การประกอบสร้างความจริง ใน วรรณกรรม (1)


การประกอบสร้างความจริง ใน วรรณกรรม (1)

(เกริ่นนำ)

ยาขอบแต่งเรื่องผู้ชนะสิบทิศจากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้เพียงสองบรรทัด สามารถสร้างเรื่องเล่าเป็นหนังสือเล่มหนา ๆ ได้จำนวนหลาย ๆ เล่มนั้น ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการตีความตามหลักฐานที่พบ หลักฐานแบบเดียวกันสามารถอธิบายไปคนละอย่างก็ได้  การเล่าเรื่องผู้ชนะสิบทิศราวกับตัวตนที่เล่ามาถึงอารมณ์ของเรื่องได้เป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่โลดเล่นอยู่ในฉากได้ ก็เพราะเป็นการประกอบสร้างความจริง นี่คือวรรณกรรม ที่จัดประเภทแล้วก็คือ นวนิยาย วรรณกรรมอื่น ๆ จะแตกต่างไปหรือดูศักดิ์สิทธิ์กว่า อย่างตำราวิชาการ ก็เป็นเรื่องเล่าชุดหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นเพียง เรื่องจริงแต่ง ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเพียงเท่านั้น ในวรรณกรรมทางศาสนา ก็เป็นชุดเรื่องเล่าในระนาบเดียวกับตำราวิชาการ คือ เป็นสิ่งที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องเราว ในขณะเดียวกันถ้าเราอ่านตำราของดาร์วิน ก็จะพบว่า เป็นเรื่องเล่าแบบเดียวกัน แต่มีหลักเหตุผล มีหลักฐาน ในนั้น  

(การประกอบสร้างความจริงในวรรณกรรม) 

การประกอบสร้างความจริงในวรรณกรรมมีความเป็นมาจากการเล่าเรื่องด้วยปาก หรือมุขปาฐะ แล้วจึงนำเรื่องที่เล่าด้วยปากมาบันทึกไว้ มีองค์ประกอบสำคัญประการแรกคือ ผู้ผลิต หรือ ผู้เขียน เป็นผู้สร้างสรรค์หรือประพันธ์ขึ้นมา ผู้ประพันธ์ที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นเราไม่อาจสอบถามถึงวัตถุประสงค์ที่เขาผลิตหรือสร้างขึ้นเพื่ออะไร ผู้ประพันธ์ที่มีชีวิตอยู่ ก็อาจบอกหรือไม่สามารถบอกวัตถุประสงค์ในการผลิตของตนเองก็ได้ สิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการให้ผู้รับสารหรือผู้อ่านก็มักจะไม่ปรากฎโจ่งแจ้งเท่าไรนัก อย่างไรก็จะต้องตีความเอา  เมื่อมีผู้ผลิตแล้วสิ่งสำคัญคือตัวบทของวรรณกรรมนั้น ซึ่งก็คือ ภาษา กลวิธีทางภาษา ในการประกอบสร้างความจริงให้กับชุดเรื่องเล่า อย่างน้อยประกอบด้วย โครงเรื่อง แก่นของเรื่อง บุคลิกของผู้ที่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรม ฉาก มุมมองในการเล่าเรื่อง ซึ่งนักเขียนหรือผู้ประพันธ์ย่อมมีการไตร่ตรอง วางแผนก่อนการเขียน เมื่อวิเคราะห์ตัวบทดังกล่าวแล้ว ถือเป็นสนามของภาษาในเรื่องเล่า ความแตกต่างกันของการเขียนเล่าเรื่อง แบบนวนิยาย และการเขียนเชิงวิธีการอาจมีกลวิธีการเล่าที่มีรูปแบบแตกต่างกัน แบบแรกคือ เขียนเน้นอารมณ์ความรู้สึกอย่างเต็มที่ และอีกแบบหนึ่งเป็นการเขียนโดยพยายามเสแสร้งให้เป็นกลาง ปราศจากอารมณ์ความรู้สึก ราวกับว่าข้อเขียนนั้นเป็นเพียงวัตถุที่ปราศจากอคติตามคติแห่งวิทยาศาสตร์  เรื่องเล่าแบบต่าง ๆ ในวรรณกรรม นั้น มีแก่นของเรื่อง ข้อคิด แนวคิด ซึ่งแยกไม่ออกจากตัวผู้เขียนเท่าไรนัก เรามักจะเรียกสิ่งต่าง ๆ นี้ที่แฝงมานี้เรียกว่า อุดมการณ์ (Ideology) ไม่ว่าจะเขียนแบบใดก็ตาม ตัวอักษรกลุ่มคำ ก็เป็นภาพแทนความจริง ไม่วาจะเป็นเรื่องที่มีจริง หรือไม่มีจริงทางด้านประสาทสัมผัสให้ตรวจสอบก็ตาม การอ่านตัวอักษรจะทำให้สมองด้านภาพปรากฎขึ้น ทำให้จินตนาการโลดเล่น และจินตนาการของเราแตกต่างกัน แม้จะอ่านหนังสือเล่มเดียวกันก็ตาม เพราะการตีความของเรานั้นแตกต่างกันไปตามประสบการณ์   


(ยังมี่ต่อ)
หมายเลขบันทึก: 664506เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2019 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2019 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท