๑,๒๔๗ ชยันโตโมเดล


"ที่กล่าวมาทั้งหมด ยังมิใช่ความสำเร็จในอาชีพ “ครู” แต่ประการใด เพราะไม่ได้คาดหวังมากมายนัก แค่รู้สึกว่า ๑๕ ปี ๖ เดือน ในโรงเรียนขนาดเล็ก กับโค้งสุดท้ายที่รอเกษียณ มันได้ผ่านอะไรมาบ้าง? จึงมีความสุขอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้.."

          ครบรอบ ๑๐ ปีพอดี ที่มีโมเดลในการบริหารจัดการ โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นของตัวเอง ถึงแม้จะไม่ส่งผลในแง่ของโล่รางวัลเกียรติยศหรือวิทยฐานะ แต่ก็ทำให้ยิ้มกริ่มได้ทุกครั้งเมื่อนึกถึง จึงถือได้ว่าเป็นโมเดลในชีวิตของการรับราชการครู ที่ดีต่อใจมิใช่น้อย

          ปีพ.ศ.๒๕๕๕ อยู่กับครู ๔ คน นักเรียน ๖๐ คน ก็ว่าเยอะแล้วนะ วันนี้ห่างกันลิบลับ ชีวิตครูเปลี่ยนไปพร้อมกับโรงเรียนที่เปลี่ยนแปลง ครู ๑๐ คน นักเรียน ๑๐๕ คน หากไม่ยกความดีให้กับ”ชยันโตโมเดล”ก็ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว

          หลายคนตั้งขอสังเกตว่า..จำง่ายดี ก็บอกไปว่า..ทำก็ง่ายด้วยนะ นักวิชาการให้คำแนะนำว่าต้องมีพันธกิจ...เขียนเป็นกรอบหรือวงจรการทำงานที่ลงสู่ภาคปฏิบัติ อันนี้ก็ได้ทำแผนภูมิไว้ชัดเจนแล้ว แต่วันนี้อยากพูดถึงหัวข้อที่เป็นประเด็นหลักมากกว่า

          ธุรการ ONE STOP SERVICE  ทำให้นึกย้อนไปเมื่อก่อนโน้น ยังไม่มีครูธุรการ ผอ.ต้องทำเอง รับและส่ง ชงเองทุกเรื่องราว ครูมีหน้าที่สอนไป ถึงเวลาครูก็รับทราบและปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับครูจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องโต้ตอบทั่วไป ผอ.จะเหมาหมด

          ทุกวันนี้..มีครูธุรการแล้ว ผอ.ก็ยังลงไปช่วยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความรวดเร็ว ให้ครูได้รับทราบข่าวสารได้เร็วขึ้น..ขณะเดียวกัน..ครูธุรการก็ยังเหลือเวลาที่จะไปช่วยครูที่ห้องเรียนได้อีกด้วย

          ผลสัมฤทธิ์เริ่มที่อนุบาล...ครูและนักเรียนอนุบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต้องนิเทศ กำกับ ติดตาม สนับสนุนช่วยเหลืออย่างจริงจังและตั้งใจ เพราะจะว่าไปแล้ว เด็กประถมฯจะอ่านเขียนได้แข็งแรงแค่ไหน ก็อยู่ที่พื้นฐาน คือชั้นอนุบาลฯนั่นเอง

          พัฒนางานประกันคุณภาพภายในแบบบูรณาการ...งานวิชาการเป็นงานหลักของโรงเรียนขนาดเล็ก การเรียนการสอนต้องใช้ “ภาษาไทย” เป็นแก่นแกน โครงการฯไม่ต้องมาก แต่ต้องมีกิจกรรมที่ประยุกต์ใช้แหล่งเรียนรู้ ควบคู่กับการปฏิบัติ เพื่อให้งานประกันคุณภาพมีความชัดเจน

          ประส่านเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชน ตลอดจนถึงภาคเอกชนด้วย ที่ต้องขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณ เป็นที่มาของ “เงินรายได้สถานศึกษา” ที่พัฒนาไปสู่การจัดจ้างครูพิเศษทำให้มีครูครบชั้น หมั่นสื่อสารกับผู้ปกครองและองค์กรท้องถิ่น เพื่อสร้างสายธารแห่งศรัทธา ที่ไหลหลั่งมาสู่โรงเรียนอย่างไม่ขาดสาย

          พัฒนาตนและบุคลากรด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพียงแค่ผอ.ร.ร. “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง” ดีกว่าการคอยบอกคอยสอน หรือออกแต่คำสั่ง ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กยังต้องการ “หัวใจ”ในการทำงานร่วมกัน ต้องอาศัยภาวะผู้นำและการเสียสละของผู้บริหาร...นั่นเอง

          ที่กล่าวมาทั้งหมด ยังมิใช่ความสำเร็จในอาชีพ “ครู” แต่ประการใด เพราะไม่ได้คาดหวังมากมายนัก เพียงแค่รู้สึกว่า ๑๕ ปี ๖ เดือน ในโรงเรียนขนาดเล็ก กับโค้งสุดท้ายที่รอเกษียณ มันได้ผ่านอะไรมาบ้าง? จึงมีความสุขอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้..

          ขอบคุณ..”ชยันโตโมเดล” ที่กำลังช่วยนำพาให้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และขอบคุณ “วันครู” ที่ไม่ทำให้ลืมตัวลืมตน จนมาถึงอายุย่าง ๖๐ ปี ที่ไม่เคยหมดไฟแห่งความฝันเลย

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๖ มกราคม ๒๕๖๕

 

    

  

หมายเลขบันทึก: 696203เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2022 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2022 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความสุข สร้างได้ ใกล้ตัว ด้วยชยันโตโมเดล ยอดเยี่ยมมาก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท