พุทธเศรษฐศาสตร์ : มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจ Part I


การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้มาก... แต่การเรียนรู้ทั้งหลายเหล่านั้นต้องเกิดจากการปฏิบัติที่แท้จริง...

การเรียนจากหนังสือ หรือการทำกิจกรรมจากแบบจำลองต่าง ๆ นั้นถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดี แต่ทว่าขาดสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ "ปัญหา"

การเรียนรู้ที่จะได้โจทย์ที่แท้จริงคือการเรียนรู้จากปัญหา หรือการสร้างคุณค่าจากความยากลำบาก

กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในห้องส่วนใหญ่เป็นการทดลอง คือ ผิดก็ไม่เป็นไร เอาใหม่ได้

แต่ทว่า หากเป็นโจทย์ที่แท้จริงของชีวิต การผิดพลาดนั้นอาจหมายถึงความล้มละลายทางเศรษฐกิจของครอบครัว

-------------

เราจะเห็นได้จากความเป็นจริงในเรื่องของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร 

การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสิ่งใด ๆ หรือการปล่อยให้ผลิตไปตามยถากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นั้น ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด...

ประเทศของเรา ทำอะไรก็ทำตามกัน รวยก็รวยตามกัน จนก็จนตามกัน

เช่นเดียวกันงานทางด้านวิชาการ เราเห็นประเทศไหนเขาทำสิ่งใดแล้วขายได้ดี หรือสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ เราก็จะนำความรู้เหล่านั้นมาผลักดันให้เกษตรกรในบ้านเราเขาปลูกกัน

นักวิชาการ มีรายได้จากเงินเดือน ค่าวิทยากร ค่าเขียนหนังสือทางวิชาการต่าง ๆ แต่พี่น้องเกษตรกรทั้งหลายเหล่านั้น เขามีรายได้จากสิ่งที่เราเข้าไปส่งเสริมจริง ๆ ถ้าเป็นหนี้ก็เป็นหนี้จริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลขที่นักวิชาการเอามาวิเคราะห์ทางสถิติ

------------

หลักการทางพุทธเศรษฐศาสตร์ เน้นกระบวนการเรียนรู้ แต่มิใช่เน้นการถ่ายทอดความรู้ลงไปสู่ชุมชน

นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ต้องตั้งฐานะตนเองไว้ในตำแหน่ง "ผู้ติดตาม" เท่านั้น เพียงเฝ้าดู และเรียนรู้สิ่งที่ชุมชนทำ

เศรษฐกิจชุมชน ต้องเกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้จากความยากลำบากอันทรงคุณค่าของชุมชน

ดังเช่นครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยไปเปิดเวทีทำวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ของชุมชนบ้านผาตูบ จังหวัดน่าน สิ่งที่ข้าพเจ้าเตรียมไปในสมัยนั้นก็เป็นวิชาการแบบที่ใคร ๆ เขาทำกัน แต่ทว่าข้าพเจ้ากลับไปพบสิ่งสำคัญที่ไม่คาดคิดที่จะได้เจอ

ในขณะเปิดเวทีอยู่นั้น พี่น้องประชาชนที่เข้ามาร่วมเวที หูก็ฟังไป มือก็ถักสานไม้ไผ่ไป ข้าพเจ้าจึงได้ทราบว่า หมู่บ้านนี้ที่แท้จริง เศรษฐกิจฐานรากมาจากการถักไม้ไผ่ขาย

"การว่างงานแอบแฝง" เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่วิชา "เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น" แต่ทว่า อาชีพของผู้หญิงและเด็ก ที่เปิดร้านขายของก๊อก ๆ แก๊ก ๆ อยู่กับบ้าน กลับมีงานที่ทำให้มือไม่ว่าง และสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง

การถักสานไม้ไผ่ขายที่มีรายได้แน่นอนวันละสองร้อยถึงสามร้อยบาท เป็นสิ่งที่ประกันความมั่นคงทางรายได้ของครอบครัว

เพราะการค้าขายตามชุมชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการขายของเบ็ดเตล็ด การขายก๋วยเตี๋ยว น้ำแข็งใส ลูกชิ้นปิ้ง ทั้งหลายเหล่านี้ บางวันก็ขายได้ บางวันก็ขายไม่ได้ และการซื้อที่ไม่ได้เกิดรายได้จากลูก ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางด้านรายจ่ายของครอบครัว

------------

ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ข้าพเจ้าจะชี้ให้เห็นว่า เวลาที่เราเข้าไปในชุมชน สิ่งสำคัญที่เราควรเตรียมที่สุดก็คือ เตรียมภาชนะของเราให้ว่าง ดังเช่นที่นักปรัชญาเปรียบเปรยไว้ว่า "ไม่ทำตัวเป็นน้ำล้นแก้ว" นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่เตรียมตุ๊กตาหรือความรู้ทางวิชาการใด ๆ เข้าไปอัดใส่ในชุมชน

เราเป็นเพียงผู้ติดตาม ผู้สะกดรอยตาม และตัดซึ่งความคาดหวังว่าเราจะได้อะไร

เพราะหัวใจของพุทธเศรษฐศาสตร์ คือ การให้ การเสียสละ ดังนั้นเราจึงต้องละ ต้องตัดให้ได้ซึ่งสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เราจะเข้าไป "เอา" ในชุมชน

เราทำสมองว่าง ๆ ทิ้งหนังสือทิ้งวิชาการไว้ที่บ้าน สองขาก้าวเดิมพร้อมกับจิตใจที่เสียสละ แล้วเราจะเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้จากชุมชนที่แท้จริง

-------------

หมายเลขบันทึก: 690027เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2021 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2021 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท