๑,๓๔๒ โรงละครหุ่นมือ...


  จริงๆแล้ว ผมก็ทราบดีว่ากิจกรรมนี้ไม่ง่ายนัก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ครูผู้เล่าเรื่องต้องมีเวลาและมีใจรัก ต้องมีการฝึกซ้อม ที่สำคัญวัสดุอุปกรณ์ในการเล่าเรื่องต้องพร้อมอยู่เสมอ

          กาลครั้งหนึ่ง ค่อนข้างจะนานมาแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๑ ตอนนั้นความรู้สึกสำนึกแห่งความรับผิดชอบช่างมากมายเสียเหลือเกิน จำได้ว่า..ในโรงเรียนมีครู ๔ คน นักการภารโรง ๑ คน

          เมื่อครูไม่ครบชั้น ผมจึงคิดค้นสื่อ และอุปกรณ์ช่วยสอน โดยเฉพาะการสอนคุณธรรมจริยธรรม และผมต้องการสร้างแรงบันดาลใจ ให้นักเรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียน อยากมาโรงเรียนมากขึ้น

          อีกทั้ง..ต้องการสร้างสิ่งที่เป็นผลงาน ให้ระลึกนึกถึงนักการภารโรง ที่ชื่อ “พี่แบน” ซึ่งจะเกษียณในปีพ.ศ.๒๕๕๒ ดังนั้น..ผอ.ต้องรีบคิดรีบทำ โดยเฉพาะงานช่างไม้ที่พี่แบนถนัดมาก

          ตัดสินใจออกแบบในสิ่งที่ชอบและคิดว่าใช่ โดยให้พี่แบนลงมือสร้างโรงละครหุ่นมือ เพื่อผมจะได้เล่านิทานหรืออ่านเรื่องราวจากหนังสือบันเทิงคดีให้เด็กๆฟัง

          ผมวาดแบบในกระดาษพร้อมอธิบายคร่าวๆ ว่าต้องการโรงละครเล็กๆ ข้างในนั่งได้ ๒ คน ด้านข้างต้องมิดชิด ด้านหน้าทำเป็นช่องหน้าต่างเพื่อติดม่าน ด้านหลังเปิดโล่งเพื่อเป็นทางเข้า

          พี่แบน..ใช้เวลาสร้างเพียง ๒ วันก็แล้วเสร็จ สวยงามมากกว่าที่ผมคิดไว้เสียอีก อุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ในโรงเรียน ผมซื้อแค่ตะปูเท่านั้น ผลงานที่ออกมาดูแน่นหนาและแข็งแรงมาก

          โดยเฉพาะฝาด้านข้างของโรงละครทำจากบานประตู ที่ไม่ได้ใช้แล้ว จั่วที่อยู่ด้านหน้าทำจากเศษไม้อัด ด้านในมีที่นั่งแบบห้อยขา นั่งได้อย่างสบายขยับซ้ายขวาก็ง่าย ไม่คับแคบ

          เมื่อโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์ ผมจัดหาผ้าม่าน ไมโครโฟนและตู้ลำโพงเล็กๆ ทำการซักซ้อมก่อนเปิดโรงทำการแสดง(เล่านิทาน) ให้ชั้นอนุบาลและ ป.๑ – ป.๒ ได้รับฟัง

          หุ่นมือ..ผมทำจากกระดาษ โดยใช้เทคนิคการพับถุง แล้วใช้สีระบายเพิ่มเติมให้สวยงามสดใส ใช้สีสันให้กลายเป็นตัวละครที่น่าสนใจ การเล่าแต่ละครั้งจะใช้ตัวละคร(ถุง)ประมาณ ๓ ตัว

          กิจกรรมจากโรงละครหุ่นมือของผม มีทั้งเล่านิทานสดๆ ทำสุ้มเสียงให้เป็นตัวละครนั้นๆมีบทสนทนาและออกนอกเรื่องไปบ้าง บางครั้งเตรียมนิทานไม่ทัน ก็ใช้การอ่านเรื่องจากหนังสือ

          ผมจัดกิจกรรมในโรงละครหุ่นมือไม่นานนัก ได้มอบหมายให้นักเรียนชั้น ป.๕ - ป.๖ ดำเนินการแทน แต่แล้วก็ไปไม่รอด อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ

          จริงๆแล้ว ผมก็ทราบดีว่ากิจกรรมนี้ไม่ง่ายนัก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ครูผู้เล่าเรื่องต้องมีเวลาและมีใจรัก ต้องมีการฝึกซ้อม ที่สำคัญวัสดุอุปกรณ์ในการเล่าเรื่องต้องพร้อมอยู่เสมอ

          ตอนนั้น..ผมยังรู้สึกมีความหวัง ยังไม่ถึงขั้นว่าล้มเหลว และเชื่อมั่นว่าคงมีสักวันจะได้หวนกลับมาใช้ประโยชน์จากโรงละคร ที่สร้างโดยพี่แบน ซึ่งปัจจุบันท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

          ผมยกโรงละครเข้าไปเก็บในห้องดนตรี ต่อมาได้นำไปจัดวางที่ห้องสมุด เพราะคิดว่าเหมาะสมสำหรับกิจกรรมรักการอ่าน แต่แล้วโรงละครก็ร้างลาและว่างเปล่าเรื่อยมา

          ทุกครั้งที่เข้าห้องสมุด ผมจะเข้าไปสัมผัสกับโรงละครด้วยความรักในกิจกรรม และคิดถึงพี่แบน..นักการภารโรงผู้มากด้วยฝีมือและสร้างผลงานให้โรงเรียนอย่างมากมาย

          วันนี้..โรงเรียนได้ครูบรรจุใหม่ วิชาเอกปฐมวัย ผมให้สอนชั้นอนุบาล ๒ ส่วนครูอนุบาล ๓ ก็ศึกษาจบวิชาเอกด้านอนุบาลเช่นเดียวกัน จึงเป็นครูสาวสองแรงแข็งขยันประจำชั้นอนุบาล

          ผมเชิญครูทั้งสองท่านมาประชุมหารือ...โดยเล่าความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว...เกี่ยวกับโรงละครหุ่นมือที่ถูกทิ้งร้างมานาน...สุดท้ายถามครูว่า...กิจกรรมนี้ครูได้ร่ำเรียนมาหรือเปล่า?

          ครูเคยเล่านิทานจากหุ่นมือบ้างไหม? หากครูเคยใช้หุ่นมือ..ครูทำเองหรือซื้อหุ่นมือสำเร็จรูป...ตอนนี้โรงละครพร้อมแล้ว...ขอให้ครูตัดสินใจจะใช้สื่อนี้ เพื่อไปต่อหรือไม่อย่างไร?

          ครูทั้งสองคนรับปากและฝากรอยยิ้มเอาไว้..เหมือนว่า...ไม่น่ายากอะไร...ขอเตรียมตัวปรับปรุงโรงละครให้สวยงามก่อน.และนัดหมายวันเวลาที่จะจัดกิจกรรม..เดือนละ ๒ ครั้ง

          โรงละครหุ่นมือ...บนเวทีของห้องประชุมอาคารออมสิน รอบปฐมทัศน์ คงไม่นานเกินรอ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๖

          

         

   

    

 

หมายเลขบันทึก: 711604เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2023 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2023 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท