ชุมชนของฉัน : ข้อเขียน-ภาพวาดและการเล่าเรื่องของนักเรียนที่มีต่อบ้านเกิดของตนเอง


ผมยืนยันกับนิสิตว่ากระบวนดังกล่าว เป็นหนึ่งในวิธีบ่มเพาะเรื่องความผูกพันที่มีต่อชุมชนอย่างไม่ต้องสงสัย  เช่นเดียวกับการเป็นกระบวนการที่ช่วยให้นักเรียนได้  “ทบทวนตัวเอง”  หรือแม้แต่การ “สำรวจต้นทุนชีวิต” ของนักเรียนเกี่ยวกับบริบทของหมู่บ้าน-วัด-โรงเรียน ตามหลัก “บวร” ที่จะช่วยให้นิสิตมองเห็น “มุมมอง-ทัศนคติ”  ของนักเรียนที่มีต่อเรื่องดังกล่าว

จากบันทึกที่แล้ว ที่นี่  อีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมอยากนำมาบอกเล่าไว้ ณ ที่ตรงนี้ นั่นคือกระบวนการสร้างจิตสำนึกและความผูกพันของนักเรียนที่มีต่อชุมชน  ผ่านกระบวนการ “เขียน-วาดภาพ” และ “เล่าเรื่อง”

 

 

ผมยืนยันกับนิสิตว่ากระบวนดังกล่าว เป็นหนึ่งในวิธีบ่มเพาะเรื่องความผูกพันที่มีต่อชุมชนอย่างไม่ต้องสงสัย  เช่นเดียวกับการเป็นกระบวนการที่ช่วยให้นักเรียนได้  “ทบทวนตัวเอง”  หรือแม้แต่การ “สำรวจต้นทุนชีวิต” ของนักเรียนเกี่ยวกับบริบทของหมู่บ้าน-วัด-โรงเรียน ตามหลัก “บวร” ที่จะช่วยให้นิสิตมองเห็น “มุมมอง-ทัศนคติ”  ของนักเรียนที่มีต่อเรื่องดังกล่าว

 

เช่นเดียวกับการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ – การสื่อสารสร้างสรรค์ผ่านศิลปะที่หมายถึง “วรรณกรรม-วรรณศิลป์”  รวมถึง “ทัศนศิลป์” ที่จะฟักตัวก่อเกิดอยู่ในตัวตนของนักเรียน

 

 

เรื่องของหมู่บ้าน :  แต่ไม่ใช่การบ้าน หากแต่เป็นงานที่ต้องทำที่โรงเรียน

 

ด้วยเหตุที่ทั้งสองกิจกรรม จำต้องใช้เวลาพอสมควร จะทั้งในแง่ของการเก็บข้อมูลและถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะ ผมและนิสิตจึงประสานงานให้ทางโรงเรียนได้ตระเตรียมล่วงหน้า 3-4 วัน แต่เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายในโรงเรียนเป็นหลัก อันหมายถึง “เขียนเรื่อง” และ “วาดภาพ” ที่โรงเรียน มิใช่นำกลับไปทำเป็น “การบ้าน” ที่บ้าน

 

 

เหตุที่ไม่อยากให้นักเรียนนำกลับไปทำที่บ้าน  ผมมีเหตุผลชัดเจน กล่าวคือ ผมอยากให้นักเรียนได้ลงมือทำเรื่องนี้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมี “พี่เลี้ยงคอยช่วยคิด-ช่วยเขียน-ช่วยวาด”  เสมือนการฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการ “เสาะหาข้อมูล” (ทักษะการเรียนรู้) ต่างๆ ผ่านคนใกล้ตัว ทั้งที่เป็นคนในครัวเรือน คนในชุมชน รวมถึงคณะครู เพื่อนๆ หรือแม้แต่ท้าทายการสังเกตเรื่องราวผ่านเหตุการณ์จริงในชุมชนได้ด้วยตนเอง แล้วค่อยวิเคราะห์-สังเคราะห์-ประมวลออกมา เพื่อสื่อสารผ่านตัวหนังสือและภาพวาด

 

 

ใช่ครับ-ฟังดูเป็นวิชาการเอามากๆ แต่นั่นคือกระบวนการเรียนรู้ที่ผมแอบฝากฝังไว้ในระยะยาว มิใช่คาดหวังให้เกิดมรรคผลชั้นเลิศในช่วงของค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งเท่าที่รับฟังจากคณะครูก็ชื่นใจเป็นที่สุด เพราะคณะครูยืนยันว่า “นักเรียนตื่นตัวกับกิจกรรมนี้มากๆ”

 

 

 

เรื่องของหมู่บ้าน :  เรื่องของเขา – เขาต้องเล่าด้วยวิธีการและหัวใจของเขาเอง

 

ผมให้คำแนะนำแก่นิสิตไปประมาณว่า ให้นักเรียนออกมาเล่าเรื่องราวที่เขาเขียนและวาด เพื่อฝึกความกล้าแสดงออกและฝึกทักษะการสื่อแก่นักเรียนไปพร้อมๆ กัน รวมถึงการย้ำว่านั่นคือกระบวนการที่นิสิตจะได้รับฟังเรื่องราวของชุมชนผ่าน “ปากคำ” ของคนในชุมชน  โดยมี “นักเรียน” เป็นผู้นำสาร –

 

ในทำนองเดียวกัน ผมกำชับนิสิตว่า  อย่าไปกำหนดกรอบอันเป็นรูปแบบหรือวิธีการนำเสนอของนักเรียน แต่ฝากให้นิสิตหารือกับคณะครูว่าจะเป็นในทิศทางใด เพราะนักเรียนควรได้รับสิทธิ์ในการกำหนดวิธีสื่อสารในแบบฉบับที่เขาถนัด-สันทัด และมีความสุขที่จะนำเสนอ หรือบอกเบ่าเรื่องราวเหล่านั้น

 

 

ผลการหารือดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า จะให้นักเรียนออกมาอ่านข้อเขียนของตัวเองให้นิสิตและคณะครู รวมถึงผู้ปกครองได้รับฟังร่วมกัน ถ้ามีเวลาก็จะให้เล่าเรื่องราวในภาพวาด พร้อมๆ กับการนำข้อเขียนและภาพวาดทั้งหมดจัดแสดงแบบเรียบง่ายไว้ในวิถีของการออกค่ายฯ 

 

 

และนี่คือส่วนหนึ่งของข้อเขียนที่นักเรียนได้ขีดเขียนขึ้น

 

  • หมู่บ้านของฉันพัฒนากำแพงกั้นน้ำชี และหลังหมู่บ้านฉัน ชาวบ้านทำศาลปู่ตาและหลังหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ยังปลูกผักปลอดสารพิษ  (ภูมิพัฒน์  สุวรรณไพบูลย์)
  • ชุมชนของฉันเวลาจะสร้างอะไรนั้น คนในชุมชนก็จะมาช่วยกันสร้างมาช่วยกันทำ คนในชุมชนของฉันเป็นญาติกันทุกคน ไม่มีใครเลยที่จะไมท่รู้จักคนในหมู่บ้าน (พรวิภา  เสคำพันธ์)

 

 

  • บ้านวังแคนของเรามีบ่ปลาให้จับปลา แล้วก็มีร้านค้าให้ซื้อขนม มีศาลากลางบ้าน มีโรงเรียน  ... มีผักให้ขายให้ซื้อ ...หลังหมู่บ้านมีน้ำชีให้เล่น และวัดกำลังสร้างศาลาหลังใหม่  (พงศธร  สอนผา)
  • ชาวบ้านชีวังแคนมักจะพากันทำเกษตรกรรม  เพื่อประหยักเงินและปลอดภัยจากสารเคมี ชาวบ้านจะปลุกผักชี ผัดกาดเขียว ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกระจ่อน และผักกระเพา  (เจนนี่ ยอดพรม)

 

 

  • หมู่บ้านของฉันเป็นหมู่บ้านหลอดสารพิษ  เพราะทุกคนปลูกผักปลอดสารพิษทุกครัวเรือน  ทุกคนไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า หมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านสุจริต เพราะหมู่บ้านของเราไม่มีโจร  มีอะไรก็เอามาแบ่งกัน  ถึงเราจะแบ่งกันได้ไม่หมดทุกคน แต่เราก็แบ่งกันด้วยใจ  ไม่มีใครน้อยใจ หรือเสียใจ  (กรรณิกา  แสนโสม)
  • บ้านชีวังแคนเป็นหมู่บ้านที่ดีมาก  เพราะเราสามารถทำอะไรๆ ได้หลายอย่าง เช่น เล่นซ่อนแอบกับเพื่อนและวิ่งไล่จับกัน พอเหนื่อยก็ไปพัก อยากกินขนมก็ไปซื้อที่ร้านค้า  (ศุกลการณ์ นามตาแสง)
  • ส่วนมากชาวบ้านก็ปลูกผักขายตามร้านค้าที่อยู่ในหมู่บ้าน พวกเราก็ได้เงินมาซื้อของกินในบ้านของชาวบ้าน  (พัชรา สีราช)
  • บ้านวังแคนมีสิ่งดีๆ มากมาย โดยเฉพาะโรงเรียนที่งดงามมาก  หมู่บ้านเรามีทั้งปลา ปู กุ้ง หอยมากมาย  ถ้าเกิดจะไปหาอาหารก็สามารถไปหาที่สวน ของเรา  ….โรงเรียนจะมีพี่นักศึกษามาทำลาน BBL  (อภิวัฒน์  สำขสำราญ)

 

 

ครับ – นี่เป็นส่วนหนึ่งจากหลายๆ เรื่องและหลายๆ บรรทัดที่ผมไม่อาจนำมาสื่อสารได้ทั้งหมด  ผมไม่รู้หรอกว่าคนอื่นๆ จะเข้าในกระบวนการที่ผมออกแบบหรือไม่ และสิ่งเหล่านี้จะก่อเกิดมรรคผลทั้งในระยะสั้น ระยะยาวแค่ไหน ผมพูดได้อย่างเดียวคือ “ผมมีความสุขที่ได้อ่านและได้ยินที่เด็กเล่า หรืออ่านแบบสดๆ ผ่านเวทีในค่ายเป็นที่สุด”  

 

 

หมายเลขบันทึก: 711905เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2023 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2023 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เด็ก ๆ รัก(ษ์)ถิ่นของจริง ;)…

สวัสดีครับ อาจารย์Wasawat Deemarn

จริงๆ ก็คือ สมุดบันทึกทั่วไป สุดแท้แต่เด็กๆ จะเลือกบันทึกเรื่องอะไรนั่นแหละครับ ส่วนเรื่องความดี เป็นแค่กรณีศึกษา ที่ชวนเด็กๆ ลองฝึกบันทึก

เป็นการฝึกให้เด็กๆ ได้สังเกตปรากฏการณ์รอบตัวในแต่ละวัน สังเกต จดจำ วิเคราะห์ ถ่ายทอด-จดบันทึกลงในสมุดฯ

หรือแม้แต่บอกเล่า -แบ่งปันร่วมกัน ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท