๑,๓๔๖ สร้างเสริม..จินตนาการ


ครูของเด็กอนุบาลแต่งตัวสวย ออกมายืนทักทายก่อนเข้าไปเป็นตัวละคร เด็กจะเห็นแต่มือและได้ยินแต่เสียง จะสร้างความตื่นตาตื่นใจ ความแปลกใหม่ตรงนี้ จะมีอีกกี่ครั้ง เด็กจะไม่มีวันเบื่อแน่นอน

          ย้อนไป..เมื่อได้มาอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก ในครั้งนั้นยังมีครูอยู่เพียง ๔ คน รวมทั้งผู้บริหารด้วย ตอนนั้นนักการภารโรงยังไม่เกษียณ ก็เฝ้าเรียนรู้ศึกษาดูงานภารโรงอยู่เสมอ

          เหมือนครูพักลักจำ อยากทำอะไรเป็นก็ถามภารโรง ไม่เข้าใจก็ถามภารโรง เพราะคิดว่าสักวัน ถ้าอยู่โรงเรียนหลังเล็กไปยาวๆ ปัญหาต้องเกิดแน่ จะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา

          จากนั้น...สมใจนึก ได้อยู่นานจริงๆ แต่ไม่รู้สึกหวั่นวิตก เพราะทำงานได้หลายอย่าง บางอย่างภารโรงก็ได้สร้างไว้ให้แล้ว ใช้เป็นสื่อและเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนได้

          โดยเฉพาะ “โรงละครหุ่นมือ”ที่เคยพูดถึงมาก่อนหน้านี้ เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญที่สุดของโรงเรียน เป็นตำนานให้เล่าขานอย่างน่าภาคภูมิใจ ที่สามารถสืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

          จุดกำเนิดเกิดจากความรักสนุกในการทำงาน ต้องการสอนภาษา ผ่านการเล่านิทานให้เด็กเล็กฟัง ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในใจเด็ก

          ถึงแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่าที่ควร แต่ร่องรอยหลักฐานก็ช่วยให้เชื่อมโยงถึงการบริหารจัดการ..ที่ครั้งหนึ่ง..ได้ค้นคิดโมเดลให้เกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็ก

          “ชยันโตโมเดล” นั่นเอง มีอายุกว่า ๑๐ ปีแล้ว เป็นนวัตกรรมการบริหารโรงเรียนบ้านหนองผือโดยเฉพาะ ซึ่งกระบวนการจะไม่เหมือนใคร แต่ปลายทางก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก

          หลักการสำคัญข้อหนึ่ง ที่ปรากฏไว้ในโมเดลก็คือ”ผลสัมฤทธิ์เริ่มที่อนุบาล” ทั้งหลักฐานและแนวคิด สอดคล้องต้องกัน ได้ให้ความสำคัญกับการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยมานานแล้ว

          กว่าจะถึงวันนี้..ผมครุ่นคิดอยู่เสมอ ถึงปัญหาของเด็กไทยโดยทั่วไป ที่เริ่มจะแข็งกระด้าง สมาธิสั้น ขาดการใฝ่รู้ใฝ่เรียน การอยู่หน้าจอทีวีและการเล่นโทรศัพท์นานๆ ทำให้ขาดจินตนาการ

          เมื่อ”จินตนการสำคัญกว่าความรู้” จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล ว่าครูเราจะสอนการคิดวิเคราะห์ให้เด็กอย่างไร ทำอย่างไรจะให้เด็กเกิดจินตนาการ ที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ได้

          ผมเชื่อว่า”นิทาน”หรือเรื่องเล่าจากหนังสือและบทเพลง ผ่านสื่อในโรงละครหุ่นมือจะช่วยได้ เพราะเด็กๆรักครู ครูก็รักเด็ก ความใกล้ชิดและผูกพันที่ผ่านตัวอักษรและการเคลื่อนไหวย่อมจะมีพลังจูงใจให้เด็กใฝ่ดีมีจิตสำนึกที่ดีงามได้

          ครูของเด็กอนุบาลแต่งตัวสวย ออกมายืนทักทายก่อนเข้าไปเป็นตัวละคร เด็กจะเห็นแต่มือและได้ยินแต่เสียง จะสร้างความตื่นตาตื่นใจ ความแปลกใหม่ตรงนี้ จะมีอีกกี่ครั้ง เด็กจะไม่มีวันเบื่อแน่นอน

          สายตาเด็กอนุบาล ๒ และ ๓ จ้องไปข้างหน้า นิ่งและฟังอย่างตั้งใจ ในขณะที่ความคิดและจินตนาการของเด็กกำลังจะกว้างไกล ครูก็รู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าที่ได้ลงทุนและรอคอยมาถึงวันนี้

          ผมบอกครูในเชิงนิเทศติดตาม หลังจากได้ชื่นชมที่ครูทำหุ่นมือได้สวยงามและเสียสละเวลาตกแต่งโรงละคร ตลอดจนซุ่มซ้อมอยู่พอสมควร

          ครูจะต้องให้ชายของผ้าม่านหน้าโรงละคร ห้อยเข้าไปด้านใน เพื่อที่ครูจะได้สอดหุ่นมือเข้ามาตรงกลางของโรงละคร ซึ่งจะดีกว่าตัวหุ่นออกมาทางด้านข้างซ้ายและขวา

          ผมฝากครู..ให้ช่วยสร้างตัวละครที่มีลำตัวยาวๆสักหน่อย จะได้คลุมแขนครู ซึ่งจะดูดีงามและน่าสนใจมากขึ้น

          บางครั้ง..ครูอาจจะอ่านเรื่องจากหนังสือบันเทิงคดีก็ได้ แต่ต้องทำเสียงให้เหมือนตัวละครนั้นๆ ในขณะที่จัดกิจกรรม ต้องมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อฝึกให้นักเรียนมีมารยาทในการฟังด้วย

          ครั้งแรก..ผ่านไปอย่างเรียบร้อยและสนุกสนาน จินตนาการยังเกิดขึ้นได้อีกมากมายไม่รู้จบ ขอบคุณ”พี่แบน”นักการภารโรง ที่อยู่บนสวรรค์ ขอบคุณ”ชยันโตโมเดล”และครูอนุบาล..ผู้ร่วมงานคนสำคัญ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๖          

 

 

    

    

หมายเลขบันทึก: 711732เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2023 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2023 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท