๒๔๔. Active Learning..ในวิถีพอเพียง..


ทุกวันนี้เราพยายามใส่ตัว Active Learning เข้าไปในกระบวนวิธีสอน ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ไม่ค่อยจะมั่นใจว่า จริงๆแล้วครูและนักเรียน Active กันจริงหรือเปล่า?

           การศึกษา “ศาสตร์พระราชา” ที่ว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ผมอยากบอกว่า เข้าถึงได้ไม่ยาก เริ่มต้นที่ใจ..แล้วจบด้วยการลงมือทำ ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แม้กระทั่ง..ตนเอง

         ในโรงเรียนจึงมีเรื่องราวให้คิดและทำมากมาย..โดยที่ไม่ต้องรอ “คำสั่ง” จากใคร ปลายทางคือ คุณภาพและทักษะชีวิต..ของผู้เรียน

            ผมเรียนรู้ “เกษตรอินทรีย์” และ “งานอาชีพขั้นพื้นฐาน” เพื่อนำไปต่อยอดให้นักเรียน ล้วนเป็นกิจกรรม “เสริมหลักสูตร”ทั้งสิ้น 

            เมื่อผมเข้าใจกระบวนการแล้ว นักเรียนจะได้เข้าถึงในทุกขั้นตอน ด้วยการเรียนรู้คู่การปฏิบัติ..ลงมือทำเพื่อจะได้ภูมิใจในผลผลิต

            ทุกวันนี้เราพยายามใส่ตัว Active Learning เข้าไปในกระบวนวิธีสอน ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ไม่ค่อยจะมั่นใจว่า จริงๆแล้วครูและนักเรียน Active กันจริงหรือเปล่า?

            ตราบใดที่เรา(ครูกับนักเรียน) ยังไม่ได้ Play และ Learn คือ ยังไม่ได้ลงมือทำในแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ เด็กยังไม่ได้ “คิด” และสร้าง “งาน” Active จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน..

            ปัจจุบัน..มีโครงการและวิธีสอนมากมาย ที่ไม่ได้ตอบโจทย์..วิถีชีวิตที่พอเพียง..เด็กเรียนสาระอย่างหลากหลาย จดจำนำไปสอบ ตั้งแต่ประถมจนถึงอุดมศึกษา..

            เด็กหลายแสนคน..มุ่งสู่ปริญญาบัตร..ความสำเร็จสุดท้ายมาพร้อมๆกับการตกงาน..และเลือกงาน ตลอดจนไม่มีงานทำอีกมากมาย จนต้องหนีหนี้ กยศ..

            เมื่อมีงานทำ..ยังต้องมาดูอีกว่า..รักงานแค่ไหน? ถนัดหรือไม่? หลายคนไม่มีความสุขในการทำงาน..อันเนื่องมาจากรายได้ จึงเป็นที่มาของ “หนี้” ที่หนีไม่พ้นในยุค “บริโภคนิยม”..

            ทุกวันนี้..ไตร่ตรองกันให้ดี..เรากำลังสอนเด็กด้านเดียว ให้ “บริโภค” แบบสุดโต่ง..ทั้งที่ชุมชนท้องถิ่น “ในน้ำยังมีปลา ในนายังมีข้าว” อยู่แท้ๆ

            เด็กไม่รักที่ดินทำกิน ไม่ได้เรียนอาชีพของพ่อแม่..เด็กถูกสร้างให้เคยชินกับการเป็น “ผู้ซื้อ” มากกว่าเป็น “ผู้ผลิต”

            เด็กยังไม่ได้ถูกปลูกฝังให้ “รู้จักตนเอง” จึงเรียนไปสู่ทางตัน แบบแพ้คัดออก กว่าจะรู้ตัวก็สาย ที่สุดแล้วก็ “อายทำกิน”

            ในตลาดนัดใหญ่ๆระดับประเทศ ในแหล่งท่องเที่ยววิถีไทย “ย้อนยุค” เราจะพบว่า..นักท่องเที่ยวมากมายทั้งไทยและต่างประเทศ..เดินซื้อสินค้า ซื้อผัก ผลไม้และหารับประทานอาหารคาว หวาน..ตลอดจนชื่นชม “วิถีชนบท”

            นี่คือ ฐานเศรษฐกิจ เป็นการสร้างงานและกระจายรายได้ สู่ชุมชนและครอบครัว..ทำไม?ในสังคมหมู่บ้านมากมาย..ไม่ช่วยกันสร้างวัตถุดิบป้อนตลาด สร้างการแปรรูปให้เกิดขึ้น

            สร้าง “เอกลักษณ์” ของตำบลท้องถิ่น ให้เป็น "ธุรกิจพอเพียง” แบบที่ไม่ต้องทิ้งบ้านเกิดและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

            ในรูปแบบที่ “พอเพียง”จริงๆและ พึ่งตนเองได้ เป็นนายตนเอง..ทดแทนการเป็นลูกจ้าง หรือเคว้งคว้างไปวันๆชั่วชีวิต..และนี่คือ..โจทย์ที่โรงเรียนต้องคิด และนโยบายการศึกษาต้องปรับปรุง

            ผมจะฝึกให้นักเรียนเพาะถั่วงอก..เพราะจะให้นักเรียนลองทำเองที่บ้านและรู้จักเรียนรู้การ “จำหน่าย” หลังจากนำเข้าสู่ “ครัวโรงเรียน”เรียบร้อยแล้ว

            ผมจะฝึกให้นักเรียน เพาะเห็ดฟางในตะกร้า ซึ่งง่ายที่สุดแล้ว ด้วยวัสดุในชุมชนที่มีพร้อม..ถ้าเด็กทำได้..ก็สร้างรายได้และช่วยลดค่าใช้จ่าย

            หลายคนอาจมองว่า..มันเกี่ยวกับการเรียนการสอนมากน้อยแค่ไหน? ผมคิดว่า ถ้านำขั้นตอนวิธีทำ(How to) ไปเขียนเรื่องสั้นๆเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน..

            รับรองว่า..นักเรียนจะได้อ่านอย่างคิด วิเคราะห์ และเข้าใจง่ายขึ้น เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เขาได้เรียนรู้จากภาคสนามมาแล้ว

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓๐  กรกฎาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 649239เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2018 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2018 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนแล้วเพลินเรียนแล้วมีความสุขก็จะเกิดความรู้ที่คงทน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท