๑,๓๖๙ การน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ สู่การปฏิบัติ


ณ เวลานี้  หลายโรงเรียนยังทำแผนปฏิบัติการไม่เสร็จเลย ถ้าหากสพฐ.และเขตพื้นที่มีความเข้าใจบริบทโรงเรียนและเนื้องานที่สั่ง ก็น่าจะให้นโยบายที่ชัดเจน ให้แนวทางการขับเคลื่อนและเปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศได้คิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์บ้าง

          หลายครั้งที่มักจะมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า..ผู้นำการศึกษาไทยมีความตื่นตัวและฉับไวน้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์

          ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นศูนย์รวมใจ ต้องให้ความสำคัญก่อนสิ่งอื่น และต้องทำแบบปลูกฝังอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

          แต่ที่ผ่านมาต้องรอให้เกิดปัญหา จึงจะคิดได้ หลายสิ่งหลายอย่างก็ทำเหมือนไฟไหม้ฟาง

          อย่างค่านิยม ๑๒ ประการ แทบจะหลอมละลายไปกับสายลม ไม่มีคนในสพฐ.และศธ.คนไหนเอามาพูดถึงเลย ยังสงสัยว่าจะคิดขึ้นมาให้เปลืองเวลาและงบประมาณทำไม ถ้าไม่ตั้งใจและไม่จริงจัง

          ถ้าหากคิดแต่แรกว่าค่านิยมพื้นฐานมันดีจริง ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นวัฒนธรรมอันดีงาม เพื่อสร้างรากฐานให้ยุทธศาสตร์ชาติมีความเข้มแข็ง เพราะยุทธศาสตร์ที่ไร้ราก จะมั่นคงและยั่งยืนได้อย่างไร?

          วันนี้ก็เหมือนกัน สพฐ.สั่งการให้เขตพื้นที่ฯแจ้งโรงเรียน ให้รายงานการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ สู่การปฏิบัติ

          ผมอ่านหัวข้อแล้วขนลุกซู่ขึ้นมาทันทีทันใด ดีใจที่สพฐ.คิดได้ในช่วงเวลาที่สำคัญและไม่สายจนเกินไป แต่ก็เสียดายเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่มอบหมายสั่งการเรื่องแบบนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษาที่แล้ว

          ไปเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอยู่มากมาย แต่เรื่องที่เป็น “หัวใจ”กลับเอาไว้ทีหลัง

          เรื่องของพระบรมราโชบายนี้ สพฐ.ใช้คำว่า “ขับเคลื่อน” และลงท้ายว่า “สู่การปฏิบัติ” ก็นับว่าใช้คำได้สวยหรูเหลือเกิน ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำอย่างมีกระบวนการมีกิจกรรมที่จับต้องได้

          แต่ดูในรายละเอียดของ “แบบรายงานผลการดำเนินงาน”แล้ว ไม่มีความสอดคล้องกับเงื่อนเวลาและลักษณะของงาน ที่มิอาจจะทำเล่นๆ หรือรายงานอะไรก็ได้

          เช่น ถ้าจะให้ขับเคลื่อน มันต้องค่อยเป็นค่อยไป ทำทุกวัน สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำตั้งแต่ต้นปีการศึกษาจนถึงปลายปี มิใช่สั่งการ ๒๙ พฤษภาคม แล้วให้รายงาน ๓๐ มิถุนายน 

          ในรายงานบอกว่าให้จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ จะใช้การบูรณาการแบบไหนก็ได้ ทั้งสาระวิชา หรือโครงการ/กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้หมด ซึ่งตรงนี้โรงเรียนต้องมีแผนงานรองรับ

          ณ เวลานี้  หลายโรงเรียนยังทำแผนปฏิบัติการไม่เสร็จเลย ถ้าหากสพฐ.และเขตพื้นที่มีความเข้าใจบริบทโรงเรียนและเนื้องานที่สั่ง ก็น่าจะให้นโยบายที่ชัดเจน ให้แนวทางการขับเคลื่อนและเปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศได้คิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์บ้าง

          ไม่ใช่จะเอาเร็วเข้าว่า เอาแต่งานกระดาษเป็นสำคัญ การปลูกฝังเรื่องสถาบันต้องใช้ “หัวใจ”และทำอย่างปราณีตบรรจง ทำเล่นๆหลอกๆ มันจะได้ไม่เท่าเสียแน่นอน

          ย่อหน้าสุดท้ายของแบบรายงาน...เขียนว่า เชิงคุณภาพ ..ผลการดำเนินงานของสถานศึกษา ..ให้เวลาทำเดือนเดียวแต่จะเอาคุณภาพ แบบนี้ สพฐ.และศธ.ชอบเหลือเกิน ฝึกการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาและส่อเค้าให้เห็นว่า แท้จริงนั้นโรงเรียนสุจริต มิได้มีอยู่จริง

          การที่ผมบ่นมาทั้งหมด มิใช่ผมจะไม่ทำหรือทำไม่ได้ ที่โรงเรียนมีครบหมดทั้ง ๔ ด้าน ทั้งในด้านทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีงานทำมีอาชีพ และด้านสุดท้าย การเป็นพลเมืองที่ดี

          แต่ที่นำมาพูดก็เพราะสงสัยว่า ทำไมเรื่องที่เป็นมงคลแบบนี้ ให้ทำแบบเร่งรีบและร้อนลนแท้

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  มิถุนายน  ๒๕๖๖

          

หมายเลขบันทึก: 713015เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2023 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2023 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท