พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) ในชีวิตประจำวัน...



ในแต่ละวัน คนเรามีความต้องการ (Demand) และมีการตอบสนองความต้องการของตนเอง (Supply) เป็นเรื่องปกติ ทั้งในเรื่องของความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตในเรื่องของปัจจัย ๔ รวมถึงความต้องการเสริมที่มีกิเลส ตัณหา ราคะ อุปาทานเข้ามาแต่งเติม


บางคนมีมาก บางคนมีน้อย

บางคนที่มีความต้องการ (Demand) มาก แต่มีการตอบสนองความต้องการ (Supply) นั้นได้น้อย ก็เป็นทุกข์ เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐาน โดยเฉพาะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกิเลสได้

บางคนที่มีความต้องการ (Demand) มาก แต่ก็มีการตอบสนองความต้องการ (Supply) ได้มากนั้น ก็เหมือนว่าจะไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าคิดดูดี ๆ แล้ว มันเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ เพราะกิเลสของคนนั้นเป็นเสมือนแม่น้ำมหานที ที่ถมเท่าไหร่ไม่เคยเต็ม มีเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ พอตอบสนองความต้องการได้เท่านี้ กิเลสก็เรียกร้องว่า เอาอีก เอาอีก เอาอีก จึงทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาไปเรื่อย เมื่อต้องดิ้นรนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ย่อมเป็นทุกข์

บางคนมีความต้องการ (Demand) น้อย แต่มีการตอบสนอง (Supply) ได้มากนั้นก็ยังเป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่มีและเกินมาก็ต้องคอยเฝ้าระวังเก็บกักรักษาให้ดี ยิ่งมีมากก็ทุกข์มาก กลัวโจรภัย กลัวทั้งภัยจากธรรมชาติ ทั้งจากไฟ จากลม น้ำ ดินฟ้า อากาศ มาพลัดพรากสิ่งที่ตนเองเก็บรักษาไว้นั้นให้มลายหายไป

บางคนมีความต้องการ (Demand) น้อย แต่ก็มีการตอบสนอง (Supply) ได้น้อยก็ยังมีความทุกข์ เพราะยังมีการคิดเปรียบเทียบว่าตัวเองนั้นอ่อยด้อย เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินน้อย เป็นผู้ที่ด้อยค่าทางสังคม


ทำอย่างไรถึงจะไม่มีทุกข์...?

แนวทางที่จะทำให้ไม่มีทุกข์ได้คือจิตใจของเราต้องมี “ฉันทะ” คือ มีความพอใจในสิ่งที่ตนมี

มีความพอใจทั้งในความต้องการ (Demand) รวมถึงมีความพอใจในสิ่งที่จะมาสนองความต้องการ (Supply) ทั้งหลายนั้น

ถ้าเรามีความพอใจแล้ว เราจะตัดความทุกข์ทั้งหลายลงไปได้อีกมาก จนกระทั่งถึงตัดความทุกข์จากความต้องการได้เด็ดขาดอย่างที่สุด...

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านจึงทรงเมตตาคิดค้นแนวทางแห่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้เรามีความสุขจากความพอเพียง และเพียงพอ

ทุกคน ทุกตำแหน่ง ทุกฐานะ ทุกอาชีพ สามารถเข้าถึงความสุขจากความพอใจได้ตามแนวทางแห่งเศรษฐกิจพอเพียง...

หัวใจของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือความพอใจนั่นเอง...

มีน้อยก็พอใจ มีมากก็พอใจ ไม่มีก็พอใจ ทำงานอะไรก็พอใจในงานที่ตนเองทำ พร้อมกับทำหน้าที่ทั้งหลายเหล่านั้นให้ดีที่สุด


หัวใจแห่งเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นไปแนวทางแห่งหัวใจของพุทธเศรษฐศาสตร์

พระพุทธเจ้าท่านมีเพียงบาตรหนึ่งใบ มีผ้าเพียงสามผืนไว้นุ่งห่ม ร่มไม่กาง รองพระบาทก็ไม่มี แต่ท่านก็พอใจและมีความสุขใจในสิ่งที่ท่านมี ท่านเป็น

การดิ้นรนแสวงหาตามหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนี้แหละเป็นตัวการแห่งความทุกข์

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะพยายามกระตุ้นให้พวกเราทั้งหลายออกไปใช้ ไปจ่าย เพื่อให้วงล้อแห่งระบบเศรษฐกิจหมุนวนไปได้ให้มากรอบและหมุนให้ไวที่สุด

นักการตลาดจึงมีหน้าที่กระตุ้นให้พวกเราออกจากบ้านเพื่อไปใช้จ่ายเงิน นักโฆษณาก็พยายามสร้างสิ่งเร้า ให้เรานั้นรุ่มร้อน อยู่บ้านไม่ได้ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องออกไปใช้จ่ายเงินซื้อวัตถุสิ่งของ หรือไปใช้จ่ายเงินในธุรกิจบริการต่าง ๆ


ทุก ๆ คนนับถือเงินเป็นพระเจ้า... งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

เราถูกหล่อหลอมให้เรียน ให้ทำงาน เพื่อจุดมุ่งหมายให้ได้มาซึ่ง “เงิน”

เงินสามารถซื้อทุกสิ่ง เงินสามารถซื้อความสุขได้ตามความหมายตามนิยามความสุขของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

เงินนั้น สามารถซื้อความสุขได้จริง แต่ว่าเป็นความสุขแบบชั่วครั้งชั่วคราว

ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถใช้เงินซื้อความสุขได้จากการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ

แต่ถ้าลองย้อนคิดดู เราเอาเงินจากไหนไปเที่ยว เงินที่เราเอาไปเที่ยวคือเงินที่เราต้องทำงานเก็บเงินมาทั้งเดือน ทั้งปี แล้วสิ้นปีก็ใช้วันลาพักผ่อนไปใช้เงินเหล่านั้น

เวลาที่เราทำงานเก็บเงินมาทั้งเดือนทั้งปีนั้น เป็นเวลาที่เรามีความสุขหรือไม่..?


ถึงได้กล่าวข้างต้นว่าการทำงานในระบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแบบนี้เป็น “ทุกข์ซ้อนทุกข์”



คนเราต้องตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้าน ฝ่าฟันปัญหาการจราจร ทั้งฝุ่นละออง และอันตรายต่าง ๆ เพื่อไปเข้าทำงานให้ทันเวลา

เวลาทำงานก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำ เจอเพื่อนดีก็มี เพื่อนไม่ดีก็มี หัวหน้างานดีก็มี หัวหน้างานไม่ดีก็มี ลูกน้องดีก็มี ลูกน้องไม่ดีก็มี ลูกค้าดีก็มี ลูกค้าไม่ดีก็มี ทุก ๆ วันทุก ๆ เวลาเราต้องสุขบ้าง ทุกข์บ้างคละเคล้ากันไปตลอดทั้งวัน โดยความอดทนทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เพราะหวังว่าตอนสิ้นงดสิ้นเดือนเราจะได้รับรางวัลแห่งความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็คือ “เงิน”

แล้วเราก็นำเงินนั้นมาบริหารจัดการ จ่ายค่าบ้าน ค่างวด ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายของครอบครัว แล้วก็กันเงินไว้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้หาความสุขตอนสิ้นปีก็คือ การไปท่องเที่ยวตามที่นักการตลาดได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้ว่านั่นแหละ คือ “ความสุข...”


การที่ได้เขียนมานี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เราทั้งหลายหวังว่าจะหาความสุขในอนาคต คิดว่าความสุขนั้นอยู่ที่นั่นที่นี่

แต่หลักการของพุทธเศรษฐศาสตร์ หรือแนวทางตามปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง นั้นให้เรากลับมาหาความสุขจากความพอใจ ซึ่งเป็นความสุขที่หาได้ในปัจจุบัน

เรามีครอบครัวแบบนี้เราก็มีความสุข เรามีบ้านพออยู่พออาศัย กันแดด กันฝน กันลมพายุได้เราก็พอใจ เรามีรถคันหนึ่งพอที่ใช้ขับไปทำงานได้เราก็พอใจ เรามีอาหารเพียงพอที่จะประทังชีวิต และดับทุกขเวทนาทั้งหลายได้เราก็พอใจ เรามีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มพอที่จะปกปิดอวัยวะแห่งความละอาย และสามารถสวมใส่ไปได้ตามกาละ ตามเทศะ ตามตำแหน่งหน้าที่การงานที่เหมาะสมเราก็พอใจ

ถ้าเรามีความพอใจเราก็สามารถหาความสุขได้ง่าย ๆ ทุก ๆ ลมหายใจในปัจจุบัน

การสร้างสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

เพราะถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติ การดำเนินชีวิตของเราก็ดำเนินไปอย่างถูกต้อง

ดังนี้เอง พุทธเศรษฐศาสตร์ และปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง จึงมิใช่เป็นเพียงเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ที่มีไว้แค่ให้เราเลือก หรือให้นักวิชาการมาศึกษา มาวิจัย แต่เศรษฐศาสตร์ที่เน้นความพอใจนี้เอง ควรเป็นเศรษฐศาสตร์พื้นฐานของชีวิต ให้มีความสุขจากความพอใจนั้นตามติดในทุก ๆ ชีวิต ทุก ๆ ลมหายใจ...


เศรษฐศาสตร์ แห่งสุข คือพอใจ

เศรษฐศาสตร์ ไร้ภัย คือพอเพียง

เศรษฐศาสตร์ คู่เคียง คือการให้

เศรษฐศาสตร์ แห่งใจ คือการเสียสละ...

***

อันความสุข นี้หนอ คือฉันทะ

เป็นความสุข จากการละ ความยึดมั่น

นั่นตัวกู นั่นของกู แบ่งแยกกัน

นั่นของฉัน นี่ของเธอ ฟุ้งเฟ้อเกิน



***

อันฉันทะ คือพอใจ ในสิ่งมี

มีเท่านั้น มีเท่านี้ พอแล้วหนอ

ศาสตร์ของพ่อ ศาสตร์พอเพียง เน้นเพียงพอ

ไม่ร้องขอ มีแต่ให้ ด้วยใจจริง



***

หากรู้พอ ทุกคนหนอ จะรู้สุข

รีบเร่งรุด ขวนขวาย ในการให้

เพราะพอแล้ว ย่อมมีเผื่อ เจือจานไป

จิตผู้ให้ เสียสละ ย่อมเกิดมี



***

จิตเดิมแท้ ของมนุษย์ ประภัสสร

กิเลสจร ปกคลุม ให้มืดเขลา

มีเท่าไหร่ ก็ไม่พอ หนอคนเรา

เงินเท่าเขา เท่าเลากา ยังไม่พอ



***

คนมีน้อย หากรู้พอ ก็มีสุข

คนมีมาก หากรู้ทุกข์ ย่อมทานให้

การให้ทาน คือละโลภ จากจิตใจ

โลภหายไซร้ จิตย่อมถึง ความเพียงพอ...

หมายเลขบันทึก: 690462เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2021 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2021 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท