เรียนรู้พัฒนาการของการศึกษาวิชาชีพพยาบาล


 

ผมได้โอกาสเรียนรู้จากการทำหน้าที่กรรมการสรรหาคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์แห่งหนึ่ง    ที่เมื่อเริ่มการประชุมผมก็ถามว่า การศึกษาวิชาชีพพยาบาลในปัจจุบันและอนาคต จะมีพัฒนาการแตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง    คณะกรรมการที่มีคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และท่านผู้รู้ ให้คำตอบที่ประเทืองปัญญามาก 

จากมุมของนักศึกษาและบัณฑิต    ได้ทราบว่า นักศึกษาพยาบาลจำนวนหนึ่งเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น    เช่น ขายของออนไลน์    ไปทำธุรกิจ หรือไปทำงานด้านการตลาดของธุรกิจด้านสุขภาพ   เขาจึงต้องการเรียนวิชาด้านการเป็นผู้ประกอบการ    และ soft skills อื่นๆ ด้วย 

คนยุคใหม่ ไม่คิดทำงานประจำ   ทำงานไปมองหาโอกาสไป   การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ   การเตรียมสมรรถนะด้านการประกอบการให้แก่บัณฑิตจึงมีความสำคัญมาก    และผมขอเพิ่มเติมว่า การฝึกทักษะเรียนรู้จากประสบการณ์จะช่วยได้มาก   นี่คือการฝึก Kolb’s Experiential Learning Cycle 

กรรมการท่านหนึ่ง เป็นอดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัย    และเป็นวิศวกร  ค้นคว้าเรื่องที่ผมถามมาเป็นอย่างดี    อ้างมหาวิทยาลัยชิคาโก    ว่าจัดการศึกษา APRN – Advanced Practice Registered Nurse คล้าย residency training ของแพทย์   เพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในลักษณะ case manager    ซึ่งตรงกับความเห็นของกรรมการท่านหนึ่งที่เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์   

การฝึกอบรม APRN เริ่มจากพยาบาลที่จบปริญญาโท  มาฝึกต่ออีก ๓ ปี   เพื่อเป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง    โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับสภาการพยาบาล ได้เริ่มการฝึกอบรมนี้แล้ว    ผมลองเข้าเว็บไซต์ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี พบว่ามีหลักสูตรฝึกอบรมขั้นสูงระดับวุฒิบัตร ๓ สาขาคือ   สาขาการพยาบาลเด็ก   สาขาเวชปฏิบัติชุมชน   และสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ (๑) 

ในอีกขั้วหนึ่ง มีการฝึกอบรมระยะสั้นแก่ผู้ได้รับปริญญาพยาบาลแล้ว    กับการฝึกอบรมเข้าสู่การเป็นบุคลากรระดับผู้ช่วย    เพื่อให้ได้ผู้ให้บริการอย่างรวดเร็ว  สู่อาชีพได้เร็ว    และพัฒนาสู่อาชีพระยะยาวได้ในแต่ละบริบท    ที่ผมค้นไม่พบว่า คณะพยาบาลฯ ในประเทศไทยมีการจัดการฝึกอบรมหรือไม่    แต่ได้รับข้อมูลจากอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่ง ในวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง ในสังกัด สบช.  ว่าวิทยาลัยพยาบาลที่ท่านสังกัดอยู่มีการฝึกอบรมผู้บริบาลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ หลักสูตร ๖ เดือน  หลังจบ ม. ๖   

นำสู่การสะท้อนคิดว่า ในอนาคตวิชาชีพพยาบาลจะมีพัฒนาการไปอย่างไร   ลองค้นดูก็พบ (๒) ที่เขียนเมื่อ ๑๐ ปีมาแล้ว     ระบุเรื่อง APN และอื่นๆ    และพบบทความในมติชน โดยเฉลิมพล พลมุข (๓) เมื่อ ๖ ปีที้แล้ว เรื่อง อนาคตพยาบาลไทย 

ค้นพบเรื่อง APN ในบันทึกเมื่อกว่า ๑๐ ปีที่แล้ว ที่ (๔)    ทำให้ผมตระหนักในความล้าหลังของตนเอง    ตามไม่ทันพัฒนาการด้านต่างๆ ในบ้านเมือง     และพบข้อเขียนของ รศ. ดร. เรณู พุกบุญมี  ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี ๒๕๖๑ (๕) ที่น่าอ่านมาก            

ทั้งหมดนั้น สะท้อนความเป็นพลวัตของวิชาชีพพยาบาล   และของความต้องการของสังคมในเรื่องการบริบาลผู้อ่อนแอและเจ็บป่วย    และการริเริ่มในโลกและในสังคมไทย เพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของผู้คน   ที่พยาบาลเป็นวิชาชีพสำคัญอันดับหนึ่ง   เพราะใกล้ชิดผู้คนที่สุด    โดยความท้าทายคือ ทำอย่างไรพลวัตที่ใช้วิชาชีพเป็นศูนย์กลาง กับพลวัตของความต้องการในสังคม จะมีจุดพอดีหรือดุลยภาพ   

จากมุมของคนรุ่นใหม่   งานด้านบริบาลผู้อ่อนแอหรือเจ็บป่วยจะมีผู้ให้บริการที่หลากหลาย   ที่ส่วนใหญ่น่าจะไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับปริญญา    แต่ก็ยังต้องการระบบกำกับให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือ   

นำสู่แนวคิดว่า ประเทศไทยยังต้องการการพัฒนาระบบการรับรองคุณภาพของผู้ให้การบริบาลผู้อ่อนแอหรือเจ็บป่วยในหลากหลายรูปแบบ    ทั้งที่ต้องการบุคลากรระดับปริญญา  และระดับที่เพียงผ่านการฝึกอบรมระยะสั้น    รวมทั้งระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่เรียกว่า APN    ที่น่าจะเป็นระบบของเราเอง พัฒนาขึ้นเพื่อสนองความต้องการของสังคมไทย และระบบสุขภาพไทย    ไม่ใช่ลอกมาจากต่างประเทศ แบบลอกมาทั้งดุ้น     

นี่คือโอกาสการทำงานสร้างสรรค์ให้แก่บ้านเมือง

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๖๖

      

หมายเลขบันทึก: 711675เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท