๑,๓๓๙ นวัตกรรม...ไม่ได้จำกัดอายุ


  วิธีการสอนแบบเก่าที่ผมนำมาใช้ เคยรู้จักกันทั่วไปที่เรียกว่า..ทักษะสัมพันธ์ ทุกวันนักเรียนต้องฟัง พูด อ่าน และเขียน เรียกว่าครบวงจรกันเลยทีเดียว

          ผมดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษามา ๒๐ กว่าปี ปฏิบัติหน้าที่เสริมด้วยการสอนหนังสือมาโดยตลอด ทำได้ดีกว่างานบริหารเสียอีก

          แล้วถามว่า..จะมาเป็นผู้บริหารทำไม? คำตอบคือ เพื่อที่จะทำงานสอนได้ง่ายขึ้น

          เมื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ จะมีเวลามากพอที่จะคิดวิธีสอน “ภาษาไทย” โดยไม่ยึดติดตำราเสียทีเดียว แต่จะใช้จิตวิทยาผสมผสานการสอนแบบบ้านๆ ให้เข้าถึงผู้เรียนได้มากที่สุด

          แรกเริ่มเดิมที มุ่งเน้นที่ ป.๔ – ป.๖ เพื่อพุ่งเป้าไปที่การสอบโอเน็ต ที่ยากเย็นแสนเข็ญ แล้วโรงเรียนก็ไม่มีครูวิชาเอกหลักๆเสียด้วย หากเด็กอ่านได้เขียนได้ ก็ต้องอ่านข้อสอบได้

        เมื่ออ่านข้อสอบได้ การคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ ก็ไม่น่าจะยากเกินไป ยังไงก็คงจะควานหาคำตอบที่ถูกต้องได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

          ทุกวันนี้ การวัดและประเมินผล ที่ส่อแววว่าผลสัมฤทธิ์จะต่ำลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นประถมฯหรือมัธยมฯ มิได้เกิดจากเด็กเรียนไม่ครบหลักสูตร แต่เป็นเพราะเด็กอ่านหนังสือไม่ออกมากกว่า....

          ปีการศึกษานี้ มีแนวคิดที่แปลกใหม่ขึ้นมา ขอร่ำลาการสอนประถมปลาย บ่ายหน้ามาหานักเรียนชั้นป.๑ – ป.๓ เต็มตัว โดยใช้เวลาอยู่กับ ป.๑ เป็นพิเศษ

          เพราะเป็นชั้นที่สำคัญที่สุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากเริ่มต้นดีมีชัยไปมากกว่าครึ่ง บทเรียนที่เคยผ่านมา พบว่า เด็กป.๑ ที่อ่านหนังสือไม่ได้ จะกระท่อนกระแท่นไปเรื่อย จนถึง ป.๖

          ปีนี้ บอกได้เลยว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากเด็ก ป.๑ รุ่นนี้ คือผลผลิตในท่ามกลางของสถานการณ์โควิด ๑๙ หรือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างที่ไม่ต้องสงสัย

          ๒ ปีที่ผ่านมา หรือตอนที่พวกเขาเรียนอยู่ชั้น อนุบาล ๒ และอนุบาล ๓ โรงเรียนเปิดสอนแบบ ONSITE แบบลุ่มๆดอนๆ ON HAND ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

          ONLINE น่ะหรือ ล้มเหลวตั้งแต่คิดแล้ว จึงเป็นแบบออนไลน์ทิพย์ในวงการศึกษาไทยนั่นเอง

          ผมคิดวิธีการ หรือคิดนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ให้ตรงกับปัญหาของเด็กชั้น ป.๑ ที่มีพื้นฐานไม่แน่นหนา ตกๆหล่นๆเรื่องพยัญชนะไทย จำสระง่ายๆไม่ค่อยจะได้กันเลย

          ภาคเรียนแรก..เน้นย้ำซ้ำทวนอยู่แค่พยัญชนะกับสระเท่านั้น กว่าจะผ่านแต่ละบทเรียนต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ก็ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนในชั้น ป.๑ ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

          ผมจำเป็นต้องแยก โดยแบ่งนักเรียนเป็น ๒ กลุ่ม เหมือนจะซุ่มทำการทดลองในกระบวนการวิจัย R & D ยังไงยังงั้น แต่แท้ที่จริงไม่ใช่เลย ผมก็แค่ต้องการใช้นวัตกรรมอย่างจริงจัง

          แล้วเด็กกลุ่มน้อย ที่ยังตามเพื่อนไม่ทัน ผมให้อยู่กับครูประจำชั้นเพื่อสอนซ่อมเสริม ส่วนผมอยู่กับเด็กจำนวน ๑๐ คน ที่มีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่ RT (Reading Test)

          คือการสอบระดับชาติ ที่ใช้ข้อสอบกลาง ประเมินการอ่านการเขียนโดยเฉพาะ

          ภาคเรียนที่ ๒ ผมประยุกต์ใช้นวัตกรรมจาก    “หนองแกโมเดล” ยอมลงทุนมากมายเพื่อจัดซื้อสื่อหนังสือเรียนจากเจ้าของนวัตกรรม แล้วมาใช้ในแบบของบ้านหนองผือ

          โดยผสมผสานไปกับหนังสือของกระทรวงฯที่ชื่อ..ภาษาพาที..และวรรณคดีลำนำ...

          ผมจึงทำเรื่องที่ยาก ให้ค่อยๆง่ายดายไปเรื่อยๆ ปัจจัยที่เอื้อให้ง่ายก็คือ จำนวนเด็กไม่มากและเด็กๆสนใจ ใฝ่ที่จะรู้และใฝ่ที่จะเรียนกับ ผอ.

          วิธีการสอนแบบเก่าที่ผมนำมาใช้ เคยรู้จักกันทั่วไปที่เรียกว่า..ทักษะสัมพันธ์ ทุกวันนักเรียนต้องฟัง พูด อ่าน และเขียน เรียกว่าครบวงจรกันเลยทีเดียว

          การฟัง คือฟังผอ.พูด(นอกเรื่อง) เพื่อนำเข้าสู่บทเรียน จากนั้นค่อยฟังเพื่อนพูดบ้าง

         การอ่าน จะอ่านเป็นคำได้ ก็ต้องอ่านสะกดคำกันทุกคน แล้วจึงสะกดทีละคน จึงจะได้อ่านเป็นคำและเป็นประโยค สุดท้ายก็อ่านเรื่องสั้นๆที่เป็นความเรียงจากหนังสือ

          นี่คือนวัตกรรมด้าน..วิธีการ..ของผม เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง

          นอกจากจะทำให้เด็กๆมีความสุขสนุกกับการเรียนแล้ว ยังมีความเข้าใจและเข้าถึง..”การอ่าน”เป็นอย่างดี ทุกวันนี้..พบคำยากก็อ่านได้ และอ่านเรื่องราวได้คล่องแคล่ว

          ที่สำคัญที่สุดและสุดแสนจะภูมิใจครูก็คือ เด็กแต่งประโยคได้อย่างสมบูรณ์แบบมากๆ

          ผมจึงเป็นครูหรือ”นวัตกร”ที่มีอายุมากที่สุดของเขตพื้นที่ฯ ทำให้ดูอยู่ให้เห็น เน้นคุณภาพ จะได้รู้กันเสียทีว่า..นวัตกรรม..ที่แท้จริงนั้น..ไม่ได้จำกัดอายุ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๖

          

          

         

 

     

  

 

หมายเลขบันทึก: 711508เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท