บันทึกประสบการณ์ศิลปะป้องกันตัวสำหรับคนพิการ #1


"สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ

พร้อมขย้ำคนอ่อนแอ

ป้องกันย่อมดีกว่าแก้

หากรังแกรู้จัดการ "

 

 

ด้วยความที่ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องการการป้องกันตัว การจัดการความรุนแรงด้วยสันติวิธี และเรียนวิชาไอคิโดมาเป็นทุน พักหลังได้มีโอกาสทำงานในประเด็นคนพิการทั้งในแง่วิจัยและพัฒนา และพบว่าเมืองไทยเรางานพัฒนาคนพิการจะหนักไปทางสงเคราะห์ ทางสวัสดิการเสียมาก ซึ่งโอเค มันก็จำเป็น แต่จริงๆเราก็ต้องเรื่องอื่นๆควบคู่ไปกับการจัดสวัสดิการ เรื่องนั้นก็เช่น สวัสดิภาพ ซึ่งมีคนทำน้อย ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปที่การจัดสวัสดิภาพภายนอก เช่น ปรับบ้าน ปรับทางลาด ปรับที่ทำงาน อันนั้นก็ดีนะ มีคนทำมากขึ้น แต่ที่น้อยสุดๆนี่เห็นจะเป็นการจัดสวัสดิภาพภายใน คือ การฝึกให้คนพิการรู้จักป้องกันตัวเองจากเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมซึ่งมีข่าวให้เห็นอยู่เนืองๆ ดูแล้วสลดใจ

 

นโยบายช่วยเหลือคนพิการน่าจะทำให้คนพิการมีเงินมากขึ้น มีการพบปะผู้คนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมก็มีทั้งคนดี คนไม่ดี ความเสี่ยงตรงนี้เป็นความเสี่ยงทางสังคมซึ่งยังไม่ค่อยเห็นมีใครมาช่วยกันทำให้สังคมมี mind set หรือทัศนคติ/ วิธีคิดที่เป็นมิตรกับคนพิการเท่าไร คือมันก็คงทำยากด้วยน่ะ เพราะไปควบคุมปรับวิธีคิดในสังคมนั้นมันยาก และใช้เวลามาก ชาตินี้เราตายอาจจะยังไม่สำเร็จ เพราะมันฝังรากลึกยิ่งกว่าการตั้งถิ่นฐาน (แต่ก็ต้องทำนะครับ) สิ่งที่สามัญชนคนธรรมดาอย่างผม พอจะทำได้ คือใช้ความรู้พิเศษที่คนอื่นเขาไม่มี ในการทำอะไรพิเศษๆกับจุดเล็กๆจุดนี้

 

ช่วงต้นปีนี้ ผมได้มีโอกาสลงเยี่ยมบ้านคนพิการหลายครั้ง ทั้งที่บ้านปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และที่บ้านสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็นึกอยู่ในใจว่าจะมีคนพิการที่ไหนจะสนใจเรื่องเหล่านี้บ้าง เท่าที่พบส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนรุ่นเก่าๆ คือ เป็นคนพิการในภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างปิดตัว ไม่สัมพันธ์กับการเรียนรู้อะไรใหม่ๆเท่าไรนัก (หรือเราอาจจะยังเข้าไม่ถึงก็ไม่รู้ ???) มาสะดุดที่บ้านสบป่อง อำเภอปางมะผ้านี่แหละ ที่มีหนุ่มคนพิการดูแล้วมีไฟ มีความเป็นผู้นำกล้าคิดกล้าแสดงออก พอสอบถามกันทางเฟสทางไลน์เขาก็บอกว่าสนใจเรียนไอคิโดนะ ต้องทำอย่างไรบ้าง ผมบอกว่าไม่ต้องเตรียมอะไรมากมาย ไม่ต้องมีห้องฝึก (เพราะเรายังไม่มีปัญญา) ใช้ลานหน้าบ้านก็พอได้  เราเรียนรู้ร่วมกันสบายๆ ชุดฝึกก็ชุดอะไรก็ได้ที่ใส่แล้วสบายๆ เงินทองก็ไม่ต้องเตรียมอะไร เอาใจมาก่อนก็พอ

 

 พินิจ เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว เขาตกต้นไม้จนพิการเป็นอัมพาตท่อนล่างมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นอายุสิบกว่าๆ เราฝึกไอคิโดแบบประยุกต์ด้วยกันมาแล้วเจ็ดครั้ง ตรงหน้าประตูบ้านเขานั่นแหละ

 

ก่อนหน้านี้ ผมก็ทดลองฝึกไอคิโดบนวีลแชร์มาบ้าง คือขอวีลแชร์จากโรงพยาบาลมาฝึกว่าเราจะใช้ไอคิโดได้ยังไง ดูคลิปจาก You Tube ก็มี ก็ฝึกตามคลิปบ้าง ฝึกกับลูกศิษย์ที่มาเรียนไอคิโดด้วยกันที่แม่ฮ่องสอนบ้าง ก็ทำคลิปเผยแพร่ชิมลางออกไป เอ้อ มันก็พอได้นะ คนไม่สนใจมากมายเท่าไหร แต่เราทำไปเรื่อยๆ เชื่อว่าคนจะรู้จักมากขึ้น


 



นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลา 60 จนถึงตอนนี้ พฤศจิกา 60 ก็เจ็ดครั้งแล้วที่เราตั้งใจฝึกร่วมกัน ผมนึกในใจว่าการที่คนพิการอย่างพินิจให้ความสนใจมาเรียนไอคิโดนี้สำคัญมาก และก็ต้องขอบคุณมากที่ฟ้าดินให้โอกาสผมได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพราะตอนแต่ก่อนที่ผมฝึกมานั้น เราฝึกกับคนปกติที่นั่งวีลแชร์ ไม่ใช่คนพิการตัวจริงเสียงจริง 


วันแรกที่ผมเตรียมจะไปสอนพินิจนี่ เตรียมอย่างดี แต่พอได้เจอเขา เราก็เห็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่มีแต่การเป็นอัมพาตท่อนล่างตั้งแต่ขาลงไป  แต่นิ้วมือหลายนิ้วก็ใช้การไม่ค่อยได้ เทคนิคต่างๆที่ต้องใช้มือและนิ้ว ต้องพลิกแพลงไปใช้แบบอื่นแทน ระยะห่าง มุมที่ใช้ในการเบี่ยงตัวนี่ต้องออกแบบใหม่ พูดง่ายๆคือเหมือนวัดตัวตัดชุดให้เขา ไอคิโดของเราต้องออกแบบให้เหมาะกับตัวเขา ไม่ใช่เอาคนสอนว่า แต่ต้องเอาคนพิการเป็นศูนย์กลาง เป็นรายๆด้วยนะ เพราะคนพิการแต่ละคนไม่เหมือนกัน นี่คือความยาก แต่ก็ท้าทาย 


เรื่องไอคิโด สำหรับคนพิการอาจจะยังไม่มีใครทำนะ การป้องกันตัวโดยใช้ยูโดนี่ เห็นว่า ที่ลำปางมีชมรมยูโดคนพิการอยู่ แต่ไอคิโดนี่น่าจะยัง อย่างน้อยก็ดีใจได้ทำสิ่งที่ไม่ซ้ำซาก เป็นนวัตกรรม จะ 4.0 ไม่ 4.0 เราก็ไม่สนใจ ในใจคิดว่าเป็นปฏิบัติบูชาในหลวง ร.9 ด้วย

 

 



นอกจากนี้ สิ่งได้เรียนรู้เพิ่มทั้งผมกับพินิจด้วยคือ การใช้ประโยชน์จากรถเข็น หรือวีลแชร์ ในการป้องกันตัว อันนี้ไม่เคยคิดมาก่อน ว่าสิ่งที่มันดูเป็นอุปสรรค จริงๆมันก็เอาไปใช้แก้ปัญหายามฉุกเฉินได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างที่วางเท้า กับที่วางมือของวีลแชร์ ช่วยในการทุ่มและล็อคผู้จู่โจมได้ นี่ก็เป็นปัญญาจากการปฏิบัติเหมือนกัน

 

พินิจยังเล่าว่า การฝึกทำให้เขาหายใจได้โล่งขึ้น (เราฝึกเรื่องการหายใจและการทำสมาธิในไอคิโดด้วยครับ)  การยืดตัวของเส้นเอ็นตรงหัวไหล่ และกล้ามเนื้อคอดีขึ้น อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เราก็ไม่ได้คิดมาก่อน


ไม่รวมถึงมิตรภาพที่มาจากการแบ่งปันสิ่งดีๆร่วมกัน

 

 

*** สนใจดูตัวอย่างคลิปการฝึกของพวกเราสองคนได้นะครับที่


 



ส่วนอันนี้ เป็นการทดลองฝึกกับลูกศิษย์ในศูนย์ฝึกที่แม่ฮ่องสอนครับ



หมายเลขบันทึก: 641237เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2017 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2017 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท