เก็บตกวิทยากร (84) : ทบทวนการเรียนรู้และออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ฺ (สโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มมส.)


ชวนผู้นำนิสิตทบทวนต้นทุนการเรียนรู้ชีวิต หรือถอดบทเรียนชีวิตผ่านเรื่องราวอันเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรและกิจกรรมในหลักสูตร ผ่านการการวาดภาพและเล่าสู่กันฟัง หรือจะเรียกว่าเป็นกระบวนการ “ทบทวนแผนกิจกรรม” ก็ไม่ผิด

โจทย์การเป็นวิทยากรที่ผมได้รับมาจาก “ฝ่ายพัฒนานิสิต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566  คือ “ความรู้เรื่องกิจกรรมนิสิต (กิจกรรมนอกหลักสูตร) และแนวคิดของการจัดกิจกรรมอย่างสรรค์สรรค์” 

กลุ่มผู้เข้าร่วมในเวทีวันดังกล่าวล้วนเป็นผู้นำนิสิตในสังกัดสโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ล้วนๆ  หลักๆ คือกลุ่มคนที่เคย “ทำงานสโมสร” ของปีที่แล้ว

 

 

ภายใต้เวลา 2 ชั่วโมงเศษ  หากไม่นับประเด็นการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “กิจกรรมนิสิต” หรือ “กิจกรรมนอกหลักสูตร”  ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นที่ในฐานะวิทยากรที่ต้องสื่อสารอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผมใช้กระบวนการหลักๆ 2 กระบวนการเท่านั้น กล่าวคือ

  • กระบวนการทบทวนกิจกรรมที่ชื่นชอบในรอบปีการศึกษา 2565 ทั้งที่เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรและกิจกรรมในหลักสูตร 
  • กระบวนการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ในปีการศึกษา 2566

 

 

ทบทวนชีวิตและแผนงานการเรียนรู้จากปีการศึกษาที่ผ่านมา

 

ภายหลังการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “กิจกรรมนิสิต” หรือ “กิจกรรมนอกหลักสูตร” เป็นที่เรียบร้อย ผมชวนให้นิสิตทำการทบทวนการเรียนรู้ในรอบปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา ผ่านภาพวาดในหัวข้อกว้างๆ “กิจกรรมที่ชื่นชอบ-กิจกรรมที่ประทับใจ-กิจกรรมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม”

กระบวนการนี้ ผมมีเจตนาที่ชัดเจนเรื่องชวนผู้นำนิสิตทบทวนต้นทุนการเรียนรู้ชีวิต หรือถอดบทเรียนชีวิตผ่านเรื่องราวอันเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรและกิจกรรมในหลักสูตร ผ่านการการวาดภาพและเล่าสู่กันฟัง หรือจะเรียกว่าเป็นกระบวนการ “ทบทวนแผนกิจกรรม” ก็ไม่ผิด

 

 

เมื่อสิ้นสุดการบอกเล่าดังกล่าว ผมไม่รีรอที่จะประมวลสถิติเรื่องราวทั้งหมด พบว่า กิจกรรมที่นิสิตชื่นชอบประทับใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ซึ่งเป็นกิจกรรมภายในคณะ เรียงตามลำดับที่มีความถี่มากไปหาน้อย ดังนี้ 

  • กิจกรรมดนตรีจิตอาสา
  • กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาความรู้ด้านดนตรี และกิจกรรมคอนเสิร์ตรุ่นตรี season 
  • โครงการศิลปะนิพนธ์

 

 

ส่วนกิจกรรมอื่นที่นิสิตสะท้อนออกมา แม้จะไม่พบความถี่ซ้ำ แต่ผมถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 3-4 กิจกรรมข้างต้น ประกอบด้วย 

  • ปฐมนิเทศนิสิตใหม่
  • บายศรีสู่ขวัญน้องใหม่
  • กิจกรรม 3 ศิลป์ 
  • ถนนคนมอ
  • รวมพลวงกลองยาวฯ

 

จะสังเกตได้ว่า กิจกรรมที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น มีทั้งที่เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมนิสิต) และกิจกรรมในหลักสูตร (วิชาเรียน) ตลอดจนกิจกรรมในคณะและกิจกรรมระหว่างคณะ รวมถึงกิจกรรมในระดับมหาวิทยาลัยอย่างน่าชื่นชม 

 

เรียกได้ว่ากิจกรรมทั้งมวลนั้น สะท้อนถึงการเรียนรู้กิจกรรม 360 องศาเลยก็ว่าได้  เพราะครบทั้งกิจกรรมในคณะ กิจกรรมระหว่างคณะ กิจกรรมในภาพรวมของมหาวิทยาลัย รวมถึงการตอบโจทย์การเรียนรู้เรื่อง Soft skills & Hard skills ได้อย่างน่าสนใจ

 

 

กรณีศึกษา : ออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์

 

ด้วยเวลาอันจำกัด ผมไม่ได้ละเมียดละไมกับกิจกรรมการทบทวนการเรียนรู้-ทบทวนแผนกิจกรรมมากนัก แต่ก็พยายามประคองให้กระบวนการดังกล่าวมีความรื่นรมย์ไม่แพ้เวทีอื่นๆ 

 

ถัดจากนั้นก็บรรยายในประเด็นกรอบแนวคิด –ทฤษฎีในการจัดกิจกรรม  ผูกโยงถึวงนโยบายการพัฒนานิสิต ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและของฝ่ายพัฒนานิสิต เพื่อเป็นฐานคิดในการนำไปออกแบบกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในปีการศึกษา 2566

 

 

ผมให้อิสระแก่นิสิตอย่างเต็มที่ว่าจะเลือกโครงการอะไรดีมาระดมความคิดเป็นกรณีศึกษา แต่มีเกณฑ์หลักคือต้องเป็นกิจกรรมที่จะจัดขึ้นโดยสโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ – เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อนิสิตในคณะ หรือจะเพื่อนิสิตทั่วไป รวมถึงสังคมทั่วๆ ไปก็ได้ 

 

เช่นเดียวกับการฝากให้คิดว่า “ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิชาชีพของตนเองได้ ก็ยิ่งดี”  โดยมีประเด็นที่เป็นกรอบให้ระดมความคิด เช่น ชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ลักษณะกิจกรรม ผลที่คาดว่าจะได้รับ ฯ

 

 

ผลปรากฏว่านิสิตเลือกมา 2 โครงการ นั่นคือ “MUSIC PUBLIC” และ “เสียงดนตรีจากพี่สู่น้อง”

 

  • MUSIC PUBLIC เป็นกิจกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่ คล้ายการจัดกิจกรรม “ดนตรีในสวน” และแต่ไม่ได้เจาะจงว่านักดนตรีจะสังกัดแต่ในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เท่านั้น สามารถเปิดกว้างให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีมาแสดงศักยภาพร่วมกันได้ มีทั้งที่อยากจัดขึ้นในคณะ และพื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่บูรณาการจัดร่วมกับองค์กรอื่นๆ

 

 

  • เสียงดนตรีจากพี่สู่น้อง เป็นกิจกรรมต่อยอดจากปีการศึกษา 2565 และเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากกระบวนการแรก นั่นคือ กิจกรรมดนตรีจิตอาสา ซึ่งเป็นค่ายอาสาพัฒนาเล็กๆ ที่นิสิตนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนและครูในโรงเรียนต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่มีกลิ่นอาย “บริการสังคม” ที่นำศาสตร์ในวิชาชีพไปรับใช้สังคม ไม่ว่าจะเป็น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีสากล การขับร้อง ยกเว้นด้านดนตรีไทยเท่านั้นที่ยังไม่ได้ผนวกเข้าสู่กิจกรรมนี้  

 

จะว่าไปแล้ว กิจกรรมดนตรีจากพี่สู่น้อง ก็มีมิติคล้าย “งานบริการวิชาการแก่สังคม” อันเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยนั่นแหล่ะ เพียงแต่ไม่อาจเรียก “บริการวิชาการ” เพราะผู้ขับเคลื่อนหลักคือ “นิสิต” ไม่ใช่ “อาจารย์” หรือ “นักวิชาการ” เท่านั้นเอง

 

 

ทั้งหลายทั้งปวง คือ เรื่องผู้นำและภาวะผู้นำ

 

อันที่จริงในทั้งสองกระบวนการหลัก  ผมพยายามสื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำนิสิต หรือวุฒนิภาวะของผู้นำนิสิตไปในตัว บางจังหวะผมการบรรยาย-ขยายความอย่างชัดเจน บางจังหวะผมเลือกที่จะสอดแทรกผ่านกระบวนการเป็นระยะๆ  โดยโชว์สไลด์ประกอบ เพื่อยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมในสิ่งที่ผมถ่ายทอด –

 

 

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ผมออกแบบบนฐานคิดหลากประเด็น อาทิเช่น การละลายพฤติกรรมเปิดเปลือยตัวตนสู่สังคมผ่านภาพวาด  การกระตุ้นให้นิสิต “ทบทวนแผนงานด้านกิจกรรมนิสิต” หรือ “ทบทวนการเรียนรู้” ผ่านกิจกรรมในหลักสูตรและนอกหลักสูตร คู่ไปกับการ “ทบทวนชีวิต” (ถอดบทเรียนชีวิต) ผ่านงานศิลปะ ฝึกการ “สื่อสารสร้างสรรค์” ผ่านภาพวาดและการเล่าเรื่องในลักษณะของการ Show & Share, Knowledge Sharing เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบกระบวนการที่ต้องระดมความคิดออกแบบกิจกรรมพัฒนานิสิต บนฐานคือ “โดยนิสิตเพื่อนิสิต”

 

หรือแม้แต่ฝึกสมาธิ ฝึกการคิด การฟัง การวิพากษ์ ฝึกเรื่องประชาธิปไตย ก็ไม้เว้น

ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่เรื่องความเป็นผู้นำ-ภาวะผู้นำเท่านั้น ยังรวมเรื่อง Soft skills & Hard skills ในตัวด้วยเช่นกัน

 

 

หมายเหจุ  

ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / สโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

 

หมายเลขบันทึก: 713433เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2023 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2023 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท