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมการศึกษาไทย (แต่เป็นเรื่องที่คุยกันมาช้านานแล้ว แค่เพียงแต่ได้แค่คุยยังไม่สามารถลงมือทำให้เกิดผลเท่านั้นเอง) ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมานำเสนอ ณ ที่นี่ก็เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าความจริงแล้วสองสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องยากที่การศึกษาจะทำให้เกิดขึ้นได้ แต่อาจจะเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมาเราละทิ้งสิ่งสำคัญหลายอย่างไปทำให้เรามองเห็นเป็นเรื่องยากและคิดว่าหาวิธีการอื่นดีกว่าน่าจะทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพได้เร็วกว่านี้

โลกของการเรียนรู้ของนักเรียน


ทุกคนคงยอมรับว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมายและที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดถึงอย่างรวดเร็ว อัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีปรากฏการณ์ที่ยืนยันให้ทุกสายตาประจักษ์แล้วว่าการก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงอาจจะนำไปสู่การสูญเสียความมั่นคงในตำแหน่งที่ยืนอยู่ในปัจจุบันได้ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำส่วนแบ่งในธุรกิจต่างๆ เพียงการไม่สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงอาจจะนำบริษัทไปสู่ความล้มละลายได้ ในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โลกของการจัดการศึกษาก็จำเป็นต้องก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เพราะการศึกษาคือการเตรียมคนเพื่ออนาคต 


อนาคตของเด็กๆ ในวันนี้ไม่เหมือนกับอนาคตของผู้ใหญ่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับความเป็นเด็กของเด็กๆ ในวันนี้ก็ไม่เหมือนกับความเป็นเด็กของผู้ใหญ่เมื่อวันก่อน เป้าหมายในอนาคตไม่สามารถที่จะใช้เครื่องมือเมื่อในอดีตสร้างได้อีกต่อไป ปรากฏการณ์ที่สามารถยืนยันสิ่งหาได้ไม่ยาก เช่น เมื่อในอดีตคนเก่งคือคนที่เพียงแค่อ่านหนังสือออก คนที่สามารถอ่านหนังสือได้ เขียนหนังสือเป็นก็มีโอกาสได้รับราชการ ได้มีตำแหน่งการงานที่ดี ในยุคนั้นการศึกษาจึงมุ่งพัฒนาคนด้านทักษะการอ่านการเขียนเป็นหลัก การสอนฝึกการคัดลายมือเพื่อให้เขียนสวยเพราะนั่นคือโอกาสหนึ่งในการเข้าสู่อาชีพ ซึ่งต่อมาเพียงทักษะการอ่านการเขียนไม่สามารถการันตีถึงการได้มีงานทำเพราะทักษะเหล่านี้กลายเป็นทักษะพื้นฐานไปแล้ว คำถามที่เกิดขึ้นคือ คนเก่งสำหรับปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนให้ความสำคัญเพราะคำตอบที่ได้มาจะเป็นกรอบแนวทางในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการศึกษาต่อไป


จากประเด็นคำถามดังกล่าว เมื่อหลายปีก่อนในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีการพูดคุยเรื่องนี้และมีการพัฒนาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" โดยความร่วมมือของภาคส่วนวงการนอกการศึกษาที่ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆ ว่า เครือข่าย P21 คำตอบที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวคือ คนในยุคศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่เพิ่มเติมจากคนในศตวรรษที่ 20 และ 19 โดยเด็กและเยาวชนจำเป็นต้องมีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ซึ่งมีองค์ประกอบคือ 3R4C คือ 3R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ 4C ได้แก่ Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์) , Communication (การสื่อสาร), Collaboration (การร่วมมือ) และ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ ซึ่งคำตอบจากการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนมาจนถึงปัจจุบัน


ปัญหาของไทยคือ เรายอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว แต่เรายังคงใช้เครื่องมือเดิมๆ ในการบริหารจัดการ ผลก็คือเราไม่สามารถเท่าทันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ อาจจะเรียกได้ว่า เราใช้เครื่องมือที่ล่าสมัยกับสิ่งที่เป็นสมัยใหม่ๆ เด็กยุคนี้เติบโตมากับความรวดเร็วของความเปลี่ยนแปลง เด็กๆ เกิดมาในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในขณะที่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งเกิดมาในยุคอุตสาหกรรมหรือไม่บางคนก็อาจจะยังอยู่ในยุค  เกษตรกรรมซึ่งใช้เครื่องมือในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากยุคปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่สะท้อนกลับมายังผลการจัดการจัดศึกษาคือ ความล้าหลัง
เด็กเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่งพูดกับผู้เขียนว่า


 “เขาเกิดมาในยุคมือถือ ทุกอย่างอยู่ในมือถือหมด แม้กระทั่งจะดูหนังดูทีวีก็เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้แล้ว แต่ผู้ใหญ่กลับห้ามไม่ให้เขาใช้โทรศัพท์มือถือ” 


ผู้เขียนเองได้เจอคอมพิวเตอร์ครั้งแรกในชีวิตเมื่ออายุ 18 ปีในตอนที่เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่เด็กในปัจจุบันเขาได้จับต้องคอมพิวเตอร์ได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนตั้งแต่ประถมศึกษา คอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานและเข้ามาแทนที่อุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำงานหลายๆ ชิ้น ในขณะที่อนาคตคอมพิวเตอร์จะกลายร่างไปอยู่ในรูปแบบอื่นๆ อย่างที่ ณ ตอนนี้เราได้เริ่มสัมผัสแล้วคือ คอมพิวเตอร์ไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ จะเป็นเครื่องมือในการทำงานและการใช้ชีวิตของคนในยุคต่อไป เพียงแต่ปัจจุบันการไม่รู้จักเครื่องมือเหล่านี้ของผู้ปกครองทำให้ทำให้เกิดผลกระทบต่อเยาวชนมากมาย และเราจะเจอว่าเด็กๆ ก็มีปัญหามากมายจากการใช้เครื่องมือเหล่านั้น ทั้งนี้ความจริงสาเหตุของปัญหาเหล่านั้นเกิดจากการขาดการออกแบบที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ เพื่อการพัฒนาศักยภาพและสร้างการเรียนรู้ให้กับพวกเขาเท่านั้นเอง
อีกตัวอย่างที่สามารถสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงได้ นั้นคือ ห้องสมุด ซึ่งอดีตคือที่ๆ เก็บรวบรวมความรู้ หนังสือตำรามากมาย ถ้าต้องการค้นคว้าหาความรู้ก็จำเป็นต้องเข้าไปค้นหาในห้องสมุด แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว หนังสือไม่ได้สนองตอบต่อการเรียนรู้ของเด็กเหมือนเด็กในอดีต ต่างจากโทรศัพท์มือถือที่สามารถเรียกหาความรู้ได้อย่างทันใจ ความรู้อยู่ในระบบสารสนเทศที่มีการออกแบบไว้ให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นี่คือความเปลี่ยนแปลงของเครื่องมือ และเป็นเครื่องยืนยันว่าโลกของการเรียนรู้สำหรับเด็กก็เปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเด็กรู้จักเครื่องมือเหล่านี้ได้ดีกว่าผู้ใหญ่หลายๆ คน 


“ปัจจุบันสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ประกาศปิดตัวไปมากมาย 
แล้วทำไมครูยังคงคิดว่าการอ่านจากหนังสือเป็นสิ่งสำคัญ 
ทั้งที่สื่อสมัยใหม่มีความรู้ให้มากกว่าสะดวกกว่าหนังสือ”


คำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบคือ ทำไมเราไม่สร้างโลกการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับเด็กๆ ของเรา และทำไมเราจึงพยายามหยุดโลกการศึกษาของพวกเขาให้เหมือนกับเรา ทั้งๆ ที่ในความจริงเรามีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมอนาคตให้กับพวกเขา โดยทำให้เขามีความสุขกับการเรียนรู้ในปัจจุบันและก้าวย่างสู่อนาคตที่มั่นคง
โลกการเรียนรู้ของเราในยุคก่อนๆ นอกจากจะไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบันแล้ว ยังไม่ครอบคลุมทักษะที่จำเป็นที่พวกเขาจะต้องได้รับการพัฒนาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญเพื่อการอยู่รอดของพวกเขาในอนาคต เพราะหากพิจารณาจากสถิติการถูกหลอกผ่านอินเตอร์เน็ตของคนไทยก็จะเห็นว่าปัญหานี้จะยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นในอนาคตหากการจัดการศึกษาไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กได้ โดยจากรายงานของไซแมนเทคระบุว่า ไทยติดอันดับ 11 ในภูมิภาคที่มีการหลอกลวงทางโซเชียลมีเดียสูงที่สุด และอยู่ที่อันดับ 52 ของโลก 


โลกการเรียนรู้ของเด็กในยุคนี้ไม่ใช่จากที่ต้องนั่งฟังครูอย่างตั้งใจ เพราะการนั่งฟังอาจจะเป็นเรื่องที่ช้าเกินไปสำหรับพวกเขา เขาอาจจะอยากรู้ให้เร็วกว่าที่ครูบอกก็เป็นได้ แต่นั้นแหละเมื่อครูต้องการจะอธิบายเขาจึงต้องฝืนนั่งฟังต่อและบางครั้งก็อาจจะแสดงอาการพฤติกรรมที่ครูไม่พึงประสงค์ออกแล้ว และคำตัดสินของครูคือ นักเรียนสมาธิสั้น เด็กสมัยนี้ไม่สนใจ ไม่ตั้งใจเรียน แน่นอนครับเด็กเป็นคนผิดเสมอ ครูอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าถ้านักเรียนไม่ฟังในสิ่งที่ครูสอนครูอธิบายนักเรียนจะรู้จะเข้าใจได้อย่างไร คำถามนี้อาจจะเป็นจริงอย่างนั้นหากตั้งคำถามถามไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่สำหรับปัจจุบันโลกของการเรียนรู้ไม่ได้เป็นลำดับขั้น และความรู้ไม่ได้อยู่ๆ ในเพียงแหล่งความรู้เดียวหรือสองสามแหล่งเหมือนสมัยก่อน เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ความรู้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้จากหลากหลายสถานที่ และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาอีกด้วย เช่นเดียวกับพฤติกรรมของเด็กที่เขาสามารถที่จะจัดลำดับและสะสมความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันยังสามารถที่จะประมวลความรู้ทั้งเก่าและใหม่มาเพื่อตัดสินใจกับสถานการณ์ต่างๆ ให้อย่างมั่นใจและทันท่วงทีหากเขาได้รับการฝึกฝนมาอย่างถูกต้อง


จากความเปลี่ยนแปลงข้างต้นบางครั้งการจำกัดความรู้ด้วยขอบเขตของวิชาก็อาจจะกลายเป็นกำแพงการเรียนรู้ของเด็กไป ยิ่งไปกว่านั้นขอบเขตของวิชายังส่งผลให้ความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กลดน้อยลง อันเนื่องจากเด็กมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เขากำลังถูกให้เรียนอยู่ เด็กจะให้ความสนใจน้อยลงกับสิ่งที่เขาไม่เห็นคุณค่าซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอนแบบบรรยาย อธิบายของครู เช่นเดียวกันบางเนื้อหาครูเองอาจจะตอบไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่าจะให้เด็กนักเรียนๆ ไปเพื่ออะไรนอกจากการสอบเพื่อเรียนในระดับสูงขึ้นไปเท่านั้น แต่ในความจริงการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปนั้นเป็นเหตุผลที่มีอิทธิพลต่อเด็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความฝันที่เด็กอยากเป็นที่ฝังอยู่ในใจของพวกเขาและเขารู้ว่าเขาสามารถไปถึงฝันได้นั้นด้วยตัวของเขาเอง ติดอยู่เพียงแค่ว่า ณ ตอนนี้เขาติดอยู่ในคุกของการเรียนรู้ของคนรุ่นก่อนเท่านั้นเอง


การทำลายกำแพงการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กโดยหันมาให้ความสำคัญกับวิธีการเรียนรู้ที่เด็กถนัด ด้วยเครื่องมือที่เด็กชอบจะนำไปสู่การสร้างความพร้อมให้กับเด็กในการสร้างอนาคตของเขาที่มั่นคงต่อไป ซึ่งหนึ่งในวิธีการเพื่อการทำลายกำแพงการจัดการเรียนรู้แบบเก่าๆ นั้นคือ การบูรณาการการจัดการเรียนรู้ นั่นเอง


การบูรณาการ


คำว่า “บูรณาการ” เป็นคำที่วงการการศึกษาไทยคุ้นชินมานานแล้ว เพียงแต่การนิยามความเข้าใจเกี่ยวกับคำนี้อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ อยู่ที่การนำไปสู่การปฏิบัติที่เหมือนจะเกิดขึ้นได้ยากมากในห้องเรียน ผู้เขียนชื่นชอบการให้คำนิยามบูรณาการว่า มันคือการทำขนมกวน ที่เอาทุกอย่างมากวนเข้าด้วยกันจริงเป็นขนมที่อร่อย และมันไม่ชั้นขนมชั้นที่เอาขนมต่างสีมาวางซ้อนๆ กัน ซึ่งภาพของการบูรณาการแบบขนมชั้นสามารถพบได้ง่ายในวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในยุคต้นๆ โดยส่วนใหญ่นักวิจัยจะบอกว่าได้มีการบูรณาการวิชาศาสนากับวิชาสามัญแล้ว เพียงแค่การสลับคาบเรียนระหว่างวิชาศาสนากับวิชาสามัญจากเดิมที่เรียนแยกกันระหว่างช่วงเช้ากับช่วงบ่ายในแต่ละวัน ซึ่งภาพแบบนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์คุณครูหลายท่าน ก็พบว่าในปัจจุบันส่วนใหญ่ให้นิยามคำว่าบูรณาการได้ถูกต้องชัดเจน ดังนั้นปัญหาที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันคือการจะทำให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้นเอง


การบูรณาการไม่ใช่เป็นเพียงการเอาเนื้อหาจากหลายๆ บทหลายๆ วิชามาสอนรวมกันเท่านั้น แต่การบูรณาการเป็นการเชื่อมโยงจากหนึ่งประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนไปยังความรู้จากหลากหลายเนื้อหา หลากหลายวิชา จากเดิมที่ครูส่วนใหญ่มองการบูรณาการจากเนื้อหาวิชาที่ตนเองรับผิดชอบไปสู่การออกแบบเนื้อหาให้เชื่อมโยงไปยังวิชาอื่น ซึ่งวิธีการนี้ทำให้การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กทำได้แบบมีข้อจำกัด เพราะครูส่วนใหญ่จะยังคงพวงกับเนื้อหาที่ตนเองจะต้องถ่ายทอดไปยังผู้เรียน ดังนั้นแค่ครูเริ่มคิดว่าจากเนื้อหาที่จะต้องในคาบนี้มีเนื้อหาวิชาอื่นหรือเนื้อหาบทอื่นไหนบ้างที่พอจะสอนไปพร้อมๆ กันได้ แค่นี้ก็เป็นเครื่องหมายบงบอกได้ว่าการบูรณาการในการสอนครั้งนี้อาจจะไม่บรรลุเป้าหมายที่แท้จริงได้
เนื่องจากการบูรณาการเป็นกลวิธีหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญซึ่งเป็นกลุ่มการสอนที่แตกต่างจากการสอนแบบบรรยายหรือการสอนที่ครูเป็นสำคัญ ดังนั้นจุดเพื่อการเริ่มต้นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจึงไม่ได้เริ่มต้นที่ว่ามีเนื้อหาอะไรที่ผู้เรียนจะต้องได้รับการถ่ายทอดออกไป แต่จะให้ความสำคัญกับพฤติกรรมหรือผลที่ผู้เรียนจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีประสบการณ์กับสถานการณ์หรือกิจกรรมที่ครูออกแบบไว้ให้ ดังนั้นการเริ่มต้นการบูรณาการจึงเริ่มจากค้นหาพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนแล้วออกแบบสถานการณ์หรือโจทย์เพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ ลงมือแก้ไขปัญหา เนื้อหาวิชามีความสำคัญน้อยลงมาแต่ไม่ใช่ไม่มีความสำคัญเลยเพราะความจริงแล้วในกระบวนการทำงาน ผู้เรียนจะเป็นคนที่ค้นหาความรู้ สรุปความรู้ของเขาเอง การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจึงเป็นกลวิธีการสอนเพื่อให้สามารถพัฒนาทั้งทักษะการคิด ความรู้ตลอดจนเจตคติของผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่สร้างความสมดุลให้กับผู้เรียน 


เพื่อให้เข้าใจแนวคิดของการบูรณาการที่ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหนึ่ง ด้วยคำถามดังนี้ 

หากเราจะข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วปรากฏว่ามีรถกำลังวิ่งมาไกลๆ การที่เราจะตัดสินใจว่าจะข้ามหรือไม่ข้ามถนนนั้น 

เราใช้วิชาอะไรในการตัดสินใจบ้าง? 

จะพบว่ามีหลายความรู้ที่จะเข้ามาร่วมในการตัดสินใจ ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ที่จะช่วยคำนวณระยะทาง การวิเคราะห์ความเร็วของรถ การวิเคราะห์สภาพร่างกายของตนเอง สารพัดวิชาซึ่งความจริงเราเรียกรวมๆ กันว่า เราใช้ประสบการณ์ในการตัดสินใจ ซึ่งการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยการบูรณาการเป้าหมายปลายทางคือการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียน และความจริงแล้ว ประสบการณ์คือความรู้นั่นเอง


การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้กรอบคิดของการบูรณาการจึงเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ ขณะเดียวกันบทบาทของครูจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะหากเพียงครูยังให้ความสำคัญกับกระบวนการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน ก็จะไม่สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ ครูจึงต้องเป็นคนที่ใจเย็นมากๆ ที่จะต้องอดทนต่อการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดคำถามและหาคำตอบด้วยตัวของพวกเขาเอง ครูจะต้องไม่รีบที่จะเฉลยคำตอบ แต่ครูจะต้องตั้งข้อสงสัยเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนศึกษาซ้ำๆ จนกว่าเขาจะมั่นใจว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ไปนั้นถูกต้อง ความน่าสนใจของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการคือการคัดเลือกสถานการณ์ที่เชื่อมโยงไปยังสิ่งที่ผู้เรียนสนใจและมีคุณค่ากับพวกเขาในการลงมือทำ ลงมือเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็จะต้องถอดบทเรียนมาเป็นข้อสรุปสำหรับพวกเขาเองได้และตอบโจทย์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรได้ด้วยเช่นกัน

การบูรณาการจะเปลี่ยนการสอนจากที่ครูคือที่มาของความรู้ไปสู่การที่ครูคนเดียวอาจจะมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะตอบคำถามจากการลงมือทำงานของผู้เรียน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิดพลาดใดๆ และเป็นอีกหนึ่งบทบาทของครูในการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้เรียน การเรียนรู้แบบบูรณาการจะไม่ใช่การสอนที่มุ่งเอาจุดอ่อนของผู้เรียนมาพัฒนาเหมือนดั่งในอดีตที่หลายครั้งครูจะคิดว่าหากเนื้อหานี้ผู้เรียนยังไม่เข้าใจก็จะไม่สามารถเรียนเนื้อหาต่อไปได้ เพราะการจัดการเรียนรู้บูรณาการ ผู้เรียนจะเป็นคนเลือกแนวทางที่เขาถนัดในการแก้ไขปัญหาของเขาเอง เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งใช้จุดแข็งของผู้เรียนเพื่อการพัฒนาและกลบจุดอ่อนเอาไว้เพื่อการแก้ไข ทั้งนี้เพราะเราเชื่อว่าในแต่ละปัญหาอาจจะมีหลายร้อยวิธีการแก้ไข ไม่จำเป็นที่เราจะต้องฝืนใช้วิธีการที่เราไม่ถนัดมาแก้ไขปัญหา ดังนั้นตั้งแต่การศึกษาปัญหา การค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหา การลงมือแก้ไขปัญหา การสรุปบทเรียนจากสิ่งที่ได้ลงมือทำไปล้วนแล้วแต่จะการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งนั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเป็นตัวสร้างความพร้อมให้ผู้เรียนพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาจะต้องประสบในอนาคต
อีกความแตกต่างสำคัญสำหรับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ คือ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจะไม่ใช่การวัดที่ความจำ ความเข้าใจเท่านั้น แต่เป็นการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ครอบคลุมในทุกด้าน พิจารณาและให้คุณค่าจากผลงานของผู้เรียน ปลายทางของการทำงานของผู้เรียนคือความภูมิใจของผู้เรียนเองในผลงานดังกล่าว

การสร้างความเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน

ปัจจุบันไทยได้นำเอาแนวคิดบูรณาการมาใช้ในหลายวิธีการ เช่น การจัดการเรียนรู้แบบ STEM Education การจัดการเรียนแบบ Open Approach ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่สำเร็จหากครูไม่เปิดให้ผู้เรียนได้เลือกวิธีการของเขาเองในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา และแน่นอนหากครูยังคงปิดกันการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะมาการันตีความพร้อมของเด็กๆ ในการที่จะเข้าสู่ความมั่นคงในอนาคตของพวกเขาเลย และเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ครูจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะครูคือต้นแบบของเด็กๆ ในการเรียนรู้


เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการศึกษาแบบไทยๆ ผู้เขียนขอนำเสนอกระบวนการเพื่อนำเอาแนวคิดการนำหลักการบูรณาการไปใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเป็นขั้นตอน ดังนี้
กิจกรรมแรกที่ครูจะต้องทำคือ การทำความเข้าใจหลักสูตร เป็นการทำความเข้าใจที่แตกต่างจากที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่มุ่งไปที่มาตรฐานและตัวชี้วัดของวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ มาสู่การศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตรว่า เป้าหมายปลายทางสำคัญที่หลักสูตรต้องการคืออะไร นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาด้วยหลักสูตรนี้จะต้องเป็นอย่างไร แปลงความต้องการนั้นออกมาเป็นสิ่งที่ครูสามารถนึกภาพจำลองออก และนำไปสู่การประเมินในภายหลังได้ว่าทำสำเร็จหรือเปล่า เป็นที่น่าเสียดายมากๆ ที่ปัจจุบันหลายโรงเรียนละเลยที่จะหยิบเอาหลักสูตรมานั่งวิเคราะห์ร่วมกันว่า หลักสูตรต้องการอะไร และโรงเรียนของเราต้องการอะไรให้โดดเด่น อย่างดีที่เราทำกันคือการให้ครูแต่ละกลุ่มสาระวิเคราะห์ตัวชี้วัดในแต่ละรายวิชา ซึ่งผลที่ได้เปรียบเทียบได้กับวิชาแต่ละวิชาแต่ละระดับชั้นเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่ง เมื่อเด็กเรียนครบหลักสูตรก็หมายถึงเด็กมีจิ๊กซอว์ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่ไม่สามารถนำมาต่อกันได้เนื่องจากจุดต่อเชื่อมขนาดไม่ลงตัวกัน

การทำความเข้าใจหลักสูตรร่วมกันของครูในโรงเรียนถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่สำคัญ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการศึกษาหลักสูตรไม่ได้ทำเพื่อการแบ่งเค้กตัวชี้วัด แต่เป็นการแบ่งปันความเห็นร่วมกันว่าด้วยภาพฝันเด็กที่ต้องการเป็นอย่างไร และจะมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างไร 
ขั้นตอนต่อมาภายหลังจากที่ครูทุกคนมีภาพฝันเด็กที่ต้องการชัดเจนร่วมกันแล้วคือการออกแบบสถานการณ์ หรือกิจกรรมในแต่ละระดับชั้นว่าควรมีหน่วยประสบการณ์อะไรบ้างที่เด็กจะต้องได้รับประสบการณ์นั้นเพื่อให้พวกเขาได้ลงมือทำและตกผลึกความรู้ หน่วยประสบการณ์หรือหน่วยการเรียนรู้เป็นหน่วยที่แปลงมาจากเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยหลักสูตรและปรัชญาของโรงเรียน แต่ละหน่วยการเรียนรู้จะประกอบด้วยการมีส่วนร่วมของทุกวิชาทุกกลุ่มสาระโดยอาจจะมีสัดส่วนความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ในแต่ละหน่วยประสบการณ์จะต้องมีการกำหนดผลงานหรือชิ้นงานที่จะผู้เรียนจะต้องทำให้เกิดขึ้นและเป็นชิ้นงานที่สามารถนำไปใช้เพื่อการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของพวกเขาได้ในทุกรายวิชา
เมื่อได้หน่วยประสบการณ์แล้วขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ของแต่ละวิชาในแต่ละหน่วยประสบการณ์ ความแตกต่างในขั้นตอนนี้จากการวางแผนการจัดการเรียนรู้ในอดีตคือ ครูในแต่ละระดับชั้นจะต้องทำร่วมกันวางแผนการจัดการเรียนรู้ไม่ใช่การวางแผนเป็นรายวิชา เพราะความรู้ในทุกสาระจะมีส่วนในการทำให้ภารกิจของเด็กที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละหน่วยประสบการณ์สำเร็จ และเมื่อปฏิบัติเสร็จแล้วเด็กจะต้องร่วมกันถอดสรุปบทเรียนที่เข้าได้รับจากการลงมือทำภารกิจนั้นๆ

เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ บทบาทของครูจะเปลี่ยนแปลงจากการเป็นผู้นำเสนอข้อมูลให้กับเด็กเป็นการกระตุ้นให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ที่จำเป็นสำหรับเขาเพื่อให้พวกเขาทำภารกิจสำเร็จ ความล้มเหลวของการจัดการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ง่ายหากครูขาดความอดทนที่จะรอในการค้นคว้าหาความรู้ของเด็ก ไม่สามารถสร้างคำถามให้กับเด็กเพื่อให้พวกเขาไปค้นหาความรู้ได้ แน่นอนครับว่าการบอกให้เด็กรู้ความรู้นั้นไปเลยมันง่ายและเร็วและครูจะรู้สึกว่าตนเองได้ทำหน้าที่ในการสอนแล้ว แต่ความจริงแล้วความรู้ที่เด็กได้รับในรูปแบบนี้เป็นความรู้ที่ขาดความคงทนและบางครั้งเด็กเองก็ไม่เห็นคุณค่าใดๆ เลย แต่เราก็ต้องยอมรับว่าความอดทนของเด็กก็น้อยเช่นกัน ดังนั้นบทบาทสำคัญของครูคือการสร้างกำลังใจในการเรียนรู้ให้กับเด็ก แนะนำหาทางออกให้กับพวกเขา ชื่นชมในความสำเร็จในระหว่างเส้นทางการทำงานของพวกเขา เพื่อให้เขายืนยัดในการเรียนรู้จนถึงปลายทาง 

หลายครั้งที่มีการวางแผนกันอย่างรอบคอบแล้วกลับมาเจอความล้มเหลวตอนลงมือทำ เหตุผลสำคัญก็คงหนีไม่ผลการขาดความอดทน อยากให้ครูทุกท่านนึกถึงนักกีฬาแชมป์โลกคนไหนก็ได้สักคน แล้วลองตั้งคำถามว่า แชมป์โลกคนนั้นเขาจะขยันซ้อมได้ทุกวันๆ เป็นปีๆ เหรอ คำตอบคือมันต้องมีบ้างที่เขาอาจจะเบื่อจะขี้เกียจซ้อม แต่คนที่จะต้องเข้ามาช่วยเขาเมื่อเขาเบื่อคือโค้ชที่จะต้องมาออกแบบการฝึกให้เขาใหม่ ให้กำลังใจเขา “ไม่มีโค้ชคนไหนลงไปแข่งกีฬาแทนนักกีฬาของตนเอง” ครูก็เช่นกันหน้าที่สำคัญคือออกแบบกระบวนการให้สอดคล้องกับเด็ก กระตุ้นเชียร์ให้กำลังเป็นสำคัญ จะตัดช่องน้อยแต่พอด้วยการบอกๆ ความรู้ให้เด็กฟังแล้วถือว่าเด็กรู้แล้วดูจะใจดำกับเด็กมากไป
ขั้นตอนสำคัญขั้นต่อไปคือการสร้างเวทีให้กับเด็กในการนำเสนอผลงานของพวกเขา เพื่อสร้างความมั่นใจในกรเรียนรู้ของพวกเขา ทำให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในความพยายามของพวกเขา และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต่อไป ผู้เขียนเชื่อว่าหากโรงเรียนใช้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการแล้ว ภาพงานนิทรรศการ สัปดาห์วิชาการของโรงเรียนที่เชิญผู้ปกครอง แขกผู้มีเกียรติมาชมที่โรงเรียนจะแตกต่างโดดเด่นไม่เหมือนใคร และมันจะเป็นงานแสดงผลงานวิชาการที่เด็กคือพระเอกอย่างแท้จริง ที่สำคัญกว่านั้นคือโรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมนี้ได้ปีละหลายๆ ครั้ง โดยที่มีผลงานไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละครั้ง
ขั้นตอนสุดท้ายคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูเกี่ยวกับการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของครูแต่ละคน ตลอดจนเทคนิคในการเป็นโค้ชกับนักเรียนในการเรียนรู้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนระหว่างครูจะช่วยให้ความรู้ความสำเร็จของครูแต่ละคนได้รับการขยายต่อการปฏิบัติกับคนอื่นๆ สร้างความภูมิใจให้กับครูด้วยเช่นกัน

บทส่งท้าย

การเปลี่ยนจากการสอนที่ครูคือคนสำคัญ การถ่ายทอดเนื้อหาจากครูไปยังนักเรียนคือกิจกรรมหลักของชั้นเรียนไปสู่การให้นักเรียนเป็นพระเอก มีบทบาทสำคัญในการตั้งประเด็น ค้นหาความรู้ ลองปฏิบัติความรู้ สรุปความรู้นั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะมันเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ และยิ่งไปกว่านั้นการลงมือเปลี่ยนเพียงครั้งเดียวแล้วสรุปเป็นคำตอบว่าเป็นวิธีการที่ล้มเหลวนั้นเป็นการให้คำตอบที่ไม่ยุติธรรมสำหรับการยกระดับคุณภาพการศึกษาเลย กระบวนทัศน์ใหม่นี้เป็นความจำเป็นที่ครูจะต้องมั่นใจและฝึกฝนตนเองให้สามารถใช้กระบวนการดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะความพยายามเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือการสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของเราเอง

หมายเลขบันทึก: 631124เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2017 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท