BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่


การกระทำเหนือหน้าที่

๑. นำเรื่อง 

"การกระทำเหนือหน้าที่ในทฤษฎีจริยศาสตร์ร่วมสมัย" เป็นชื่อวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ หรือ Supererogation นี้ ผู้เขียนเป็นผู้ศึกษาจริงจังคนแรกของประเทศไทย และขณะที่ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ก็มีอาจารย์ที่เคารพบางท่านบอกว่าผู้เขียนอาจรู้เรื่องนี้มากที่สุดในประเทศไทยก็ได้ แต่อันที่จริงผู้เขียนมิใช่ผู้ศึกษาเรื่องนี้เป็นคนแรก เพราะมีบทความเรื่อง "ปัญหาการกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์คานต์" ของ ผศ.ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ เป็นบทความแรกของไทยที่นำเสนอเรื่องนี้ และบทความฉบับนี้เองเป็นพลังผลักดันให้ผู้เขียนเลือกเรื่องนี้มาทำวิทยานิพนธ์จนกระทั้งจบ ...

เมื่อจบมาแล้ว เรื่องที่ได้ศึกษามาก็ค้างอยู่ในความคิด ไม่เคยได้นำเสนอในที่ใดๆ เพราะเรื่องค่อนข้างยากและต้องใช้พื้นฐานของระบบคิดมากจึงจะเข้าใจได้ ผู้เขียนเคยนึกว่า วิทยานิพนธ์ที่ทำขึ้นมานั้น นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาด้านวิทยานิพนธ์แล้ว จะมีใครเคยอ่านจบบ้าง ฉะนั้น จึงขออาศัยที่นี้ นำเรื่องนี้มาเล่าเป็นประเด็นไปเรื่อยๆ

๒. รากศัพท์เดิมของคำว่า Supererogation

คำว่า supererogation เป็นคำมาจากภาษาลาตินว่า super+erogare มีความหมายว่า to overspend หรือ to spend in addition ...และความหมายที่ให้ไว้ตามนัยภาษาอังกฤษว่า actions above and beyond the call of duty ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า "การกระทำเหนือหน้าที่" และอาจารย์วัชระ ได้บัญญัติศัพท์ว่า "อธิกรรม" เพื่อแทนคำนี้ ...ตามประวัติบอกว่าคำนี้ปรากฎครั้งแรกประมาณคริสตวรรษที่ ๑ โดยเป็นคำที่สร้างขึ้นมาจากปัญหาด้านจริยศาสตร์เชิงเทววิทยา ดังนั้น การที่เราจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องถอยกลับไปสู่พื้นฐานเดิมของแนวคิดจริยศาสตร์เชิงเทววิทยา..

ศาสนาแนวเทวนิยมคือศาสนาที่นับถือพระเจ้าหรือพระเป็นเจ้า (God คำนี้ราชบัญฑิตย์บัญญัติว่า "พระเป็นเจ้า" แต่คนทั่วไปมักจะเรียกว่า "พระเจ้า") ศาสนาแนวเทวนิยมก็คือ ยิว คริสต์ และอิสลาม แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่แนวคิดพื้นฐานจะเหมือนๆ กัน กล่าวคือ จะเริ่มต้นแนวคิดว่า พระเป็นเจ้าเป็น ผู้สร้าง (Creator) ส่วนมนุษย์เป็น ผู้ถูกสร้าง (Creature) ดังนั้น พระเป็นเจ้าและมนุษย์จึงมีส่วนเชื่อมโยงกันในฐานะผู้สร้างและผู้ถูกสร้าง ลักษณะการเชื่อมโยงกันเช่นนี้เรียกว่า "ข้อผูกพัน" (Obligation)

มนุษย์ในฐานะผู้ถูกสร้างจะต้องกระทำตามพระเป็นเจ้าในฐานะผู้สร้าง การที่มนุษย์ "จะต้องกระทำ" ตามพระเป็นเจ้านี้เอง เรียกกันว่า "หน้าที่" (Duty) ดังนั้นในวรรณกรรมภาษาอังกฤษ เป็นต้น คำว่าข้อผูกพันและหน้าที่ จึงเป็นคำที่เป็นไวพจน์หรือใช้แทนกันได้ แต่ในวรรณกรรมภาษาไทยจะมีไม่มีแนวคิดทำนองนี้ เพราะเราไม่มีพื้นฐานเดิมตามนัยนี้

เมื่อมนุษย์ทำตามโองการของพระเป็นเจ้าแล้วก็จะถือว่าเป็นการกระทำดีหรือถูกต้อง แต่ถ้ามนุษย์ขัดขืนไม่กระทำตามโองการของพระเป็นเจ้าก็จะถือว่าเป็นการกระทำชั่ว เลว หรือผิด ...การกระทำตามหรือขัดขืนต่อโองการของพระเป็นเจ้าเช่นนี้ ต่อมามีการประเมินค่าว่าเป็นการกระทำที่ดีชั่วถูกผิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นการประเมินค่าทางศีลธรรมนั้นเอง ดังนั้น หน้าที่หรือข้อผูกพันเช่นนี้จึงเรียกว่า "ข้อผูกพันทางศีลธรรม" หรือ "หน้าที่ทางศีลธรรม" เพราะคำว่าหน้าที่และข้อผูกพันได้ถูกนำไปใช้ในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมในสมัยต่อมา ซึ่งเป็นการงอกขึ้นมาของความหมายของคำเหมือนกับคำอื่นๆ ทั่วไป

จากประเด็นเรื่อง หน้าที่ทางศีลธรรม ที่บอกว่า การกระทำตามโองการของพระเป็นเจ้า ก็เกิดปัญหาเชิงตรรกะขึ้นมา กล่าวคือ ถ้ามนุษย์กระทำเกินกว่าโองการของพระเป็นเจ้า การกระทำนั้นจะผิดหรือถูก การกระทำเช่นนี้เอง เรียกว่า "การกระทำเหนือหน้าที่" หรือบางครั้งก็เรียกว่า "การกระทำเหนือข้อผูกพัน" ซึ่งการกระทำเช่นนี้จริยศาสตร์เชิงเทววิทยามีศัพท์ที่ใช้เฉพาะ  นั่นคือ supererogation โดยประการฉะนี้

ประเด็นปัญหานี้ทำให้ศาสนาจารย์ต้องวินิจฉัย ตีความ และอธิบาย ซึ่ง เป็นปัญหาหนึ่งในจริยศาสตร์เชิงเทววิทยา

๓. ความเห็นเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์เชิงเทววิทยา

ในศาสนายิว... เคลล์เนอร์ (Cellner, Menacharm) ได้อธิบายว่า นักศาสนาจารย์ชาวยิวได้อ้างโองการของพระเป็นเจ้าตามคำภีร์ว่า "ความมีคุณธรรม ความมีคุณธรรม เจ้าจงติดตามไป" ( Righteousness, righteousness, shalt thou pursue และ "เจ้าจงทำสิ่งที่เป็นความถูกต้องและความดีในพระฉายาของพระผู้เป็นเจ้า" ( Thou shalt do what is right and good in the sight of the the Lord นั่นคือ พระเป็นเจ้าทรงสั่งให้แสวงหาความมีคุณธรรม และพระเป็นเจ้าทรงสั่งให้กระทำความถูกต้องและความดีในกรอบของพระเป็นเจ้า แต่ในการดำเนินชีวิตจริงๆ นั้น เราไม่สามารถกระทำตามคำสั่งตามตัวบทในคำภีร์ได้ สิ่งที่เกินเลยไปจากตัวบทเหล่านั้นจัดเป็น การกระทำเหนือหน้าที่ กล่าวคือ ตามเหตุผลพื้นฐานเราไม่เคยปรับการกระทำของเราให้เป็นหนึ่งเดียวกับคำสั่งของพระเป็นเจ้าใน

ศาสนาคริสต์... นักบุญโทมัส อไควนัส (St. Thomas Aquinas) อธิบายว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ทั้งหลายจะเป็นสิ่งที่ดีได้ก็เพราะเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างขึ้นโดยนัยอันหลากหลายเพื่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติ นัยเหล่านี้ปรากฎเป็นสิ่งเฉพาะของพฤติกรรมตามลักษณะนิสัยของผู้กระทำ ส่วนพฤติกรรมที่เกินเลยข้อผูกพันของพระเป็นเจ้าจัดเป็น การกระทำเหนือหน้าที่ พฤติกรรมที่แสดงออกเหนือหน้าที่เช่นนั้นเป็นการแสดงออกด้วยความความรักในพระเป็นเจ้าซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดและบ่อเกิดเบื้องต้นของทุกสิ่งทุกอย่างอนึ่ง จริยศาสตร์คริสต์ปัจจุบัน ฝ่ายคาทอลิกยอมรับการกระทำเหนือหน้าที่ โดยแบ่งแยก คำแนะนำ ออกจาก คำสั่ง ของพระเป็นเจ้า กล่าวคือ สิ่งที่เป็น คำสั่งจัดเป็นหน้าที่ ส่วน คำแนะนำจัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ ...แต่ฝ่ายโปรแตสแตนท์ไม่ยอมรับการกระทำเหนือหน้าที่ โดยอ้างว่า จะเป็นคำสั่งหรือคำแนะนำก็ตาม ล้วนแต่เป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า และสิ่งใดก็ตามที่เป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าแล้ว จัดเป็นหน้าที่ทั้งหมด

ในศาสนาอิสลาม...นันจี (Nanji, Azim) ได้จัดการกระทำตามคำแนะนำไว้เป็นการกระทำเหนือหน้าที่ โดยประมวลการกระทำไว้ ๕ ประการคือ การกระทำที่เป็นหน้าที่ (ซากาด ศีลอด ฯลฯ) การกระทำตามคำแนะนำ ซึ่งจัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ (ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกรุณา การอธิษฐาน) การกระทำที่ยอมรับได้ (พิธีกรรมหรือธรรมเนียมโบราณที่เป็นกลางๆ เพราะไม่เกี่ยวกับการให้รางวัลหรือลงโทษ) การกระทำที่ถูกกีดกันไว้ (มิใช่ข้อห้ามที่เข้มงวด) และ  การกระทำที่เป็นข้อห้ามเด็ดขาด (การฆาตกรรม การผิดประเวณี การลบหลู่)

การกระทำเหนือหน้าที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเทววิทยาของศาสนาฝ่ายเทวนิยมเสมอมา จนกระทั้ง ปี พ.ศ.2501 (ค.ศ.1958) จึงเริ่มมีแนวคิดนี้เกิดขึ้นในจริยศาสตร์สากล ซึ่งผู้เขียนจะเล่าในหัวข้อต่อไป

๔. การเริ่มต้นของการกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์ร่วมสมัย

พ.ศ. ๒๕๐๑..เอิร์มสัน (Urmson,J.O) นักจริยปรัชญาชาวอังกฤษ ได้เขียนบทความชื่อ "Saint and Heroes" เพื่อวิจารณ์การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมตามประเพณี ๓ ประการ คือ การกระทำที่เป็นหน้าที่หรือข้อผูกพัน การกระทำที่ผิด และการกระทำตามปรกติซึ่งเป็นกลางๆ พอยอมรับกันได้ (ไม่ถูกไม่ผิด) ว่ายังไม่เพียงพอทางศีลธรรม ... เอิร์มสันได้ยกประเด็นว่ายังมีการกระทำแบบนักบุญและแบบวีรบุรุษซึ่งไม่สามารถสงเคราะห์เข้ากับการจัดประเภทตามนัยนี้ได้...

ตามตัวอย่างของเอิร์มสัน ... ในค่ายทหารที่กำลังฝึกการขว้างระเบิดด้วยระเบิดจริง หากว่ามีทหารนายหนึ่งปล่อยลูกระเบิดซึ่งถอดสลักแล้วให้หลุดจากมือในท่ามกลางกลุ่มทหาร ขณะที่ลูกระเบิดกำลังจะระเบิดนั้นก็มีพลทหารนายหนึ่งได้หมอบลงด้วยการเอาร่างกายทับลูกระเบิดไว้เพื่อป้องกันมิให้การระเบิดเป็นอันตรายต่อคนอื่นๆ... การกระทำเช่นนี้เอิร์มสันบอกว่าเป็นการกระทำแบบวีรบุรุษซึ่งไม่สามารถสงเคราะห์เข้ากับการกระทำ ๓ อย่างเบื้องต้นได้ เพราะเป็นการกระทำที่อยู่เกินเลยหน้าที่ซึ่งจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การกระทำเช่นนี้ ควรจัดเป็น "การกระทำเหนือหน้าที่" โดยเอิร์มสันได้ยืมคำในจริยศาสตร์เชิงเทววิทยามาใช้ในบทความนี้

พ.ศ. ๒๕๐๔ ... ไฟน์เบิร์ก (Feinberg, Joel) ได้เสนอบทความชื่อ "Supererogation and Rule" เพื่อวิจารณ์คำนี้ โดยไฟน์เบิร์กได้ตั้งประเด็นเรื่อง ของเขตของหน้าที่ สิ่งที่เกินหน้าที่ และ สิ่งที่มิใช่หน้าที่แต่มีคุณความดี ซึ่งการกำหนดค่าการกระทำเหล่านี้ขึ้นอยู่กับคำว่า "ควร" ...ไฟน์เบิร์กได้โยงเรื่องนี้ไปสู่เรื่อง ข้อเท็จจริงทางศีลธรรมและ การประเมินค่าทางศีลธรรม 

พ.ศ. ๒๕๐๖ ... ชิสโฮลม์ (Chisholm, Roderick, M.) ได้เสนอบทความชื่อ "Supererogation and Offence : A conceptual Scheme for Ethics" เพื่อเสนอรูปแบบการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรม ตามนัยของประพจน์ทางตรรกศาสตร์ ๔ ประการ คือ การกระทำที่จะต้องกระทำ การกระทำที่อาจกระทำได้ การกระทำที่จะต้องไม่กระทำ และ การกระทำที่ไม่จำเป็น ซึ่งการกระทำที่ไม่จำเป็นนี้เอง ชิสโฮลม์บอกว่าเป็น การกระทำเหนือหน้าที่

๓ บทความนี้ จัดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการศึกษาเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์ร่วมสมัย และเป็นปัญหาหนึ่งในทฤษฎีจริยศาสตร์ร่วมสัย กล่าวคือ แนวคิดทางจริยศาสตร์ร่วมสมัย ได้แก่ ลัทธิคานต์ ประโยชน์นิยม และจริยศาสตร์คุณธรรม จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร ?

หมายเลขบันทึก: 67087เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 02:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท