พักผ่อนกายใจ ใน "สมาธิ..."


การทำสมาธิ คือการพักผ่อนจิตใจจากความโลภ ความโกรธ ความหลง 

อันที่จริง การพักผ่อนจิตใจด้วยทำสมาธินั้น เราจะทำในอิริยาบถใดก็ได้ จะนั่ง จะยืน จะเดิน แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้ท่านั่ง เพราะการนั่งนั้นทำให้กายของเราสงบ 

ถ้านอนก็สบายเกินไป ถ้าเดินก็ลำบากจากการขยับเขยื้อนร่างกายมากเกินไป 

การนั่งนั้น เราจะนั่งกับพื้นก็ได้ ขัดสมาธิก็ได้ พับเพียบก็ได้ หรือถ้าใครแข้งขาไม่ดีเราก็นั่งบนเก้าอี้ นั่งสบาย ๆ ไม่ต้องกด ต้องเกร็ง หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย

หากเครียดเราจะไปถึงทางตัน...

สมาธิ คือ ความไม่โกรธ ไม่โกรธ ไม่หลง ความสงบเราก็ไม่เอา ความไม่สงบเราก็ไม่เอา เราทำของเราไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แหละ หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย คลายความยึดมั่นถือมั่นออกจากจิตจากใจ

บางครั้งยังไม่ทันได้นั่งก็อยากให้สงบแล้ว ไม่อยากที่จะปวดแข้งปวดขาแล้ว... ความอยาก และความไม่อยากนี้เอง เป็นศัตรูตัวสำคัญที่จะขวางกั้นเราจากความสงบ

หากเรากำลังเดินทางไปที่ไหน แล้วมีคนขับรถให้ คือ เราไม่ต้องขับรถเอง... เราก็นั่งหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย อาจจะหลับตาก็ได้ เพราะถ้าตามองโน่นมองนี่ในขณะที่สติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์ เราก็จะเผลอรับเอาสิ่งภายนอกเข้ามาปรุงแต่งจิตใจให้ฟุ้งไปเรื่อย

เห็นรถคันสวย ๆ แล้วก็ฟุ้ง เห็นบ้านหลังโต ๆ แล้วก็ฟัง ยิ่งเปิดโทรศัพท์มือถือดูก็ยิ่งฟุ้ง

ดังนั้นในเบื้องต้นท่านถึงแนะนำให้หลับตา เพื่อตัดการรับรู้สิ่งที่จะนำมาสู่การปรุงแต่งทางจิตใจ ครั้นพอสติสัมปชัญญะเราสมบูรณ์ขึ้นเมื่อใด เราก็ต้องเปิดตาขึ้นเพื่อสู้กับมัน...

ท่านจึงเปรียบเทียบว่า "การทำสมาธิเหมือนกับหินทับหญ้า" คือ เมื่อยกก้อนออกมา หญ้าที่เคยถูกทับไว้นั้นก็ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่

ฉันใดก็ฉันนั้น การทำสมาธิ เป็นการฝึกการหัดในเบื้องต้น การหลับตายังไม่ใช่วิธีที่ใช้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงเครื่องฝึกสติ ฝึกสมาธิของเราให้แข็งแรง แข็งแกร่ง พร้อมที่จะเปิดตาสู้กับปัญหาที่แท้จริง

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น มิใช่การเดินทางมาอยู่ที่วัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมต่าง ๆ เพราะว่าที่วัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมต่าง ๆ นั้น มีการจัดและตัดสิ่งเร้า สิ่งกระทบต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อและง่ายต่อการ "ฝึกปฏิบัติธรรม"

การประพฤติปฏิบัติที่แท้จริงนั้น อยู่ที่บ้านเรานั่นแหละ อยู่ที่ที่ทำงานของเรานั่นแหละ อยู่ในสังคมที่เรากำลังดำรงชีพอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ

การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานก็คือการปฏิบัติธรรม สองอย่างนี้ต้องเดินไปด้วยกันจะแยกจากกันไม่ได้

เราไปทำงาน เราก็ต้องคิดดี ทำดี พูดดี ทำเพื่อให้ เพื่อเสียสละ

ศีล ๕ เป็นศีลของประชาชนผู้ครองเรือน

บางคนก็แย้งว่า ถ้าเรารักษาศีล ๕ เราจะทำมาหากินได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ ซิกแซกบ้าง คอร์รัปชั่นบ้าง ก็ยังไม่พอกิน 

การรักษาศีล ๕ นี่แหละจะทำให้เรารวย เราเฮง เพราะทุกคนต่างยอมรับและแสวงหาบุคคลผู้ที่มีศีล ความซื่อสัตย์ สุจริต ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ถึงแม้ในตอนแรกจะไม่หวือหวา แต่ก็เป็นพื้นเป็นฐานในการเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงและยาวนาน

ศีลนั้นจึงเป็นพื้นฐานของสมาธิ เพราะผู้ที่รักษาศีลได้ย่อมเป็นบุคคลที่มีจิตใจแข็งแรง แข็งแกร่ง มีความยับยั้งชั่งใจ ละอายชั่ว กลัวบาป จะทำผิดในสิ่งใด สติที่เกิดจากพื้นฐานแห่งสมาธิก็จะมาเป็นเครื่องป้องกันเราในการที่จะไปทำความผิดในครั้งนั้น ๆ 

การฝึกสติอย่างง่ายที่สุดก็คือ ครั้งใดที่เครียด ที่โกรธ หรือมีความโลภเข้ามาครอบงำ ขอให้ใช้สติในการกระทำโดยการ "หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย" นอกจากจะเป็นการทำสมาธิให้แก่จิตใจแล้ว ยังเป็นการเติมออกซิเจนเข้าไปในระบบสมอง ให้สมองได้ทำงาน แทนที่จะเปิดโอกาสให้ "อารมณ์"

เพราะตอนที่เราโกรธ เราโลภ เราเครียดกับสิ่งต่าง ๆ ลมหายใจของเราจะสั้น หัวสมองก็ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ คิดไม่ออก คิดไม่ทัน ร่างกายนั้นระบบการฟอกเลือด การหมุนเวียนโลหิตก็ชะงักงัน ทำให้เกิดความเครียด ความเกร็งในระบบของกล้ามเนื้อและเซลล์ต่าง ๆ 

คนเราตอนร่างกายดี ๆ ความคิด ความอ่านก็อย่างหนึ่ง ตอนเจ็บไข้ไม่สบาย ความคิด ความอ่านก็อีกอย่างหนึ่ง

ทุกอย่างเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อกัน 

ดังนั้น การปรับสมดุลของชีวิตและร่างกายจิตเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย ให้จิตใจได้ผ่อนคลาย และให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ

การทำสมาธินั้นถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นทำได้ง่าย ๆ แล้วเกิดผลประโยชน์อย่างมากแต่จิตใจและร่างกาย เพื่อให้เราดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างสมดุล...

หมายเลขบันทึก: 689137เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2021 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท