สมุดบันทึกความดี : ชวนนักเรียนฝึกกระบวนการทบทวนชีวิตและแบ่งปันความดี


ผมมีเจตนาฝึกให้นักเรียนได้ทบทวนชีวิตในแต่ละวันตามวันวัยของเขาเอง และต้องการฝึกให้เขากล้าที่จะเปิดเผย หรือแบ่งปันเรื่องราวอันดีงามของตนเองต่อผู้อื่น (สังคม) รวมถึงฝึกให้คนอื่นๆ (สังคม) เรียนรู้ที่จะแสดงออกซึ่งการชื่นชม และปรารถนาดีต่อกัน หรือการเรียนรู้ที่จะ “เปิดใจ” รับรู้เรื่องราวของผู้คนรอบกายอย่างจริงจังและจริงใจ

ค่าย “ต้นกล้าคุณธรรม”  ที่จัดเมื่อวันที่ 3-4  มีนาคม 2566  ณ โรงเรียนบ้านวังแคน  ตำบลสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี  จังหวัดขอนแก่น  เป็นการบูรณาการทำงานหลายภาคส่วน แต่หลักๆ แล้วเป็นความรับผิดชอบหลักของศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม  และสโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

 

กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะให้นักเรียนเกิดความรักและผูกพันต่อโรงเรียนและบ้านเกิดของตนเอง  รวมถึงการซึมซับกับเรื่องราวอันเป็นคุณธรรม จริยธรรม  หรือสิ่งอันดีงามที่มีอยู่รายรอบตัว ทั้งในมิติอันเป็นปรากฏการณ์ในสังคมและที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนเอง 

 

 

บูรณาการผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย

 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (ระยะสั้น) ของการจัดกิจกรรม และเพื่อปูทางสู่การเรียนรู้ในระยะยาว  แกนนำนิสิต จึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้งกล่าวผ่านกิจกรรมสำคัญๆ  เช่น

  • นิทานคุณธรรม :   เน้นการบอกเล่านิทานผ่านปากคำของนิสิต ชวนนักเรียนสรุปแง่คิดที่ได้จากนิทาน ทั้งในลักษณะของการสรุปความทั่วไปและการอภิปรายอย่างเป็นเหตุเป็นผล  โดยนิทานและการละเล่นที่นำมาใช้ในกระบวนการ เช่น หนูน้อยหมวกแดง  รีรีข้าวสาร  มอญซ่อนผ้า
     
  • เรื่องเล่าหมู่บ้านของฉันและโรงเรียนของฉัน  : เน้นการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านข้อเขียนและภาพวาดของนักเรียน พร้อมทั้งให้นักเรียนนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นต่อทุกคน โดยการเล่าเรื่อง  การอ่าน ซึ่งจัดขึ้นผ่านการประกวดและมีรางวัลให้กับนักเรียน

 

 

  • สมุดบันทึกความดี : มุ่งเน้นให้นักเรียนได้จดบันทึกชีวิตประจำว่าได้ทำความดีอะไรบ้าง ทั้งในครัวเรือนและโรงเรียน แล้วนำมาบอกเล่าให้เพื่อนๆ ในชั้นเรียนได้ร่วมรับรู้  ประหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และการหนุนส่งให้เรื่องราวอันดีงามได้ถูกยกย่อง เชิดชู เป็นกรณีศึกษา หรือเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน
  • การละเล่นไทย : มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีความเป็นไทยผ่านการละเล่นที่แฝงด้วนคติธรรมในมิติต่างๆ ทั้งการดำรงชีวิต การทำงานร่วมกัน 

 

 

  • ดนตรีใต้ร่มไม้: มุ่มเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านบทเพลงและกิจกรรมนันทนาการ ผสมผสานไปกับการชวนคิดชวนคุย (โสเหล่) ในประเด็นต่างๆ เช่น สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน สถานที่สำคัญในโรงเรียน  บุคคลสำคัญในหมู่บ้าน  เรื่องราวสำคัญของอำเภอ-จังหวัดขอนแก่น
  • ฯลฯ
     

 

สมุดบันทึกความดี : ฝึกทบทวนชีวิตและแบ่งปันความดี

ผมขออนุญาตเลือกเอากิจกรรม “สมุดบันทึกความดี”  มาบอกเล่าในบันทึกนี้  เพราะเป็นกระบวนการที่ชวนให้นักเรียนได้ทบทวนเรื่องราวในชีวิตประจำวันว่า “ได้เจอกับอะไรมาบ้าง- ได้ทำอะไรมาบ้าง”  เพราะกระบวนการนี้ฝึกให้นักเรียนได้ทบทวนตัวเอง – ประมวลเรื่องราวชีวิตของตนเอง แล้วถ่ายทอดลงในสมุดเล่มเล็ก

หรือแม้แต่การฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันความดีงามของตนเองต่อผู้อื่นอย่างไม่เขินอาย  พร้อมๆ กับการฝึกให้คนอื่นๆ ได้เรียนรู้ที่จะรับรู้รับฟัง และเชิดชูเรื่องอันดีงามของคนอื่นไปในตัว 




 

 

และนี่คือตัวอย่างที่ผม  ประมวลผลออกมาจากสมุดเล่มเล็กของนักเรียนแต่ละคนฃ

 

     1.ความดีในโรงเรียน

  • ช่วยครูล้างจาน
  • ช่วยครูทำอาหาร
  • ช่วยครูเก็บขยะ
  • ช่วยครูและนิสิตทำความสะอาดห้องสมุด
  • ช่วยนิสิตทำความสะอาดลาน BBL
  • ช่วยพี่นิสิตล้างห้องน้ำ (สุขา)
  • ฯลฯ

 

 

    2.ความดีในครัวเรือน

  • ช่วยแม่ล้างจาน
  • ช่วยแม่ตากเสื้อผ้า

 

 

    3.ความดีและการเรียนรู้ประจำวัน

  • มีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ เช่น ฐานเทียนไขดูดน้ำ  ฐานภูเขาไฟ
  • มีความสุขและความสนุกที่ได้เล่นฟุตบอลกับพี่นิสิต
  • ได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้และการทำกระถางต้นไม้จากขวดพลาสติก

 

 

ครับ – ผมคงไม่ต้องพูดถึงว่ากระบวนการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงทักษะการคิด การอ่าน การเขียนของนักเรียนหรอกนะครับ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นบ้าง แต่ผมไม่ถือเป็นสาระหลัก  หรือมองข้ามไปเลย   - เพราะผมได้สื่อสารเป็นการภายในกับนิสิตและคณะครูไว้บ้างแล้วว่า ผมมีเจตนาฝึกให้นักเรียนได้ทบทวนชีวิตในแต่ละวันตามวันวัยของเขาเอง

และต้องการฝึกให้เขากล้าที่จะเปิดเผย หรือแบ่งปันเรื่องราวอันดีงามของตนเองต่อผู้อื่น (สังคม) รวมถึงฝึกให้คนอื่นๆ (สังคม) เรียนรู้ที่จะแสดงออกซึ่งการชื่นชม และปรารถนาดีต่อกัน  

หรือการเรียนรู้ที่จะ “เปิดใจ” รับรู้เรื่องราวของผู้คนรอบกายอย่างจริงจังและจริงใจ

 

 

ผมยืนยันกับคณะครู  หรือแม้แต่แกนนำนิสิตอย่างหนักแน่นว่า  กระบวนการแห่งสมุดบันทึกความดีเล่มนี้ หากสมารถขับเคลื่อนสม่ำเสมอ-ต่อเนื่อง  ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ฺในตัวตนของนักเรียนอย่างไม่ต้่องสงสัย



 

 

…..

อังคารที่  7  มีนาคม  2566
อาคารพัฒนานิสิต  กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 

หมายเลขบันทึก: 711882เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2023 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2023 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลานชาย เพิ่งได้รับรางวัลจากห้องสมุดของโรงเรียน

เป็นนักเรียนเขียนบันทึกการอ่านยอดเยี่ยมค่ะ

ทำความดีกันตั้งแต่เด็กทีเดียว ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท