เก็บตกวิทยากร (82) : ทบทวนต้นทุนการเรียนรู้ (สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มมส.,)


ผมมีเจตนาที่ชัดเจนที่อยากให้นิสิตในเวทีดังกล่าวได้ลองทบทวนร่องรอยการเรียนรู้ของตนเองบนเส้นทางสายกิจกรรมอย่างช้าๆ อีกรอบ ด้วยการสื่อสารสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะอันเป็นภาพวาดและการเล่าเรื่อง หรือแม้แต่การฝึกทักษะแห่งการฟัง จับประเด็น วิเคราะห์เรื่องราวของกันและกัน

ย้อนกลับไปยังวันที่ 10 เมษายน 2566 ผมได้รับเชิญจากฝ่ายพัฒนานิสิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นวิทยากรจัดการเรียนรู้เนื่องในโครงการ “ยกระดับคุณภาพนักกิจกรรม” ณ ห้องประชุมสิกขาลัย อาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ 

 

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์หลัก คือ การสร้างเวทีให้นิสิตและผู้นำนิสิตได้ “สะท้อการเรียนรู้” (Reflection) ที่ว่าด้วยกิจกรรมนอกหลักสูตร  (extracurricular activity) ประกอบด้วยองค์กรนิสิต (สโมสรนิสิตคณะและชมรมในสังกัดสโมสรนิสิตคณะ) จำนวน 7 องค์กร และผู้แทนนิสิตจากสาขาต่างๆ ภายในคณะศึกษาศาสตร์ จำนวน 9 สาขา 

 

 

------------------------------------------------------------------------------------------------

ภาคเช้า : ผมเน้นสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

ภาคเช้า เป็นการนำเสนอผลการเรียนรู้ของผู้แทนนิสิตจากสาขาและองค์กรต่างๆ  ซึ่งช่วงนี้ ผมไม่ได้มีบทบาทต่อการจัดกระบวนการใดๆ  เพราะเน้นการสังเกต--รับฟังและจับประเด็นในสิ่งที่นิสิตได้เสนอ หรือสะท้อนออกมา หรือที่เรียกว่า “สังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม”

 

ในมุมของผมนะ  เวทีนี้ มุ่งให้นิสิต หรือผู้นำนิสิต ได้นำเสนอผลการเรียนรู้ในแต่ละกิจกรรมๆ ละ 5-8 นาที มีหัวข้อการนำเสนอที่สำคัญๆ  เช่น ชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ รูปแบบ ผลลัพธ์การเรียนรู้  ผ่านการสื่อสารสร้างสรรค์ที่นิสิตมีความสันทัด เช่น การบรรยาย  การเล่าเรื่อง การพรรณนา ประกอบสื่อต่างๆ อาทิเช่น PowerPoint  

พอเสร็จสิ้นการนำเสนอก็เน้นการเสนอแนะและซักถามร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิต นิสิตกับวิทยากร หรือแม้แต่นิสิตกับศิษย์เก่า

 

 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่า กระบวนการดังกล่าวนี้ เป็นการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร (Communication skills) ไปในตัว โดยบูรณาการคู่ไปกับแนวคิดอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า

  • Conclusion นิสิตนำเสนอบทสรุป หรือการสังเคราะห์ความรู้ของตัวเอง
  • Reporting นิสิตนำเสนอผลการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่ตัวเองสันทัด
  • Show & Share นิสิตจัดแสดงและแบ่งปันผลการเรียนรู้
  • Knowledge Sharing นิสิตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 
  • Improve  นิสิตยกระดับ / ต่อยอดความรู้

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ภาคบ่าย :  ชวนนิสิตทบทวนต้นทุนความสุขและกิจกรรมที่ชื่นชอบ

---------------------------------------------------------------------------------------------------

 

กระบวนการของผมเริ่มต้นในช่วงบ่าย  แม้เวลาจะค่อนข้างจำกัดอยู่มาก  แต่ผมก็ไม่ได้รีบร้อนที่จะโปรยหว่านเรื่องแนวคิด หรือวิชาการใดๆ ลงในหัวสมองของนิสิต ตรงกันข้ามกลับชวนให้นิสิตได้ทำการทบทวนชีวิตตัวเองผ่านกิจกรรมสำคัญๆ ที่นิสิตแต่ละคนประทับใจในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา

ผมชวนให้นิสิตทำกระบวนการเล็กๆ 2 กระบวนการ นั่นคือ 

  • วาดภาพในหัวข้อ “ความสุข ความประทับใจเกี่ยวกับกิจกรรมนิสิตที่ชื่นชอบ”  ซึ่งกระบวนการนี้ทางคณะกำหนดเป็นชื่อหัวข้อว่า “เรื่องเล่าของฉันในการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา” เมื่อวาดเสร็จก็บอกเล่า (เล่าเรื่อง) ให้เพื่อนในกลุ่มได้ร่วมรับรู้ กระบวนการที่ว่านี้มีกลิ่นอายของการถอดบทเรียนกรายๆ ในตัว พอๆ กับการหนุนเสริมทักษะการสื่อสารผ่านการเล่าเรื่อง หรือแม้แต่การแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน

 

 

  • เลือกกิจกรรมที่ชื่นชอบ คนละ 1 กิจกรรมแล้วเขียนลงในบัตรคำ  โดยเน้นจากกิจกรรมที่มีการนำเสนอในภาคเช้า เพื่อชวนให้นิสิตได้ทบทวนในสิ่งที่เพื่อนๆ ได้นำมา Show & Share : Knowledge Sharing คล้ายการร่วมประเมินผลกิจกรรมร่วมกันอีกรอบ เป็นการประเมินผลผ่านการรับรู้ข้อมูลที่นิสิตได้นำเสนอผ่านเวทีกลาง หรือแม้แต่ผ่านประสบการณ์ตรงที่นิสิตบางคนอาจได้เข้าร่วมจริงในช่วงที่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ที่ว่านั้น

 

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ผลลัพธ์ : ความสุขและกิจกรรมที่ชื่นชอบ

--------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ผมยืนยันว่า ผมมีเจตนาที่ชัดเจนในการดึง 2 กระบวนการนี้ขึ้นมาใช้ในเวที โดยไม่รีบเร่งที่จะบรรยายให้ความรู้และมุ่งไปสู่กระบวนการอื่นๆ โดยเฉพาะโจทย์หลักที่ทางคณะฝากไว้ นั่นคือ “โครงการในฝัน (ที่อยากให้เกิดขึ้นจริงในปีการศึกษา 2566”

 

ผมมีเจตนาที่ชัดเจนที่อยากให้นิสิตในเวทีดังกล่าวได้ลองทบทวนร่องรอยการเรียนรู้ของตนเองบนเส้นทางสายกิจกรรมอย่างช้าๆ อีกรอบ ด้วยการสื่อสารสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะอันเป็นภาพวาดและการเล่าเรื่อง หรือแม้แต่การฝึกทักษะแห่งการฟัง จับประเด็น วิเคราะห์เรื่องราวของกันและกันไปในตัว

 

 

ผมเชื่อเองว่า กระบวนการสั้นๆ กระชับๆ ที่ว่านี้ เป็นประหนึ่งการถอดบทเรียนชีวิตและการเรียนรู้ในอีกมิติ แม้จะไม่ได้ใช้เวลามากมายนัก หรือหยั่งลึก ละเมียดละไมก็เถอะ แต่นั่นก็คือการชวนให้มีการทบทวนตัวเอง ก่อนที่จะออกเดินทางสู่การเรียนรู้ครั้งใหม่ มิใช่การรีบเร่งดุ่มเดินไปโดยปราศจากการทบทวนต้นทุนของตัวเอง –

 

 

และถัดจากนี้ไป คือ ข้อมูลอันเป็นชื่อกิจกรรม / โครงการที่ผมชวนให้นิสิตได้ทบทวนต้นทุนการเรียนรู้ของตนเอง ผ่านกระบวนการทั้ง 2 กิจกรรมผ่านภาพวาดและบัตรคำที่ถูกกล่าวถึง หรืออยู่ในความทรงจำของนิสิต เป็นต้นว่า 

  • กิจกรรมพลิกดินสู่ดาว 
  • ค่ายครูบ้านนอก ค่ายครูอาสา ค่ายเปลวเทียนสู่ฝัน 
  • กิจกรรมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์บุญนาค 
  • กิจกรรมคนพันธุ์ครู  
  • กิจกรรมสแตนเชียร์
  • กิจกรรมอบรมการรับประทานอาหารตะวันตก
  • กิจกรรมการพัฒนาทักษะการทำสื่อการสอน
  • กิจกรรมกระดานดำ
  • กิจกรรมสานสัมพันธ์ มรภ.ร้อยเอ็ด
  • กิจกรรม E-sport
  • กิจกรรมไหว้ครู
  • กิจกรรมขับร้องสรภัญญะ
  • กิจกรรมค่ายตั้งแคมป์
  • ฯลฯ

 

ใช่ครับ – กิจกรรมทั้งปวงที่ถูกกล่าวถึงข้างต้น มีทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยองค์กรนิสิต (ชมรม / สโมสรนิสิต) ที่อนุมัติตรงผ่านฝ่ายพัฒนานิสิตและคณบดี  และอีกส่วนคือกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยนิสิตในรูปของสาขา/หลักสูตรที่เสนอขออนุมัติตรงผ่านประธานสาขาและคณบดีตามลำดับ

 

 

ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่า กิจกรรมที่ถูกกล่าวถึงค่อนข้างบ่อย หรือมีความถี่ซ้ำมากเป็นพิเศษในเวทีครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมในลักษณะของการจัดนอกสถานที่ที่มีรูปลักษณ์เป็นค่ายอาสาพัฒนา หรือการบริการสังคมบนฐานวิชาชีพของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์แทบทั้งสิ้น

และทั้งปวงนั้นล้วนสอดคล้องกับแก่นสารอันเป็นอัตลักษณ์ของนิสิต ที่ว่าด้วย “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน” 

หรือแม้แต่ค่านิยมของการเป็นนิสิต “MSU FOR ALL” (นิสิต มมส.พึ่งได้) ที่หมายถึงพึ่งพาตนเองได้และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

 

 

เขียน เสาร์ที่ 17  มิถุนายน 2566
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา

 

หมายเลขบันทึก: 713199เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2023 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2023 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชีวิต คือ การเรียนรู้ เสมอ ;)…

ชอบกิจกรรมมาก มีกิจกรรมที่หลากหลาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท