การประกอบสร้างความจริง ใน วรรณกรรม (2)


การตัดต่อ “เรื่องเล่า” เพื่อสร้างความจริงในวรรณกรรม

ทุกเรื่องเล่าจะเป็นการประกอบสร้างความจริงให้กับตัววรรณกรรม ประกอบด้วยสองส่วน คือ ลดทอน และเพิ่มเติม ในกระบวนการลดทอนให้มีรายละเอียดลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การพาดหัวข่าว ซึ่งต้องการสื่อให้น่าสนใจ แต่เป็นการลดทอนรายละเอียดลงทั้งหมด เรื่องบางเรื่องไม่สามารถที่จะนำเสนอต่อสังคมส่วนรวมได้ เนื่องจากอาจขัดต่อศีลธรรมอันดี อาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงเป็นเรื่องเล่าที่ลดทอนรายละเอียด  ส่วนการเพิ่มเติมขยายความ สร้างรายละเอียดเพิ่มขึ้น แต่งเติม ต่อเติม ดังตัวอย่างจากยาขอบแต่งเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งสามารถขยายความ ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็มีการตีความคำสอนโดยบุคคลโดยบุคคลที่เรียกว่า อรรถกถาจารย์ ฎีกาจารย์ อนุฎีกาจารย์ ทำให้มีการขยายความ นี่ไม่นับรวมความคิดความเชื่อรุ่นหลังที่ถูกตีความอย่างแตกต่างหลากหลายตามประสบการณ์ของผู้แต่ง ตามความเชื่อเรื่องนิกายต่าง ๆ ทำให้เรื่องเล่าเดิมกลายเป็น snow ball ลูกใหญ่ ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ  การล่วงเลยกาลเวลามานานมาก ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าถึงผู้แต่ง วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้แต่ง ความหมายในคำและตัวบทของผู้แต่ง  ซึ่งมีความหมายที่อาจไม่ตรงกับผู้ประพันธ์ หรือ ผู้ผลิต  เมื่อไม่ได้ทราบเรื่องเชิงประจักษ์ จึงเป็นการตีความตัวบท เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันจึงมีสถาบันที่พยายามผูกขาดการตีความตัวบท หรือ เรื่องเล่า เพื่อให้เรื่องเล่าต่าง ๆ เหล่านี้เป็นไปในทิศทางที่สังคมกำหนด  การตัดต่อจึงเป็นเรื่องปกติในความรู้และองค์ความรู้ทั้งหลาย ที่แสดงออกมาในเรื่องเล่า ไม่ว่าจะลดทอน หรือ ขยาย

อำนาจของ “เรื่องเล่า”

เรื่องเล่าหลาย ๆ เรื่องมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น เรื่องเล่า ในโฆษณาต่าง ๆ ทำให้คนต้องฃ้วงกระเป๋าจ่ายตามมายาคตินั้น เป็นการเล่าสั้น ๆ ตามระยะความสนใจที่มนุษย์จะมีความสนใจ  สินค้าที่ขายยาก ๆ มักจะมีเรื่องเล่าประกอบภาพที่ชวนติดตามและภาพสินค้า ตราสินค้า ที่ชวนล้วงกระเป๋าเพื่อซื้อ  เรื่องเล่าบางอย่าง เช่น ลูกกตัญญู มักมีผลต่อหัวจิต หัวใจของคนไทยไม่มากก็น้อย บางครั้งนำเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริงแต่งไปสร้างภาพยนตร์ก็โกยรายได้ไปพอสมควร เรื่องเล่าในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์บางเรื่อง ทำให้จิตใจฮึกเหิม เลือดรักชาติ พลุ่งพล่าน เรื่องเล่าที่มีความสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกทำให้คนจดจำเรื่องราวได้มากกว่าปกติ หลาย ๆ กิจกรรมการพัฒนา มักจะให้ทุกคนเล่าเรื่อง และยอมรับเรื่องเล่าของกันและกัน ก็จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากการเป็นผู้เล่าเรื่อง และการรับฟังเรื่องเล่า เรื่องเล่านั้นสามารถชี้นำและบงการพฤติกรรมของมนุษย์ได้ นั้นแสดงถึงอำนาจของเรื่องเล่า การอบรมสั่งสอนส่วนใหญ่ของคนสมัยก่อนมักจะมุขปาฐะ เป็นนิทานต่าง ๆ นิทานที่ทำให้ผู้ฟังยำเกรงที่สุดก็คือ นิทานเรื่องผี หรือ อำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งก็มีทุกสังคม เมื่อผู้รับสารฟังแล้ว ก็จะเกิดการเชื่อมโยงเรื่องราวไปที่เส้นใยสมอง ทำให้เกิดโครงสร้างไวยากรณ์ผสมกัน ระหว่าง สิ่งที่เป็นมโนทัศน์ที่มีสิ่งอยู่จริง กับ สิงที่เป็นมโนทัศน์ในจินตนาการ เพราะสมองเราทำงานสองซีกพร้อมกัน เพราะโครงสร้างของภาษาไม่ใช่คำนามที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังซับซ้อนไปถึงกริยาอาการหรือภาคแสดง  นักวิชาการสายภาษาศาสตร์เรียกโครงสร้างส่วนลึกนี้อยู่ในระดับจิตไต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึก นอม ชอมสกี้ เรียกสิ่งที่เป็นสากลอยู่ในหัวเราอยู่แล้วเรียกว่า ไวยากรณ์เพิ่มพูนปริวรรต ไวยากรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เองที่ได้สร้างความจริงผ่านภาษายิ่งเล่าเรื่องให้มีความสัมพันธ์กับอารมณ์ได้มากเท่าไร เรื่องเล่าจึงมีอิทธิพลต่อเราเท่านั้น ในชีวิตจริงของเราไม่มีใครแยกข้อเท็จจริงได้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด ภาษาทำให้เราเข้าใจโลกซึ่งอาจมีข้อเท็จและข้อจริงสับสนและปะปนกันไร้ระเบียบ แต่จะเข้าใจได้ถ้ามีการร้อยเรียงความไร้ระเบียบเข้ามาเป็นชุดเรื่องเล่าที่มีระบบระเบียบแทน

อุดมการณ์ “เรื่องเล่า” ในวรรณกรรม

อุดมการณ์ในที่นี่ก็คือ ความคิด ความเชื่อ หรือ ระบบการให้คุณค่า ต่อบางสิ่ง ในทุก ๆ วรรณกรรมที่เป็นเรื่องเล่าตั้งแต่ เรื่องเล่าที่หาสาระอะไรไม่ได้ ไปจนถึงเรื่องเล่าทางวิชาการ ล้วนอุดมไปด้วยเนื้อหาแห่งความคิด ความเชื่อ ซึ่งประพันธกรนั่นเองเป็นผู้ที่ใส่รหัสแห่งความคิด ความเชื่อ และคุณค่า เข้าไปให้เห็นทุกข้อเขียนทุกภาษาที่ใช้ ล้วนแต่มีกลิ่นอายแบบนี้ที่รุนแรง หรือ จาง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องเล่าจะให้คุณค่าไปให้กับมโนทัศน์แบบใด ก็สามารถแกะ แคะ ออกมาดูได้โดยไม่ยาก แม้แต่คำว่าวิชาการที่เขียนออกมาพยายามบอกว่าเขียนอย่างเป็นกลางแบบ objective ที่สุด ตามชื่ออาหารที่เรียกว่า “แสร้งว่า” ก็ตามเช่น แสร้งว่าปู นั่นก็ไม่ใช้ปูจริง ๆ แต่ใช้อย่างอื่น แต่ทำให้เหมือนปู การปลอดคุณค่าจึงหาไม่ได้ในงานวรรณกรรมทุกชนิด ข้อเขียน หรือ ถ้อยแถลง เมื่ออ่านแล้วจึงสามารถสรุปได้ว่า เขียนด้วยฐานความคิด ความเชื่อ แบบใด ดังนั้นการอ่านจะสนุกขึ้น ถ้าจะตีความไปด้วย นั้นก็แสดงว่าเรา แขวนมันไว้พิจารณา เราอาจเห็นโครงสร้างระบบความคิด ภายในวรรณกรรมนั้น หมายถึงเราไม่เพียงอ่านตัวหนังสือ แต่เราอ่านโครงสร้างความคิดในคนไปด้วย แม้แต่ข้อเขียนที่ผู้เขียนเขียนขึ้น ก็ไม่ได้ปลอดคุณค่า แถมยังแสดงให้เห็นตัวอุดมการณ์อย่างชัดเจน แต่จะเป็นแบบไหนได้ก็ต้องตีความ การตีความ คือ อำนาจที่ยิ่งใหญ่ของผู้อ่าน ที่อยู่เหนือการครอบงำทางอุดมการณ์แบบใด ๆ ไม่ว่าจะยืนยัน ปฎิเสธ หรือ ต่อรอง ผู้อ่านจึงเป็นใหญ่กว่าตัวหนังสือ หรือเรื่องเล่าแบบใด ๆ ก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 664656เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2019 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2019 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท