ธรรมชาติ เยียวยา "ชีวิต..."


ธรรมะ คือ ธรรมชาติ

ธรรมชาติ คือ การเป็นอยู่ และการดำเนินตามวิถีแบบปกติ ธรรมดา ๆ โดยอาศัยการพึ่งพากันและกัน

ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ ทุก ๆ อย่างล้วนแต่มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง แต่จุดหลักแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น มิเปลี่ยนแปลงไปให้สูงขึ้น หรือต่ำลง แต่เปลี่ยนแปลงกลับสู่ความเป็น "สมดุล" จากที่เคยมี และเคยเป็น

ที่ใดมีไฟ มีความร้อน ที่นั้นลมจะพัดเข้ามา 

เมื่อน้ำคลายความร้อนได้ช้ากว่าแผ่นดิน คราเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ลมย่อมพัดจากดินเข้าสู่ผืนน้ำ

เช่นเดียวกับคราเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า เมื่อดินดูดซับความร้อนได้รวดเร็วกว่าผืนน้ำ ลมจากผืนน้ำย่อมพัดเข้าสู่แผ่นดิน

จิตใจของคนเราก็เช่นเดียวกัน คราใดที่จิตใจรุ่มร้อนด้วยกิเลส ตัณหา ราคะ และอุปาทาน ลมพายุแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานจะลุกพือและถาโถมเข้าใส่จิตใจของเรา ธรรมะนั้นไซร้ คือ น้ำทิพย์ที่จะมาชโลมใจให้ไฟทั้งหลายเหล่านั้นดับลงไป

ธรรมะ คือ ธรรมชาติแห่งการให้ การเสียสละ

"การให้ทาน" คือ การสร้างสภาวะจิตใจให้ลด ละ เลิก เสียให้ได้จากความโลภ ปราศจากความตระหนี่ถี่เหนียว สร้างสมความสมดุลแห่งจิตใจให้เกิดความพอเพียง ร้อยเรียงวิถีชีวิตแห่งความดีงาม

อภัยทาน เป็นการสละเสียซึ่งความผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท เคยโกรธเกลียดใครมาหลายวัน หลายเดือน หลายปี อภัยทานนี้สามารถชำระหนี้แห่งความโกรธ ความเกลียดทั้งหลายเหล่านั้นได้ การให้อภัย และการแผ่เมตตา จึงนำมาซึ่งความช่ำชุ่มเย็นภายในจิตใจ

"การรักษาศีล" คือ การสร้างพื้นสร้างฐานแห่งชีวิตด้วยการละความชั่ว ทำความดี... การไม่ทำสิ่งที่ผิด ก็คือการทำสิ่งที่ถูกนั่นเอง เมื่อใดที่เกิดไฟแห่งความโกรธลุกโชนขึ้นในหัวใจ การไม่เติมลมจากความคิดของตัวเองนั้นไซร้ คือ การตัดปัจจัยของไฟที่จะลุกลามออกไปจนกลายเป็นมหันภัยที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต

ครั้งใดที่เกิดความโกรธ เราพึงรีบเปลี่ยนเรื่องที่กำลังคิดอยู่นั้น ถ้านั่งอยู่ ก็จงลุกขึ้นเดิน ถ้ามืออยู่ว่าง ๆ ก็ให้งานให้มือทำ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างห้องน้ำ รดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้ การขยับเขยื้อนร่างกายนั้นแลคือการเปลี่ยนความคิดโดยปริยายเช่นกัน

"การภาวนา" คือ การพิจารณาร่างกายนี้ ให้เห็นกายในกาย เห็นว่าสังขารร่างกายนี้มิใช่ตน มิใช่เป็นของของตน ก็เพื่อลดความลุ่มหลงที่ก่อเกิดในจิตใจของปุถุชน มิให้ลุ่มหลงกับความไม่จีรังยั่งยืน ร่างกายของเรานี้ถึงแม้เราจะดูแลอุปถัมภ์อุปัฏฐากเขาดีแค่ไหน เขาก็ย่อมแก่ ย่อมเจ็บ ย่อมตาย และเสื่อมสลายไปในที่สุด

เราพอใจในความแก่ที่เกิดขึ้นกับเรา

เราพอใจในความเจ็บไข้ไม่สบายที่เกิดขึ้นกับเรา

เราพอใจในความตายที่จะเกิดขึ้นได้กับร่างกายของเรา

เราพอในใจความพลัดพรากที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดากับชีวิตของทุก ๆ คน

"การภาวนา" คือการสร้างความพอใจให้เกิดขึ้นในจิตในใจ ไม่สู้รบปรบมือกับธรรมชาติ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่ต้องมีขึ้นมากับทุก ๆ คน เมื่อมีการเกิด ย่อมมีการแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากเป็นธรรมดา 

เราทุกคนจึงควรย้ำเตือนจิตใจตามพระดำรัสของพระตถาคตเจ้าครั้งสุดท้ายที่ท่านทรงมีเมตตาตรัสกับพวกเราทั้งหลายว่า

"สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและสร้างประโยชน์แก่บุคคลอื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

--------------------------------

อันความสุข ของชีวิต คือธรรมะ

ธรรมร้อยรัก ปกปักษ์ คุ้มครองมั่น

ภัยไฟร้าย มรสุม คุ้มครองพลัน

รู้เท่าทัน ภาวะจิต ที่ร้อนรน


อันสติ สัมปชัญญะ คือตัวเหตุ

เป็นธรรมเอก ใช้ดับไฟ ที่ลุกโหม

มีสติ รู้เท่าทัน มิพังโครม

แม้กายโทรม แต่ใจยัง หยัดอยู่ยืน


โปรดให้แสง แห่งพระธรรม ส่องยังจิต

เป็นนิมิต เห็นปลายทาง อันสุขสันต์

จากที่มืด กลับสว่าง เห็นทางพลัน

ก้าวย่างมั่น ด้วยเห็นแจ้ง ซึ่งแสงธรรม...

หมายเลขบันทึก: 689121เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท