เก็บตกวิทยากร (83) : ภาพรวมการเรียนรู้จากเวทียกระดับคุณภาพนักกิจกรรม (สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มมส.)


กิจกรรมบริการสังคม อาจมีลักษณะทั้งบริการสังคมโดยตรงและการบริการสังคมในลักษณะ “เรียนรู้คู่บริการ” ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์นิสิตมหาวิทยาลัยฯ (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือค่านิยมการเป็นนิสิต (MSU FOR ALL : นิสิต มมส พึ่งได้) ที่มีทั้งการนำวิชาชีพเฉพาะไปบริการและการบริการในลักษณะของสหวิชาชีพ

ต่อจากบันทึกที่แล้ว  เก็บตกวิทยากร (82) : ทบทวนต้นทุนการเรียนรู้ (สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มมส.,)

 

 

จากที่ผมมีโอกาสได้สังเกตการณ์การนำเสนอผลการเรียนรู้ของนิสิตและผู้นำนิสิตในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ เนื่องในโครงการ “ยกระดับคุณภาพนักกิจกรรม” เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมสิกขาลัย อาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ แล้วนั้น ต้องยอมรับว่า แค่ปีการศึกษาเดียว (2565) คณะศึกษาศาสตร์ มีกิจกรรมพัฒนานิสิตเยอะมาก

 

คำว่าเยอะในที่นี้ คือ เยอะจริงๆ เพราะมีจำนวนกิจกรรม/โครงการไม่น้อยกว่า 30 กิจกรรมเลยทีเดียว ทั้งที่เป็น “กิจกรรมโดยนิสิตเพื่อนิสิต” (สโมสรนิสิตคณะ/ชมรมในสังกัดสโมสรนิสิตคณะ/นิสิตสาขา) และกิจกรรมในระดับคณะ หรือที่เรียก “โดยมหาวิทยาลัยเพื่อนิสิต”

 

 

ลักษณะร่วมของกิจกรรมภายในคณะศึกษาศาสตร์

 

เมื่อพิจารณาภาพรวมการจัดกิจกรรมภายในคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งที่เป็นกิจกรรมสังกัดองค์กรนิสิตและกิจกรรมสังกัดสาขาวิชา พบกิจกรรมที่จัดในลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะวิชาชีพ (Hard skills) หรือขนบนิยม หรือวัฒนธรรมภายในคณะ ยกตัวอย่างเช่น

  • กิจกรรมปฐมนิเทศนิสิตใหม่ พบทั้งในภาพรวมของคณะและสาขา 
  • กิจกรรมไหว้ครู พบทั้งในระดับคณะและสาขา
  • กิจกรรมรับน้อง/บายศรีสู่ขวัญ  พบทั้งในระดับคณะและสาขา
  • กิจกรรมเชิดชูเกียรติ พบทั้งในระดับคณะและสาขา
  • กิจกรรมกีฬาภายใน พบทั้งในระดับคณะและสาขา 

 

 

ลักษณะร่วมของกิจกรรมบริการสังคม

กิจกรรมบริการสังคม อาจมีลักษณะทั้งบริการสังคมโดยตรงและการบริการสังคมในลักษณะ “เรียนรู้คู่บริการ” ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์นิสิตมหาวิทยาลัยฯ (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือค่านิยมการเป็นนิสิต (MSU FOR ALL : นิสิต มมส พึ่งได้) ที่มีทั้งการนำวิชาชีพเฉพาะไปบริการและการบริการในลักษณะของสหวิชาชีพ  เช่น

  • กิจกรรมในนามสาขาวิชา/หลักสูตร เช่น ค่ายครูวิทย์ (สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป) ค่ายภาษาอังกฤษ (สาขาวิชาภาษาอังกฤษ) ค่ายพัฒนาทักษะการสอนภาษาไทย (สาขาภาษาไทย) ค่ายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (สาขาการศึกษาปฐมวัย)
  • กิจกรรมในนามองค์กรนิสิต เช่น ค่ายพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ (ชมรมคณิตศาสตร์) ค่ายครูบ้านนอก (ชมรมครูบ้านนอก) ค่ายสัมมนาผู้นำชมรมพิมพ์หลากสี (ชมรมพิมพ์หลากสี) ค่ายเปลวเทียนสู่ฝัน/ค่ายครูอาสาสี่ชนบท (ชมรมครูอาสา)  โครงการวิทยพัฒนาโรงเรียนบ้านเกิ้ง (ชมรมวิทยการกีฬา) 

 

 

กิจกรรมเตรียมความพร้อมทางวิชาชีพก่อนออกสู่โลกภายนอกและการใช้ชีวิต

 

ในที่นี้หมายถึงกิจกรรมการเตรียมความพร้อมในทางวิชาชีพ หรือการติดอาวุธทางปัญญาแก่นิสิต ซึ่งส่วนใหญ่พบเด่นชัดในกลุ่มสาขาวิชา/หลักสูตรต่างๆ ทั้งในระยะแรกเริ่มการเข้าศึกษา ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน ก่อนออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือแม้แต่การเตรียมสอบบรรจุ เพื่อก่อให้เกิดทั้งความรู้ ทักษะ (Hard skills) และทัศนคติที่ดีต่อการประกอบวิชาชีพและการใช้ชีวิตในสังคม เป็นต้นว่า  

  • กิจกรรมอบรมทักษะการสอน / กิจกรรมเตรียมความพร้อมฝึกประสบการณ์ / อบรมด้านการเงินและการวางแผนการใช้เงิน (สาขาวิชาภาษาอังกฤษ) 
  • กิจกรรมอบรมการรับประทานอาหารตะวันตก / อบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น / ฝึกประสบการณ์วิชาชีพและทักษะการเรียนรู้ (สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา)
  • การปัจฉิมนิเทศ (สาขาวิชาจิตวิทยา) 
  • พัฒนาทักษะความเป็นครู (สาขาวิชาภาษาไทย) 
  • อบรมการใช้เครื่องทดสอบสมรรถนะ (ชมรมวิทยาศาสตร์การกีฬา) 
  • โครงการเตรียมสอบครูผู้ช่วย (สาขาวิชาสังคมศึกษา) 

 

 

กระบวนการ New Project 

ในเวทีดังกล่าว มีช่วงหนึ่งที่ผมได้รับมอบหมายให้จัดกระบวนการเรียนรู้  โดยแบ่งกลุ่มนิสิตเพื่อระดมความคิดออกแบบกิจกรรมขึ้นใหม่ (New Project)  หรือ “โครงการในฝัน” ที่มุ่งชักชวนให้นิสิตได้ร่วมคิดร่วมออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ ในภาพรวมของคณะ โดยไม่แบ่งแยกตัวตน หรือสาขา เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการนำเข้าสู่การวิเคราะห์สังเคราะห์เป็นแผนพัฒนานิสิตของคณะศึกษาศาสตร์  ซึ่งนิสิตได้นำเสนอ 3 กิจกรรม ได้แก่ 

  • ค่ายอาสาพัฒนา (ศึกษาศาสตร์สัญจร) บูรณาการทุกศาสตร์สู่สังคมบนฐานคิดอันเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยฯ คือ การบริการสังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 
  • สานสัมพันธ์นิสิตใหม่ (ทอจิตสานมิตรศึกษาศาสตร์) เพื่อลดทอนการแบ่งแยกสาขา โดยบูรณาการผ่านกิจกรรมกีฬา ศิลปวัฒนธรรม บำเพ็ญประโยชน์ 
  • พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนิสิตครูโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นฐาน

 

 

ระบบ กลไกและความท้าทายเชิงรุกของฝ่ายพัฒนานิสิตคณะศึกษาศาสตร์

 

ช่วงท้ายเวที  ผมใช้กระบวนการ “เปิดไมค์-โยนไมค์” ชวนนิสิตและผู้นำนิสิต ตลอดจนอาจารย์ ผู้บริหาร ได้ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ “โสเหล่” แบบไร้ข้อจำกัด แต่หลักๆ แล้วเรื่องที่สื่อสารร่วมกันกลับไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เรื่องระบบและกลไกอันท้าทายในการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับระบบการพัฒนานิสิตในระดับมหาวิทยาลัยฯ เป็นต้นว่า  

  • ระบบทรานสคริปกิจกรรม (ใบระเบียนกิจกรรมนิสิต)  
  • กิจกรรมเครือข่ายศิษย์เก่า
  • ศูนย์จิตวิทยาเชิงรุก 
  • โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำตามช่วงชั้นการศึกษา
  • โปรแกรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านจิตวิทยาพื้นฐานแก่ผู้นำนิสิต

 

  • การพัฒนาภูมิทัศน์ตามฐานคิด “ระบบนิเวศวัฒนธรรม” เพื่อรองรับการเรียนรู้ของนิสิต 
  • การเชิดชูผู้นำนิสิตและนิสิตสร้างชื่อเสียงในภาพรวมของคณะ
  • เครื่องมือการเรียนรู้ และการวัดผลการเรียนรู้ด้านกิจกรรมนิสิต
  • กรอบแนวคิด และทฤษฎีการจัดกิจกรรมนิสิต
  • ระบบการพัฒนานิสิตภายในคณะ โดยบูรณาการระหว่างฝ่ายพัฒนานิสิต กับฝ่ายวิชาการ
  • และอื่นๆ

 

ครับ – ฟังดูก็ท้าทายจริงๆ 

หมายเลขบันทึก: 713201เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2023 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2023 07:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านครั้งใดก็มีความสุขเย่ๆ

ขอให้สร้างทัศนคติที่ดีในทางการศึกษาของไทย….ผมเคยมีเพื่อนเป็นอาจารย์ชาวกรีกคนหนึ่ง แกอายุมากกว่าผมเกือบยี่สิบปี แต่งงานกับสาวไทย สอนภาษาอังกฤษ ที่จริงแกเรียนมาทางปรัชญา วันหนึ่งได้รับทราบจากนักศึกษาว่า แกเคร่งครัด ระเบียบจัด ถ้ามาเข้าห้องช้าเกิน 15 นาที(?) แกไม่ให้เข้าห้องเรียน แล้วในที่สุดแกก็ได้รับคำตักเตือนจากฝ่ายบริหารฯ ว่าให้ลดระดับลงหน่อย ในที่สุดแกก็ขอลาออก โดยให้คำชี้แจงกับผมอย่างหนึ่ง(ที่อาจไม่ใช่เหตุผลการลาออกก็ได้)ว่า ….คนไทยนั้น respect อาจารย์เป็นอย่างดี ทางภายนอกที่ผิวเผิน เช่น ยกมือไหว้เมื่อแกเดินผ่าน หลบทางให้อาจารย์เดินก่อน เข้าแถวซื้อของให้อาจารย์แซงก่อน จัดงานวันครู ฯลฯ (เมื่อก่อนสมัยที่ผมยังทำงานใหม่ๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ) แต่นักศึกษาไม่รู้จัก respect หรือให้เกียรติอาจารย์ ไม่มีระเบียบวินัยทางสังคมที่ดี หรือเมื่อว่ากล่าวตักเตือนก็ทำหูทวนลม ไม่ตั้งใจฟังการสอน ชอบคุยกัน เวลาถามไม่ตอบ และลอกการบ้านกัน(แม้ในห้องเรียน) และมักออกจากห้องเมื่อเซ็นชื่อแล้ว นี่แกก็ว่า ไม่ respect ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งแกคิดว่านั่นเป็น respect ขนานแท้ดั้งเดิม อย่างที่นานาอารยประเทศเขาทำกัน. …ผมยังจดจำเรื่องนี้ได้ดี คิดว่าอีกหน่อย”การแสดงความเคารพ”ก็ต้องดีขึ้น และจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา แต่ความจริงก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว …ทำให้ผมระวังตัวมากในเรื่อง respect ที่รวมถึงการเคารพความคิดต่างของผู้อื่นแต่ในที่สุดผมก็ค้นพบว่า เราก็ต้อง respect คนอื่นที่คิดต่างด้วยอย่างจริงใจ เพราะบางทีเขาอาจมี respect ได้แบบนักศึกษาแค่นั้น …ใครพูดเรื่อง respect นี้ขึ้นมาทีไร ผมรู้สึกขมขื่นทุกครั้งและแล้ว อีกนานเป็นปีที่ผมได้นำเรื่องนี้คุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่มักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทำนองนี้กันเสมอ ก็ได้ข้อสรุปออกมาตรงกันว่า ที่ดีที่สุดในฐานะคนไทยจึงควรมี respect ทั้งสองแบบ คือแบบที่เป็นการเคารพแบบภายนอก เช่น การยกมือไหว้หรือจัดงานวันครูให้ และแบบที่เป็นการเคารพแบบภายใน เช่น การตรงต่อเวลาในการเข้าห้องเรียน และด้วยความตั้งใจที่จะเรียน ไม่คุยกัน เป็นต้น คนไทยที่ว่านี้จะเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่ดี ได้คะแนนดี ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนในโลกนี้…วิโรจน์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท