จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

lesson study ที่วรพัฒน์ (1)


วันนี้ผมได้ไปร่วมเรียนรู้ในการเปิดชั้นเรียน (Open class) ที่จะทำให้เกิดการศึกษาชั้นเรยน (lesson study) ของโรงเรียนวรพัฒน์ ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ครับ ซึ่งต้องขอบคุณทางโรงเรียนมากๆ ครับที่ให้โอกาสผมได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนครั้งนี้

(ก่อนไปดูในห้องเรียน มีการนำเสนอภาพรวมของแผนการจัดการเรียนรู้ในแต่ละห้องครับว่าวางแผนไว้อย่างไร)

มารอบนี้ผมอยากเห็นหลายๆ เรื่องครับ จริงๆ โจทย์ที่อยากรู้เกิดจากการถูกสัมภาษณ์จากผู้อำนวยการโรงเรียนเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนเรื่องแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนเอกชนจังหวัดสงขลา ซึ่งในครั้งนี้ผมตั้งคำถามย้อนกลับ ผอ. แล้วเกิดความประทับใจในแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนวรพัฒน์มากทีเดียวและอยากเห็นความจริง การปฏิบัติจริง แต่ก็หวั่นใจว่าจะได้มาหรือเปล่าเพราะมีคาบสอน แต่แล้วนักศึกษาก็ใจดีอนุญาตให้ผมมาดูได้ โดยรับปากว่าจะไลฟ์เฟสบุคกลับไปให้เขาดู (แต่แล้วก็ไม่ได้ เลยมาเขียนบล็อกชดเชย เดี๋ยวนักศึกษาก็ต้องมาอ่านบล็อกนี้เพื่อไปคุยต่อในชั้นเรียนครับ)

ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของวรพัฒน์ในการเปิดห้องเรียนครับ แต่ผมเพิ่งมาปีแรก โดยมี 5 ห้องเรียน 5 วิชาที่เปิดห้องเพื่อการเรียนรู้ ได้แค่ ป. 3/1 วิชาคณิตศาสตร์ ป.4/1 วิชาภาษาไทย ป.5/1 วิชาวิทยาศาสตร์ ป.5/2 ภาษาอังกฤษ และป.6/2 วิชาสังคมศึกษา แล้วผมจะเข้าห้องไหนดีละ ตัดสินใจยากจริงๆ อยากเข้าดูทุกห้อง แต่แล้วผมก็ตัดสินใจเข้าดูห้องวิชาวิทยาศาสตร์ครับ แต่หวังไว้ในใจว่าน่าจะได้ดูสักสองวิชา 

(คุณครูจิรา ทองอ่อนกำลังเริ่มสอนครับ)

คาบนี้ครูสอนหน่วยการเรียนรู้ มหัศจรรย์สิ่งมีชีวิตครับ เนื้อหาเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ดังนั้นสถานการณ์ที่ครูใช้เป็นโจทย์ในการเรียนรู้ของนักเรียนคือ ฉันเหมือนใคร? โดยให้นักเรียนเอารูปพ่อแม่และตัวเขามาทำการเปรียบเทียบและระบุลักษณะของตนเองกับคนในบ้านครับ นักเรียนส่วนใหญ่ก็นำภาพถ่ายมาจากบ้าน มีบางคนที่ไม่ได้พามาครับ 

คุณครูชวนนักเรียนเข้าสู่บทเรียนและผูกโจทย์ได้ดีมากทีเดียวครับ โดยเอารูปลูกดารามาแล้วให้นักเรียนช่วยกันทายว่าหน้าเหมือนใคร น่าจะเป็นลูกใคร

(สไลด์ที่นำมาใช้ชวนให้เด็กหัวเราะชอบใจได้ครับ คำถามของครูมีเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นการคิดและการมีส่วนร่วมของนักเรียน)

หลังจากแลกเปลี่ยนความเห็นกันพอสมควร จุดที่น่าสนใจถัดมาคือ ครูให้นักเรียนได้ร่วมกันกำหนดกรอบในการศึกษาโดยให้ช่วยกันนำเสนอว่าลักษณะอะไรบ้างที่ควรจะศึกษาว่าเหมือนหรือต่างกันจากพ่อแม่ไปยังลูก โดยให้มีตัวแทนห้องออกมาเขียนไว้ในกระดาน

(ตัวแทนห้องออกมาจดข้อเสนอของสมาชิกในห้องครับ)

ผมว่าขั้นตอนนี้สำคัญครับ เพราะมันช่วยให้นักเรียนทั้งห้องมีทิศทางหาคำตอบจากโจทย์ที่ครูให้ได้ดีขึ้น ดังนั้นเมื่อนักเรียนเริ่มทำงานเขาก็สามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่ครูตั้งไว้ ที่สำคัญมันสร้างความมั่นใจในการเรียนของเขาได้มากทีเดียว

ผมเริ่มเห็นบทบาทครูในฐานะผู้ช่วยเหลือนักเรียนมากขึ้นครับ ครูเริ่มต้นการเป็นกองเชียร์และที่ปรึกษา และผู้ช่วยนักเรียนในส่วนที่เขาทำไม่ได้ เช่นการเขียนคำศัพท์ยากๆ ที่นักเรียนอาจจะเขียนผิดได้ โดยช่วยสะกดให้ในบางคำ ซึ่งผมว่าบทบาทนี้ครูทำได้ดีมากๆ ครับ

เสร็จจากนั้นก็เข้าสู่การทำงาน ก็เข้าสู่โจทย์ที่นักเรียนต้องลงมือทำรายคนครับ โดยการแลกรูปครอบครัวตัวเองกับเพื่อนแล้วให้วิเคราะห์กันว่ามีลักษณะอะไรบ้างที่เหมือนกันกับคนในครอบครัว


(นักเรียนเริ่มนำรูปที่นำมาจากบ้านแปะในใบงานครับ)

ออ ลืมไปครับ มีภาพที่น่าประทับใจคือการที่นักเรียนไปรับใบงานจากครูครับ ดูยังไงก็เหมือนวินัยของนักเรียนมากทีเดียวตามรูปข้างล่าง

ถ้าเอาประสบการณ์ผมมาวัด ผมจะบอกว่า ผมไม่ค่อยเห็นความมีระเบียบที่เป็นธรรมชาติของเด็กแบบนี้ในห้องเรียนโรงเรียนอื่นๆ ครับ ส่วนใหญ่จะเห็นเด็กกรูกันเข้าไปหยิบที่โต๊ะครู ถึงแม่้จะไม่แย่งกันแต่ก็จะไม่ค่อยเห็นการเข้าแถวแบบนี้ในระดับชั้นเรียน

เมื่อเด็กทำงานรายคนแล้ว ครูก็ให้ร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มเพื่อสรุปประเด็นครับ แล้วจากนั้นให้ตัวแทนนำเสนอ


การเรียนรู้ของนักเรียนครบเครื่องครับ ทั้งการเรียนรู้ส่วนบุคคลและการเรียนรู้เป็นกลุ่ม การแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มการช่วยเหลือกัน และการนำเสนอหน้าชั้นเรียน

การแลกเปลี่ยนเพื่อสรุปเนื้อหาไม่ใช่แค่การสรุปว่าที่ทำกิจกรรมไปนั้นได้อะไรบ้าง แต่ยังทำให้เห็นว่าคาบต่อไปพวกเขาจะมีโจทย์อะไรที่จะต้องมาร่วมกับเรียนรู้อีก ซึ่งหมายถึงการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนสำหรับการเรียนในครั้งต่อไป

ผมเจออะไรจากการสังเกตในห้องเรียนนี้?

1) โจทย์การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับห้องเรียนที่เป็นแอ็กทีฟเลิร์นนิ่งครับ โจทย์จะเป็นตัวสร้างความสนใจให้กับนักเรียนในการเรียนรู้เนื้อหาที่ครูจะสอน การเลือกโจทย์เป็นทักษะสำคัญของครูในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ครับ

2) นักเรียนพาหนังสือเรียนไป แต่หนังสือเรียนกลับไม่ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้เลย เพราะเนื้อหาการเรียนเกิดจากการแลกเปลี่ยนการนำเสนอการพูดคุยภายในชั้นเรียนโดยตรง ไม่ต้องอิงไปยังหนังสือเลย 

3) ครูไม่ใช่คนป้อนเนื้อหาความรู้ให้นักเรียน การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แต่เป็นธรรมชาติของการเรียนรู้ของนักเรียน คำถามข้อสงสัยจำเป็นตัวกำหนดทิศทางของความรู้ที่เกิดขึ้น

4) ครูต้องทักษะการถามการชวนคุย เพราะเป็นวิธีการสำคัญในการกำหนดทิศทางการเรียนที่นักเรียนไม่รู้ตัวว่ากำหนดถูกกำหนดทิศทางการเรียน

5) ในชั้นเรียนไม่มีคำว่า ผิด ทุกคำตอบของนักเรียนมีแต่คำชมและการกระตุ้นเพื่อการหาคำตอบอื่นเพิ่มขึ้น

6) คำชมเป็นสิ่งสำคัญที่ครูต้องเอ๋ยออกมาจนเป็นธรรมชาติ และรับรู้ถึงความจริงใจที่ครูให้กับนักเรียน

7) ห้องเรียนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทำให้เขาเรียนรู้ได้อย่างอิสระ ซึ่งผลจากบรรยากาศแบบนี้ทำให้เด็กเกิดเครื่องมือการเรียนรู้ มีทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ตามมา

8) การจัดการเรียนรู้แบบแอกทีฟเลิร์นนิ่งจะปรากฏหลักฐานการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างชัดเจนครับ นั้นคือ ผลงานที่เขาได้ลงมือทำในแต่ละคาบ ซึ่งมันไม่ใช่แบบฝึกท้ายบทเรียน แต่เป็นผลงานเพื่อการเรียนรู้ของพวกเขา

9) การจัดการเรียนรู้เกิดจากการวางแผนที่ดีและมีส่วนร่วม และการออกแบบการจัดการเรียนรู้ทำให้ครูหมดกังวลกับการที่จะต้องพยายามถ่ายทอดเนื้อหาให้กับนักเรียน

10) ในห้องเรียนไม่เห็นการบรรยายจากครูเลย มีแต่การชวนคิดชวนคุย และนักเรียนมีความสุขในการแลกเปลี่ยนความเห็น

ผมมีโอกาสได้ไปดูอีกห้องหนึ่งครับ คือวิชาภาษาไทย และได้สอบถามข้อมูลการทำ plc กับผอ.โรงเรียนอีกครั้งก่อนกลับ ซึ่งขออนุญาตยกสองประเด็นนี้ไปครั้งต่อไปนะครับ (อินชาอัลลอฮ์) 

หมายเลขบันทึก: 632460เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ได้เก่งนะคะ

ชอบใจกิจกรรมแบบนี้

กิจกรรมแบบนี้ ของมข และหลายที่มีนานแล้ว

ผมเห็น ผศ ดร สิงหา จาก ม ทักษิณด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท