จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ตลาดทางการศึกษา


เมื่อหลายวันก่อนผมตั้งคำถามว่าจะตามใจผู้ปกครองหรือโรงเรียนนำเสนอสิ่งที่ควรจะเป็นไป ผมต้องขอบคุณทุกความเห็นครับ เพราะความเห็นเหล่านั้นทำให้การมองเรื่องตลาดทางการศึกษาชัดมากขึ้น เมื่อสองวันก่อนผมได้ประเด็นใหม่มาว่า คำว่าคุณภาพอย่างเดียวไม่พอกับการจัดการศึกษา แต่ต้องมองในมุมมองของธุรกิจไปแล้ว ซึ่งคำนี้หลายคนมองว่ามันเป็นในทางลบสำหรับการศึกษา แต่จริงๆ มันมีคุณค่าในการสร้างการพัฒนาได้เป็นอย่างดี

ซอฮาบะห์ที่อพยพจากมักกะมามาดีนะห์ท่านหนึ่งบอกกับซอฮาบะห์ชาวมาดีนะที่จะให้ความช่วยเหลือท่านว่าท่านแค่ช่วยบอกว่า #ตลาดอยู่ไหนก็พอแล้ว

หลายสถานศึกษามองว่า ผลผลิตที่ดีต้องเป็นไปตามที่ตลาดต้องการ เราจึงพยายามที่จะส่งผลผลิตออกมาให้ตรงกับความต้องการของตลาด ผู้ปกครองต้องการให้ลูกอ่านหนังสือออกตั้งแต่อนุบาล โรงเรียนก็เร่งให้ ซึ่งจริงๆ ผมว่ามันน่าจะมาจากที่โรงเรียนดัง ๆ เอาเด็กเก่ง ๆ ของเขามาโชว์ แล้วก็กลายเป็นกระแสว่าสอนดีต้องทำให้เด็กอ่านได้เร็ว จนปัจจุบันหมอออกมาเตือนเรื่องนี้ก็ไม่มีใครสนใจแล้วว่าเร่งมากๆ จะมีผลกระทบกับพัฒนาการของเด็กในอีกหลายด้าน

วันนี้หลายโรงเรียนมุ่งไปทำตลาดเดียวกันหมดครับ เหมือนพอทุเรียนราคาดีก็พากันปลูกทุเรียน กว่าจะปลูกเป็น และได้ลูกตามเกรด (คือทำแรกๆ มันก็ไม่ได้ผลเหมือนคนที่เขาปลูกมานานแล้วหรอกครับ หลายโรงเรียนเด็กอ่านออกตอนป.3 มาเร่งอนุบาลกว่าจะจับทางได้ว่าสอนแบบไหน คนอื่นก็ทำได้ไปหมดแล้ว) ผลสุดท้ายคือ ตลาดนี้ความต้องการลด เนื่องจากปริมาณลูกค้าในตลาดลดลงต่อเนื่อง เพราะเข้าสุ่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อยลง ในขณะที่โรงเรียนแนวนี้เยอะขึ้น

ในขณะที่โรงเรียนที่ไม่มุ่งกระแส แต่พยายามมุ่งหาความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง บอกผู้ปกครองว่าถ้าจะมาส่งโรงเรียนฉันก็อย่าไปหวังแบบคนทั่วไป เป็นโรงเรียนที่ต้องใช้องค์ความรุ้ในการพัฒนามากมาย นอกจากนี้ต้องทนต่อกระแสแน่นอนเพราะวิ่งสวนกระแส แต่จุดต่างคือ มีตลาดไม่ใหญ่มากนัก แต่คู่แข่งก็ไม่มากเหมือนกัน ดังนั้นความเสถียรและแนวโน้มความเจริญต่อเนื่องแน่นอน เพราะหากทำสำเร็จก็อาจจะกลายเป็นผู้นำเทรนก็เป็นได้

เขียนมาขนาดนี้ผมก็กลัวหลายคนมองไม่เห็นภาพครับ ขออนุญาตยกกรณีตลาดมือถือมาเทียบเคียง ตลาดใหญ่ๆ ผลิตแบบตามตลาด ก็นำโดยซัมซุงที่เน้นว่าคุณอยากได้อะไรฉันมีให้หมด ซึ่งนำมาได้สักระยะตอนนี้คู่แข่งมาใหม่เยอะมาก และน่ากลัวตรงที่คู่แข่งมีโอกาสแซงได้ทุกเมื่อ ในขณะที่แอปเปิ้ลพยายามบอกตลาดว่า ฉันมีให้คุณในสิ่งที่คุณควรมี ทั้งๆ ที่บางเรื่องเพื่อนเขาทำไปนานแล้ว แต่แอปเปิ้ลยังปรับรูปสร้างจุดเด่นใหม่ เขากลับกลายเป็นต้นแบบสิ่งนั้นไปได้ คู่แข่งเชิงการสร้างนวัตกรรมมีน้อยและมีคนกล้าทำน้อย แต่มันยั่งยืนและเห็นการพัฒนาที่ชัดเจนมากครับ

ผมจึงมองว่า วันนี้คำว่า อัตลักษณ์ของโรงเรียนที่จะต้องนำเสนอให้กับผู้ปกครองให้กับสังคมเป็นความสำคัญมากๆ และสร้างความยั่่งยืนให้กับสถานศึกษาได้ ทำไมต้องไปวิ่งลู่เดียวกันในเมื่อความต้องการของมนุษย์นั้นหลากหลาย

หมายเลขบันทึก: 656141เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2018 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2018 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท