อินทรธนู


ราชบัณฑิตยสถานท่านว่า

คำว่า “อินทรธนู” (อ่านว่า อิน-ทะ-นู) มาจากคำว่า “อินทร” (อ่านว่า อิน-ทะ-ระ) สมาสกับคำว่า “ธนู” แปลตรงตัวคือ ธนูของพระอินทร์ หรือ แถบสีรุ้ง ใช้เรียกเครื่องประดับบ่าของตัวละครตัวพระและตัวยักษ์ ซึ่งเป็นรูปโค้งงอขึ้นไป 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้ใช้คำว่า “อินทรธนู” สำหรับเรียกเครื่องประดับบ่าเพื่อแสดงยศของทหาร ตำรวจ เสือป่า ลูกเสือ เป็นต้น 

เครื่องประดับบ่าอย่างนี้เดิมเรียกกันต่างๆ เช่น บ่า บ่ายศ หรือกำมะหยี่ติดบ่า ปัจจุบันเรียกว่า อินทรธนู หรือ บ่า

ข้าราชการ เมื่อแต่งเครื่องแบบชุดปฏิบัติการ จะมีเครื่องหมาย ป้าย และเข็ม หลักๆ ได้แก่ อินทรธนูประดับบ่าซ้ายขวา เข็มระบุสังกัดที่ปกเสื้อ ป้ายชื่อพร้อมตำแหน่งเหนือกระเป๋าเสื้อด้านขวา แถบแพรเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหนือกระเป๋าเสื้อด้านซ้าย - นอกจากนี้ ก็เป็นประเภทเข็มผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ หรือเข็มที่ระลึก เชิดชูเกียรติ

เรื่องขำขันที่มีให้เห็นกันอยู่บ่อยเกี่ยวกับการประดับแถบแพร เครื่องหมาย ป้าย เข็ม มักได้แก่การประดับอินทรธนูสลับข้าง - ใช่แล้วครับ อินทรธนูมีข้างซ้าย ข้างขวา ประดับผิดข้าง ถูกทัก อับอาย หน้าชาครึ่งค่อนวัน

เมื่อแรกบรรจุ จะได้รับคำแนะนำว่าให้สังเกตการม้วนขึ้นม้วนลง ด้านม้วนขึ้นจะอยู่ข้างหน้า - ก็ไม่เคยจำได้ว่าม้วนอะไรยังไง แล้วก็ไม่พ้นท่าไม้ตาย ใช้ปากกาเขียนลงด้านในอินทรธนูนะแหละ “ซ้าย” - “ขวา” ผ่านพ้นไปเป็นปี นั่งจ้องดูแบบใจจดจ่อ หาหลักจำใหม่ว่าด้านที่หางสั้นนะแหละ ให้หันมาข้างหน้า ส่วนด้านยาวอยู่ข้างหลัง - ทีนี้จำได้ไม่เคยลืม เอาไว้เป็นเกร็ดบอกข้าราชการใหม่ด้วย

อินทรธนูคู่หนึ่งก็ไม่แพงนะครับ แต่มักจะใช้กันจนคุ้ม โดนเหงื่อเป็นคราบดำ กาวเสื่อมสภาพ แลดูไม่เรียบร้อย บ้างก็อ้างว่าบิดามารดา ผู้บังคับบัญชาประดับให้ก็ไม่อยากเปลี่ยน บ้างก็เป็นนัยให้ผู้บังคับบัญชาได้รู้ได้เห็นว่าอยู่ในตำแหน่งระดับนี้มานานแล้วจนบ่าเปื่อย - เลื่อนระดับให้ทีเถิดจะได้ถึงคราวเปลี่ยนอินทรธนู

ผู้บริหารบางยุคสมัย ในเวทีมอบนโยบายถึงประกาศชัดว่า ห้ามข้าราชการประดับอินทรธนูที่เป็นคราบไคลดำ - ไม่ต้องใส่มาอวด มองหน้าก็รู้แล้ว ว่าอยู่เป็นชำนาญการยาวนานแค่ไหน

ส่วนป้ายชื่อและแถบแพรเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นานๆ จะได้เห็นคนประดับสลับข้างผิดสักที ด้วยมีคนผูกคำให้จำว่า “ยศซ้าย-ป้ายขวา”

----------------------------------------------------------------------
เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563
ที่สเตตัสใน facebook ตามลิงค์
https://www.facebook.com/17670...

หมายเลขบันทึก: 676761เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2020 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2020 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท